ด้วยระบบการศึกษาของไทยทำให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กนักเรียนต้องพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้เข้าสู่สนามการแข่งขันมีความมั่นใจมากขึ้น ชีวิตพ่อแม่ในยุคปัจจุบันจึงยากลำบากมาก ต้องมานั่งเฝ้าลูกเรียนกวดวิชาอย่างมุ่งมั่นและอดทน หากมีโอกาสได้มาสัมผัสบรรยากาศในอาคารสยามกิตติ์ ย่านสยามสแควร์ หนึ่งในทำเลทองที่รวบรวมโรงเรียนกวดวิชาชั้นนำหลายสถาบันไว้มากมาย ก็จะเห็นสภาพหัวอกของผู้ปกครองที่ได้ทุ่มเทเพื่อ “ลูก” แม้จะไม่มีคำตอบว่าที่ได้ลงแรงกายแรงใจไปนั้น ผลลัพท์จะออกเป็นอย่างไร สามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพ เก่ง ดี และเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานหรือไม่
วงจรชีวิตผู้ปกครองของเด็กที่ต้องติวกวดวิชา คือตื่นแต่เช้า ขับรถมาส่งลูกหลานเรียนให้ทันคอร์สแรกของวัน เรียนจบหนึ่งคอร์ส พักเบรก หรือพักเที่ยง ก็ต้องหาข้าวปลาอาหาร หาขนมให้ลูกทาน หลายคนทำอาหารเองจากบ้านมานั่งทานกับลูก หรือไม่ก็พาไปทานในร้านอาหารที่อยู่ในอาคาร สยามกิตติ์ หรือร้านอื่นๆ ย่านสยาม แต่หากมีเวลาไม่นาน รีบเร่งมาก ก็จะพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ
เมื่อลูกอิ่มท้อง ได้พักสมองพูดคุยกับพ่อแม่ เพียงเวลาไม่นานก็ต้องเตรียมตัวกลับเข้าไปเรียนต่อในคอร์สถัดไป เด็กบางคนเรียนอัด 3-4 คอร์สต่อวัน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เรียนเสร็จออกมา ผู้ปกครองก็รับกลับบ้าน แล้ววันรุ่งขึ้นก็ทำซ้ำเช่นนี้ เป็นปรากฏการณ์ของชีวิติพ่อแม่ที่ต้องเฝ้าลูกเรียนกวดวิชา
ผู้ปกครองหลายคนที่เพิ่งมาเฝ้าลูกใหม่ๆ ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อตามวงจรกวดวิชาของลูกหลานให้ได้ บางคนมีประสบการณ์เฝ้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือ 5 ปี ขณะที่บางคนทำอย่างนี้มานานกว่า 10 ปี เพราะมีลูก 3-4 คน อยู่ในวัยไล่เลี่ยกันไม่มาก ฉะนั้นพ่อแม่จึงต้องทำวนๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนี้ จนกว่าลูกจะโตและพ้นวงจรชีวิตเช่นนี้
บางครอบครัวอยู่ต่างจังหวัดมาไกล ในช่วงปิดเทอมใหญ่ ผู้ปกครองจึงใช้วิธีเช่าคอนโดใกล้ๆ ย่านสยาม พญาไท อยู่ยาวๆ ไปเลย 2-3 เดือน เพื่อให้ลูกมาเรียนพิเศษ นั่งรถไฟฟ้ามาส่งลูก มาเฝ้าลูก หรือพ่อแม่คนไหนมีกำลังเงินมากหน่อย ก็ซื้อคอนโดให้ลูกอยู่ไปเลยก็มี
