ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “มีผลแล้ว ‘พ.ร.บ.ข่าวกรองฯ’ เล็งมาตรา 6 อาจกระทบสิทธิรัฐสั่งมอบ-ล้วงข้อมูลได้หากจำเป็น” และ “เพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร-ดาม”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “มีผลแล้ว ‘พ.ร.บ.ข่าวกรองฯ’ เล็งมาตรา 6 อาจกระทบสิทธิรัฐสั่งมอบ-ล้วงข้อมูลได้หากจำเป็น” และ “เพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร-ดาม”

20 เมษายน 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 13-19 เม.ย. 2562

  • มีผลแล้ว “พ.ร.บ.ข่าวกรองฯ” เล็งมาตรา 6 อาจกระทบสิทธิ รัฐสั่งมอบ-ล้วงข้อมูลได้หากจำเป็น
  • ลูกพรรค “มิ่งขวัญ” ร้อง กกต.สอบยุบพรรค ปมมีคนนอกครอบงำ
  • สรรพากรจ่อเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกต่ำกว่า 20,000 โดนด้วย
  • สธ.สั่งแล้ว “รถพยาบาล” ห้ามวิ่งเกิน 80 กม./ชม. ห้ามฝ่าไฟแดงทุกกรณี
  • เพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร-ดาม
  • มีผลแล้ว “พ.ร.บ.ข่าวกรองฯ” เล็งมาตรา 6 อาจกระทบสิทธิ์ รัฐสั่งมอบ-ล้วงข้อมูลได้หากจำเป็น

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (http://bit.ly/2Is8nTE)

    วันที่ 16 เม.ย. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ข่าวกรองฯ) ซึ่งมีผลบังคับต้ังแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยได้ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้ว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2528 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว เนื้อหาและหลักเกณฑ์บางส่วนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ภัยคุกคามความมั่นคงและเทคโนโลยีท่ีเปลี่ยนแปลงไป นอกจากน้ี ยังมีแนวโน้มของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ด้วยวิธีการที่หลากหลายซับซ้อนขยายตัวมากข้ึน เพื่อเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการปฏิบัติการข่าวกรองของชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และทำให้ภารกิจของรัฐด้านกิจการการข่าวกรองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถรองรับสถานการณ์ภัยคุกคามความมั่นคงทุกรูปแบบได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติน้ี

    มาตรา ๕ ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

      (๑) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
      (๒) ติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและสภาความมั่นคงแห่งชาติ
      (๓) กระจายข่าวกรองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติให้หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม
      (๔) ศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษา ความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
      (๕) เป็นศูนย์กลางประสานกิจการการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรองและการรักษาความปลอดภัย ฝ่ายพลเรือนกับหน่วยข่าวกรองอื่นภายในประเทศ
      (๖) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกิจการการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรองกับ หน่วยข่าวกรองของต่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
      (๗) เสนอแนะนโยบายและมาตรการ ตลอดจนให้ข้อมูล คำแนะนำ และคำปรึกษา ด้านการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนต่อนายกรัฐมนตรี และสภาความมั่นคงแห่งชาติ
      (๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือ สภาความมั่นคงแห่งชาติมอบหมาย

    จึงนำมาซึ่งมาตรา ๖ ซึ่งมีใจความที่ทำให้น่ากังวลต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน เนื่องจากมีใจความดังนี้

    มาตรา ๖ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๕ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดส่งข้อมูลหรือเอกสารที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติภายในระยะเวลาที่ผู้อำนวยการกำหนด หากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลดังกล่าวไม่ส่งข้อมูลหรือเอกสารภายในกำหนดเวลาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป

    ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการบันทึกรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เหตุผล ความจำเป็น วิธีการ บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบ และระยะเวลาในการดำเนินการ รวมทั้งวิธีการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบ ต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง

    การดำเนินการตามมาตรานี้ หากได้กระทำตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงหรือการป้องกันภัยสาธารณะ ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในจุดนี้นั้น ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีกระแสคัดค้านหรือไม่อย่างไร

    ลูกพรรค “มิ่งขวัญ” ร้อง กกต.สอบยุบพรรค ปมมีคนนอกครอบงำ

    ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/MINGKWANSANGSUWAN9/

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 18 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สมัครพรรคเศรษฐกิจใหม่ (นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค) นำโดย น.ส.อุลัยพร ไตรวงค์ย้อย, นายประยงค์ สร้างศรีหา และนายคมกฤษ สุภักดี ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต. ขอให้ยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ และให้ระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากถูกครอบงำจากบุคคลภายนอก ที่สั่งการชี้นำไม่ให้พรรคสามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ

    โดยในเอกสารที่เข้ายื่นต่อ กกต.นั้นมีประเด็นสำคัญคือ หลังจากที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ละคนของพรรคเศรษฐกิจใหม่ได้รับเงินค่าสมัครรับเลือกตั้ง 15,000 บาทและได้นำไปสมัครกับ กกต.แล้ว นายมิ่งขวัญได้ประกาศว่าเมื่อ กกต.ได้ให้การรับรองผู้สมัคร ส.ส.แล้วจะมีการเรียกประชุมผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคฯ เพื่อแนะแนวทางและแนะแนวทางอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีการเรียกประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งผู้ร้องพบภายหลังว่าที่ไม่มีการจัดประชุมนั้นเพราะมีผู้ที่อยู่ภายนอกพรรคฯ “ได้บงการ ครอบงำ ชี้นำพรรคฯ มิให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเป็นอิสระ” โดยการกระทำดังกล่าวนั้นครอบคลุมไปถึงเรื่องงบการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. การจัดทำป้ายหาเสียง รวมถึงการจัดตั้งแกนนำต่างๆ ด้วย

