ThaiPublica > เกาะกระแส > สิงคโปร์ขึ้นอันดับ 1 ประเทศศักยภาพการแข่งขันสูงแซงสหรัฐฯ – ไทยเลื่อนขึ้นอันดับ 25 ในหมวดประสิทธิภาพการผลิต

สิงคโปร์ขึ้นอันดับ 1 ประเทศศักยภาพการแข่งขันสูงแซงสหรัฐฯ – ไทยเลื่อนขึ้นอันดับ 25 ในหมวดประสิทธิภาพการผลิต

29 พฤษภาคม 2019


ที่มาภาพ:
https://www.imd.org/contentassets/6b85960f0d1b42a0a07ba59c49e828fb/one-year-change-vertical.pdf

International Institute for Management Development(IMD) แห่งสวิตเซอร์แลนด์ เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ IMD World Competitiveness Rankings 2019 จาก World Competitiveness Center ประจำปี 2562 ว่า สิงคโปร์มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุดและเลื่อนขึ้นจากอันดับ 3 ในปีก่อนแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นมาครองอันดับหนึ่ง ขณะที่สหรัฐฯกลับตกไปอยูอันดับที่ 3 แทน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีผลต่ออันดับของประเทศยุโรป

สิงคโปร์ก้าวสู่อันดับหนึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2010 เนื่องจากมีความก้าวหน้าทางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี มีแรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก และมีกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ดี มีแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการก่อตั้งธุรกิจ

อันดับ 2 ของปีได้แก่ฮ่องกง ซึ่งเป็นผลจากกฎหมายภาษีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และมีสภาพแวดล้อมด้านนโยบายธุรกิจที่ดี และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางธุรกิจ

สำหรับสหรัฐฯนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระลอกแรกที่ดึงความเชื่อมั่นขึ้นมา ดูเหมือนว่าจะหมดมนต์ขลัง แม้ยังคงก้าวหน้าในระดับโลกในเชิงโครงสร้างพื้นฐานและสมรรถนะทางเศรษฐกิจ แต่ขีดความสามารถของสหรัฐฯถดถอยลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น การส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงที่ชะลอตัวลงและความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์

อาร์ตูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center ให้ความเห็นว่า “ในปีที่ตลาดโลกมีความแไม่แน่นอนสูงซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการค้า คุณภาพของภาครัฐเป็นองค์ประกอบรวมที่มีผลต่อการเจริญเติบโต กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework)ที่เข้มแข็งช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับภาคธุรกิจให้สามารถลงทุนและพัฒนานวัตกรรม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”

นักเศรษฐศาสตร์มองว่าขีดความสามารถในการแข่งขันมีความสำคัญต่อคุณภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะเป็นการเสริมภาคธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีการจ้างงานและผลลัพธ์สูงสุดคือ เสริมสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1989 โดยมีดัชนีชิ้วัด 235 ตัวจาก 63 ประเทศ และยังได้คำนึงถึงข้อมูลหลักเช่น การว่างงาน GDP การใช้จ่ายของรัฐในด้านสาธารณสุข การศึกษา รวมไปถึงข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ เช่น การสอบถามความเห็นของผู้บริหารในด้านความสมานฉันท์ของสังคม กระแสโลกาภิวัฒน์และการทุจริตคอร์รัปชั่น

ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาจัดออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจหรือ Economic performance 2) โครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure 3)ประสิทธิภาพของภาครัฐหรือ Government Efficiency และ 4) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจหรือ Business Efficiency เพื่อให้คะแนนแแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามไม่มีแนวทางเดียวที่ใช้กับทุกประเทศ แต่ประเทศทีมีขีดความสามารถสูงจะได้คะแนนสูงในทั้ง 4 หมวด

ประเทศที่มีขีดความสามารถสูงเป็นอันดับ 4 คือ สวิตเซอร์แลนด์ เลื่อนขึ้นจากอันดับ 5 ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากความมีเสถียรภาพของค่าเงินฟรังสวิส คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน และยังได้คะแนนอันดับต้นๆในด้านสถาบันการศึกษา มีการบริหารการศึกษา การบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตประชากร

ราคาน้ำมันเชิ้อเพลิงที่สูงขึ้นมีผลต่อการจัดอันดับในปีนี้ เพราะเงินเฟ้อทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงในบางประเทศ อย่างไรก็ตามรายได้จากการค้าที่สูงขึ้นช่วยให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ เช่น ซาอุดิอาระเบีย อันดับพุ่งขึ้น 13 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 26 ขณะที่กาตาร์ติด 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2013

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเพิ่มติดอันดับที่ 15 ในปี 2016 เลื่อนขั้นขึ้นมาติด 5 อันดับแรกในปีนี้เป็นครั้งแรก โดยมีคะแนนสูงสุดในโลกด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นในด้านประสิทธิภาพการผลิต การใช้ดิจิทัล และด้านผู้ประกอบการ

เวเนซูเอล่าติดอันดับสุดท้ายของ IMD World Competitiveness Rankings 2019 เพราะอัตราเงินเฟ้อสูงมาก การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยากและเศรษฐกิจอ่อนแอ และมีคะแนนต่ำสุดใน 3 หมวด คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐาน

