ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โฮจิมินห์ซิตี้เมืองเศรษฐกิจเวียดนาม ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 10 – 15 ตรม./ประชากร 1 คน

โฮจิมินห์ซิตี้เมืองเศรษฐกิจเวียดนาม ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 10 – 15 ตรม./ประชากร 1 คน

25 พฤษภาคม 2019


นครโฮจิมินห์ซิตี้ เมืองเศรษฐกิจสำคัญของเวียดนาม ยังคงเป็นเมืองที่เขียวชะอุ่ม เต็มไปด้วยต้นไม้แม้พื้นที่สีเขียวจะลดลงจากการนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านอื่น โดยพื้นที่สีเขียวของโฮจิมินห์มีสัดส่วน 26.3% ของพื้นที่เมืองทั้งหมด

ฟาม ทัน ไห่ เจ้าหน้าที่กรมการข่าวเวียดนาม (Vietnam News Agenecy – VNA) ให้ข้อมูลกับ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ซึ่งได้เดินทางไปโฮจิมินห์ซิตี้เพื่อรับฟังข้อมูลด้านความยั่งยืนในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekhong Delta) โดยการเชิญจาก VNA ระหว่าง 23-26 พฤษภาคม 2562 ว่า ในปี 2018 พื้นที่สีเขียวของโฮจิมินห์รวม 540 ล้านตารางเมตร มีต้นไม้รวมกันคิดเป็นพื้นที่ 5.5 ล้านตารางเมตร

อัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเฉลี่ยคือ 13.7 ตารางเมตร โดยพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองชั้นในต่อคนอยู่ที่ 1.95 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่สีเขียวนอกเมืองชั้นนอกต่อคนอยู่ที่ 473.6 ตารางเมตร

“โฮจิมินห์ซิตี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อคนในเขตเมืองชั้นในเป็น 10-15 ตารางเมตรภายในปี 2020”

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ระบุว่า มาตรฐานพื้นที่สีเขียวต่อคนควรจะอยู่ที่ 9 ตารางเมตรเป็นอย่างน้อย

สำหรับการดูแลต้นไม้ คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City’s People Committee) ซึ่งทำหน้าที่บริหารนครโฮจิมินห์ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ทำหน้าที่ใน 12 เขตการปกครองจากทั้งหมด 24 เขตการปกครองด้วยการเปิดประมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสังเกตพบว่า ถนนเกือบทุกเส้นมีต้นไม้ใหญ่เรียงรายทั้งสองข้างทางพร้อมกับมีหมายเลขกำกับแต่ละต้น รวมทั้งยังมีการปลูกต้นไม้ทั้งไม้ดอกและไม้ประดับขนาดเล็กบนเกาะกลาง ตลอดจนมีการจัดและตกแต่งสวนในวงเวียนอย่างสวยงาม

พื้นที่สีเขียวส่วนหนึ่งในโฮจิมินห์ซิตี้มาจากส่วนสาธารณะ ซึ่งมีด้วยกันราว 20 แห่ง โดยสวนสาธารณะขนาดใหญ่มี 3 แห่ง Tao Dan, Gia Dinh, และ Le Van Tam

สวนสาธารณะTao Dan ตั้งอยู่ในขตปกครองที่ 1 ถือได้ว่าเป็นปอดของคนโฮจิมินห์ มีพื้นที่ขนาดใหญ่สุด มีจุดเด่นคือมีต้นมะฮอกกานีเก่าแก่จำนวนมาก ที่แผ่กิ่งก้านสาขากลายเป็นร่มเงาให้กับคนที่เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ทั้งการออกกำลังกาย การเต้นรำเป็นหมู่คณะ รวมทั้งยังมีไม้ดัดเป็นรูปร่างต่างๆ ทางเดินสะอาด มีอุปกรณ์ออกกำลังกาย