เหตุผลหรือเป้าหมายของพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ยอมลงทุนเพื่อลูกขนาดนี้ คือ อยากเห็นลูกเรียนดี มีความรู้ สอบเข้าแข่งขัน ได้โรงเรียนดี มีชื่อเสียง หรือบางคนกลัวลูกเรียนไม่ทันเพื่อน หรือมองว่าใครๆ เขาก็เรียนกัน
ผู้ปกครองที่มาเฝ้าลูกเรียนกวดวิชา มีตั้งแต่พ่อแม่ของเด็กเล็กสอบเข้าชั้นประถม เข้าโรงเรียนสาธิต แล้วกวดวิชาเข้าเรียนต่อมัธยมที่สาธิต เตรียมอุดมศึกษา สตรีวิทยา สามเสนวิทยาลัย เป็นต้น รวมถึงพ่อแม่ของเด็กโตมัธยมปลาย ที่มาเฝ้าลูกกวดวิชาเพื่อสอบแข่งเข้ามหาวิทยาลัย ให้ได้คณะที่ใฝ่ฝัน เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ ฯลฯ แม้จะต้องจ่ายเงินก้อนโตให้โรงเรียนกวดวิชาหลายหมื่น หลายแสนบาท แต่เพื่อลูก หัวอกคนเป็นพ่อแม่ เท่าไหร่ก็ยอม
หวังมากกว่านั้น พ่อแม่อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จในชีวิต มีอนาคตที่ดี มีงานการทำดีๆ อยากให้มีพื้นฐานวิชาการความรู้ที่ดีติดตัว เอาไปใช้ได้ในชีวิตจริง “ไทยพับลิก้า” สอบถามพ่อแม่ผู้ปกครองที่มาเฝ้าลูกเรียนกวดวิชา พบความคิดเห็นหลายอย่างที่น่าสนใจ ผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อและมองว่า ติวเตอร์ในสถาบันกวดวิชาชื่อดัง ช่วยให้ลูกหลานของเขาไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้มากกว่าการศึกษาในระบบโรงเรียน
แม่ที่มาเฝ้าลูกเรียนพิเศษคนหนึ่ง เล่าว่า อยู่ในโรงเรียน ลูกเรียนได้เกรด 4 ทุกวิชาก็จริง แต่พอออกมาข้างนอกสู้คนอื่นไม่ได้ เลยมองหาสถาบันหรือติวเตอร์ที่ผู้ปกครองคนอื่นแนะนำต่อๆ กันมาว่าใครเจ๋งใครดัง มีกำลังก็ส่งให้ลูกเรียน
ถ้าเป็นช่วงเปิดเทอมก็จะมาเฝ้า มารับมาส่งเอง แต่หากปิดเทอมใหญ่จะรบกวนให้ญาติมาช่วยเฝ้า ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับกวดวิชา ปิดเทอมนี้ก็ทะลุหลักหมื่นบาท ไม่นับรวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร จิปาถะ แถมต้องจ่ายแพงกว่าปกติในสภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้
ส่วนคุณอาที่มาเฝ้าหลานกวดวิชาเล่าเสริมว่า เธอลาออกจากงานประจำเพื่อมาเฝ้าหลานเรียนกวดวิชาในช่วงปิดเทอมได้ 3 ปีแล้ว หน้าที่ของเธอคือตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง เตรียมตัวเองให้พร้อม แล้วขับรถมาส่ง มาเฝ้าหลานที่สยาม หาข้าวให้ทาน ปีนี้หลานของเธอขึ้น ป.6 ปีหน้าจะสอบเข้า ม.1 พ่อแม่ของหลานจึงต้องเข้มงวดกันพอสมควร
