ThaiPublica > คอลัมน์ > Live Prison Tourism: ท่องเที่ยวเชิงสว่างสร้างแรงบันดาลใจ กระทบไหล่ผู้ต้องขัง ณ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ

Live Prison Tourism: ท่องเที่ยวเชิงสว่างสร้างแรงบันดาลใจ กระทบไหล่ผู้ต้องขัง ณ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ

30 เมษายน 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

ร้านกาแฟ Inspire by Princess ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวเชิงมืดหม่นหรือ dark tourism (บ้างก็เรียกว่า black tourism หรือ grief tourism) กำลังเป็นอีกหนึ่งแนวทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม โดยการท่องเที่ยวในลักษณะนี้นั้นจะเป็นการไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ที่มีประวัติศาสตร์อันโหดร้ายชวนสลดหดหู่ และเรือนจำต่างๆ ที่มีชื่อเสียงด้านความโหดร้ายในประวัติศาสตร์และปิดทำการไปแล้วก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของการท่องเที่ยวลักษณะนี้ โดยอาจเรียกเป็นการท่องเที่ยวอีกแนวว่า prison tourism หรือก็คือการเยี่ยมชมเรือนจำ

ทว่า ในประเทศไทยนั้น ก็กำลังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมอยากเรียกให้ตรงกันข้ามกับ dark tourism ว่าเป็น light tourism ซึ่งก็คือการท่องเที่ยวเชิงสว่าง หรือให้ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ inspired light tourism ที่ผมอยากให้หมายถึงการท่องเที่ยวเชิงสว่างสร้างแรงบันดาลใจ อีกทั้งยังเป็น live prison tourism คือ เป็นการไปท่องเที่ยวเยี่ยมชมเรือนจำที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ ซึ่งการเยี่ยมชมที่ว่านี้ก็คือเข้าไปในพื้นที่ของเรือนจำในแบบที่เรียกว่าเดินกระทบไหล่ผู้ต้องขังกันได้เลยทีเดียว

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จังหวัดตราด เป็นเช่นนั้นครับ

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำนั้นเป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงสนับสนุนในฐานะเรือนจำนำร่องที่นำเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังก่อนจะได้รับการปล่อยตัวกลับสู่สังคมครับ ด้วยทรงมีแนวพระดำริว่าเส้นทางการเดินเข้าสู่เรือนจำจะไม่เกิดขึ้นหากผู้ต้องขังมีกระบวนทัศน์หรือวิธีคิดแห่งความพอเพียง เพราะเชื่อว่าความพอเพียงในชีวิตจะสามารถหยุดยั้งไม่ให้คนกระทำผิดได้

ลักษณะพิเศษของเรือนจำชั่วคราวเขาระกำนั้นนั้นก็คือ เรือนจำแห่งนี้เป็นเรือนจำเปิด หมายความว่าไม่ใช่เรือนจำแบบที่มีกำแพงคอนกรีตหนาสูงและมีลวดนามหรือลวดติดใบมีดโกนอยู่ด้านบน เรือนจำเปิดจะไม่มีรั้วรอบขอบชิดแบบนั้น เต็มที่ก็คือมีการกั้นเขตด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าเป็นพื้นที่ของเรือนจำ และในปัจจุบัน เรือนจำชั่วคราวหลายแห่งรวมทั้งเรือนจำชั่วคราวเขาระกำแห่งนี้ ก็เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้บุคคลภายนอกเข้าไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในเรือนจำได้ด้วย

โดยปรกติ หากจะเข้าไปในพื้นที่เรือนจำอันเป็นส่วนควบคุมนั้นก็คงต้องผ่านขั้นตอนรักษาความปลอดภัยมากมาย ฝากของ แลกบัตร ตรวจค้นร่างกาย สารพัดประดามี แต่กับเรือนจำเปิดที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบนี้ เราสามารถเข้าไปท่องเที่ยวในส่วนที่จัดเตรียมไว้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเหล่านั้น

เมื่อไปท่องเที่ยวยังศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ สิ่งแรกที่จะได้พบจากพื้นที่สีเขียวขนาดกว่าพันไร่แห่งนี้ก็คือร้านอาหารและร้านกาแฟ Inspire by Princess ซึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงพอให้เห็นวิวทิวทัศน์ไกลสุดลูกหูลูกตา

ร้านสเต็ก ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

จากภาพด้านบนนั้น หากไม่บอกก็คงยากที่ใครจะรู้ได้ว่า สองหนุ่มในภาพนั้นไม่ใช่เชฟมืออาชีพชื่อดังจากที่ไหน แต่คือผู้ต้องขังที่อยู่ในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำแห่งนี้นี่เอง

