ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ก.ล.ต. ลงโทษ บล.เออีซี – ผู้บริหาร – อุรชา วชิรกุลฑล – ผู้แนะนำการลงทุนผิดจริง กรณีโอนหุ้น”ชูวงษ์”

ก.ล.ต. ลงโทษ บล.เออีซี – ผู้บริหาร – อุรชา วชิรกุลฑล – ผู้แนะนำการลงทุนผิดจริง กรณีโอนหุ้น”ชูวงษ์”

23 ธันวาคม 2015


สืบเนื่องจากกรณีการโอนหุ้นของบุคคลรายหนึ่งซึ่งเป็นข่าวที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพยืและตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษผู้แนะนำการลงทุน 3 ราย ได้แก่ นางสาวอุรชา วชิรกุลฑล ขณะกระทำผิดสังกัด บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) (บล. เออีซี) โดยเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน เป็นเวลา 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2558 นายนัฐพล เฉลิมพจน์ สังกัด บล. เออีซี โดยพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน เป็นเวลา 6 เดือน และนางสาวพัชรีย์ ธัชธำรงชัย ขณะกระทำผิดสังกัด บล.เออีซี โดยพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน เป็นเวลา 1 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558

นอกจากนี้ จากการขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเติมพบระบบงานสำคัญที่บกพร่องของ บล.เออีซี หลายระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know-Your-Customer / Customer Due Diligence: KYC/CDD) โดยคณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบ บล. เออีซี เป็นเงิน 1,101,000 บาท รวมทั้ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการลงโทษผู้บริหารบริษัท นายธาดา จันทร์ประสิทธิ์ และนายพิสิทธิ์ ปทุมบาล โดยพักการให้ความเห็นชอบการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของผู้บริหาร รายละ 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2558 เนื่องจากละเลยการตรวจสอบดูแลระบบงานดังกล่าว

จากกรณีการโอนหุ้นที่ปรากฏเป็นข่าว ก.ล.ต. พบว่าผู้แนะนำการลงทุนรายนางสาวอุรชาจัดการโอนหุ้นในบัญชีของลูกค้ารายหนึ่งเข้าบัญชีของมารดาตนเอง โดยได้รับประโยชน์จากการรับโอนหุ้นดังกล่าวผ่านการเตรียมการไว้อย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การเปิดบัญชีของมารดาโดยไม่เปิดเผยความสัมพันธ์ให้บริษัททราบ จัดการเกี่ยวกับการโอนหุ้นโดยไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง และไม่ได้เป็นผู้แนะนำการลงทุนที่ดูแลบัญชีลูกค้าดังกล่าว จัดการให้ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทยืนยันการโอนหุ้นกับบุคคลที่น่าเชื่อว่าไม่ใช่ลูกค้าเจ้าของบัญชี และดำเนินการเพื่อให้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์เข้าไปในระบบข้อมูลของลูกค้า ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกค้าได้แจ้งกับผู้แนะนำการลงทุนที่ดูแลบัญชีเพื่อขอเพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวในระบบของบริษัท เพื่อให้การโอนหุ้นสำเร็จ

การกระทำของนางสาวอุรชาเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยการเบิกถอนโอนย้ายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน และไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่กำหนดโดยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย1 ก.ล.ต. จึงสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุน ด้านหลักทรัพย์รายนางสาวอุรชาและกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เป็นเวลา 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2558

กลต.-เออีซี

กลต.- เออีซี

นอกจากนี้ พบว่าผู้แนะนำการลงทุนอีก 2 ราย คือ นายนัฐพล มีพฤติกรรมรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้าจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชีโดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจ และมีการดำเนินการเพื่อให้เข้าใจว่าได้มีการสนทนาและรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์กับเจ้าของบัญชี และนางสาวพัชรีย์ ที่รับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของลูกค้าจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัญชี โดยไม่มีหนังสือมอบอำนาจ

การกระทำของนายนัฐพลเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนตามคำสั่งของผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของบัญชีหรือตามคำสั่งของผู้มอบอำนาจ และสร้างหลักฐานเพื่ออำพรางว่าผู้สั่งซื้อขายเป็นเจ้าของบัญชีทั้งที่เป็นบุคคลอื่น โดยมีเจตนาปกปิดซ่อนเร้นข้อมูลการรับคำสั่งซื้อขายจากลูกค้าต่อบริษัทหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแล2 และสำหรับนางสาวพัชรีย์ เป็นการไม่ได้ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนตามคำสั่งของผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของบัญชีหรือตามคำสั่งของผู้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ลงทุน3 ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำลงทุนด้านตลาดทุนรายนายนัฐพล เป็นเวลา 6 เดือน และรายนางสาวพัชรีย์ เป็นเวลา 1 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558

นอกจากนี้ก.ล.ต. ได้ขยายผลการตรวจสอบพบความบกพร่องของระบบงานสำคัญที่ บล.เออีซี 3 ด้าน สรุปได้ดังนี้

(1) ระบบงานตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พบว่ามีลูกค้าหลายรายทำธุรกรรมไม่สอดคล้องกับศักยภาพทางการเงินและความรู้ด้านการลงทุนอย่างมีสาระสำคัญ และบริษัทไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อระบุตัวตนลูกค้าและผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง รวมทั้งไม่ได้พิจารณาทบทวนวงเงินอย่างเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถป้องกันพฤติกรรมการซื้อขายหรือการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมอื่น ที่ก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดทุนโดยรวม

(2) ระบบการกำกับดูแลทรัพย์สินของลูกค้า พบความบกพร่องในกระบวนการสอบยันกับลูกค้าที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของลูกค้า โดยพบข้อเท็จจริงว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 ถึงมีนาคม 2558 มีลูกค้าหลายรายได้แจ้งขอเพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ที่จะใช้ในการติดต่อ และบริษัทใช้เลขหมายที่ขอเพิ่มเพียงหมายเลขเดียวในการติดต่อเพื่อยืนยันการทำรายการกับลูกค้า โดยไม่ปรากฏการสอบยันกับหมายเลขโทรศัพท์เดิมที่แจ้งไว้ หรือใช้วิธีการอื่นใด ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าเป็นการทำรายการตามความประสงค์ของลูกค้าที่แท้จริง

นอกจากนี้พบรายการโอนหุ้นออกจากบัญชีลูกค้ารายหนึ่ง มีข้อพิรุธและบกพร่องหลายประการ อาทิ (ก) ผู้แนะนำการลงทุน
ที่ลงนามในเอกสารการขอโอนหุ้นออกจากบัญชีของลูกค้า ไม่ได้เป็นผู้แนะนำการลงทุนที่ดูแลบัญชี (ข) ฝ่ายปฏิบัติการและผู้แนะนำการลงทุนที่ดูแลบัญชีของลูกค้า ไม่สามารถติดต่อลูกค้าตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ลูกค้าให้ไว้ และ(ค) ฝ่ายปฏิบัติการยินยอมทำรายการให้ทั้งที่ทราบว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อไม่ใช่หมายเลขที่ลูกค้าแจ้งไว้กับบริษัท

(3) ระบบการกำกับดูแลเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบริษัท พบว่าขาดประสิทธิภาพโดยระบบงานของบริษัทไม่รัดกุมเพียงพอที่จะตรวจพบกรณีที่พนักงานใช้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาเปิดบัญชี และทำรายการต่างๆ และแม้บริษัทตรวจพบความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและพนักงาน ก็ไม่ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลภายในหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมและทุจริตของพนักงาน

ความบกพร่องในระบบงานของ บล. เออีซีข้างต้น เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามมาตรา 113 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 282 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการเปรียบเทียบจึงได้เปรียบเทียบ บล. เออีซี เป็นเงิน 1,101,000 บาท

สำหรับผู้บริหารหลัก 2 ราย ได้แก่ นายธาดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานปฏิบัติการด้านหลักทรัพย์ (back office) และนายพิสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ซึ่งเป็นผู้ควบคุมสายงานให้บริการด้านหลักทรัพย์ (front office) ก.ล.ต. พบว่าในภาพรวมบุคคลทั้งสองละเลยการตรวจสอบดูแลและสั่งการให้มีการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขและปฏิบัติให้ถูกต้อง ทั้งที่ได้รับทราบข้อมูลจากผลการตรวจสอบของบริษัทเอง และการรายงานจากผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับข้อมูลที่น่าสงสัยของลูกค้า จนเป็นเหตุให้บริษัทมีการกระทำผิด4 ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนรายนายธาดาและนายพิสิทธิ์ รายละ 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2558 โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ บุคคลทั้งสองจะไม่สามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงาน การเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และการปฏิบัติงานอื่นๆ ที่อยู่ในขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนได้

การกระทำของนายธาดาและนายพิสิทธิ์ยังเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 283 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ อันเป็นผลจากการที่บริษัทกระทำผิดมาตรา 113 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ก.ล.ต. จะเสนอการกระทำผิดต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบความผิด ซึ่งหากบุคคลทั้งสองไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบ ก.ล.ต. จะดำเนินการกล่าวโทษต่อไป

(ดูข้อมูลเพิ่มเติม)

หมายเหตุ

*1 การไม่ได้ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์แก่ผู้ลงทุนตามคำสั่งของผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของบัญชีหรือตามคำสั่งของผู้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ลงทุน และการยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ลงทุนโดยการเบิกถอนโอนย้ายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 23(2) แห่งประกาศ ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามข้อ 31(1) แห่งประกาศฉบับเดียวกัน

*2 การไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยมีเจตนาปกปิดซ่อนเร้นข้อมูลการรับคำสั่งซื้อขายจากลูกค้าต่อบริษัทหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแล การไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยกระทำการมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน และการใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 23(1) แห่งประกาศ ที่ ทลธ. 8/2557 และเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามข้อ 31(1) แห่งประกาศฉบับเดียวกัน

*3 การไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่กำหนดโดยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อ 23(4) แห่งประกาศ ที่ ทลธ. 8/2557 และเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามข้อ 31(5) แห่งประกาศฉบับเดียวกัน

*4 พฤติกรรมละเลยการตรวจสอบดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และประกาศที่เกี่ยวข้อง ของนายธาดาและนายพิสิทธิ์ เข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามข้อ 31(4) แห่งประกาศ ที่ ทลธ. 8/2557 และสำหรับนายพิสิทธิ์ เข้าข่ายตามข้อ 30(5) ของประกาศเดียวกันด้วย