“หลานพี่เรียนที่สยามที่เดียวตั้งแต่ 8 โมงครึ่งถึง 5 โมงเย็น ซึ่งโชคดีกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วเรียนที่สยามตอนเช้า กินข้าวเที่ยงเสร็จรีบนั่งบีทีเอสไปเรียนต่อที่พญาไท (อาคารวรรณสรณ์) ต้องตื่นตี 4 มาส่งหลานแบบนี้ทุกวัน ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ ที่พ่อแม่เขามาเฝ้าเอง”
ส่วนค่าเรียนกวดวิชา เธอเผยว่า ไม่มีงบฯ ตายตัว เฉพาะค่าติวเรียนจากซีดี ฟังเทป คอร์สนึงก็มีราคาตั้งแต่ 3,500-6,500 ต่อคนเข้าไปแล้ว แต่ถ้าเรียนสด อย่างน้อยคอร์สนึงก็ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนวิชาเดียว วิชาเบสิกที่เรียนวิทย์ คณิต อังกฤษ แถมยังมีคอร์สย่อยไปอีกว่าวิทย์อะไร คณิตอะไร คอร์สพื้นฐาน ตะลุยโจทย์ ฉะนั้นเทอมหนึ่งหลายหมื่นบาท แต่พ่อแม่ก็ยอมลงทุน
เธอเล่าว่า ในช่วงระหว่างที่นั่งคอยหลานสมัยแรกๆ ไม่มีอะไรทำ ก็ไปเดินช้อปปิ้งแถวสยาม แต่หลังๆ เมื่อยขา เลยหากิจกรรมมาทำ คือถักโครเชต์ฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าหลานจะเรียนจบวัน ซึ่งไม่ต่างจากพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่พยายามหากิจกรรมมาทำระหว่างรอบลูกหลาน เช่น จับกลุ่มพากันไปช้อปปิ้ง เล่นมือถือ เล่นแท็บเล็ต บางคนปูเสื่อนอนเลยก็มี
ส่วนคนที่มาเฝ้าลูกหลานมีหลากหลายแบบ ไม่ได้มีเฉพาะพ่อแม่ แต่ยังมีพี่ป้าน้าอา หรือแม้กระทั่งตายาย อากงอาม่า ก็มีมาเฝ้าเหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวมีเงิน โดยเฉพาะหมอ เพราะเด็กหลายคนเป็นลูกหมอ มาติวเพื่อสอบแข่งขัน ผลลัพธ์ก็คือลูกหลานสอบเข้าได้ เข้าสาธิต เข้าเตรียมอุดมได้
เธอยังสะท้อนว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มาเฝ้าลูกเรียนกวดวิชามองเรื่องอนาคตลูกเป็นหลัก ว่าจะต้องมีหน้าที่การงานดีๆ ดูแลตัวเองได้ เป็นห่วงอนาคตของลูก “… มันเป็นชีวิตที่หนักหนาสำหรับเด็กนะ แต่พ่อแม่เขากังวลว่ามันจะไม่ทันคนอื่นเขา ใครๆ เขาก็เรียน บางทีพี่ก็สงสารหลานเหมือนกัน เวลาที่เขาควรจะได้ไปเล่น มันหายไปพอสมควร”
“แต่ถ้าไม่พาเขามา อยู่บ้านเขาก็จะเล่นเกม ดูมือถือ แต่ถ้ามาติวอย่างนี้ อย่างน้อยเขาก็ได้เรียนด้วย ได้เจอเพื่อนด้วย แต่ส่วนตัวมองว่า เด็กจะได้ความรู้จริงหรือเปล่า สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับตัวเด็ก บางคนไม่ต้องเรียน เขาก็ได้ของเขาอยู่แล้ว แค่มาเอาเทคนิคจากติวเตอร์นิดหน่อย”