ร้านสเต็ก ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ลักษณะเด่นของเรือนจำชั่วคราวที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นนี้ก็คือ แรงงานที่มาทำงานต่างๆ ในส่วนของธุรกิจที่มีการจำหน่ายสินค้าและบริการแก่ประชาชนภายนอกจะเป็นผู้ต้องขังที่ได้รับคัดเลือกให้มาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวแห่งนั้นๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ทำเช่นนี้ก็ทั้งเพื่อเป็นการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง เพื่อจะได้มีวิชาติดตัวไปทำมาหากินในยามที่พ้นโทษไปแล้ว รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้จากเงินปันผลที่ได้จากการประกอบอาชีพ (ทั้งเพื่อไว้ใช้จ่ายยามยังไม่พ้นโทษ และติดตัวออกไปหากพ้นโทษแล้วยังมีเหลืออยู่) และที่สำคัญ เพื่อให้ประชาชนภายนอกได้สัมผัสกับความเป็นคนธรรมดาไม่ต่างกับตัวเองของผู้ต้องขัง อันจะนำไปสู่การเปิดใจยอมรับให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้วสามารถกลับสู่สังคมได้

เสร็จแล้วมีการจัดจานอย่างสวยงาม แถมมีการเขียนซอสบ่งบอกว่ามาจากเขาระกำด้วย
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

อนึ่ง ในด้านรสชาตินั้น คราวที่ไปนี้ผมสั่งสเต็กเนื้อนะครับ ซึ่งสำหรับตัวเองที่คุ้นชินกับการกินเนื้อในกรุงเทพฯ ที่เนื้อส่วนใหญ่จะมีไขมันแทรกอยู่ตามลายกล้ามเนื้อ (ไม่ว่าจะเลี้ยงมาแบบนั้นหรือมาฉีดไขมันเอาทีหลังก็ตาม) เนื้อจากวัวที่เลี้ยงที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวนี้ออกจะเหนียวมากไปสักหน่อย เพราะแทบไม่มีไขมันแทรกอยู่เลย แต่สำหรับคนอื่นๆ ที่สั่งสเต็กหมูนั้น (เป็นหมูที่เลี้ยงไว้ที่นี่เช่นกัน) เสียงตอบรับที่ได้ยินก็คือยอดเยี่ยม (เช่นเดียวกับก๋วยเตี๋ยวหมูเรียง อาหารอีกประเภทที่ขายในร้านอาหารแห่งนี้ ที่ใครได้รับประทานก็ต่างชมเปาะ) อันนี้ก็อาจเป็นจุดที่ต้องคิดกันต่อไป เพราะลูกค้าที่มาเยี่ยมชมนั้นก็คงมีหลายแบบ และหากออกไปประกอบอาชีพนี้นอกเรือนจำก็ต้องเจอกับลูกค้าหลายแบบเช่นกัน ก็คงต้องเจอทั้งคนที่ชอบเนื้อแบบนี้และคนที่ชอบเนื้อแบบอื่น

ขอชี้แจงสักนิดว่าผมไม่ได้กำลังบอกว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหนนะครับ เราต่างโตมากับความคุ้นเคยคนละแบบอยู่แล้ว แต่ความหลากหลายนี่แหละคือสิ่งที่คนทำธุรกิจต้องเผชิญ แล้วต้องเลือกว่าจะกำหนดทิศทางธุรกิจด้านกลุ่มเป้าหมายอย่างไร

น้ำลูกหม่อนปั่นที่ปลูก คั้น ปั่น ด้วยฝีมือผู้ต้องขังล้วนๆ
อีกหนึ่งของดี ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ
ดื่มแล้วสดชื่นเหมือนไม่ได้ยืนอยู่ในคุก
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

พ้นจากร้านอาหารและร้านกาแฟด้านหน้าเข้าไป ก็จะเป็นส่วนของหมู่บ้านสาธิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมด้วยสโลแกน “1 ไร่ ทำจริงมีกินไม่จน”

หมู่บ้านสาธิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ในส่วนนี้นั้น จะมีการสาธิตการทำเกษตรและปศุสัตว์รูปแบบต่างๆ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครับ โดยผู้ต้องขังจะได้ทดลองทำด้วยตัวเอง ผลิตผลต่างๆ ที่ได้จากพื้นที่ตรงนี้จะได้รับการส่งออกไปขายภายนอกเรือนจำ และรายได้นั้นก็จะกลายเป็นเงินทุนหมุนเวียนรวมทั้งเงินปันผลให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งผู้ต้องขังหลายรายก็ได้ยืนยันว่า “1 ไร่ ทำจริงมีกินไม่จน” นั้นเป็นไปได้จริง ซึ่งตรงนี้ยิ่งเหมาะมากสำหรับผู้ต้องขังที่มีที่ดินอยู่แล้ว ที่จะนำความรู้ที่ได้จากหมู่บ้านสาธิตฯ นี้ออกไปประกอบอาชีพเมื่อยามพ้นโทษ