เอเชียชุมนุมศักยภาพในการแข่งขัน

ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกลายเป็นแหล่งชุมนุมศักยภาพในการแข่งขัน เพราะมี 11 ประเทศจาก 14 ประเทศที่ทั้งเลื่อนอันดับขึ้นและครองอันดับเดิมไว้ได้ นำโดยสิงคโปร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงที่ติดอันดับต้นๆ

อินโดนีเซียกระโดด 11 อันดับขึ้นมาที่อันดับ 32 เป็นประเทศที่มีการเลื่อนอันดับสูงสุด ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพในภาครัฐ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และยังเป็นประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำสุดในจำนวน 63 ประเทศที่ IMD ทำการศึกษา

สำหรับประเทศไทยเลื่อนขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับ 25 เป็นผลจากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ และประสิทธิภาพการผลิต

ญี่ปุ่นกลับตกลงไป 5 อันดับไปอยู่อันดับที่ 30 เพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ ภาระหนี้ของภาครัฐและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่สดใส

ยุโรปความสามารถถดถอย

ศักยภาพของทั่วทั้งยุโรปกลับถดถอยรักษาอันดับไว้ไม่ได้ ประเทศส่วนใหญ่อันดับตกลงและมีบางประเทศที่คงอันดับเดิม โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง กลับไม่มีความก้าวหน้าที่สำคัญในปีนี้ ขณะที่ความไม่แน่นอนของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้อังกฤษตกไปอยู่อันดับที่ 23 จากอันดับ 20

ประเทศที่เลื่อนอันดับมากสุดในภูมิภาคนี้คือ ไอร์แลนด์ เลื่อนขึ้น 5 อันดับมาอยู่อันดับที่ 7 เพราะสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดีขึ้นพร้อมกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ไอร์แลนด์ยืนอยู่แถวหน้าของโลกในด้านการให้สิทธิประโยชน์จูงใจการลงทุน การจัดการกับสัญญากับภาครัฐ ทั้งภาพลักษณ์ แบรนด์ การจัดการกับบุคคลากรที่มีความสามารถ สำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ที่อันดับตกลงมากที่สุดคือ โปรตุเกส ลดลง 6 อันดับไปอยู่ที่อันดับ 39 จากที่เลื่อนอันดับขึ้นในปีก่อน

ตะวันออกกลางมีทั้งขึ้นและตก

ศักยภาพการแข่งขันของภูมิภาคนี้มีทัั้ง 2 ด้าน โดยกลุ่มประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์และซาอุดิอาระ เบีย เลื่อนอันดับขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อตุรกี ซึ่งติดอันดับที่ 51 และจอร์แดนที่ติดอันดับ 57 ส่วนอิสราเอลติดอันดับ 24 ลดลงเนื่องจากสมรรถนะของภาครัฐที่ลดลง จากหลายดัชนีชี้วัด เช่น การขาดดุลงบประมาณ

ซาอุดิอาระเบียเลื่อนอันดับขึ้นสูงสุดในโลกถึง 13 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 26 แม้คะแนนด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจมีคะแนนลดลง แต่กลับมีอันดับสูงสุดในโลกในด้านการลงทุนเพื่อการศึกษา มีคะแนนดีในด้านสาธารณสุขและการเงินภาคธุรกิจ

ลาตินอเมริการั้งท้าย

ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกายังมีอันดับที่ไม่ดี โดยมีเวเนซูเอล่ารั้งท้ายอีกปี จากวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศที่ยังยืดเยื้อ ส่วนชิลี แม้เป็นประเทศของกลุ่มที่ติดอันดับสูงสุด แต่ก็ยังตกลง 7 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 42 ขณะที่บราซิล อาร์เจนติน่า ติด 5 อันดับสุดท้าย

ในจำนวน 63 ประเทศ บราซิลมีคะแนนต่ำสุดในด้านต้นทุนสนเชื่อ ทำให้กลายเป็นประเทศที่ต้นทุนสูงสำหรับภาคธุรกิจในการที่จะขอสินเชื่อและยังมีข้อจำกัดด้านทักษะภาษา

ส่วนอัฟริกาใต้คะแนนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสาธารณสุช การศึกษาและพลังงาน ที่อยู่ในระดับต่ำ กลบคะแนนด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีขึ้น จึงส่งผลให้อันดับตกลงไปที่ 56 จากอันดับ 53

สำรวจคะแนนแต่ละหมวด

ในหมวดสมรรถนะทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 จีนรั้งอันดับ 2 ลักเซมเบิร์กติดอันดับ 4 กาตาร์ติดอันดับ 5 สิงคโปร์อันดับ 7

ในหมวดประสิทธิภาพของภาครัฐ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์อันดับ 2 สิงคโปร์มีคะแนนสูงเป็นอันดับ 3 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ติดอันดับ 4 กาตาร์ติดอันดับ 10

ในหมวดประสิทธิภาพภาคธุรกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ติดอันดับ 2 เนเธอร์แลนด์ติดอันดับ 4 ไอร์แลนด์ติดอันดับ 6 และสิงคโปร์มีคะแนนเป็นอันดับ 11

ในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นต่อภาคธุรกิจ
สหรัฐฯมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์อันดับ 2 เดนมาร์กอันดับ 3 สวีเดนอันดับ 5 และฟินแลนด์อันดับ 6