ขณะที่คุณพ่อคนหนึ่งเล่าว่า ต้องมาเฝ้าลูกเรียนกวดวิชา 7 วันไม่มีวันหยุด ขับรถออกจากบ้านตี 5 ครึ่งจากลำลูกกา ปทุมธานี มาที่สยาม แล้วรับกลับตอนลูกเลิกเรียนบ่าย 3 โมง เหตุผลหลักของคนเป็นพ่อ คือเป็นห่วงลูก กลัวลูกลำบาก เลยมาใช้ชีวิตอยู่กับลูกไปเลย
อีกสาเหตุที่ต้องมากวดวิชาหนักขนาดนี้ เพราะบางเรื่อง บางวิชา ครูในโรงเรียนไม่ได้สอน หรือบางครั้งสอนเกินชั้นเรียน ทำให้ลูกเรียนไม่เข้าใจ ไม่ทันเพื่อน จึงต้องมาเรียนพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งสถาบันกวดวิชาตอบโจทย์ให้ลูกหลานเขาได้
“หลักๆ เลยคือผมเป็นห่วงลูก เพราะว่าเขายังไม่โตมาก ผมมีลูก 3 คน ขึ้น ม.2 ม.4 และ ม.6 ถ้าเป็น ม.ปลายก็อาจจะปล่อยได้แล้ว แต่ถ้า ม.ต้น ยังต้องมาดูอยู่ แล้วเวลาลูกเรียนพิเศษ แถวนี้อาหารมันหายาก เลยต้องเตรียมมาให้เขา เพราะคนมันเยอะมาก แต่ร้านอาหารมันน้อย”
เขาเล่าว่า ช่วงเวลากลางวันนั่งเฝ้าลูกตลอด ระหว่างนั้นก็ติดต่องานทางโทรศัพท์ไปด้วย เพราะทำธุรกิจส่วนตัว ตกเย็นรับลูกกลับถึงบ้าน หากลูกไม่เข้าใจวิชาไหน ก็ต้องช่วยสอน ช่วยติว หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องมาหาครูติวเดี๋ยวมาให้ลูก ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนี้
“ชีวิตผมเป็นแบบนี้ทุกวัน เมื่อก่อนคนโตเลิก 2 ทุ่ม ต้องทำแบบนี้ทุกวันไม่มีวันหยุด แล้วที่ต้องมากวดวิชาหนักขนาดนี้
เพราะบางเรื่องครูในโรงเรียนไม่ได้สอน พอไม่ได้สอน เราก็ต้องหาที่ให้ความรู้ให้ลูก เรียน 7-9 วิชา แถมมีวิชาพิเศษอีก เวลามันก็เลยหมดไปกับเรื่องนี้ ใช้เงินเยอะด้วย”
คุณพ่อรายนี้ยังเผยว่า ฤดูร้อนนี้จ่ายค่าเรียนกวดวิชาให้ลูกไปหลายหมื่นบาท แต่ปิดเทอมบางครั้งหมดไปเป็นแสน สำหรับลูกสามคน ไม่รวมค่าเทอมที่โรงเรียน ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร ค่าทางด่วน แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกอย่างคือเป้าหมาย คืออนาคตของลูก
“คอร์สนึงไม่ต้องอะไรเลย คุณคิดดูนะ 5,000 ต่อหนึ่งวิชา สมมติหยุดปิดเทอม เฉพาะคณิตศาสตร์ เดือนนึงหมดแล้วหนึ่งคอร์ส ถ้าอยู่สองเดือนหรือสองเดือนครึ่ง ก็ต้องมีสามคอร์ส วิชาเดียวผมหมดไปหมื่นกว่าบาทต่อคน