ผู้ต้องขังทำงานไปเราก็เดินดูไป สงสัยอะไรก็ถามเขาได้
หรือแค่ทำหน้าสงสัยเดี๋ยวเขาก็เดินมาแนะนำให้แล้ว
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ในการเยี่ยมชมหมู่บ้านสาธิตฯ นี้จะมีวิทยากรมาคอยบรรยายให้ความรู้แก่เราด้วย ซึ่งวิทยากรที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนครับ ก็คือผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวเขาระกำแห่งนี้ที่ได้รับการอบรมมาแล้วนั่นเอง เขาทำกันมาหลายต่อหลายรุ่น ตอนที่ผมเดินดูแล้วทำหน้างุนงงสงสัย ผู้ต้องขังที่ดูแลแปลงเกษตรอยู่แถวนั้นก็เดินเข้ามาให้คำแนะนำด้วยรอยยิ้ม ซึ่ง ณ หมู่บ้านสาธิตฯ นี้นั้น เราจะได้เห็นการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหลายๆ ชนิด และก็ดังที่บอกไปแล้วว่าความรู้ความสามารถเหล่านี้ได้กลายเป็นทุนติดตัวให้ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ยังไม่พ้นโทษ และเป็นที่คาดหวังว่าจะทำให้ผู้ต้องขังยืนหยัดด้วยตนเองได้ในยามที่พ้นโทษออกไป ดังที่ผู้ต้องขังรุ่นก่อนหน้านี้ได้เคยทำมาแล้วหลายคน

ตั้งโอ๋ยอดอ่อน แทงทะลุดินขึ้นมาด้วยการอุ้มชูของสองมือที่เคยทำผิดพลาด
ที่มาภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

สิ่งที่สะดุดใจผมที่สุดในการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำครั้งนี้ก็คือ มีดที่ผู้ต้องขังใช้ในการทำสเต็กให้ผมทานและตั้งโอ๋ยอดอ่อนตามภาพข้างบน คือ หากเราอยู่กับความรับรู้เดิมๆ เมื่อเห็นผู้ต้องขังถือมีดเราจะนึกถึงอะไรได้ล่ะครับ นอกจากการวาดภาพว่าเขาจะเอาไปก่ออาชญากรรมทำลายชีวิต แต่นี่ไม่ สิ่งที่เขาใช้มีดนั้นทำคืออาหารที่หล่อเลี้ยงทั้งชีวิตตัวเองและคนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องไปข้องแวะกับการกระทำผิดกฎหมาย และตั้งโอ๋ยอดอ่อนที่เพิ่งแทงทะลุดินขึ้นมานั่นก็แสดงให้เห็นว่าสองมือที่เคยใช้ในการทำลายทั้งชีวิตตนเองและผู้อื่นนั้นก็สามารถใช้ในการสร้างชีวิตใหม่ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน

หากถามว่ามีดปลายแหลมกับตั้งโอ๋ยอดอ่อนนั่นบอกอะไรเราได้ คำตอบก็คือ คนเรานั้นทำสิ่งที่ถูกต้องได้เมื่อได้รับโอกาสที่เหมาะสมนั่นเองครับ

และนี่ละครับ live prison tourism การท่องเที่ยวเยี่ยมชมคุกที่ยังเปิดทำการอยู่ และเป็น inspired light tourism การท่องเที่ยวเชิงสว่างสร้างกำลังใจด้วย

ป.ล. อนึ่ง ผมเห็นว่าทั้ง dark tourism และ light tourism นั้นต่างก็สร้างแรงบันดาลใจได้เหมือนกันนะครับ กล่าวคือ ในขณะที่ dark tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงมืดหม่นนั้น ประวัติศาสตร์อันโหดร้ายจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราไม่สร้างความโหดร้ายแบบนั้นขึ้นมาอีก (หรือบางคนอาจเกิดแรงบันดาลใจว่าควรจะมีอีกก็ได้ ใครจะรู้) แต่ light tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสว่างนั้นจะสร้างแรงบันดาลใจในแง่ที่ว่าโลกนี้นั้นยังคงมีความหวังอยู่เสมอ และในกรณีของ live prison tourism หรือการท่องเที่ยงเรือนจำที่ยังเปิดทำการอยู่นี้ ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ทั้งผู้ต้องขังและผู้ที่ไปท่องเที่ยว ด้วยการก่อให้เกิดความหวังแก่ทั้งสองฝ่ายว่า แม้จะเคยทำผิดพลาดมา แต่หากได้รับโอกาสอย่างเหมาะสม คนเรานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้เสมอ