ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าธปท. แจงเหตุขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ยึด Data Dependent ประเมินสถานการณ์ – ความเสี่ยง

ผู้ว่าธปท. แจงเหตุขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ยึด Data Dependent ประเมินสถานการณ์ – ความเสี่ยง

23 ธันวาคม 2018


ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงข่าวนโยบายประจำปี ที่สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธปท.ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศโดยตรง สืบเนื่องจากวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ภายหลังการประชุมกนง.มีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.5% เป็น 1.75% และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี 4 เดือนของประเทศไทย และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกภายหลังจากคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% มาเป็นนานกว่า 3 ปีครึ่ง และนำมาซึ่งความกังวลของสาธารณชนว่าจะกระทบต่อต้นทุนทางการเงินหรือระบบเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไร

เน้นรักษาเสถียรภาพการเงิน หลังเศรษฐกิจฟื้นตามศักยภาพ

ดร.วิรไท เริ่มกล่าวว่าเรื่องนโยบายการเงินต้องเริ่มจากว่าโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี ในหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปทุกนโยบายมีต้นทุนของมัน มีทั้งข้อดีข้อเสีย ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องชั่งน้ำหนักวัตถุประสงค์ต่างๆและที่สำคัญอีกด้านคือต้องชั่งน้ำหนักผลระยะสั้นและระยะยาวด้วย หน้าที่อันหนึ่งของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมองไปในระยะยาว มองข้ามวัฎจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปวิธีคิดของธนาคารกลางอาจจะให้เวลาอธิบายสักหน่อย

ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดคือ 1.25% เราใช้อัตรานี้ในปี 2552 หลังจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ปีนั้นเศรษฐกิจไทยติดลบ 0.9% เศรษฐกิจโลกติดลบ เกิดวิกฤตสถาบันการเงินขึ้นทั่วโลก ดอกเบี้ยนโยบายก็ลดลงไป 1.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากนั้นจึงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายหลังเศรษฐกิจโลกค่อยๆมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประเทศไทยเองผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายเรื่อง เรื่องการเมือง เรื่องน้ำท่วมใหญ่ จนเมือ 3 ปีที่แล้วเราลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 1.5% ก่อนที่จะปรับขึ้นไปสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่มองย้อนไป 3 ปีที่แล้วเป็นปีที่มีวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศ ไม่มีรัฐบาลอยู่หลายเดือน มีเสื้อเหลือเสื้อแดง จนนำมาสู่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลเข้ามาตอนแรกก็ไม่ได้มีงบประมาณด้วยซ้ำ ต้องมาเร่งทำพระราชบัญญัติงบประมาณ มาตรการการคลังทั้งหมดหยุดชะงัก วันนั้นกนง.เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในช่วงสั้นและลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปที่ 1.5% ในช่วงต้นปี 2558 ตอนนั้นจีดีพีทั้งปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 0.7% เห็นชัดเจนว่าในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำถึง 1.5% เทียบกับช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายเราต่ำสุดที่ 1.25% วันนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจมากเหมือนกัน แล้วนโยบายอื่นไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะว่ามีปัญหาวิกฤตการทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการปกครอง แต่หันมาดูสภาวะวันนี้ จีดีพีขยายตัวใกล้ๆ 4% ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ และปีหน้าเราก็คาดว่าจะอยู่ที่ 4.2% อาจจะบวกลบเล็กน้อยๆ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกด้วย แต่ถือว่าอยู่ใกล้กับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไม่ควรจะกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

