=uh
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยมุมมองเศรษฐกิจของปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “ความหวังครั้งใหม่กับเศรษฐกิจในปีหมู ต้องเลือกเพื่อสร้างโอกาส” ว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะยังเติบโตได้ดี แม้จะชะลอตัวลงบ้าง โดยมีสาเหตุหลักจากเครื่องจักรของเศรษฐกิจ คือ การส่งออก การท่องเที่ยว และยอดขายรถยนต์หรือการบริโภคที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในช่วงที่ผ่านมากำลังชะลอลง
เศรษฐกิจปี 62 แตะเบรก เหตุ “ส่งออก-ท่องเที่ยว-บริโภค” ชะลอ
“เริ่มจากด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ญี่ปุ่น จีน แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ดูว่าเศรษฐกิจยังเติบโตดีก็ยังชะลอตัวลง รวมไปถึงความตึงเครียดของสงครามการค้าที่ยังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ทำให้การส่งออก 2 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ติดลบไปต่อเนื่อง สอดคล้องกับการส่งออกของประเทศอื่นๆ ในโลกที่ชะลอตัวลงหมดเช่นกัน ดังนั้น ภาพคงจะไม่เห็นว่าเติบโตทั้งปีได้ 6% แบบปีที่ผ่านมา แต่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3-4%” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ด้านการท่องเที่ยว ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ชะลอตัวลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอลง แม้ช่วงสิ้นปี 2561 จะทยอยฟื้นตัวกลับขึ้นมา แต่โดยรวมอาจจะไม่เห็นภาพการเติบโตได้ 2 หลักแบบที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ คาดว่าจะเติบโตได้ 5-10% ซึ่งเป็นระดับปกติและเป็นฐานที่ดีของภาคท่องเที่ยวในระยะต่อไป และสุดท้าย ด้านการบริโภค ในช่วงปีที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนจากการบริโภครถยนต์ที่เติบโตมากถึง 15-18% รวมไปถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ในระยะต่อไปคาดว่าคงยากที่จะเติบโตในระดับเดิม อีกด้านหนึ่งปัจจัยที่กระทบกับการบริโภคคือรายได้ของเกษตรกรที่เป็นแรงกดดันอยู่ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่องมา 5-6 ปี และมีเพียงไม่กี่ประเภทที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง ขณะที่ด้านปริมาณปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถชดเชยผลทางด้านราคาได้
จับตาเป้าหมายนโยบายการเงิน
สำหรับภาคการคลัง คาดว่าการลงทุนขนาดใหญ่อย่างโครงการ EEC ที่กำลังอยู่ในกระบวนการประมูลและหลายโครงการอาจจะต้องประมูลใหม่ ทำให้ตัวเม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจอาจจะต้องล่าช้าออกไปจนถึงปีหน้า
ขณะที่การดำเนินโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช่วงปลายปี 2561 จาก 1.5% เป็น 1.75% หลังจากคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% มา 3 ปีกว่า โดยให้เหตุผลหลัก 2 ประเด็น คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินที่เริ่มมีพฤติกรรมประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจากภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน และเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบายการเงินสำหรับกรณีที่มีภาวการณ์ที่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติม
“เรื่องนโยบายการเงินของ กนง.และธนาคารแห่งประเทศไทยที่เราต้องตามดูวันนี้อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงินเฟ้อ อย่างที่เราคุ้นเคยในอดีตในการกำหนดนโยบายการเงิน แต่ให้ความสำคัญเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น เพราะว่าในระหว่างที่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ดีที่ระดับ 3.5-4.5% ถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้ และเงินเฟ้อยังต่ำ ดังนั้นไม่ต้องห่วง 2 เรื่องนี้มากนัก ก็ต้องจับตาอยู่เหมือนกัน ต่างจากอดีตที่ดูว่า กนง.จะขึ้นลงดอกเบี้ยเมื่อไหร่และจะกระทบเศรษฐกิจอย่างไร แต่ตอนนี้ต้องดูนโยบายอื่นๆ ที่ ธปท.จะเอามาใช้ควบคุมความเสี่ยงในระบบการเงินด้วย เช่น มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะกระทบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลาดเงินตลาดทุนด้วย” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า จากรายงานของ กนง. แสดงความกังวลอยู่ 4 ประเด็นในเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน คือ
-
1) คุณภาพการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หย่อนลง จนต้องออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการผ่อนชำระอสังหาริมทรัพย์ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องติดตามประสิทธิภาพต่อไป
2) เรื่องหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะในสถาบันการเงินที่ ธปท. ไม่มีอำนาจควบคุม เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับระบบการเงินสูง แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะประเมินความเสี่ยงผิดพลาดไป
3) สินเชื่อรถยนต์ที่เริ่มเติบโตขึ้นในระยะหลัง
