ThaiPublica > คอลัมน์ > “คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (13) การคุกคามโดยรัฐภายใต้ข้ออ้าง “ข่าวปลอม”

“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (13) การคุกคามโดยรัฐภายใต้ข้ออ้าง “ข่าวปลอม”

10 ธันวาคม 2018


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงฐานข้อมูล “โฆษณาทางการเมือง” หรือ political ads ที่ปล่อยช่วงหาเสียงเลือกตั้งบนเฟซบุ๊กกับกูเกิล เสนอว่าสื่อมวลชนไทยควรร่วมมือกับโซเชียลมีเดียสองเจ้านี้ในการตรวจสอบ “ข่าวปลอม” และเปิดเผยต่อสาธารณะ และทิ้งท้ายว่า “ข่าวปลอม” ที่น่าเป็นห่วงที่สุดในไทยไม่ใช่ข่าวปลอมในนิยามสากล กล่าวคือ ข้อมูลเท็จที่ถูกสร้างมาหลอกคนว่าเป็น “ข่าว” จาก “สำนักข่าว” ที่น่าเชื่อถือ เพื่อหวังผลทางการเมือง หรือกอบโกยเม็ดเงินโฆษณาจากโซเชียลมีเดีย (เพราะพาดหัวหลอกที่ตื่นเต้นเร้าใจมักจะดึงดูดให้คนคลิกเข้าไปอ่านและแชร์ ข่าวปลอมแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว)

“ข่าวปลอม” ที่เป็นปัญหาที่สุดในไทยทุกวันนี้ในความเห็นของผู้เขียน โดยเฉพาะโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง คือ วิธีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ IO (ไอโอ ย่อมาจาก Information Operations) ในโซเชียลมีเดีย ของรัฐบาล คสช. และการกลั่นแกล้งปิดปากผู้ที่ออกมาวิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ด้วยข้ออ้างว่าข้อวิจารณ์เหล่านั้นคือ “ข่าวปลอม” ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

รองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แสดงความกังวลกับสถานการณ์ “ข่าวปลอม” โดยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์เบนาร์นิวส์ว่า “เฟคนิวส์ (fake news หรือข่าวปลอม) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง มีความร้อนแรงมากกว่าเฟคนิวส์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีความพยายามสร้างข่าวลวง เพื่อทำลายชื่อเสียงรัฐบาลทหารที่กำลังบริหารงานประเทศอยู่ในขณะนี้ โดยกลุ่มที่หวังผลทางการเมือง และกลุ่มที่หวังผลเป็นรายได้จากยอดผู้เข้าชมและแชร์ ประกอบกับการที่ประเทศไทยกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า ทำให้เฟคนิวส์ประเภทนี้จัดอยู่ในความกังวลอันดับหนึ่งของเจ้าหน้าที่” และขยายความ “วิธีจัดการ” ว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงมันมากกว่าเฟคนิวส์ประเภทอื่น … เราใช้หลักการทางอาชญาวิทยา ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในการต่อต้านเฟคนิวส์”

ปัญหาก็คือ หลายกรณีที่ บก.ปอท. ตีความว่าเป็น “เฟคนิวส์” ที่ “ก่อความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (ซึ่งกฎหมายนี้ก็มีปัญหาตั้งแต่ความคลุมเครือของตัวบทมากมายดังที่ผู้เขียนเคยอธิบายหลายครั้งในคอลัมน์นี้) นั้น แท้จริงเป็นเพียงข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. ซึ่งเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพการแสดงออกตามปกติของประชาชน เพียงแต่คนที่โพสและคนที่แชร์เนื้อหาเหล่านั้นถูกมองว่า เป็น “ฝ่ายตรงข้าม” กับรัฐบาล (ในมโนทัศน์แบบปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO) อาทิ กลุ่มคนเสื้อแดง บก.ปอท. จึงสั่งฟ้องภายใต้ข้ออ้าง “ข่าวปลอม”

ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายน 2561 ปอท. แถลงข่าวออกหมายจับเจ้าของเพจ KonthaiUK ซึ่งเป็นเพจที่รู้กันว่าอยู่ฝั่ง “ตรงข้าม” กับรัฐบาล คสช. ในความผิดฐาน “นำสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตาม มาตรา 14 (2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ตำรวจ ปอท. แถลงว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก “มีบุคคลนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยได้มีการโพสต์บทความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาลในเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUK” พาดหัวข่าวว่า “เรือเหาะก็ซื้อมาซ่อม ยังจะซื้อดาวเทียม 91,200 ล้านมาแดกอีก.. จะยอมมันอีกมั้ย!” พร้อมการนำภาพเรือเหาะ ดาวเทียม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มาตัดต่อรวมกัน นอกจากนี้ยังมีการตัดต่อภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำมาเป็นสื่อกระจายแก่บุคคลต่าง ๆ ซึ่งการดัดแปลงดังกล่าว อาจส่งผลทำให้ประชาชนที่ได้รับสื่อเกิดความตื่นตระหนก และหลงเชื่อได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง”

โพสต์ที่ ปอท. อ้างว่า "เป็นข้อมูลเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อความตื่นตระหนกแก่ประชาชน"
โพสต์ที่ ปอท. อ้างว่า “เป็นข้อมูลเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