คำถามต่อไปคือ การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีต้นทุนหรือผลข้างเคียงอะไรบ้าง ที่กล่าวตอนต้นว่าไม่มีอะไรฟรีและเราต้องชั่งน้ำหนัก ผลข้างเคียงประการแรกคือเสถียรภาพของระบบการเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้เกิดพฤติกรรมที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เป็นจุดเปราะบางที่อยู่ในระบบการเงิน เรื่องหนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ วันนี้ดูหนี้ทั้งโลกต่อจีดีพีสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นหนี้รัฐ เอกชน หนี้บริษัท หนี้ครัวเรือน ในประเทศไทยมีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลตอบแทนจากการออมต่ำมาก ไม่มีแรงจูงใจให้คนออม แล้วต้นทุนของเงินถูกมาก กิจกรรมของการส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ เอื้อในด้านนั้นมากกว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นราคาของเงินออมกับเงินกู้ ถ้าคิดแบบนั้นก็ได้ เหมือนเป็นของราคาสินค้าที่เรียกว่าทุน ถ้าดอกเบี้ยถูกไปก็เป็นแรงจูงใจให้คนไปกู้มากขึ้นแล้วก็ออมน้อยลง ดังนั้นดอกเบี้ยจะต้องดูแลทั้งผู้กู้และผู้ออม แต่เราไม่ค่อยได้ยินเสียงผู้ออมบ่นเท่าไหร่ มีประปราย แต่เสียงที่มาหนักคือผู้กู้เพราะเป็นรายใหญ่ของประเทศไทย เสียงที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยกระจายตัวหล่นหายไป เสียงของคนที่รู้สึกว่าเขามีผลประโยชน์มากกว่า ชัดเจนกว่า เสียงก็จะดัง แต่หน้าที่ของธปท.เวลามองไปในระยะยาว มองวัฎจักรเศรษฐกิจ มองปัญหาด้านโครงสร้าง ต้องดูแลผู้ออมผู้ฝากเงินด้วย โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุความมั่นคงในเรื่องการออมเป็นเรื่องที่สำคัญ

ในการตัดสินนโยบายการเงินของกนง. ถ้าใครได้อ่านการแถลงข่าวเราย้ำหลายครั้งว่ากนง.เห็นตรงกันว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจไทย แต่ระดับการผ่อนคลายที่มากเป็นพิเศษแบบที่เราใช้ช่วงภาวะวิกฤตลดความสำคัญลง เมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวตามศักยภาพหรือใกล้เคียงกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แล้วต้องให้น้ำหนักชั่งน้ำหนักให้กับปัจจัยอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน

โดยทั่วไปมีแนวคิดว่าเวลากังวลเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ก็ไปทำพวกมาตรการพวก Macroprudential เช่น ที่ทำกับเรื่องการปรับเกณฑ์ Loan to Value ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เรื่องบัตรเครดิต แทนการใช้ดอกเบี้ยนโยบายการเงิน แต่เงินเหมือนน้ำ การใช้มาตรการแบบนั้นเหมือนเราไปสร้างฝายกั้นน้ำ ปัญหาอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เราก็ไปสร้างฝายกั้นไว้ เราเห็นปัญหาเรื่องหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง ก.ล.ต.ก็ไปขันน็อตให้ออกตราสารได้ยากขึ้น เรามีปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์ เงินไหลจากเงินฝากธนาคารไปอยู่ที่สหกรณ์ โดยคนไม่คำนึงเลยว่าเอาเงินไปทำอะไร ความเสี่ยงเป็นอย่างไร ใช้เวลาขันน็อตมา 2 ปีก็ยังไม่ค่อยไปไหนเท่าไหร่ ยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ทั้งหมดต้องเสริมกัน เพราะว่านโยบายการเงินเป็นเหมือนท่อใหญ่ที่ปล่อยน้ำเข้าสู่ระบบ เราไปสร้างฝายได้ในแต่ละจุด เราไปสร้างตรงไหน พอน้ำติดก็ไหลออกไปที่อื่น ฉะนั้นนโยบายการเงินต้องใช้เสริมกับนโยบายอื่นๆ มีการผสมผสานนโยบายให้ออกมาเหมาะสมกับประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่กนง.พิจารณาและส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง

สะสมพื้นที่นโยบายเมื่อมีโอกาส

อีกด้านหนึ่งที่เราพูดถึงและบอกว่าเป็นปัจจัยสำคัญ อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เรียกว่าปัจจัยรองก็ได้ คือ เรื่องพื้นที่นโยบายการเงิน (Policy Space) ถ้ามองไปข้างหน้าเราจะเห็นว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น วัฎจักรเศรษฐกิจมีทั้งขึ้นทั้งลง หน้าที่ของธนาคารกลางจะต้องมองยาวให้แน่ใจว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะต้องมีเครื่องมือที่จะใช้ดูแลระบบเศรษฐกิจเวลาเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดจนทำให้เศรษฐกิจสะดุดลงได้ การใช้นโยบายการเงินต้องใช้แบบมีแรงกระทบ หรือ Impact พอสมควร แต่วันนี้ถ้ายังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% แบบเดิม พื้นที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายเรามีค่อนข้างจำกัด ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราเห็นว่ามีจังหวะเหมาะสมที่ สถานการณ์เอื้ออำนวย เราก็ใช้โอกาสสะสมพื้นที่นโยบาย

“แต่ต้องเรียนว่าบางคนเข้าใจว่าเราจะขึ้นต่อเนื่องทุกครั้งไป และมีเป้าหมายในใจว่าจะขึ้นไปถึงจุดไหนถึงจะเรียกว่าสะสมกระสุนไว้เพียงพอ อันนี้ไม่ใช่หลักคิดของเรา หลักคิดของเรา คือ เมื่อมีโอกาสเราก็จะสะสมพื้นที่นโยบาย แต่เป้าหมายหลักคือ เรื่องเงินเฟ้อ การขยายตัวเต็มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ และเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินมากกว่า และการทำนโยบายการเงินในช่วงต่อไปจะเป็นการอาศัยข้อมูล หรือ Data Dependent เป็นหลัก เพราะในประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กอย่างไทย เราได้รับผลกระทบแรงปะทะจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก เราต้องประเมินสถานการณ์อย่างละเอียดทุกครั้ง ทุกเวลาที่มีการประชุมกนง. เราจะประเมินไปข้างหน้าและชั่งน้ำหนักหลายๆด้าน เรื่อง Data Dependent นี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

แจงผลกระทบไม่มาก เหตุสภาพคล่องในระบบสูง

เรื่องกลไกการส่งผ่านของนโยบาย นโยบายการเงินไม่นโยบายที่กดปุ่มแล้วจะมีผลทันทีอย่างที่ทราบกัน ต้องทำงานผ่านระบบสถาบันการเงิน ผ่านวัฎจักรของเงินที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างที่เราต้องการ แต่ครั้งนี้เรามาจากจุดที่มีสภาพคล่องส่วนเกินสูง มาจากจุดที่นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เหมือนมีน้ำที่เอ่ออยู่มาก การที่เราค่อยๆปรับขึ้นไม่ได้ส่งผลให้เห็นทันทีทันใด แต่เราต้องเริ่มปรับและเราไม่ควรจะต้องปรับแล้วให้เกิดผลแรงด้วย เราไม่อยากให้เหมือนกับหลายประเทศที่มีโจทย์ว่าเงินยังไม่ไหลออกเลย มาขึ้นดอกเบี้ยทำไม แต่ถ้ารอให้เงินไหลออกก่อนแล้วมาทำ ไม่สามารถทยอยทำได้ ต้องทำแรงและต่อเนื่อง เราก็เห็นเพื่อนบ้านหลายประเทศที่ลุกขึ้นทำ อันนั้นจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมาก เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแบบนั้น แต่เราต้องการค่อยๆปรับเข้าสู่ทิศทางที่เหมาะสม ในภาวะที่เราสบายใจมากขึ้น เป็นแนวทางที่เหมาะสมมากกว่า