และ 4) สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ระดมค่อนข้างมาก ทั้งในภาคธนาคารและภาคตลาดเงิน จนอาจจะสร้างความเสี่ยงกับระบบการเงินและเศรษฐกิจของไทย
2 เดือน “สุญญากาศการเมือง” กระทบเศรษฐกิจ – ชี้ระบบเลือกตั้งเอื้อรัฐบาลผสม
ดร.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า การเมืองและการเลือกตั้งจะเป็นประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยประเด็นแรกคือการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งในรอบ 8 ปีนับจากปี 2554 และทำให้มีกลุ่มที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรก หรือ first-time voters อย่างน้อย 5-6 ล้านคนจากคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 50 ล้านคน และทำให้ผลการเลือกตั้งคาดเดาลำบากว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่เคยมีข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้เลย
ประเด็นที่ 2 คือเป็นการเลือกตั้งที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed-member apportionment system หรือ MMA) ซึ่งคาดว่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังใช้ระบบนี้อยู่ และผลที่ออกมาอาจจะทำให้ไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากในการชนะเลือกตั้งได้ เพราะด้วยระบบแบบใหม่สิ่งที่สำคัญสุดคือจำนวนเสียงที่เลือกพรรคทั้งประเทศ ด้วยระบบเราอาจจะมีพรรคที่ไม่ชนะสักเขตเลือกตั้งเลย แต่ได้เสียง 20% ทุกเขตเลือกตั้งหรือคือได้ 20% ของเสียงทั้งหมด พรรคนั้นก็จะได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน 20% แทน ซึ่งเอื้อให้เกิดรัฐบาลผสมมากกว่าและอาจจะกระทบกับความเข้มแข็งของรัฐบาล
ประเด็นที่ 3 คือกฎระเบียบของการเลือกตั้งในครั้งนี้จะสร้างความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งต้องจับตามองใกล้ชิด เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สามารถออกเสียงร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 500 คนได้ แปลว่าผลการเลือกตั้งอย่างเดียวอาจะไม่ได้สรุปว่ารัฐบาลจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยตนเองคาดการณ์ว่าอาจจะออกมาได้ 4 กรณี ตามการครองเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งกรณีหลังจะส่งผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องการเสียงอย่างน้อย 375 เสียงจากจำนวนเสียงในรัฐสภาทั้งหมด 750 เสียง
- กรณีพรรคพลังประชารัฐที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลปัจจุบันได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจจะรวมกับพรรคอื่นๆ ก็ได้ และวุฒิสภาทั้งหมดออกเสียงหนุนพรรคพลังประชารัฐ ในรูปแบบนี้ทำให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารได้ และได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย
- กรณีพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังสามารถรวมกับเสียงของวุฒิสภาจนสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร กรณีนี้อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารที่ลำบากขึ้น เพราะไม่สามารถออกกฎหมายได้สะดวกนัก หรืออาจจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่าย
- กรณีที่พรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคพลังประชารัฐได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า 375 เสียง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วย
- ไม่สามารถสรุปผลได้หรืออะไรก็แล้วแต่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นความเสี่ยงที่เรียกว่าเป็น tail risk คือมีโอกาสเกิดได้น้อย แต่หากเกิดขึ้นอาจจะสร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจได้ค่อนข้างมาก
“แล้วระหว่างนี้เรายังมีรัฐบาลปัจจุบันที่ยังอยู่ มีอำนาจเต็ม มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งพอมอง 3 กรณีแรกมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ ถ้าดูแง่ของกรอบเวลาการเลือกตั้ง เราเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่เราอาจจะไม่รู้ผลเลือกตั้งจนกระทั่งวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นกรอบ 150 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ แล้วประชุมรัฐสภาครั้งแรกอาจจะต้องไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 แล้วรัฐบาลใหม่อาจจะไม่ตั้งจนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2562 แปลว่าช่องว่าง 2 เดือนระหว่างนี้อาจจะมีความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นสุญญากาศทางการเมือง ทำให้นักลงทุน ผู้บริโภคอาจจะรอดูสถานการณ์ไปก่อน แรงส่งเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีก็อาจจะชะลอไปได้ แล้วครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูว่าผลจะออกมาเป็นกรณีไหน แล้วจะไปสู่สถานการณ์ที่สงบ ทุกคนยอมรับผลการเลือกตั้ง และขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้หรือไม่ เราเชื่อว่านี่จะเป็นประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ว่าเราจะส่งผ่านรัฐบาลจากรัฐบาลหนึ่งไปอีกรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยได้อย่างไร และคนส่วนใหญ่จะยอมรับหรือไม่อย่างไร” ดร.พิพัฒน์กล่าว