“แต่ส่วนตัวผมยังไม่เคยเห็นใครต่ำกว่า 2 หมื่นเลยนะ นี่ลูก 3 คน คร่าวๆ ต้องมี 5-6 หมื่นขึ้นไป ปิดเทอมบางครั้งผมต้องใช้เงินเป็นแสน คือชีวิตหาเงินมาจ่ายครูเรียนพิเศษโดยเฉพาะ แล้วเท่าที่ผมรู้ ผู้ปกครองบางคนถึงขนาดขายบ้านส่งลูกเรียนนะ เอาเงินมาให้ลูกเรียนพิเศษก็มี”
คุณพ่อลูกสามยังบอกว่า “ทุกครอบครัวที่มีลูกคิดแบบนี้เหมือนกันเกือบหมด ถ้าลูกเรียนหนังสือ เขาก็มาเฝ้าอย่างนี้ มันเป็นเหมือนสิ่งที่บังคับอัตโนมัติ พ่อแม่ที่มาเฝ้าก็คาดหวังว่าลูกจะประสบความสำเร็จอย่างที่ลูกตั้งใจ ถ้าลูกทำได้ตามแผน หัวอกพ่อแม่ก็มีกำลังใจมากขึ้น นี่ถ้าผมไม่ให้ลูกเรียนติว 3 คนนะ ผมรวยไปนานแล้ว เดินทางเที่ยวรอบโลก มีความสุขไปแล้ว แต่นี่ไม่เว้นวันหยุดเลย”
“ขนาดหมอใหญ่ หมอผ่าตัดยังต้องมานั่งเฝ้าลูกเลย แต่เขาไม่พูดแค่นั้นเองว่าเขาเป็นใคร แต่ที่ผมรู้จัก หมอ 10 คนนั่งเฝ้าลูก 10 คน คือเขาเป็นหมอ ก็อยากให้ลูกเป็นหมอ เป็นวิศวะ บางคนยกครอบครัวมาเฝ้าเลย ความคาดหวังมันสูงมาก”
คุณพ่อรายนี้มองว่า การลงทุนของเขาเป็นอะไรที่คุ้มค่าในระยะยาวสำหรับลูกสามคน “… มันคุ้มตรงที่ลูกไม่เกเร เอาชีวิตรอดได้ สองคือ ถ้าเขาเป็นอย่างที่อยากเป็นได้ หรือไปแข่งขันได้รางวัลมา เข้าสถาบัน เข้าคณะที่ใฝ่ฝันได้ ก็เป็นความภาคภูมิใจของพ่อแม่ ถือว่ากำไร ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะคิดประมาณนี้”
“ผมใช้ชีวิตอย่างนี้มาตั้งแต่ลูกคนโตเรียน ป.1 ใช้ชีวิตวนอย่างนี้มา 12 ปีแล้ว วนจนบางทีก็ถามตัวเองเหมือนกันว่ามานั่งทำอะไรว่ะเนี่ย มันเหมือนเสี่ยง เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา สุขภาพ แต่คือชีวิตลูกก็เหมือนชีวิตเรา มันคือสมรรถนะที่เราต้องให้เขา”
“คุณลงทุนกับลูก 12 ปี ป.1-ม.6 ให้ลูกได้เข้าไปในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ คุ้มแล้ว ส่วนใหญ่มองแค่นี้ พอเข้ามหาวิทยาลัย ลูกก็โตแล้ว เขาก็ปรับตัวได้ แต่ถ้ายังเล็กอยู่ ต้องมาดูเอง ถ้าเกิดพลาดพลั้ง มีปัญหาเสียหาย มันแก้ไม่ได้ ฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องช่วยให้ลูกไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ให้ได้”
พ่อที่มาเฝ้าลูกอีกคน บอกเหตุผลว่า “… ผมกลัวว่าลูกจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ ส่วนใหญ่ผมคิดว่าพ่อแม่คิดอย่างนี้นะ และคงไม่มีใครเชื่อว่าการที่ลูกเรียนในระบบโรงเรียน จะสามารถทำให้ลูกมีความรู้ที่สามารถจะสู้คนอื่นได้ มันจึงต้องหาวิธีการ คือมาเรียนพิเศษ”