ช่วงแรกอาจจะไม่ได้เห็นผลกระทบแรงๆ โดยเฉพาะคนไปให้ความสำคัญมากกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร เราคาดการณ์ไว้แล้วว่าในภาวะที่สภาพคล่องส่วนเกินสูง ดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารไม่ควรจะเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารยังแข่งขันกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นมาตรฐานพวก MLR, MOR, MRR แต่ คนแรกที่จะกระทบคือสินเชื่อที่ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่เคยไปลดแลกแจกแถมไปมากๆก่อนหน้านี้ เพราะว่าก่อนหน้านี้ธนาคารต้องแข่งกับตลาดตราสารหนี้ในการระดมทุนของเอกชน เมื่ออัตราดอกเบี้ยโลกขยับขึ้น ดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ก็เริ่มขยับขึ้น และเมื่อเราปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดตราสารหนี้ก็จะขยับขึ้นสอดคล้องกัน ดังนั้นแรงกดดันที่จะไปลดดอกเบี้ยมากให้กับธุรกิจขนาดใหญ่น้อยลง กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบก่อน

ส่วนตัวผู้ออมเองได้ประโยชน์ ผู้ออมมีหลายช่องทางในการออม เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้เริ่มขยับขึ้น คนที่มีเงินอยู่ในกองทุน ตราสารหนี้ระยะสั้น อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ที่ได้รับทันที่โดยไม่ต้องรอให้ธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น แต่เราเชื่อว่าจะมีสถาบันการเงินที่ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นแล้วเราเริ่มเห็นแล้วอย่างธนาคารออมสิน สถาบันการเงินขนาดใหญ่ก็ปรับบ้างแล้ว ที่ผ่านมาเราจะเห็นเงินฝากสลับไปมาระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่อผลตอบแทนผ่านตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นปรับสูงขึ้น ผู้ฝากเงินส่วนหนึ่งจะย้ายเงินออกไปจากธนาคาร สร้างแรงกดดันให้ธนาคารต้องมาปรับดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากประจำ

“แต่กลไกการส่งผ่านก็เหมือนกันว่าจะค่อยเป็นค่อยไปและไม่ได้เห็นชัดทันทีทันใด ต่างจากในอดีตที่เวลากนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นช่วงที่ปรับขึ้นและขึ้นต่อเนื่องทุกครั้ง และมีปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในระบบด้วย พอขึ้นแล้วส่งผลทันที ธนาคารรู้ว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้งและสภาพคล่องกดดันให้มีการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารทันที แต่วันนี้เราอยู่ในจุดที่สภาพคล่องส่วนเกินมีอยู่สูง มาถึงจุดที่นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ครั้งนี้เป็นก้าวแรกเท่านั้นเอง เราไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมา 7 ปี เป็นก้าวแรกที่จะค่อยๆปรับขึ้น กลไกการส่งผ่านอาจจะไม่เร็ว อาจจะมีผลทันที่ได้ในบางส่วนเช่นตราสารหนี้ระยะสั้น”

ก็ยังมีส่วนที่หลายคนเข้าใจว่าภาวะหนี้ครัวเรือนจะกระโดดทันทีเลย ถ้าปรับขึ้น 0.25% บางคนบอกว่าจะมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 บาทต่อปี แต่ถ้ามานั่งดูรายละเอียดหนี้ของภาคครัวเรือนมีหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว 1 ใน 3 เท่านั้น ที่เหลือจะเป็นดอกเบี้ยคงที่ พวกสินเชื่อบ้านช่วง 3 ปีแรกก็คงที่แล้วสัญญาเป็นระยะยาว ผลที่จะเกิดขึ้นกับภาระหนี้ในอนาคตนานๆก็ไม่ค่อยมาก แล้วส่วนใหญ่จะมีค่างวดที่ชัดเจน เรารู้ว่าต้องผ่อนเดือนละเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ไม่ค่อยแปรผันกับดอกเบี้ยที่ขึ้นลง ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตเขาจะคิดตามเพดานที่กำหนด แล้วไม่ได้เปลี่ยนตามดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้เพิ่มภาระหนี้ให้กับภาคครัวเรือน