    (อนึ่ง ในเอกสารที่ยื่นต่อ กกต.นั้นปรากฏชื่อของผู้ถูกกล่าวหาด้วย แต่สื่อต่างๆ มิได้เผยแพร่ชื่อดังกล่าว โดยบางรายเลือกจะใช้อักษรย่อ บ้างก็เซนเซอร์ชื่อไว้)

    ด้วยเหตุดังกล่าว ทางผู้ร้องจึงขอให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบว่าการกระทำเหล่านั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นการครอบงำและชี้นำให้พรรคฯ ขาดอิสระในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

    พร้อมทั้งขอให้ กกต.มีคำสั่งระงับการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อเอาไว้จนกว่าการสอบสวนและวินิจฉัยจะเสร็จสิ้น รวมทั้งให้มีคำสั่งยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ด้วย

    สรรพากรจ่อเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกต่ำกว่า 20,000 บาท โดนด้วย

    เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมา เมื่อมีข่าวว่ากรมสรรพากรจะเริ่มดำเนินการจะดำเนินการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในกรณีที่ดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 20,000 บาทด้วย จากที่โดยปรกติแล้วจะเก็บภาษี 15 เปอร์เซ็นต์ของดอกเบี้ยที่รวมแล้วเกิน 20,000 บาท แต่ยกเว้นมาตลอดสำหรับดอกเบี้ยที่รวมแล้วไม่ถึง 20,000 บาท ซึ่งตรงนี้เองเป็นเหตุให้สถาบันการเงินบางแห่งคอยแนะนำลูกค้าที่ดอกเบี้ยใกล้จะถึง 20,000 บาทว่าให้ปิดบัญชีนั้นๆ แล้วเปิดบัญชีใหม่ จะได้ไม่ต้องเสียภาษี

    อนึ่ง หากกรณีที่ดอกเบี้ยเงินฝากรวมไม่ถึง 20,000 บาทและไม่ประสงค์จะเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก กรมสรรพากรบอกว่าต้องไปทำเรื่องแสดงความยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลการรับดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากร จึงจะไม่ต้องเสียภาษีในเกณฑ์การจัดเก็บดังกล่าวนี้

    อย่างไรก็ดี นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า “ประชาชนที่มีเงินฝากออมทรัพย์ไม่มาก จะไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะกว่า 99% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีกว่า 80 ล้านบัญชี มีเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท แล้วถูกหักภาษีไว้ เพราะไม่ได้ยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูล ตรงนี้ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีแล้วขอคืนภาษีอีกที”

    สธ.สั่งแล้ว “รถพยาบาล” ห้ามวิ่งเกิน 80 กม./ชม. ห้ามฝ่าไฟแดงทุกกรณี

    ที่มาภาพ: camilo jimenez ในเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2XoEgjC)

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 18 เม.ย. 2562 นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหารระดับกระทรวงได้กำชับให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล วางมาตรการความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ขณะนำส่งผู้ป่วย โดย

      1. โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร เป็นคนละ 2 ล้านบาท สูงสุด 7 ที่นั่ง สำหรับรถพยาบาลที่หมดประกันภัยฉบับเดิมให้ต่อประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันภัยที่มีข้อตกลงร่วมกัน 4 บริษัท
      2. พนักงานขับรถพยาบาลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมของกระทรวงสาธารณสุข และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จำกัดความเร็วของรถพยาบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
      3. ในรถต้องมีผู้โดยสารรวมพนักงานขับทั้งหมดไม่เกิน 7 คน ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย รถพยาบาลทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS และกล้องวงจรปิดบันทึกภาพ ห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี และให้คำนึงถึงเวลาทำงานที่เหมาะสมของบุคลากรสาธารณสุข

    เพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร-ดาม

    ที่มาภาพ :https://www.
    10tv.com/article/1-billion-raised-rebuild-paris-notre-dame-after-fire-2019-apr

    วันที่ 15 เม.ย. 2562 เกิดเหตุเพลิงไหม้อาสนวิหารน็อทร-ดาม ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยไฟได้โหมไหม้ตรงด้านบนของอาสนวิหาร เป็นเหตุให้บริเวณยอดแหลมของอาสนวิหารได้พังลง กระจกสีเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเยซูและคริสต์ประวัติได้รับความเสียหาย งานศิลปะบางส่วนก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน เหลือทิ้งไว้เพียงโครงเหล็ก และคาดการณ์ว่าไฟอาจจะลามมายังอาสนวิหารทางฝั่งตะวันตกได้

    วันที่ 16 เมษายน 2562 หลังจากการระดมกำลังร่วมกันดับไฟที่โหมกระหน่ำอยู่ภายในอาสนวิหาร เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็สามารถควบคุมเพลิงโดยสามารถรักษาโครงสร้างหลักของอาสนวิหารเอาไว้ได้ ในขณะที่กางเขนและแท่นมิซซาที่อยู่ภายในไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

    วันที่ 19 เม.ย. 2562 เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า พนักงานสืบสวนระบุว่า สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้อาสนวิหารนั้นเกิดจากสายไฟชอต-ลัดวงจร จนทำให้เกิดประกายไฟ ติดไฟจนไหม้ลามไปหลังคาที่ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ ทั้งนี้พนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกที เพราะขณะนี้พนักงานสืบสวนยังไม่สามารถเข้าตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากตึกยังอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย

    อ่านข่าว: หวังข้อมูลดิจิทัล เกม Assassin’s Creed Unity ช่วยบูรณะมหาวิหารน็อทร์-ดามให้สวยงามดังเดิม