“โดยความเป็นจริงมันก็ต้องเป็นอย่างนี้นะ ถ้าไม่โลกสวยเกินไป เรียนในโรงเรียนก็ได้แค่นั้น แต่จะไปโทษโรงเรียนก็ลำบาก เพราะเขาสอนเกินระดับชั้น เด็กเรียน ป.4 แต่สอนเนื้อหาคาบเกี่ยวไปถึง ป.5 ป.6 เด็กก็ทำไม่ได้ แต่ในสถาบันติวเขาทำได้ ฉะนั้นเด็กที่เรียนเกินระดับชั้นก็จะได้เปรียบ อย่างน้อยก็ได้เรียนมาก่อน แล้วยิ่งเด็กที่จะต้องแข่งขันในระบบ ไม่ว่าจะเป็น สสวท. หรือ สพฐ. มันก็ยิ่งจำเป็นที่จะต้องมาเรียนพิเศษ พอมาเรียนแบบนี้ ด้วยความที่ลูกยังเด็ก เราก็ไม่กล้าที่จะปล่อย ก็เลยต้องมาเฝ้าลูก”
“ครอบครัวไม่น้อยที่พ่อแม่คนใดคนหนึ่งต้องออกจากการทำงาน เพื่อมีหน้าที่มาเฝ้าลูก มาดูแลลูก ยกตัวอย่าง ผมนี่แหละ มันก็เลยจำเป็นที่จะต้องมาเฝ้า”
สำหรับคุณพ่อรายนี้ อดีตคือเคยรับราชการเป็นตำรวจมายาวนาน 25 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือรองผู้กำกับในจังหวัดทางภาคอีสาน แต่เขายอมละทิ้งตำแหน่ง อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง ด้วยการลาออกจากตำรวจมา 5 ปีแล้ว เพื่อมาดูแลลูกสาวฝาแฝดสองคนโดยเฉพาะ
“เมื่อก่อนทำงานอยู่ต่างจังหวัด เป็นตำรวจ กลับมาบ้านอาทิตย์ละครั้ง อยู่นานก็ไม่ได้ ด้วยอาชีพหน้าที่การงานของเรา ส่วนแฟนผมเป็นหมอ เปิดคลินิกอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ดูลูกเต็มเวลา เราก็จ้างพี่เลี้ยง”
แต่พอช่วงที่ลูกอยู่อนุบาล 3 จะขึ้น ป.1 พบว่า ลูกอ่านหนังสือภาษาไทยไม่ได้ ผมก็เลยมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดี สุดท้ายพอลูกเข้า ป.1 ผมก็ลาออก ครบบำนาญพอดี ก็ออกมาดูแลลูก มาเรียนกับลูก มาสอนลูก มาใช้ชีวิตกับลูก
“ตั้งแต่ลาออกจากตำรวจมา ผมรับผิดชอบทุกอย่าง ตั้งแต่ทำกับข้าว จ่ายตลาด อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ซักผ้า ให้ลูกตั้งแต่เขายังเล็ก ผมทำให้ทุกอย่าง ถักเปียก็ต้องฝึก จากที่เคยจับปืน จับกุญแจมือ ต้องมาถักเปียให้ลูก ไปรับไปส่งลูก ไปโรงเรียน”
คุณพ่อของลูกสาวฝาแฝด เปรียบเทียบการเรียนในโรงเรียนกับสถาบันกวดวิชาว่า “… เราต้องยอมรับว่าติวเตอร์แต่ละวิชาเก่งกว่าครูในระบบ ติวได้ตรงกว่า ขณะที่ครูในโรงเรียนห้องหนึ่งมีนักเรียน 50 กว่าคน แน่นเกินไป ครูประจำชั้นก็ดูไม่ทัน แค่ตรวจการบ้านก็ไม่ทันแล้ว แต่ก็เห็นใจครูในระบบ”
