เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การ Oxfam ในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และโครงการ SWITCH-Asia ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป จัดงานเสวนา “เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม” : Food Retails and Social Sustainability Forum: Future Food Supply Chains โดยการเสวนาสำหรับหัวข้อ “นโยบายของธุรกิจค้าปลีกต่อความยั่งยืนทางสังคม-ปัจจุบันและอนาคต” มีผู้บริหารเทสโก้ โลตัส, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ร่วมวงเสวนา
เทสโก้ กับอนาคตสู่ Circular Economy
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส เปิดเผยแนวทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนว่า เทสโก้อยู่ตรงกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยพยายามเข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานที่มีห่วงโซ่อาหารยั่งยืน ผ่านนโยบาย “The Little Helps Plan” ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างความแตกต่างและสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ 1. การบริหารงานด้านบุคลากร (people) 2. สินค้าที่ขาย (products) 3. ชุมชนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง (places) โดยเฉพาะในส่วนของสินค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารโดยตรง เทสโก้มองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่มาของสินค้าต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีความเสี่ยงเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทำงานกับเกษตรโดยตรง ให้ราคาที่เป็นธรรม ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล
ในส่วนของ ผลิตภัณฑ์ (products) จะมีระบบการทำงาน คือ การสรรหา หรือ sourcing มีการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และราคาไม่แพงโดยคำนึงถึง อย่างแรก สิ่งแวดล้อม (environment) เป็นการจัดการทรัพยากรที่มีโจทย์คือทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และอาหารที่มานั้นต้องไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากสินค้าและผลิตภัณฑ์จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่ทางบริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษได้มีการกำหนดสินค้าของเทสโก้ว่าสินค้าประเภทใดที่จะเป็นสินค้าหลัก และสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกการขายน้ำมันตับปลา หรือแม้กระทั่งโกโก้ที่มีความเสี่ยงในการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีการตรวจสอบการทำงานเรื่องของความเสี่ยงและศึกษาทำงานอย่างจริงใจ
“ปัจจุบันเทสโก้กรุ๊ปมีการคุยและศึกษากันว่า สินค้าตัวไหนมีความเสี่ยง แล้วเข้าไปศึกษาอย่างจริงจัง และป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงนั้น เช่น ตอนนี้มีความกังวลเรื่องน้ำมันปาล์มเยอะมาก เพราะหลายประเทศมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกสวนปาล์มทำน้ำมันปาล์ม หรือแม้กระทั่งโกโก้ ที่มีความเสี่ยงเรื่องการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมาย โดยในเมืองไทยขณะนี้เรากำลังดูเรื่องน้ำมันปาล์ม และจะขยายผลดูในเรื่องอื่นๆ ต่อไป”

อย่างที่สอง สิทธิมนุษยชน (human rights) มีการตรวจสอบทั้งระบบที่ผลิตสินค้า จะเป็นการตรวจสอบโรงงาน เมื่อพบว่าโรงงานที่เป็นคู่ค้าที่มีการทำงานเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือทำแบบไม่ถูกต้อง จะมีการตักเตือนเบื้องต้น แต่เมื่อเตือนแล้วยังไม่มีการปรับปรุงจะมีการตัดออกจากการเป็นคู่ค้าของบริษัททันที ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค
