ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นโยบายส่งเสริมการลงทุนปี’61 ต่างชาติมุ่ง “ไฮเทค” ไทย “เกษตร-บริการ” เม็ดเงิน 60% กระจุกตัวพื้นที่ “อีอีซี”

นโยบายส่งเสริมการลงทุนปี’61 ต่างชาติมุ่ง “ไฮเทค” ไทย “เกษตร-บริการ” เม็ดเงิน 60% กระจุกตัวพื้นที่ “อีอีซี”

30 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ : สไลท์ประกอบการบรรยายดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“การลงทุนของเอกชน” เป็นเครื่องจักรสำคัญและเรียกว่าเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มายาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งเป็นความจริงในกรณีของเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน เช่น การลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์ครั้งแรกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่าง “โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด” เพื่อขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่พบในอ่าวไทยขึ้นมาใช้งาน นอกจากนี้ รัฐบาลในยุคนั้นยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนำไปสู่การตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน” ขึ้นมาดูแลและกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจดึงเม็ดเงินลงทุนของเอกชนทั้งจากในและต่างประเทศเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จนกลายเป็นแรงส่งสำคัญให้ประเทศไทยสามารถยกระดับจากประเทศยากจนขึ้นมาเป็นประเทศระดับรายได้ปานกลางได้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เครื่องยนต์สำคัญอย่างการลงทุนของเอกชนกลับดับลงและไม่ได้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเท่ากับระดับเดิมอีกจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีนโยบายที่จะปลุกเม็ดเงินการลงทุนให้กลับมาอีกครั้งผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง “ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ อีอีซี โดยครึ่งหนึ่งจะเน้นไปที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในอนาคต เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและท่าอากาศยานต่างๆ ขณะที่อีกด้านหนึ่งยังคงเน้นการส่งเสริมการลงทุนผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของอีอีซี หลายฝ่ายยังตั้งคำถามถึงความจำเป็นและประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายส่งเสริมการลงทุนว่ายังคงได้ผลเฉกเช่นอดีตหรือไม่ รวมไปถึงว่าการกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลงทุนดังกล่าวเป็นไปอย่างเท่าเทียมเพียงใด

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พาสำรวจ “มาตรการส่งเสริมการลงทุน” ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร และปริมาณเม็ดเงินลงทุน รวมไปถึงการกระจายทรัพยากร มีข้อกังวลที่หลายฝ่ายเป็นห่วงจริงหรือไม่

“บีโอไอ” 61 อนุมัติ 1,469 โครงการ – 40% ลงทุน “บริการและสาธารณูปโภค “

จากข้อมูลของบีโอไอในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม พบว่ามีจำนวนโครงการที่ได้รับการ “อนุมัติ” ส่งเสริมการลงทุน 1,469 โครงการ แบ่งเป็นสาขาเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 164 โครงการ หรือคิดเป็น 11.2% ของจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด, สาขาแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 34 โครงการ หรือคิดเป็น 2.3%, สาขาอุตสาหกรรมเบา 54 โครงการ หรือคิดเป็น 3.7%, สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 253 โครงการ หรือคิดเป็น 17.2%, สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 220 โครงการ หรือคิดเป็น 15%, สาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ 139 โครงการ หรือคิดเป็น 9.5%, สาขาบริการและสาธารณูปโภค 604 โครงการ หรือคิดเป็น 41.1% และสาขาการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 1 โครงการ หรือคิดเป็น 0.1%

ขณะที่หากนับโครงการที่ได้รับ “บัตรส่งเสริม” การลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นโครงการที่ได้รับ “อนุมัติ” ส่งเสริมการลงทุนจากปีก่อนๆ หน้า แต่เพิ่งใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว พบว่าในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,082 โครงการ แบ่งเป็นสาขาเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 157 โครงการ หรือคิดเป็น 14.5% ของจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด, สาขาแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 29 โครงการ หรือคิดเป็น 2.7%, สาขาอุตสาหกรรมเบา 42 โครงการ หรือคิดเป็น 3.9%, สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 171 โครงการ หรือคิดเป็น 15.8%, สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 148 โครงการ หรือคิดเป็น 13.7%, สาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ 97 โครงการ หรือคิดเป็น 9%, สาขาบริการและสาธารณูปโภค 438 โครงการ หรือคิดเป็น 40.5% และสาขาการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 0 โครงการ

ดูดเม็ดเงินลงทุน 5.5 แสนล้านบาท – 40% จาก “เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ”

สำหรับด้านเม็ดเงินลงทุน พบว่ามีเม็ดเงินของโครงการที่ได้รับ “อนุมัติ” ส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 549,480.93 ล้านบาท แบ่งเป็นสาขาเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร 38,651.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของเม็ดเงินของโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด, สาขาแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 8,550.52 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.6%, สาขาอุตสาหกรรมเบา 7,181.46 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.3%, สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 91,590.19 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.7%, สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 41,494.62 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.6%, สาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ 218,282.55 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.7%, สาขาบริการและสาธารณูปโภค 143,629.69 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.1% และสาขาการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02%