พอลูกขึ้น ป.2 เขาก็ไปติว จนเขาสอบสอบแข่งขัน สสวท.ได้ ผ่านรอบแรกคณิตศาสตร์ เราก็เริ่มคิดแล้วมาสรุปเอาเองว่า ความรู้ที่ลูกสอบได้มาจากการติว หลังจากนั้นก็ติวมาตลอด สอบ สพฐ.เขตก็ได้เหรียญทอง พอได้รางวัลเขาก็มีความดีใจ ก็เลยชอบเรียนพิเศษ วันไหนไม่ได้มาเรียนมาติว ลูกถามว่า ปะป๊า ทำไมวันนี้ไม่ติว
ดังนั้นชีวิตผมคือ ตื่นมาตี 5 ทำกับข้าว ไปส่งโรงเรียน ไปเรียนกวดวิชา กลับมาบ้านก็สอนการบ้าน จนลูกเข้านอน เราถึงจะได้นอน นี่คือช่วง 4-5 ปีมานี้ ทุกวันนี้ลูกขึ้น ป.5 ก็ยังทำแบบนี้
ผมมองว่า ถ้าเราคิดจะส่งเสริมเด็ก เรื่องเป็นคนดีก็เรื่องหนึ่งนะ แต่เรื่องวิชาการที่จะแข่งขันกัน ไม่ว่าเด็กจะชอบสาขาวิชาชีพอะไร มันจะต้องมีความรู้พื้นฐานการศึกษาที่แน่น เราต้องให้เขา ไม่ว่าจะเป็นวิทย์ คณิต เป็นต้น
“ผมค่อนข้างมีความเห็นแย้งกับหลายคนนะ ที่บอกว่าเด็กชอบอะไร ไม่ต้องไปบังคับ ไม่ต้องไปยัดเยียด ให้ลูกเลือกเอง ผมมองว่า ในสังคมปัจจุบัน ถ้าคุณไม่แน่นในสาขาวิชาการ ในอนาคตคุณจะสู้คนอื่นเขาลำบาก ตอนนี้เราให้เขาเต็มที่ในแง่ของวิชาการ”
“แล้วพอขึ้น ม.ปลาย ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่เขาจะเบนเข็มชีวิต ชอบทางไหน เรื่องของเขา เราไม่บังคับ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พอให้ลูกมาติว เราก็ไม่กล้าปล่อยลูกทิ้งไว้ ด้วยสังคมปัจจุบัน เราเห็นมาเยอะ เป็นตำรวจเห็นโจรมาเยอะ เราก็ไม่กล้าทิ้งลูกไว้ ยิ่งเป็นเด็กผู้หญิงด้วย ผมก็ต้องมาเฝ้า”
อย่างไรก็ดี คุณพ่อรายนี้ยอมรับว่า เขาไม่อยากให้ลูกอยู่ในสภาพแบบนี้ อยากใช้ชีวิตให้มีความสุข อยากให้ลูกมีเวลาว่าง มีเวลาสันทนาการกับครอบครัว แต่เมื่อสังคมไทยยังเป็นอย่างนี้ ระบบการศึกษาไทยยังเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเรียนพิเศษ ไม่เรียนก็สู้คนอื่นไม่ได้
“ในชั้นเรียนก็เรื่องหนึ่งนะ แต่เวลาเด็กไปสอบแข่งขัน เราก็อยากจะให้ลูกอยู่ในสถาบันการศึกษาที่เราพอใจ แต่ลูกก็ต้องการด้วย ผมถามลูกว่าไหวมั้ย จะเอามั้ย แบบนี้ เขาบอกว่าเอา ถ้าเขาเอาเราก็โอเค แต่ถ้าลูกบอกว่าหนูไม่ไหว อยากพัก ผมก็ให้พัก”
“แต่ถ้าเด็กไม่เอาอะไรสักอย่าง ก็ต้องอธิบายเหตุผล ว่ามันจะต้องเอาสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อะไรก็ไม่เอา แต่จะเรียนเช้ายันเย็นทุกวันมันก็หนักเกินไป ก็ต้องปรับสมดุลดีๆ ฉะนั้น อะไรมันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เหมาะกับลูกเราหรือไม่ เราต้องดูแลให้ แต่ก็ต้องถามความสมัครใจลูกด้วย”
