ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต.เดินหน้ายุทธศาสตร์ “Regulatory Guillotine” มีกฎเท่าที่จำเป็น หนุนตลาดทุนไทยแข่งได้ในโลก

ก.ล.ต.เดินหน้ายุทธศาสตร์ “Regulatory Guillotine” มีกฎเท่าที่จำเป็น หนุนตลาดทุนไทยแข่งได้ในโลก

15 กรกฎาคม 2020


วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “Regulatory Guillotine : ก้าวใหม่ของตลาดทุนไทย แข่งได้ในตลาดทุนโลก” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปกฎเกณฑ์ด้านตลาดทุนที่อยู่ในความดูแลของ ก.ล.ต. ตามโครงการ Regulatory Guillotine ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคเอกชนและยังคงสามารถคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมาย สำนักงาน ก.ล.ต. และมีนางสาวสินิดา เพชรวีระกุล ที่ปรึกษาด้านสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต.ดำเนินการเสวนา

การเสวนาในครั้งนี้มียอดจำนวนผู้เข้าถึงผ่านระบบ Facebook Live ใน page สำนักงาน กลต. ทั้งหมด 9,269 คน

ก.ล.ต.ตั้งเป้าสะสางได้ 50%


นางสาว รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า Regulatory guillotine คือ การทบทวนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน โดยใช้วิธีที่รวดเร็ว โปร่งใส ใช้ต้นทุนต่ำ และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินการดังกล่าวเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลในการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ โดยที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนซึ่งมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ซึ่งมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธาน เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

ปัจจุบันแนวคิดในเรื่องของ Regulatory Guillotine มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยมีมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ต้องมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ต้องมีการทำกระบวนการ Regulatory Impact Assessment (RIA) ซึ่งต้องคำนวณ Cost-Benefit ด้วยว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นนั้นคุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือไม่

“จึงเห็นได้ว่าในกระบวนการดังกล่าว นอกจากต้องพิจารณามุมมองด้านกฎหมายแล้ว ยังต้องอาศัยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์ด้วย”

ทั้งนี้ จากประสบการณ์การศึกษาดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ตามโครงการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่าประเทศเกาหลีใต้สามารถลดกฎหมายได้ประมาณ 7,000 ฉบับ อันเนื่องมาจากกระบวนการทบทวนกฎหมายและประชุมหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ากฎหมายใดล้าสมัยก็จะทำการยกเลิกหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยมีการว่าจ้างที่ปรึกษา และมีการจัดตั้งสถาบัน regulatory reform เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการด้วย

ในส่วนของ ก.ล.ต. ได้มีการดำเนินการในส่วนนี้อยู่บ้าง แต่มีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จึงกำหนดให้โครงการ Regulatory Guillotine เป็นโครงการสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการลดขั้นตอน กระบวนการ และจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นต่อ ก.ล.ต. รวมทั้งทบทวนกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

ก.ล.ต. มีกฎลำดับรองที่อยู่ในความดูแล คิดเป็นฉบับประมวล 538 ฉบับ โดยคิดแยกรายฉบับได้ 1,653 ฉบับ จึงกำหนดเป้าหมายจะลดจำนวนลงให้ได้ 50% โดยมีโครงการนำร่อง 21 โครงการ ซึ่งคาดว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จจะลดกระดาษได้ประมาณ 2 ล้านแผ่นต่อปี ลดเวลาประมาณ 70,000 ชั่วโมงต่อปี และลดต้นทุนประมาณ 75 ล้านบาทต่อปี โดยมี Key Success Factors คือความชัดเจนของผู้บริหาร และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งเน้นนโยบาย “ตัวเบา” ไม่ให้เป็นภาระแก่ภาคเอกชนมากเกินไปและยังคงได้สัดส่วนกับการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย

ในการดำเนินการโครงการ Regulatory Guillotine ก.ล.ต. ขอเรียนเชิญชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ข้อเสนอแนะได้ว่ามีเรื่องใดบ้างที่อยากให้ ก.ล.ต. ดำเนินการ รวมทั้งสามารถติดตามผลการดำเนินการตามแผนงานของ ก.ล.ต. ด้วย โดยสามารถดำเนินการได้ทุกช่องทางตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกภาคส่วน

รัฐต้องทันธุรกิจรูปแบบใหม่

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สาเหตุที่ประเทศไทยมีกฎหมายมากเกินไปมีสาเหตุจากการออกกฎหมายใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีการยกเลิกกฎหมายเก่า โดยเฉพาะกฎหมาย กฎเกณฑ์ในระดับที่หน่วยงานเป็นผู้ออกใช้เอง ซึ่งอาจเกิดจากแนวความคิดของหน่วยงานรัฐที่เชื่อว่าการลดกฎหมายกฎเกณฑ์คือการลดอำนาจ อีกทั้งกฎหมายที่ออกมา
ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
เมื่อกฎหมายมีจำนวนมาก และกฎหมายเหล่านั้นก็ยังเป็นกฎหมายที่ซ้ำซ้อน ล้าสมัย ก็ย่อมทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศตามมาดังนี้
1. สร้างภาระต้นทุนให้แก่ธุรกิจและประชาชน
2. การใช้ทรัพยากรภาครัฐขาดประสิทธิภาพ
3. เกิดการบิดเบือนเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมาย
4. เป็นช่องทางทุจริตของเจ้าหน้าที่บางคน

การทำ Regulatory Guillotine จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาข้างต้นได้ โดยมีหลักคิดสำคัญคือ
1. ทบทวนมิติกฎหมาย เช่น กฎหมายให้อำนาจออกกฎเกณฑ์หรือไม่ ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่
2. ทบทวนมิติเศรษฐศาสตร์ เช่น สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมปัจจุบันหรือไม่ มีวิธีการลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพหรือไม่
3. ทบทวนมิติด้านต้นทุน เช่น ต้นทุน ค่าเสียโอกาส
4. ศึกษาตัวอย่างประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices)

