ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการ ADAM และพวก รวม 8 ราย กรณีกระทำทุจริตต่อหน้าที่

ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการ ADAM และพวก รวม 8 ราย กรณีกระทำทุจริตต่อหน้าที่

17 เมษายน 2019


ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADAM กับพวกรวม 8 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีกระทำทุจริตต่อหน้าที่ในการให้ ADAM เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท สิราลัย จำกัด) จนเป็นเหตุให้ ADAM ได้รับความเสียหาย

สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการบริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ADAM กับพวกรวม 8 ราย ได้แก่

    1.นายบุญเปี่ยม เอี่ยมรุ่งโรจน์ (ประธานกรรมการบริษัท ADAM ในช่วงเกิดเหตุ)
    2.นายชินวัฒน์ ชินแสงอร่าม (กรรมการ ADAM ในช่วงเกิดเหตุ)
    3.นายสราวุฒิ ภูมิถาวร (กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของ ADAM ในช่วงเกิดเหตุ) และพวกอีก 5 ราย ได้แก่
    4.นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา
    5.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
    6.นางสาวบงกร จันทร์สกุลพร (หรือชื่อขณะเกิดเหตุ นางสาวธันยพร)
    7.นายสรวิศ จันทร์สกุลพร
    8.นางสุดา คุณจักร

กรณีร่วมกันกระทำผิดในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ ADAM เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด (บจ. กีธา) ในปี 2557 เข้ามาเป็นบริษัทย่อยของ ADAM โดยทุจริต ทั้งที่ทราบว่าในระหว่างนั้น บจ. กีธา เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนดำเนินคดี กรณีสงสัยว่าร่วมทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวและมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการฟอกเงิน

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้ ADAM ได้รับความเสียหาย โดยกลุ่มครอบครัวจันทร์สกุลพร ซึ่งประกอบด้วยนายอภิชาติ นางสาวบงกร และนายสรวิศ ได้รับประโยชน์จากการใช้กระบวนการกลไกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการเปลี่ยนถ่ายผู้เป็นเจ้าของของ บจ. กีธา จากเจ้าของเดิม คือ กลุ่มครอบครัวจันทร์สกุลพร มาเป็น ADAM ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีประชาชนทั่วไปเป็นผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกันกลุ่มครอบครัวจันทร์สกุลพร ก็ได้เปลี่ยนสภาพของทรัพย์สินซึ่งคือหุ้นของ บจ. กีธา เป็นหุ้น ADAM ซึ่งมีสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน โดยมีการวางแผนการอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงการใช้อำนาจของคณะกรรมการบริษัทในการลงนามในสัญญาจะซื้อหุ้น บจ. กีธา ขณะเดียวกันได้ใช้บัญชีนอมินีเข้าซื้อหุ้น ADAM เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงข้างมากในการครอบงำกิจการของบริษัท และใช้สิทธิในการเพิ่มวาระในวันที่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และเห็นชอบให้ซื้อหุ้นดังกล่าว ทำให้สัญญาจะซื้อหุ้นดังกล่าวมีผลผูกพันทันที

การกระทำของอดีตกรรมการ ADAM และพวกรวม 8 ราย ข้างต้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งบุคคลราย (1) (2) และ (3) เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 307 และ มาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยมีบุคคล ตาม (4) (5) (6) (7) และ (8) ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการกระทำผิด เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 307 และมาตรา 311 ประกอบมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ แล้วแต่กรณี

นอกจากนี้ บุคคลตาม (6) และ (7) ได้ร่วมกันควบคุมและหรือใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่นโดยเป็นผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง รวมถึงเข้าซื้อและถือครองหลักทรัพย์ ADAM ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินร้อยละ 5 และรวมกันถึงร้อยละ 25 ขึ้นไปของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ โดยไม่ได้รายงานและทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 8 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยการถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