“เกียรตินาคินภัทร” เผยทิศทางปี 62 รุก Private Bank นำลงทุนต่างประเทศ
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ได้เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมการเงิน ตลอดจนความผันผวนของเศรษฐกิจภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงวางฐานอยู่ที่ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
ธุรกิจสินเชื่อ (credit business) ซึ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยกลยุทธ์ customer segmentation ที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและควบคุมต้นทุน โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาสินเชื่อเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 18.5% และในปี 2562 นี้ ด้วยนโยบายเน้นขยายเฉพาะสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลกำไรเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มยอดสินเชื่อโดยทั่วไป จึงได้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 8%
ธุรกิจ private bank ซึ่งในปี 2561 KKP มียอดสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (asset under advice: AUA) ที่รวมทั้งยอดเงินฝากของธนาคาร และสินทรัพย์ของลูกค้าภายใต้การบริหารที่ บลจ.ภัทรสูงถึงกว่า 650,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในขณะที่การแข่งขันในธุรกิจนี้เข้มข้นขึ้นทั้งจากผู้เล่นที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ภายในประเทศ และไพรเวตแบงก์ต่างประเทศที่เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย หรือให้บริการตรงจากต่างประเทศ KKP ในฐานะผู้นำในธุรกิจนี้ซึ่งได้เปรียบจากการลงทุนพัฒนาความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้พยายามรักษาจุดแข็งโดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เช่น การนำเสนอบริการการลงทุนในต่างประเทศ การให้บริการการลงทุนใน private markets ต่างๆ การนำเสนอสินเชื่อเพื่อการลงทุนชนิดพิเศษอย่าง lombard loan และ PPF (portfolio for property finance) การนำเสนอบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนเงินฝากประจำ KKPSS (KK Phatra Smart Settlement) ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนและตอบโจทย์มุมมองการลงทุนได้หลากหลายจำพวก structured notes ต่างๆ ส่วนทางด้าน บลจ.ภัทรจะยังคงมุ่งพัฒนาผลงานการบริหารกองทุนให้อยู่ในกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรม การเพิ่มสัดส่วนกองทุนที่มีความซับซ้อนแต่ให้ผลตอบแทนสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการขายใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยในปี 2561 แม้ว่า บลจ.ภัทรไม่ได้เติบโตมากนักในแง่ของ AUM เนื่องจากภาวะตลาดที่มีความผันผวน แต่สามารถสร้างรายได้เติบโตขึ้นถึง 50%
ธุรกิจ wholesale & investment bank ปี 2561 ที่ผ่านมานับเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก บลจ.ภัทรได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำคัญระดับประเทศทั้งจากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและทำรายการระดมทุนในตลาดทุน เช่น โครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) หรือการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกของ บมจ.โอสถสภา และ บมจ.พระรามเก้า”
โชว์ผลงาน “สินเชื่อ” โตทะลุเป้า 18.5% – “เอ็นพีแอล” ลด 6 ไตรมาสติดต่อกัน
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายตลาดการเงิน และรักษาการประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียร ตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ภาพรวมการดำเนินธุรกิจสินเชื่อของธนาคารในปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวที่ 18.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 ซึ่งเติบโตกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 10% โดยการขยายตัวมาจากสินเชื่อในทุกประเภท
ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 6 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ 4.1% จาก 5% ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 6,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2560 และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 5,123 ล้านบาท ลดลง 16.2% จากความผันผวนของตลาดทุน
ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำ นวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรหลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 16.29% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 12.49% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 4/2561 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 17.46% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.65%”