โลกยังผันผวนสูง ชะล่าใจไม่ได้

เรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่เราได้ส่งสัญญาณต่อเนื่องมาปีกว่าแล้ว เราเห็นว่าสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมันค่อยๆปรับลดลง หลายประเทศที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษมันเพื่อตอบโจทย์วิกฤตการเงินโลกเมือ่ 9 ปีที่แล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นมาตามลำดับ ทุกคนก็เห็นว่ามีผลข้างเคียงของการใช้นโยบายแบบนั้น เขาก็ค่อยๆปรับนโยบายกลับมา ดังนั้นสภาพคล่องที่ธนาคารกลางใหญ่ๆอัดฉีดเข้ามาในโลกก็จะค่อยๆปรับลดลง ซึ่งตั้งแต่ก่อนที่เราปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็จะเห็นชัดว่าดอกเบี้ยพันธบัตรมันเริ่มปรับตามดอกเบี้ยในตลาดโลก

“เราชะล่าใจไม่ได้ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนการเงิน ความเสี่ยงทางการเงิน และต้องยอมรับว่าภาระการเงินจากหนี้ทั่วโลกที่สูงมากไม่ได้เป็นภาวะที่เราสบายใจได้ ปัญหาเศรษฐกิจที่มันโตด้วยหนี้ไม่ได้ยั่งยืน เราจึงค่อยๆปรับลดหนี้ลงจนอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อราคาต้นทุนของเงินมันค่อยๆปรับสู่ระดับปกติ อันนี้เป็นแนวทางที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสำคัญ แล้วสำหรับประเทศที่ไม่ได้มีสถานะด้านต่างประเทศไม่ได้อ่อนไหวแบบไทยก็ค่อยๆปรับขึ้น จะมีกลุ่มประเทศที่อ่อนไหวที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้”

“ของไทยเป็นจุดที่เพิ่งเริ่มขยับแต่ไมไ่ด้หมายความว่าจะปรับต่อเนื่องเหมือนอดีต ย้ำอีกครั้งว่ากนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังจำเป็นสำคัญเศรษฐกิจไทย เราใช้หลัก Data Dependent ที่จะประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงต่างๆที่ต้องเผชิญทั้งภายในและภายนอก แล้วชั่งน้ำหนักทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เรื่องของทิศทางเงินเฟ้อ เรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน”

สุดท้ายเรื่องความพร้อมกับการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงในอนาคต มีหลายอย่างมากที่เราต้องจับตามองและต้องระมัดระวัง เริ่มจากสภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลกจะมีความผันผวนสูงขึ้น มองย้อนกลับไปในอดีตเวลาที่มีการปรับนโยบายการเงินกลับสู่ปกติของระบบการเงินโลกหรือประเทศอุตสาหกรรมหลัก จะทำให้เกิดความผันผวนได้ โดยเฉพาะที่มีหนี้อยู่เยอะและที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเรื่องการแสวงหาผลตอบแทนในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำทำให้เกิดหนี้ไม่ควรให้เกิดทุกระดับเลย ตั้งแต่หนี้ของรัฐบาลหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่เป็นแบบนี้ จนอ่อนไหวเวลาสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยก็กระทบกันไปหมด ภาคธุรกิจในเมืองจีนทุกวันนี้จะเห็นประเด็นเรื่องหนี้ ซึ่งอาจจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจจีนได้

อีกเรื่องคือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เราคาดเดาไม่ถูกอีก ซึ่งเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างเรื่อง Brexit ที่ออกมาเป็นอย่างไรเลย หรือเรื่องประท้วงที่ขยายไปในหลายประเทศในยุโรปที่เป็นความเสี่ยงใหม่ เรื่องตะวันออกกลาง เรื่องประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่พอใจประธานธนาคารกลางสหรัฐเท่าไหร่ เป็นปัญหาที่กระทบกับตลาดเงินตลาดทุนโลกทั้งนั้น โจทย์ของเราคือว่า เวลากำลังพูดถึงเรื่องเสถียรภาพ อันแรกคือเราต้องสร้างกันชนที่ดี อันที่ 2 คือไม่ควรสร้างจุดเสี่ยงให้มีในบ้านของเรา ไม่ให้มีความเปราะบางในบ้านของเรา

