ThaiPublica > เกาะกระแส > กรุงไทยแนะผู้ประกอบการใช้ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสร้างโอกาสธุรกิจ ขนาดงานผ่าน e-bidding เปิดให้ SMEs ลงแข่งได้

กรุงไทยแนะผู้ประกอบการใช้ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสร้างโอกาสธุรกิจ ขนาดงานผ่าน e-bidding เปิดให้ SMEs ลงแข่งได้

28 กุมภาพันธ์ 2019


ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า จากการทำบทวิจัยเรื่อง ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับโอกาสทางธุรกิจ พบว่า การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ เกือบ 90,000 หน่วยงาน ได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายนั้น นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยหน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government Procurement ผ่านเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th

ในแต่ละปี หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครอง ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย และอื่นๆ เกือบ 9 หมื่นหน่วยงานทั่วประเทศทำการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP) ผ่านเว็บไซต์กลาง www.gprocurement.go.th โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding

ในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา มีงบในการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท จำนวนกว่า 5 ล้านโครงการ โดยราว 40 % ของเม็ดเงินเป็นการซื้อสินค้าที่หน่วยงานรัฐต้องการ รองลงมา 36 % เป็นการจ้างก่อสร้าง ตามด้วยการจ้างทำของหรือจ้างเหมาบริการ 19 % ที่เหลือเป็นการเช่าหรือจ้างอื่นๆ หากพิจารณาดูตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง จะพบว่าส่วนใหญ่ทำผ่านวิธี e-bidding bidding (49 %) และวิธีเฉพาะเจาะจง (40 %) ในขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างผ่านวิธีคัดเลือก สอบราคา จ้างที่ปรึกษา และe-market market market เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น


นอกจากนี้จากจำนวนโครงการทั้งหมด มีกว่า 9 หมื่นโครงการ มูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาท ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างผ่าน e-bidding หรือราวครึ่งหนึ่งของ e-GP ทั้งหมด

งานส่วนใหญ่เป็นขนาดที่ SMEs ทำได้ เห็นได้ชัดว่าหน่วยงานรัฐใช้การจัดซื้อจัดจ้างผ่านวิธี e-bidding และวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นช่องทางหลัก โดยสำหรับวิธี e-biddingg ในปีงบประมาณ 2561 มีจำนวนโครงการกว่า 9 หมื่นโครงการ หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านบาทต่อโครงการ ส่วนวิธีเฉพาะเจาะจงมีจำนวนโครงการกว่า 4.7 ล้านโครงการหรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 8.6หมื่นบาทต่อโครงการ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นขนาดงานที่ SME sสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

“งบประมาณดังกล่าว เป็นการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding มูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นประเภทซื้อและจ้างก่อสร้าง และเป็นโครงการที่มีขนาดไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับผู้ประกอบการ SME อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลความต้องการของหน่วยงานรัฐได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน ทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมทางธุรกิจให้มากกว่าคู่เทียบ”

ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์การแข่งขันในพื้นที่ต่างๆ โดยพิจารณาจากข้อมูลผลการจัดซื้อจัดจ้างในอดีตที่ประกาศในเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ด้วยการเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น จำนวนผู้ขอรับเอกสารการประกวดราคา จำนวนผู้ยื่นเอกสาร ราคากลาง ราคาที่ชนะการประมูล วิเคราะห์จำนวนโครงการและส่วนต่างราคา ย้อนหลังไป 1 ปี เพื่อพิจารณาพื้นที่ที่สนใจ รวมทั้งเปรียบทียบข้อมูลกับพื้นที่อื่น

“การดูข้อมูลต่างๆและทำการเปรียบเทียบ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดน่าจะมีงานเข้าประมูลเพิ่มขึ้นบ้าง โดยดูได้จากการเติบโตของงบประมาณและจำนวนโครงการ ส่วนความรุนแรงของการแข่งขัน สามารถพิจารณาจากส่วนต่างของราคา ระหว่างราคากลางที่ตั้งไว้ กับราคาที่ชนะการประกวดราคา หากส่วนต่างราคายิ่งมาก เท่ากับการแข่งขันยิ่งสูง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของปริมาณงานหรือเม็ดเงิน ที่สำคัญสามารถนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันประกวดราคางานภาครัฐในครั้งต่อๆไป”