ทั้งนี้ ในส่วนของกฎเกณฑ์ด้านตลาดทุน มองว่า ก.ล.ต. ได้มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้รองรับการระดมทุนของ Start-up เช่น การระดมทุนผ่านผู้ให้บริการระบบ Crowdfunding การทำ ICO เป็นต้น โดยอาจพิจารณาเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆ เช่น ลดขั้นตอนและเอกสารต่างๆ ในการขออนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ กฎหมายที่หน่วยงานภาครัฐอื่นดูแล เช่น การประกอบธุรกิจของ Grab หรือ Airbnb รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับโดรน เทเลเมดิซีน เกษตรอัจฉริยะ หรือเกษตรแม่นยำ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับธุรกิจดังกล่าว ซึ่งนักลงทุนจะมองว่าเป็นอุปสรรคและมีส่วนในการพิจารณาว่าจะเข้ามาประกอบการในประเทศไทยหรือไม่ ดังนั้น หน่วยงานรัฐจึงควรรับฟังประชาชนมากยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ

ขอตีความกฎหมายชัดเจน

นางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า สิ่งแรกที่ ก.ล.ต. สามารถทำได้คือการสำรวจว่า กฎหมายของ ก.ล.ต. จะเป็นอุปสรรคหรือมีผลกระทบต่อใครบ้าง โดยสิ่งภาคธุรกิจคาดหวังจากหน่วยงานรัฐได้แก่
1. ความรวดเร็ว (speed)
ในปัจจุบันนี้ การหารือข้อกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจต้องประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายแห่งจึงจะได้คำตอบ ซึ่งส่งผลให้การประกอบธุรกิจไม่คล่องตัว จึงอยากเห็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น one stop service ที่จะช่วยตอบคำถามหรือกำกับดูแลเอกชนเพียงแห่งเดียว
2. ความแน่นอนชัดเจน (certainty)
เรื่องความชัดเจนแน่นอนเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับเอกชนมาก เช่น กรณีของบริษัทจดทะเบียนอาจเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลหลายหน่วยงาน โดยแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ตนเองดูแลซึ่งอาจมีเจตนารมณ์หรือแนวคิดในการตีความกฎหมายไม่เหมือนกันในแต่ละหน่วยงาน แต่เมื่อพิจารณาในมุมของภาคเอกชนแล้ว ภาคเอกชนต้องการความแน่นอนชัดเจนในการตีความกฎหมาย และอยากให้หน่วยงานรัฐตีความกฎหมายโดยยึดจากเจตนารมณ์เดียวกันโดยคำนึงถึง Cost-Benefit ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายนั้นด้วย
3. การนำ Digital มาใช้ให้เกิดประโยชน์
ปัจจุบันยังมีกฎหมายหลายเรื่องที่ยังกำหนดให้ต้องประกาศโฆษณาลงหนังสือพิมพ์ หรือส่งข้อมูลให้บุคคลในรูปแบบกระดาษเท่านั้น แต่เทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาไปใช้ระบบ Digital แล้ว ซึ่งมีต้นทุนที่น้อยกว่าแต่มีประสิทธิภาพมากกว่า กฎหมายจึงควรเปิดช่องให้นำ Digital มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

ลดขั้นตอนมุ่งดิจิทัล


นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมาย สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. มองว่าการพัฒนากฎหมายและกฎเกณฑ์เป็นภารกิจสำคัญ เนื่องจากกฎหมายกฎเกณฑ์เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดย ก.ล.ต. ดูแลกฎหมายแม่บทในระดับพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดรวมทั้งหมด 6 ฉบับ ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ศึกษา พัฒนา ทำวิจัยเพื่อปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

โดยกฎหมายแม่บทเหล่านี้จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนต่างๆ กว่าจะออกใช้บังคับเป็นกฎหมาย และเมื่อมีผลใช้บังคับแล้วจะยกเลิกได้ยาก ซึ่งแตกต่างจากกฎลำดับรอง เช่น ประกาศต่างๆ เป็นต้น ที่จะมีความคล่องตัวในการดำเนินการมากกว่า และ ก.ล.ต. สามารถดำเนินการได้เอง

ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามโครงการ Regulatory Guillotine จะมุ่งเน้นปรับปรุงกฎลำดับรองทุกด้านโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ปรับปรุงกระบวนการขั้นตอน โดยมุ่งไปสู่ดิจิทัล ลดการใช้กระดาษและหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นภาระของทั้งเอกชนและภาครัฐ 2. ลดจำนวนแบบคำขอ ซึ่งในปีนี้จะมีการยกเลิกแบบ filing ตราสารหนี้จาก 32 แบบ เหลือ 13 แบบ แต่การลดจำนวนไม่ได้ลดให้เหลือน้อยเพียงอย่างเดียว แต่จะรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบเพื่อลดในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป 3. ปรับปรุงเนื้อหาสาระ โดยมองว่ากฎเกณฑ์การกำกับดูแลตัวกลางเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งจะมีการทบทวนใบอนุญาตให้มีเท่าที่จำเป็นและคำนึงถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

กล่าวโดยสรุปคือ การทำ Regulatory Guillotine จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ หน่วยงานของรัฐ และประเทศชาติ เพราะจะช่วยลดต้นทุน ลดอุปสรรคต่างๆ ได้มาก และยังส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย แต่สิ่งที่สำคัญในการทำให้โครงการนี้สำเร็จคือความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนที่จะช่วยแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานรัฐรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

การดำเนินการตามโครงการ Regulatory Guillotineของ ก.ล.ต.