ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้ทันปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ในช่วงใกล้เลือกตั้ง

รู้ทันปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ในช่วงใกล้เลือกตั้ง

4 กุมภาพันธ์ 2019


สฤณี อาชวานันทกุล

ยิ่งวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ใกล้เข้ามามากเพียงใด ผู้เขียนเชื่อว่ากระแสข่าวปลอม ข่าวหลอก การใส่ร้ายป้ายสีนักการเมืองขั้วตรงข้าม และการบิดเบือนต่างๆ ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผู้เขียนหวังว่าสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถออกและบังคับใช้กฎกติกากำกับการหาเสียงเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิของพรรคการเมืองต่างๆ ในการหาเสียง ขณะเดียวกันก็ไม่ออกกฎที่เลือกปฏิบัติ หยุมหยิมยิบย่อยจนไม่สะดวก กลายเป็นการจำกัดอิสรภาพของพรรคการเมืองมากเกินจำเป็น

ผู้เขียนจะเขียนถึงกฎกติกาของ กกต. ต่างประเทศ โดยเฉพาะการกำกับเนื้อหาของพรรคการเมืองในโซเชียลมีเดีย ในตอนต่อๆ ไปของคอลัมน์นี้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนเป็นกังวลมากกว่ากิจกรรมใส่ร้ายป้ายสีของนักการเมือง คือ แนวโน้มที่เราจะได้เห็นมหกรรมบิดเบือน ข่าวปลอม และการใส่ร้ายป้ายสีโดยเจ้าหน้าที่ “ปฏิบัติการข่าวสาร” (Information Operations: IO) ภายใต้รัฐบาล คสช. ซึ่งน่าจะทวีความรุนแรงเข้มข้น และบางกรณีก็อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยที่จับมือใครดมไม่ได้ (อ่านตัวอย่างได้ในคอลัมน์นี้ ตอน “การคุกคามโดยรัฐภายใต้ข้ออ้าง ‘ข่าวปลอม’”)

ที่แย่กว่านั้นคือ การสร้างเนื้อหา(แย่ๆ) ในโลกออนไลน์ของ IO เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ กกต. จะเข้ามาควบคุมหรือกำกับอะไรได้ ถึงแม้จะชัดเจนว่าเนื้อหาทั้งหมดมุ่งหวังให้เกิดผลบวกกับรัฐบาล คสช. และโดยนัยก็รวมพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นนอมินี คสช. เพราะ IO สุดท้ายแล้วคือเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามปกปิดและอำพรางตัวตน หรือคนที่รับค่าจ้างมาทำ IO ไม่มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับพรรคพลังประชารัฐ กกต. จึงไม่น่าจะสามารถเอาผิดพรรคพลังประชารัฐในข้อหาละเมิดกฎการหาเสียง/เลือกตั้งได้

ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมนี้ สิ่งที่ประชาชนอย่างเราทำได้ ก็คือการพยายาม “รู้ทัน” IO และคนที่ทำ IO จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อ และมหกรรมการใส่ร้ายป้ายสี

เพราะเนื้อหาทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ IO โพสออนไลน์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นหนึ่งในปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพ มีเป้าหมายทั้งในแง่จิตวิทยา การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างฐานมวลชน และปล่อยข่าวลวงเพื่อหวังผล

ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวโดยสุจริตแต่อย่างใด

คำถามพื้นฐานก็คือ ใครน่าสงสัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่ IO? เราจะรู้ได้อย่างไร? ถ้าเราตอบคำถามนี้ได้ แน่ใจได้ว่าใครเป็น IO เนื้อหาที่เจ้าหน้าที่ IO คนนั้นโพสก็จะเสื่อมประสิทธิภาพ ไม่ได้ผลอีกต่อไป

เมื่อปีกลาย (2561) ผู้เขียนโพสสรุปวิธีรู้ทัน IO ในเพจเฟซบุ๊กของผู้เขียน วันนี้อยากนำมาแบ่งปันและขยายความอีกครั้ง

จากการสังเกตพฤติกรรมของบุคคลต่างๆ ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ IO ที่ผู้เขียนได้พบเห็นและพูดคุยด้วยในเฟซบุ๊กของตัวเอง ผู้เขียนสรุปว่า บุคคลที่น่าสงสัยว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ IO มี “ความน่าสงสัย” ในสองประเด็นใหญ่ นั่นคือ ลักษณะการตั้งโปรไฟล์หรือแอคเค้าน์ท์ (account) ที่เข้ามาใช้โซเชียลมีเดีย และพฤติกรรมการโพส

ภาพจาก http://www.army4.net/index.php/component/k2/item/ 68-เสนาธิการ-กองทัพภาคที่-4-เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ-ข่าวสารเชิงรุกของ-กองทัพภาคที่-4.html
ภาพจาก http://www.army4.net/index.php/component/k2/item/ 68-เสนาธิการ-กองทัพภาคที่-4-เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ-ข่าวสารเชิงรุกของ-กองทัพภาคที่-4.html