เรื่องสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความสำคัญกับระบบผู้ผลิตสินค้าหรือแม้กระทั่งเกษตรกร โดยมีการตรวจโรงงานเป็นประจำพร้อมกับดำเนินการในส่วนที่ไม่ถูกต้องอย่างจริงจัง เช่น เคยตรวจเจอโรงงานผลิตเนื้อหมูทำไม่ถูกต้องเรื่องแรงงาน ซึ่งได้เตือนไป 2 ครั้ง แต่ก็ยังทำไม่ถูกต้องอีก ในที่สุดจึงตัดใจเลิกซื้อหมูจากผู้ผลิตรายนี้
“เราต้องตัดใจเลิกซื้อหมูจากเขา ทั้งๆ ที่เราก็บาดเจ็บ เพราะเราไม่มีหมูขาย เมื่อไม่มีหมูขายแปลว่ารายได้ของเราลดลง แต่นี่คือการรักษาสมดุลระหว่างเชิงพาณิชย์กับสิ่งที่ถูกต้องกับสังคม ซึ่งเรามองว่าถ้าเราไม่ส่งสัญญาณให้ถูกต้อง ต่อไปทุกคนก็จะไม่ทำสิ่งที่ถูกต้อง”
อย่างที่สามการทำระบบเกษตรแบบฟาร์มมิง (farming) การทำระบบโรงเรือนของเกษตรกรนั้นเกิดจากการที่รัฐบาลต้องการให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนจากฐานราก จึงได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยให้มีพื้นที่ปลูกพืชที่ยั่งยืน และได้รับราคาที่เป็นธรรมโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยเป็นการพูดคุยถึงความต้องการพืชผักจากเกษตรกรต่อปีจำนวนเท่าไรจากนั้นจึงมีการทำสัญญาซื้อ-ขายรายปี และอย่างที่สี่ สวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare)
นอกจากนี้ เทสโก้ยังพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์เหมือนกันทุกที่ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน และนำไปสู่การทำบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว หรือการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์จากกล่องโฟมมาเป็นเทอโมพลาสติกที่รีไซเคิลได้ ซึ่งใช้พลาสติกในการผลิตน้อยลง ทั้งนี้ เทสโก้กรุ๊ปทั่วโลกมีความมุ่งมั่นว่าบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องรีไซเคิลได้และมีความยั่งยืนให้ได้ภายในปี 2025
รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายให้พนักงานและลูกค้าทุกคนมีชีวิตที่ดี ด้วยการผลิตและจำหน่ายอาหารที่ดี ปลอดภัย ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การผลิตเบเกอรี่ปราศจากไขมันทรานส์ตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นต้น และพนักงานจะต้องมีสุขภาพที่ดี อาหารที่ได้จะต้องปลอดภัยตามมาตรฐานและมีที่มาที่ไป
อีกส่วนสำคัญคือการจัดการกับอาหารที่เหลือ หรือ food waste เป็นการจัดการอาหาร พืชผักที่เหลือจากการขายแต่ละวัน เมื่อขายอาหารไม่หมดจะไม่นำอาหารไปทิ้ง โดยมีโครงการที่ร่วมทำกับองค์กรภาคประชาสังคมกับสาขาของเทสโก้ โลตัส ให้ทุกสาขาคัดเลือกอาหารที่ยังสดและมีคุณภาพดีส่งต่อไปให้เอ็นจีโอนำไปบริจาคในชุมชนหรือพื้นที่ต่างๆ ที่ขาดแคลน แต่ปัจจุบันยังทำได้แค่บางพื้นที่เพราะบางพื้นที่ยังไม่มีผู้มารับเพื่อนำไปส่งต่อ อย่างไรก็ดีคิดว่าจะทำได้มากกว่านี้ หากมีผู้มาช่วยกันทำร่วมกัน
“โครงการบริจาคอาหารเราทำมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าเมืองไทยไม่เหมือนเมืองนอก ไม่มี food bank คือไม่มีคนมารับอาหารไปส่งต่อให้คนจน เราพยายามจะขยายพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น แต่ว่ายังทำไม่ได้ เพราะไม่มีคนมาช่วยรับอาหารไปส่งต่อ ฉะนั้น เราอยากจะเห็นโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์ มีหน่วยงานที่ดีมาทำงานร่วมกัน เป็นเรื่องของพาร์ทเนอร์ชิพใน SDG ข้อ 17 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีอีกหลายอย่างที่ทำได้มากขึ้น หากมีคนมาช่วยกันทำ”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเทสโก้ได้ทำงานเรื่องความยั่งยืนร่วมกับหลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรการกุศลหลายแห่ง แต่จริงๆ แล้วภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการชี้จุดว่าส่วนไหนยังต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้เอกชนสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ตรงจุดมากกว่าเดิม
“เราทำแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคมาหลายปีแล้ว เช่น เรื่องถุงพลาสติก แต่อย่างที่เรียนว่าพอถึงจุดหนึ่งหน้าที่ของพวกเราทำได้แค่นี้ มันต้องมีหน่วยงานอื่นๆ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ หรือใครที่จะมาช่วยกัน เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น”
นางสาวสลิลลากล่าวเพิ่มเติมว่า แม้เทสโก้จะได้รับคำชื่นชมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำโครการที่ดีต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็ยังมุ่งหวังว่าจะทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพราะยังมีเป้าหมายท้าทายอีกหลายเรื่องที่ยังไปไม่ถึง แต่ตั้งใจจะไปให้ถึงให้ได้ เพราะเทสโก้มองว่า ความยั่งยืน (sustainability) เป็นเรื่องธุรกิจที่ยั่งยืน (sustainable business) ด้วย ต้องการดำเนินธุรกิจที่อยู่ต่อไปได้อีกหลายปี และเชื่อว่าการที่เราทำเช่นนี้จะทำให้อยู่ต่อได้

ซีพี “มาตรฐานเดียว” ในการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนในองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี เล่าว่า ปีนี้เครือซีพีมีอายุ 98 ปี มีการลงทุนในหลายบริษัท แต่ยังยึดมั่นในวิธีการทำงานเหมือนเดิมคือคำนึงถึงแนวทางของความยั่งยืน แม้จะมีกระแสวิจารณ์หรือเข้าใจผิดในบางครั้ง เช่น การเลี้ยงไก่ฟาร์มคอนแทรกต์ฟาร์มมิง ซึ่งในความเป็นจริงเรามีเกษตรกรภายใต้คอนแทรกต์ฟาร์มมิงแค่ 8,000 รายเท่านั้นไม่ได้มีจำนวนมากมายอย่างที่เข้าใจผิดกัน เราสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ โดยมีการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงคู่ค้าและผลิตในมาตรฐานเดียวกัน คือมาตรฐานสูงที่สุดในโลก
หรือกรณีมีไฟไหม้เกิดหมอกควันปกคลุมที่ จ.เชียงใหม่, จ.น่าน ซีพีถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด แต่จากข้อเท็จจริงพบว่ามีคนบุกรุกเข้าไปปลูกข้าวโพดในป่าเพราะต้องการมีรายได้ เราจึงเข้าไปให้ความรู้คนเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หรือบางกรณีต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการจัดการปัญหา เช่น ห้ามดีลเลอร์ทุกคนส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไปขายที่ จ.น่าน ไม่รับซื้อข้าวโพดมาทำเป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งสร้างบิ๊กดาต้าเกี่ยวกับข้าวโพดให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น
“อย่างแรกที่เราทำคือการถอนการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดออกจาก จ.น่าน นอกจากนั้นยังไม่ซื้อข้าวโพดเพื่อมาทำอาหารสัตว์ เท่านั้นไม่พอ เมล็ดข้าวโพดทุกเมล็ดที่มาขายให้เรา เราทำบิ๊กดาต้าว่าจะต้องมีโฉนดถูกต้องตามกฎหมาย รับซื้อแค่เฉพาะที่มีโฉนดถูกต้อง การทำสิ่งที่ถูกมันยากมากๆ ปีแรกๆ โดนด่า แต่วันนี้ก็ได้รับการชื่นชม และเราทำอย่างนี้ทั้งประเทศ รวมทั้งขยายไปประเทศอื่นๆ ด้วย”
เช่นเดียวกับที่ภาคใต้ ซีพีถูกต่อว่าเรื่องการใช้แรงงานทาสในธุรกิจประมง ทั้งที่ไม่ได้ทำธุรกิจประมงและไม่มีเรือประมงสักลำเดียว จนตรวจสอบพบว่ามีการนำโปรตีนทำจากปลาป่นไปเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงกุ้งในฟาร์ม เราจึงเปลี่ยนไปซื้อปลาป่นจากต่างประเทศที่มีการรับรองมาตรฐานสากล รวมทั้งผลิตโปรตีนจากถั่วเหลืองแทน แม้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม
“ในปีแรกเราก็เสียหายหลังจากมาใช้โปรตีนจากถั่วเหลือง ไม่มีใครยอมซื้อ แต่ปัจจุบันก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น อย่างนี้เป็นการสร้างความยั่งยืน เพราะมูลค่าที่สูงที่สุดที่ท่านจะทำให้กับบริษัทคือให้บริษัทยั่งยืน ทำยังไงที่จะโตไปด้วยกัน ทั้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งคู่แข่ง ให้เขา engage กับปัญหา บางเรื่องเราทำด้วยกัน เพราะเราอยู่บนโลกใบเดียวกัน ไม่ใช่จะฆ่ากันให้ตาย ไม่ใช่แล้ว เพราะเราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราสำเร็จคนเดียวไม่ได้”