ในด้านกันชนอย่างที่กล่าวถึงบ่อยๆ ภาคต่างประเทศที่เข้มแข็งอย่างเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ เรื่องความไม่สมดุลของหนี้ต่างประเทศ เรื่องความไม่สมดุลของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่ายินดีว่าเรามีความระมัดระวังเรื่องพวกนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ เรื่องธุรกิจขนาดใหญ่ ถ้าเทียบกับปี 2540 เรามาไกลมาในเรื่องกันชนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ อีกด้านคือกันชนในประเทศเอง เสถียรภาพการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ค่อยเป็นห่วง การเอาเข้าการประเมินของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้เราแน่ใจว่ากันชนของเรามีพอหรือไม่ ดูเรื่องเงินกองทุนของธนาคาร ดูเรื่องสำรองหนี้เสีย ดูเรื่องสภาพคล่องในประเทศให้แน่ใจว่ามีเพียงพอ เพราะหลายประเทศที่มีปัญหาเวลาที่มีปัญหาเวลาเงินไหลออกแรงๆ ถ้าธุรกิจหรือธนาคารไปพึ่งสภาพคล่องจากต่างประเทศมาก จะมีปัญหาว่าความผันผวนภายนอกจะกระทบกับสภาพคล่องภายในประเทศ วันนี้เราดูทั้งด้านต่างประเทศและกันชนในประเทศในเรื่องกันชนสภาพคล่องต่างๆ เราคิดว่ามีมากพอ

อีกด้านคือต้องไม่ไปสร้างจุดเปราะบาง วันนี้มีจุดเปราะบางอยู่อย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เราเห็นว่าไม่หยุด แล้วถ้าปล่อยให้บานปลายไปเรื่อยๆ เวลาลูกโป่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การไปทำอะไรก็ตามจะกระทบกับคนจำนวนมาก ก็ทำอะไรได้ยากขึ้น หรือส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น สหกรณ์ออมทรัพย์ยังเป็นจุดเปราะบางที่เราต้องไปดูแล ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจจะมีจุดเปราะบางเพราะกู้เงินได้ถูกมาก จากทั้งในประเทศต่างประเทศไปลงทุนในเรื่องที่มีความเสี่ยงมากจนเกินควร ราคาของต้นทุนเงินไม่เหมาะสม ก็เป็นจุดเปราะบางที่เราต้องไปดูแล

ทั้งหมดจะเป็นการส่งสารนโยบายในภาพรวม พื้นที่นโยบายเป็นแค่มิติเดียวเท่านั้นเอง และนโยบายการเงินอย่างที่บอกว่าพื้นที่นโยบายอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นหลัก แต่เป็นประเด็นรองๆ ถ้ามีโอกาสเราก็สะสมกันชนเพิ่มมากขึ้น แต่เราคำนึงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจให้สอดคล้องกันศักยภาพ ดูเรื่องเงินเฟ้อ ดูเรื่องของเสถียรภาพของระบบการเงิน อย่างที่จะเห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอลง แต่ก็เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับศักยภาพและที่น่ายินดีคือเราเห็นเครื่องยนต์ภายในเริ่มติด อย่างการลงทุนของเอกชน การจ้างงานมากขึ้น การบริโภคภายในเริ่มขยายตัวต่อเนื่อง แต่พวกนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวเป็นอานิสงค์จากการท่องเที่ยวและส่งออกที่ดีในช่วงที่ผ่านมา แต่เราเห็นการย้ายฐานการผลิตเข้ามาเพิ่มขึ้น เห็นการลงทุนที่สะท้อนตาม เราก็ค่อนข้างสบายใจว่าเครื่องยนต์าภายในเริ่มติดขึ้นมา

ฉะนั้นถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดูหย่อนลงจากที่ผ่านมาแต่เป็นการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับระดับเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ไม่อยากให้ตกใจกัน บางที่อ่านหนังสือพิมพ์แล้วผ่านจุดสูงสุดแล้ว กำลังหัวทิ่ม ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องการขยายตัวตามศักยภาพ แค่บางช่วงเวลาอาจะมีขึ้นลงบ้างตามปัจจัยตามสภาวะภายนอกประเทศบ้าง