พร้อมกันนั้น ตำรวจยังจับคนทั่วไปที่กดไลก์และแชร์ข่าวนี้อีก 29 คน โดย ปอท. อ้างว่า คนทั้งหมดนี้มีความผิดฐาน “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ตามมาตรา 14(5) โทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัญหาก็คือ โพสต์ที่ ปอท. พูดถึงนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือล้อเลียนเสียดสีทั่วๆ ไป แบบที่เราเห็นกันดาษดื่นมาหลายปีดีดักบนเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ในกรณีนี้ โพสต์นี้ก็อ้างอิงข่าวแผนการจัดหาดาวเทียมจากเว็บสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งก็รับรู้กันทั่วไปว่ารัฐบาลมีแผนจริง (และยังเป็นข่าวมาถึงปัจจุบัน)

ผู้มีอำนาจการเมืองเกือบทุกคนทุกค่ายเคยตกเป็นเป้าการวิพากษ์ทำนองนี้ทั้งสิ้น ผู้เขียนดูอย่างไรก็ไม่เห็นว่าเข้าข่ายเนื้อหาที่ “น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ได้เลย และการไปไล่ฟ้องคนอื่นที่แชร์โพสต์นี้ ก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ “คุกคามกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้ามทางการเมือง” ของรัฐบาล คสช.

การข่มขู่คุกคามผู้วิจารณ์รัฐบาลทหารโดยอ้างว่าเป็น “ข่าวปลอม” ที่ “เป็นภัยความมั่นคง” เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อีกกรณีที่ผู้เขียนเห็นว่า ชัดเจนว่าเป็นการ “กลั่นแกล้ง” โดยกฎหมายเกิดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเพจ iLaw สรุปความเป็นมาและความคืบหน้าไว้ดังต่อนี้

“เฟซบุ๊กเพจกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาโพสต์รูปภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม ลอยกระทงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล ซึ่งมีกำหนดจัดที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ในช่วงเย็นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ในภาพโฆษณาที่โพสต์บนเพจดังกล่าว …มีรูปกระทงถูกลอยบนแม่น้ำและมีการตัดต่อภาพใบหน้าของพล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช.และพล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปอยู่บนกระทงที่ถูกลอยกลางน้ำด้วย ในเวลาต่อมาเฟซบุ๊กเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งเป็นเพจล้อเลียนการเมืองเพจหนึ่งได้แชร์ภาพดังกล่าวไปไว้ที่หน้าเพจของตัวเองด้วย โดยเพจดังกล่าวมักจะเสียดสีรัฐบาลด้วยการนำภาพนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มาตัดต่อกับข้อความ เช่น “รำไม่ดี โทษรัฐบาลที่แล้ว”

“ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน 2559 ช่วงเช้ามืดมีข่าวทหารบุกจับประชาชนรวม 8 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนที่ในวันต่อมาทั้งแปดคนจึงถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งทางตำรวจระบุว่าบุคคลทั้งหมดมีพฤติการณ์รับจ้างทำเฟซบุ๊กเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” โดยมีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อรัฐบาล และได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหายุยง[ปลุกปั่น]ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ระหว่างการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ยังมีการแสดงผังกล่าวหาว่าบุคคลทั้งแปดมีความเชื่อมโยงเป็นผู้ทำเพจเฟซบุ๊กให้กับแกนนำหรือสื่อของกลุ่ม นปช. เช่น Peace TV ด้วย

แผนผังที่กองทัพอ้างว่า เป็น "เครือข่าย" ที่โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น (ม.116)
แผนผังที่กองทัพอ้างว่า เป็น “เครือข่าย” ที่โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น (ม.116)

“คดีนี้มีความน่าสนใจตรงที่โพสต์เรื่องกิจกรรมลอยกระทงซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุแห่งการดำเนินคดีไม่ได้เป็นกิจกรรมหรือโพสต์ที่ทางเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” จัดทำขึ้นเอง เป็นเพียงแต่การแชร์มาจากเพจเฟซบุ๊กอื่น …นับจากมีการตั้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวทั้ง 8 คนช่วงเดือนเมษายน 2559 คดี 116 ของ 8 แอดมินเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ก็ดำเนินมาอย่างเงียบๆ ซึ่งจนถึงปัจจุบันศาลทหารกรุงเทพสืบพยานคดีไปเพียงปากเดียวคือปาก พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ผู้กล่าวหา และการสืบพยานปากดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จ

“ทั้งนี้ ในวันที่ 14 มิถุนายน 2561 พล.ต.วิจารณ์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถึงกรณีที่ทางเพจแชร์ภาพกิจกรรมลอยกระทงตอนหนึ่งทำนองว่า การโพสต์ข้อความและภาพในลักษณะกิจกรรมลอยกระทงน่าจะมีเจตนาถึงขั้นขับไล่ คสช. ออกไป และเห็นว่ามีข้อความที่เข้าข่ายเป็นการยุยงปลุกปั่น”

ตัวอย่างภาพล้อเลียนที่กองทัพอ้างว่า มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น)
ตัวอย่างภาพล้อเลียนที่กองทัพอ้างว่า มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น)

ผู้เขียนเห็นว่า ตราบใดที่สังคมไทยโดยรวมยังเคยชินกับการเรียกร้องให้รัฐใช้ ‘กฎหมาย’ เป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาต่างๆ เพราะไม่คุ้นเคยหรือมองไม่เห็นกลไกชนิดอื่น ทั้งที่กฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือชนิด ‘แข็ง’ ทำให้หลายกรณีไม่เหมาะกับการใช้ในโลกออนไลน์ซึ่งมีพลวัตสูงมาก ตราบนั้นการข่มขู่คุกคามของรัฐภายใต้ข้ออ้าง “ข่าวปลอม” ก็จะยังดำรงอยู่ต่อไป.