“ฉะนั้นพ่อแม่ที่พาลูกมาเรียนกวดวิชา มาเฝ้าถึงที่ ผมเคยหาข้อมูล บางคนมาจากต่างจังหวัด บางทีนั่งเครื่องบินมาจากภาคใต้ มาเช่าโรงแรม มาอยู่เพื่อจะให้ลูกติว วันสองวัน แล้วก็นั่งเครื่องกลับ เขาก็ยอมลงทุน ถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น ก็อย่างที่กล่าวไป เพื่ออนาคตลูก ผมก็ยอม”
“หรือหลายคนถามผมว่า ทำใจได้เหรอ เคยมีอำนาจ มีลูกน้อง แล้วมานั่งเฝ้าลูกก๊อกๆ แก๊กๆ อย่างนี้ ผมตอบว่า ไม่ได้คิดอย่างนั้น แล้วการที่เรามาเฝ้าลูกเนี่ย เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งนะ เป็นสิ่งที่ควรจะทำ นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ มานั่งอย่างนี้แหละ ถามว่าเราไม่มาเฝ้า ใครจะมาเฝ้า”
นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะถ้าลูกพลาดมาแล้ว เอาคืนไม่ได้ ฉะนั้นเวลาที่เสียไปอย่างนี้ เราอย่าไปมองว่ามันเป็นการเสียเวลา แต่เป็นการได้เวลา
“ผมออกจากราชการมา ผมคิดว่าผมคุ้ม เกินคุ้มด้วยซ้ำไป ถามว่ามาเฝ้าลูกเหนื่อยมั้ย เหนื่อยครับ แต่ลึกๆ มันมีความสุข มีความหวัง ลูกเรียน 10 โมง บ่าย 3 ก็เสร็จ ต้องมาส่งให้ทัน จะกินข้าวยังไง ถ้าทำกับข้าวจากบ้านไม่ทันก็มาซื้อข้าวร้นสะดวกซื้อ แต่ถ้าทันเราก็ทำมาให้ ตอนเย็นกลับไปบ้านก็ให้ว่ายน้ำ ออกกำลังกาย”
ส่วนระหว่างวัน ภรรยาผมเปิดคลินิก ผมก็อาจจะมาส่งของไปรษณีย์ ส่งยาให้กับคนไข้บ้าง แล้วก็มานั่งคิดว่า แต่ละวันลูกควรจะได้ทำอะไร มานั่งอ่านหนังสือวิชาการที่เขาเรียน เพื่อที่จะไปสอนลูกอีก หากลูกไม่เข้าใจ ก็สอนเท่าที่ได้
“พ่อแม่สมัยนี้ต้องปรับตัวเยอะมาก อย่างผมเองอายุไม่น้อยแล้ว 50 กว่าแล้ว ลูกอยู่ ป.5 ข้อสอบที่ลูกสอบแข่งขัน บางข้อผมไม่เข้าใจ มันยาก ขนาดแฟนผมเป็นหมอ มาดูข้อสอบ สสวท.ปีที่แล้ว โอ้โห ยังต้องใช้เวลาแก้โจทย์นาน โดยเฉพาะคณิต วิทย์ พ่อแม่ต้องปรับตัวอย่างมาก
“คือผมไม่ได้หวังว่าลูกจะดีเลอเลิศ แต่เราทำได้เต็มที่ของเรา แค่นั้นเอง เราไม่เดือดร้อน ทั้งเวลา ทั้งการเงิน พอแล้ว ช่วงเวลาทุกวันนี้ ทำอย่างไร ผลผลิตเราจะไปถึงเป้าหมาย นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด ผลผลิตเราไม่ใช่เงิน เงินมีอยู่แล้ว แต่คือลูก 2 คน งานเราคือทำอย่างไรให้ลูกไปถึงเป้าหมาย
“ฉะนั้นการมาเฝ้าลูกคืองานของผม ถามว่าเบื่อมั้ย เบื่อ (หัวเราะ) ไปจับโจรดีกว่า แต่ลึกๆ มันก็ดี เพราะนี่คือลูกเรา”
นี่คือ…ชีวิต-หัวอกของคนเป็นพ่อเป็นแม่