แนวทางปฏิบัติด้านแรงงานของซีพี ซึ่งขณะนี้มีพนักงานทั่วโลก 350,000 คน เท่าๆ กับอำเภอหนึ่ง มีแรงงานจากต่างประเทศทุกระดับ ตั้งแต่แรงงานถึง CEO ถึงลูกจ้าง ด้านสิทธิมนุษยชนต้องทำให้เห็นทุกความเสี่ยง การรับแรงงานจากต่างชาติเข้ามา นอกจากใช้ตัวแทนจัดหางานที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องแล้ว ยังมอบหมายให้องค์กรภายนอกทำหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นใบอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งมีการปฏิบัติกับแรงงานต่างชาติเท่าเทียมกับแรงงานไทย
นายนพปฎลกล่าวว่า การบริหารจัดการที่จะทำให้องค์กรไปต่อได้คือการบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างธุรกิจ การสร้างกำไร และสร้างความยั่งยืนในเวลาเดียวกัน สำคัญที่สุดคือการให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนของพนักงานในองค์กรไปจนถึงระดับผู้บริหารที่มีเจตนารมณ์และเป้าหมายที่มุ่งมั่น
“ผมเรียนว่าหน่วยงานด้านความยั่งยืนจะล้มเหลว ถ้าเบอร์หนึ่งของท่านไม่เอาด้วยใจจริง ซึ่งเบอร์หนึ่งขององค์กรผมเอาด้วย ทุกการประชุมผู้บริหารระดับสูงทั่วประเทศของเรา มีวาระเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งโชคดีที่เรากำเนิดมา 98 ปี มาจากคอนเซ็ปต์ความยั่งยืนมาก่อน ปัจจุบันแค่ adopt ประเด็นในระดับโลกเข้าไปประกอบให้สมบูรณ์”
อย่างไรก็ดี หากจะให้การทำงานด้านความยั่งยืนเกิดผลสำเร็จที่ชัดเจน ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้องประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วัดได้และปฏิญาณให้โลกรู้ว่าจะทำอย่างไร หากกล้าทำ จะสำเร็จแน่นอน นอกจากนี้ ควรว่าจ้างคนภายนอกมาตรวจและวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีการออกรายงานด้านความยั่งยืนทุกปี เพื่อประกาศให้สาธารณะรู้ว่าประเด็นไหนสามารถทำได้หรือประเด็นไหนล้มเหลว และจะพัฒนาจากความล้มเหลวนั้นอย่างไรต่อไป
“ถ้ากล้าสำเร็จแน่นอน เพราะทีมของพวกเราทุกคนถูกเทรนด์ให้มองเป้าหมายทุกคน แต่ว่าส่วนใหญ่เป็นเป้าหมายทางธุรกิจหรือกำไร แต่หากเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าเรื่องน้ำจะทำอย่างไร เรื่องลดก๊าซเรือนกระจกจะทำอย่างไร เรื่องธรรมาภิบาลทำอย่างไร เรื่องสุขภาพผู้บริโภคทำอย่างไร ต้องวัดผลได้ทั้งหมด แล้วจ้างคนภายนอกมาตรวจและวัดผลออกมา ออกเป็นรายงานด้านความยั่งยืน แล้วส่งให้ชาวโลกได้รู้ ประจานตัวเองไปเลย อันไหนที่บอกว่าทำได้ อันไหนที่ล้มเหลวก็บอกว่าล้มเหลว แล้วจะทำยังไงต่อไป” นายนพปฎลกล่าว
นายนพปฎลกล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายความยั่งยืนของเครือซีพีมี 12 ข้อภายใต้กรอบ Heart-Health-Home ที่จะพัฒนาให้ได้ภายในปี 2020 ตามความร่วมมือของ UN Global Compact ประเทศไทย ซึ่งความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ทุกบริษัทในเครือมีมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ในอนาคตจะประยุกต์ใช้ code of conduct กับคู่ค้าให้เป็นแบบเดียวกันอีกด้วย
“คู่ค้าหลักของเราทุกคน 100% ต้องอยู่ภายใต้ code of conduct governance เรื่อง sustainability เดียวกัน รวมไปถึงการใช้แรงงาน เรื่องสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าใครไม่เห็นคุณค่าที่จะทำตรงนี้ ก็ไม่เป็นไร เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่เราก็คงไม่ include เข้ามาอยู่ในซัพพลายเออร์เชนของเรา”

ไทยยูเนี่ยนเดินสู่ความยั่งยืนบน 4 หลักการ
ดร.แดเรียน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาการอย่างยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า บริษัทไทยยูเนี่ยนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ปีที่แล้วบริษัทได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน รวมทั้งได้รับคะแนนสูงสุดอันดับหนึ่งในฐานะ “ผู้นำอุตสาหกรรม” ในหมวดของอุตสาหกรรมอาหาร