เช่นเดียวกัน หากนับเฉพาะเม็ดเงินของโครงการที่ได้รับ “บัตรส่งเสริม” การลงทุน พบว่ามีเม็ดเงินทั้งสิ้น 424,299.34 ล้านบาท แบ่งเป็นสาขาเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร 73,867.42 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4% ของเม็ดเงินของโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด, สาขาแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 8,899.36 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.1%, สาขาอุตสาหกรรมเบา 8291.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2%, สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 48,828.57 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.5%, สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 25,608.16 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6%, สาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ 68,872.56 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.2%, สาขาบริการและสาธารณูปโภค 189931.37 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.8% และสาขาการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังไม่มีการลงทุนในปีนี้

ทั้งนี้ ถ้าคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการพบว่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติในปีนี้มีมูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการ 374.1 ล้านบาทต่อโครงการ โดยสาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ มีมูลค่าต่อโครงการสูงสุดที่ 1,570.4 ล้านบาทต่อโครงการ รองลงมาคือสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 362 ล้านบาทต่อโครงการ และสาขาแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 251.5 ล้านบาทต่อโครงการ

ขณะที่มูลค่าเฉลี่ยต่อโครงการของโครงการที่ได้รับบัตรส่งเสริมฯ ในปีนี้อยู่ที่ 392.1 ล้านบาท โดยสาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ มีมูลค่าต่อโครงการสูงสุดที่ 710 ล้านบาทต่อโครงการ รองลงมาคือสาขาเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร ที่มีมูลค่าเฉลี่ย 470.5 ล้านบาทต่อโครงการ และสาขาบริการและสาธารณูปโภคที่ 433.6 ล้านบาทต่อโครงการ

สัดส่วน”ขนาดบริษัท” พอกัน – ไทยเน้นเกษตร ตปท. เน้นไฮเทค

หากเทียบขนาดของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากทุนจดทะเบียน พบว่าบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีทุนจดทะเบียนรวมกัน 74,118.6 ล้านบาท โดยหากแยกขนาดของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประเภทของกิจการพบว่าอันดับหนึ่งเป็นสาขาบริการและสาธารณูปโภคที่มีทุนจดทะเบียนคิดเป็น 52.5% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด รองลงมาคือสาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ มีที่ทุนจดทะเบียนคิดเป็น 17.5% และสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อีกประมาณ 11% ซึ่งรวมทั้ง 3 สาขาคิดเป็น 81% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกสัญชาติของบริษัทที่ได้การส่งเสริมการลงทุน พบว่าบริษัทไทยที่ได้รับการส่งเสิรมการลงทุนมีทุนจดทะเบียน 37,253.91 ล้านบาท เทียบกับของบริษัทต่างชาติที่ 36,864.69 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนบริษัทไทยต่อต่างชาติที่ 50.3 ต่อ 49.74 ทั้งนี้ ประเภทของกิจการที่บริษัทไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีความแตกต่างจากบริษัทต่างชาติอย่างชัดเจน โดยมีบริษัทไทยลงทุนในสาขาบริการและสาธารณูปโภคคิดเป็น 62.2% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน รองลงมาคือสาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ ที่คิดเป็น 21.9% และสาขาเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร ที่คิดเป็น 10.2% ซึ่งรวมกันคิดเป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 95%

ขณะที่บริษัทต่างชาติจะไปลงทุนในสาขาบริการและสาธารณูปโภค คิดเป็น 42.6% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน รองลงมาคือสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ 21%, สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งที่ 14.7% และสาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษที่ 13.1% ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็น 91.4% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติทั้งหมด

หากดูขนาดของบริษัทแยกตามสัญชาติและประเภทกิจการที่ไปลงทุนพบว่า ในสาขาเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร, สาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ, สาขาบริการและสาธารณูปโภค ที่บริษัทไทยมีขนาดใหญ่กว่าบริษัทต่างชาติ โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 74.2%, 62.9% และ 59.6% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดในสาขากิจการนั้น ตามลำดับ ขณะที่กิจการอย่างสาขาแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน, สาขาอุตสาหกรรมเบา, สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง และสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทต่างชาติมีสัดส่วนของทุนจดทะเบียนที่ไปลงทุนมากกว่าบริษัทไทย คิดเป็น 69.6% 51.9%, 88% และ 94.8% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดในสาขากิจการนั้น ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าสาขากิจการอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งเป็นสาขาสำคัญต่อภาคการผลิตของไทยและการสร้างเทคโนโลยีในอนาคต ทุนจดทะเบียนของบริษัทที่ไปลงทุนเกือบทั้งหมดเป็นบริษัทต่างชาติ ขณะที่ในสาขากิจการอื่นที่ขนาดของบริษัทไทยที่ไปลงทุนใหญ่กว่ากลับไม่ได้ใหญ่กว่าอย่างชัดเจน

เม็ดเงินส่งเสริมการลงทุน 60% กระจุกตัวใน “อีอีซี”