ลักษณะการตั้งโปรไฟล์เฟซบุ๊กที่น่าสงสัย มีดังต่อไปนี้

  1. ใช้ชื่อปลอม (ซึ่งบางทีดูยาก เพราะอาจเป็นชื่อที่ดูเหมือนชื่อจริง แต่ไม่ใช่ชื่อจริงๆ ของเจ้าตัว)
  2. มีเพื่อน (friends) น้อยมาก ไม่ถึง 10 คน (ส่อเจตนาว่าตั้งใจจะสร้างแอคเค้าน์ท์นี้เพื่อการทำงาน IO อย่างเดียว เพราะคนที่ใช้โซเชียลมีเดียมักแอดเฟรนด์หรือเพื่อนทีละหลายสิบหรือหลายร้อย)
  3. ไม่โพสข้อความในพื้นที่ของตัวเอง (ใช้แอคเค้าน์ท์ไปแสดงความเห็นเป็นหลัก)
  4. ไม่กดติดตาม (follow) ใครหรือเพจอะไร และกดไลก์ (like) เพจอื่นน้อยมาก

ลำพังการตั้งค่าโปรไฟล์ที่น่าสงสัยข้างต้นยังไม่เพียงพอ ต้องมี “พฤติกรรม” การโพสที่น่าสงสัยด้วย จึงจะน่าสงสัยจริงๆ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ IO

พฤติกรรมการโพสเฟซบุ๊กที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสงสัย มีดังต่อไปนี้

  1. ไม่เคยแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อโพสอะไรก็ตามที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล คสช. (เพราะไม่ใช่หน้าที่)
  2. ไม่เคยสนทนาวิสาสะ คุยเล่นกับใคร
  3. แทบไม่เคยโพสความเห็นที่ตรงประเด็น (หัวเรื่อง/กระทู้ที่กำลังถกกัน) แต่ใช้วิธีเบี่ยงประเด็นเป็นหลัก โดยมากใช้ตรรกะวิบัติหลากหลายชนิดในการเบี่ยงประเด็น ตรรกะวิบัติชนิดที่พบบ่อยได้แก่
    – ยกเรื่องแย่ๆ ของรัฐบาลก่อนขึ้นมากลบเกลื่อน (เช่น “จำนำข้าวเสียหายกว่าตั้งเยอะ”)
    – โจมตีตัวบุคคล (ad hominem) (เช่น “ตอนรัฐบาลก่อนโกงไปมุดหัวอยู่ไหน”)
    – พูดนามธรรมลอยๆ ชนิด “พูดอีกก็ถูกอีก” (เช่น “ปัญหาฝุ่นพิษทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ วันนี้ต้องสามัคคีกัน”)
    – แถ(ลง)ตามรัฐบาล คสช. ราวกับเป็นผู้ช่วยโฆษกรัฐบาลก็ไม่ปาน

  4. ในกรณีส่วนน้อยที่ตอบตรงประเด็น ก็จะมีการตระเตรียม “ชุดข้อมูล” ที่คัดง้างกับผู้โพสมาแปะเป็นซีรีส์ แลดูมีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นลิงก์ข่าว คลิป บทความ โคว้ทคำพูด ฯลฯ แต่พอถามถึงความคิดเห็นของตัวเองจริงๆ ต่อกรณีที่ถกกันกลับไม่ยอมตอบ หรือไม่ก็บ่ายเบี่ยงไปพูดเรื่องอื่น
  5. บางกรณีดูเหมือนจะทำ IO เป็นทีม ไม่ได้มาคนเดียว แต่โพสต่อๆ กันเป็นทีมราวกับนัดกันมา ภายในเวลาไม่กี่นาที หรือคนหนึ่งโพส อีกสองคนคลิกไลก์ให้คนแรก แต่ละคนดูมี “บทบาท” ที่ชัดเจน เช่น นาย ก. ทำแต่โจมตีส่วนบุคคล (ad hominem) และโพสหาเรื่อง เกรียนแบบเด็กๆ ไปเรื่อยๆ ขณะที่ นาย ข. ใช้วิธีกระแนะกระแหน ใช้ตรรกะวิบัติแบบต่างๆ ป้ายสีพาดพิง เป็นต้น

ถ้าใครพบเห็นบุคคลที่ตั้งค่าโปรไฟล์น่าสงสัย *และ* มีพฤติกรรมการโพสเฟซบุ๊กที่น่าสงสัยตามรายการข้างต้น พึงตั้งข้อสังเกตเลยว่า น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ IO ที่รับค่าจ้างหรือเงินเดือนจากรัฐ

มาทำ ‘สงครามกับจิตวิทยา’ กับประชาชนผู้เสียภาษีที่เอาไปจ่ายเป็นค่าจ้างหรือเงินเดือนของ IO นั่นเอง.