ดร.แดเรียนกล่าวว่า บริษัทฯ มียุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนของอาหารทะเล และมีบทบาทให้ทุกคนเดินไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน มี 4 หลัก ดังนี้ หนึ่ง การปฏิบัติกับแรงงานในระบบห่วงโซ่ของเราให้มีการมีชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย มีค่าแรงที่ถูกต้องตามกฎหมาย สอง การจัดซื้ออาหารทะเลต้องรู้ที่มาของแหล่งวัตถุดิบ สาม ด้านการฏิบัติงาน บริษัทฯ มีโรงงานจำนวนมากทั่วโลก ต้องตอบสนองและมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานความปลอดภัยของพนักงาน รวมทั้งการดูแลด้านสุขภาพ สี่ ให้ความสำคัญชุมชน งาน CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมแบบเดิมมีการกำหนดแนวทางการทำงานกับชุมชน เช่น โครงการพัฒนาการประมงปลาทูน่า เข้าร่วมโครงการลดขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งวิธีการดึงชุมชนมาร่วมทำงานกับบริษัทฯมีความสำคัญต่อเรื่องเหล่านี้
ดร.แดเรียนกล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนได้เป็นสมาชิก UN Global Compact และให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมาก ตามเป้าหมาย SDG เพราะประชากรโลกจะเพิ่มเป็นหมื่นล้านคน การผลิตอาหารให้เพียงพอต้องมีห่วงโซ่ที่ยั่งยืน การมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบที่มาของอาหาร ทำให้มีความโปร่งใส บริษัทมีการลงทุนเรื่องการประมงและมีทางเลือกที่จะจัดหาสินค้าที่มีความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีประสิทธิภาพของพนักงานในโรงงาน สร้างมาตรฐานการทำงานที่มีความปลอดภัย เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น
ดร.แดเรียนกล่าวว่า เมื่อมองที่ อนาคตของห่วงโซ่อุปทาน การจัดการต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะอาหารเดินทางไปทั่วโลก อาหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดินทางไปถึงยุโรป ขณะที่ความท้าทายของกระบวนการผลิตอาหารให้มีความยั่งยืนมากขึ้นและมีโอกาสที่หลากหลายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการกับแหล่งโปรตีนจากสัตว์ในแนวทางยั่งยืน ในแง่ธุรกิจต้องมองแบบความเป็นจริง รวมถึงการผลิตอาหารในอนาคตจะมีรูปแบบอย่างไร ในแง่การประมงห่วงโซ่ปลา โรงงานควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยอาจจะมี AI เข้ามาช่วยมากขึ้น
สำหรับมาตรฐานร้านค้าปลีกที่เมืองไทยจะเรียนรู้ได้ ไทยยูเนี่ยนทำงานกับร้านค้าปลีกทั่วโลกและรัฐบาลทั่วโลก เพราะฉะนั้น มาตรฐานทั่วโลกมักจะมีการแบ่งว่าบริษัทแม่มีข้อบังคับอย่างไรบ้างในสหภาพยุโรป ซึ่งมาตรฐานนั้นอาจจะมีความขัดแย้งกันกับบริษัทลูก ซึ่งในไทยนั้นมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดมาก เราจะทำงานให้ได้มาตรฐานกับยุโรปและสหรัฐอเมริกามากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์การสื่อสารนั้น ทุกแบรนด์ของไทยยูเนี่ยนต้องทำ เพื่อพนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคน ต้องรู้แง่มุมความยั่งยืนทุกอย่าง เพื่อไปถึงเป้าหมาย เพราะอยู่บนทางที่กำลังเดินไป
ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล โลกภายนอกเราช่วยจัดการแล้ว เราจะได้ยินจาก NGO ว่ามีการทำประมงผิดกฎหมาย และเราต้องแก้ไข รวมถึงไม่ละเลยในปัญหานั้น ซึ่งในบางบริษัทคุณอาจจะไม่สนใจสิ่งที่ NGO บอก แต่ไทยยูเนี่ยนจะแก้ไขโดยทันที
ความท้าทายเรื่องการสื่อสาร มีลำดับหลายอย่างและค่อนข้างยาก ซึ่งในไทยมีการให้แรงงานประมงสามารถส่งเสียงออกมาได้ หรือใช้โซลาร์เซลล์ในนากุ้ง ในเรื่องนี้เราต้องทำงานสื่อสารอย่างมากและต่อเนื่อง และเราใช้เครื่องมือเพื่อให้คนเข้ามามีส่วนร่วมอีกด้วย