ในแง่การกระจายตัวของเม็ดเงินและโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ พบว่าค่อนข้างกระจุกตัวอย่างชัดเจนในเขตอีอีซี และ กทม. และปริมณฑล โดยจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 กว่า 70% กระจุกตัวอย่างในเขตอีอีซี กทม. และปริมณฑล เช่นเดียวกับวงเงินลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนกว่า 74.8% ก็กระจุกตัวในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งในกรณีเม็ดเงินพบว่าเฉพาะในพื้นที่อีอีซีมีสัดส่วนเม็ดเงินสูงถึง 62.5%

ขณะที่จำนวนโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 พบว่า 66.7% ของโครงการทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยพื้นที่อีอีซีมีจำนวนโครงการคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนโครงการทั้งหมดที่ได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ส่วนเม็ดเงินลงทุนของโครงการใน 3 พื้นที่ดังกล่าวคิดเป็น 59.8% ของเม็ดเงินทั้งหมดที่ได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุน

การส่งเสริมการลงทุนแบ่งเป็น 7 หมวด

  • สาขาเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร เช่น กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร, กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร (ยกเว้นที่มีขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน เช่น อบแห้ง ตากแห้ง เป็นต้น), กิจการขยายพันธุ์ปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ, กิจการฆ่าและชำแหละสัตว์, กิจการผลิตแป้งแปรรูป (โมดิไฟด์สตาร์ช) หรือแป้งจากพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษ, กิจการแปรรูปยางขั้นต้น, กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด, กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (food additive) หรือสิ่งปรุงแต่งอาหาร (food ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น
  • สาขาแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน เช่น กิจการผลิตเหล็กขั้นกลาง ได้แก่ slab, billet และ bloom, กิจการรีด ดึง หล่อ หรือทุบโลหะที่มิใช่เหล็ก, กิจการผลิตเหล็กทรงยาวสำหรับงานก่อสร้าง ได้แก่ เหล็กรูปพรรณ เหล็กเพลา เหล็กลวด และลวดเหล็ก, กิจการผลิตท่อเหล็กชนิดไร้ตะเข็บหรือลบตะเข็บภายใน, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ (ยกเว้น earthen ware และกระเบื้องเซรามิกส์) เป็นต้น
  • สาขาอุตสาหกรรมเบา เช่น กิจการผลิตด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ (functional yarn หรือ functional fabric), กิจการผลิตเลนส์ที่ไม่เข้าข่ายเครื่องมือแพทย์ เลนส์กันแดด หรือเลนส์สัมผัสเพื่อความสวยงาม (cosmetic lenses) เช่น เลนส์กล้อง, กิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ชนิดอื่นๆ (ยกเว้นการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผ้าหรือเส้นใยชนิดต่างๆ), กิจการผลิตเส้นใยอื่นๆ, กิจการผลิตเครื่องเรือนหรือชิ้นส่วน, กิจการผลิตของเล่น, กิจการผลิตอัญมณี และเครื่องประดับ หรือชิ้นส่วน รวมถึงวัตถุดิบและต้นแบบ
  • สาขาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เช่น กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (hybrid electric vehicles – HEV) และชิ้นส่วน, กิจการผลิตรถยนต์ทั่วไป, กิจการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะ, กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (plug-in hybrid electric vehicles – PHEV) และชิ้นส่วน, กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicles – BEV) และชิ้นส่วน, กิจการผลิตเครื่องจักร และ/หรืออุปกรณ์อัตโนมัติ (automation) ที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมและมีขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบระบบอัตโนมัติ (automation system integration) รวมถึงมีขั้นตอนการออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยระบบสมองกลเอง, กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะอื่นๆ, กิจการอบ-ชุบโลหะ (heat treatment), กิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ เป็นต้น
  • สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และ/หรือวัตถุดิบสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์, กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง (advanced technology) ที่ไม่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์, กิจการผลิตชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ สำหรับโทรคมนาคมอื่นๆ, แบตเตอรี่ (high density battery), กิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง (audio visual product), กิจการผลิตเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า, กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (high value-added software), กิจการพัฒนา enterprise software และ/หรือ digital content เป็นต้น
  • สาขาเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เช่น กิจการโรงกลั่นน้ำมัน, กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการเดียวกัน, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty polymers หรือ specialty chemicals), กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากกระดาษปลอดเชื้อ, กิจการผลิตยา เป็นต้น
  • สาขาบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการขนส่งทางท่อ (ยกเว้นการขนส่งน้ำทางท่อ), กิจการนิคมหรือเขตวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (science and technology park), กิจการวิจัยและพัฒนา และ/หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ ในการผลิตสารชีวโมเลกุล และสารออกฤทธิ์ชีวภาพ, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ จากพลังงานอื่นๆ, กิจการขนส่งทางอากาศ, กิจการสวนสนุก, กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (software park), กิจการบริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงระหว่างประเทศภาคพื้นน้ำ, กิจการโรงแรม เป็นต้น