ส่วนสาธารณะ Le Van Tam ตั้งอยู่ในเขต 1 เช่นกัน เทียบได้กับเซ็นทรัลพาร์กของนิวยอร์ก แม้มีขนาดเล็กกว่าเพียง 6 เฮกตาร์ แต่ติดถนนทั้ง 4 ด้าน เดิมเป็นสุสานของชาวยุโรป และได้ปรับเป็นสวนสาธารณะในปี 1983

อีกหนึ่งสวนสาธารณะที่ผู้คนที่เดินผ่านไปมาอาจจะนึกไม่ถึงว่าเป็นสวนสาธารณะ เพราะค่อนข้างเงียบมีทางเดินจากด้านตลาดบินถั่น (Ben Thanh) ตรงไปยังแหล่งนักท่องเที่ยวสะพายเป้หรือ backpacker ในตำบล ฟาม งูเลา ถนนบุย เวียน มีชื่อว่า สวน 23 กันยายน ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามวันที่ฝรั่งเศสกลับมายึดครองโฮจิมินห์อีกรอบในเวลาเพียง 3 สัปดาห์หลังจากที่โฮจิมินห์ (อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีของเวียดนาม) ประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสในวันที่ 2 กันยายน 1945

ปัจจุบัน “สวนสาธารณะ 23 กันยายน” เป็นต้นทางของรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกที่กำลังสร้างอยู่ในโฮจิมินห์ และที่สำคัญคือสวนสาธารณะนี้เคยเป็นส่วนหนึ่ของสถานีรถไฟที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 แต่ได้ทุบทิ้งหลังสงครามครั้งสุดท้าย

สวน 23 กันยายน

สำนักข่าวเวียดนามนิวส์รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ เห็นชอบตามที่ฝ่ายวางแผนและออกแบบเสนอในปลายปี 2561 ให้มีการจัดประกวดการออกแบบการปรับปรุงสวนสาธารณะ 23 กันยายนซึ่งมีพื้นที่ 10 เฮกตาร์ เนื่องจากต้องซ่อมแซมระบบสาธาณูปโภค รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น ไฟฟ้า ห้องน้ำ และพื้นที่สำหรับเด็กเล่น หรือออกกำลังกายมีจำกัด โดยคาดว่าจะใช้งบราว 2.19 พันล้านด่องหรือ 94,170 ดอลลาร์

หลักเกณฑ์การออกแบบที่คณะกรรมการวางไว้คือ ต้องจัดวางพื้นที่สีเขียว ทะเลสาบ และพื้นที่ส่วนกลางให้ลงตัว และพื้นที่ทุกส่วนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ผู้สูงวัยและคนพิการ นอกจากนี้ต้องชั้นใต้ดิน 4 ชั้นสำหรับจอดรถและศูนย์การค้า ตลอดจนต้องสอดรับกับถนนทางเดินท้าโดยรอบด้วย

นายเหงียน ถัน ฟง ประธานคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ ได้สั่งการให้แผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการยกเลิกสัญญากับผู้เช่าพื้นที่ในสวนสาธารณะ 23 กันยายนภายในวันที่ 30 เมษายน

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีรายงานของ SGG News ว่า พื้นที่สีเขียวในโฮจิมินห์ซิตี้ซึ่งรวมสวนสาธารณะ ต้นไม้ สวนดอกไม้ และเกาะกลาง ลดลง 50% จาก 1,000 เฮกตาร์ในปี 2541 เหลือ 535 เฮกตาร์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาโครงการจำนวนมากในพื้นที่พักอาศัยไม่ได้ยึดตามแผนการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ทำให้หลายพื้นที่ควรจะกันไว้สำหรับปลูกต้นไม้นำไปประโยชน์ด้านอื่น

ความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้คลองหายไป 47 สาย คิดเป็นพื้นที่ 16.4 เฮกตาร์ ขณะที่แหล่งน้ำบิน เตียน ที่มีพื้นที่ 7.4 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในภูมิภาคนี้ตื้นเขิน