ThaiPublica > เกาะกระแส > พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ : สัมมาทิฐิที่แท้จริงก็คือ ทุกอย่างสงบ ‘no view’ มองเห็นตามที่มันเป็นจริง “ถ้าเราไม่มีความเห็นเมื่อไหร่ จิตใจก็สงบเมื่อนั้น”

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ : สัมมาทิฐิที่แท้จริงก็คือ ทุกอย่างสงบ ‘no view’ มองเห็นตามที่มันเป็นจริง “ถ้าเราไม่มีความเห็นเมื่อไหร่ จิตใจก็สงบเมื่อนั้น”

17 มกราคม 2019


พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ชมรมรักษ์ธรรม บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) นิมนต์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร มาบรรยายธรรมเรื่อง “สัมมาทิฐิ” เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2562 ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ มีเนื้อหาดังนี้

สำหรับพุทธศาสนิกชน คงได้ยินคำว่าสัมมาทิฐิ อาจจะพระเทศน์ หรือเวลาเราคุยกับเพื่อนฝูง ก็คงจะอ้างถึงคำว่าสัมมาทิฐิอยู่ตลอดเวลา สัมมาทิฐิที่เราเข้าใจมันคืออะไร ถ้าเป็นนักศาสนาเราก็มักจะบอกว่านั่นคือหัวข้อแรกของมรรคมีองค์แปด ไม่ใช่มรรคแปด ถ้ามรรคแปด มันแปดทาง แปดทิศ มันไปที่ไหนก็ไม่ทราบ

แต่มรรคมีองค์แปดก็คือ ในกระบวนการของพวกเรามานั่งอยู่ที่นี่ วิธีการคิดของพระพุทธเจ้า เวลาเรามานั่งที่นี่ เราเอาร่างมา เราเอาก้นมานั่งเก้าอี้ แต่เมื่อร่างกายมานั่ง บางครั้งใจเราไม่มานั่งด้วย อย่างนั้นจะเป็นแปดทาง ร่างกายอยู่ แต่ใจไม่รู้ไปไหน

ใจอยู่ บางครั้งปัญญาไม่อยู่ นั่งฟังท่านพูดอะไรไม่เข้าใจ ภาษาไม่ถึงบ้าง คำแต่ละคำอาจจะมีมิติ มีความหมายหลายๆ อย่างไม่เข้าใจบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่ามรรคแปดก็คือ มันอาจจะอยู่ด้วยกัน แต่ว่ามันอยู่คนละทิศคนละทางและไม่ประสานกัน ไม่ทำงานร่วมกัน

เสียงที่อาจารย์กำลังพูดอยู่ผ่านไมโครโฟน ผ่านเครื่องกระจายเสียง เข้าหูพวกเรา แต่บังเอิญพวกเราส่วนใหญ่เป็นคนไทยและก็พูดภาษาไทย เพราะฉะนั้นเสียงขึ้นๆ ลงๆ ของอาจารย์มันมีความหมาย แต่ถ้าบังเอิญแขกที่ไม่รู้ภาษาไทย ฝรั่งที่ไม่รู้ภาษาไทยทำงานอยู่ใน ปตท. มานั่งฟังด้วย เสียงอันนี้ก็คือแค่เสียงขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีความหมาย ได้ยินมั้ย ได้ยิน ชัดมั้ย ชัด แต่ว่าไม่ทำงาน มันก็จะแยก

เพราะฉะนั้น คำว่ามรรคมีองค์แปดก็คือ เมื่อขันธ์ 5 หรือว่าอายตนะทั้งหมดในร่างกายของเรามาอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ตาทำงานก็คือ ทุกคนพยายามที่จะมองมาที่เวที แม้แต่หลับตาก็พยายามที่จะจินตนาการหน้าเวที แต่ถ้าอาตมาใช้ไมโครโฟนเดินไปเดินมา พวกเราก็ส่ายไปส่ายมา ปวดหัวแน่นอน

เพราะว่าตามันก็ต้องสื่อ หูมันก็ต้องทำงาน แถมกลิ่น รส ทุกอย่างในขันธ์ 5 ของเราในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปก็คือมันจะต้องมองเห็น ไม่ใช่ว่ามีพระมานั่งสอนมองไม่เห็นเป็นพระสอน เราก็อาจจะไม่ได้ให้ความเคารพ นายอะไรมาสอนก็ไม่รู้

เพราะฉะนั้น การที่ตาเรามองเห็นเป็นจีวร เห็นเป็นพระ มันก็ทำให้เราสามารถย้อนเอาทุกสิ่งทุกอย่างคือสัญญา คือความจำว่าท่านเป็นพระ และในวัฒนธรรมไทยเราต้องให้ความเคารพกับพระ มันกลายเป็นว่ามันสร้างพวกนี้ทั้งหมด สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเป็นเป็นรูปขันธ์  เวทนาก็คือความรู้สึกเมื่อเราเห็น ท่านน่าศรัทธา ท่านไม่น่าศรัทธา ความรู้สึกดูแล้วท่านหน้าตาดี ท่านดูแล้วหน้าตาไม่ดี อย่างนี้เราก็จะมีเวทนาขึ้นมาทุกสิ่งทุกอย่าง

ตาเห็นปุ๊บ ความรู้สึกเริ่มมีปฏิกิริยาทันทีเลย ทำไมมีปฏิกิริยาทันทีล่ะ เพราะว่ารูป เวทนา สัญญา เพราะว่าความจำของเรา ถ้าฝรั่งมาเจอพระนั่งอยู่อย่างนี้ ฝรั่งอาจมองว่าตานี่แต่งชุดแปลก เขาไม่ได้สนใจว่านั่นคือพระ ชุดนี้ทรงผมต้องโกนด้วยเหรอ มันก็จะกลายเป็นว่าไม่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา มันกลายเป็นตัวประหลาด

ที่พูดเช่นนี้มันเป็นเรื่องจริง อาตมาไปสอนที่อเมริกาเจอบ่อย บางทีเพื่อนฝูงก็ชวนไปห้าง ก็ไปกับเขา แต่ก็ไม่ได้ซื้ออะไรสักที จนเพื่อนถามว่าทำไมคุณขี้เหนียวจัง ก็เลยบอกว่าจะให้ซื้ออะไรล่ะ มีจีวรขายไหมล่ะ มีย่ามขายไหมล่ะ อาหารเราก็ไม่ได้ทำเอง ก็ไปโรงอาหาร หรือมีญาติโยมถวาย ซื้ออาหารไปตุนไว้ในตู้เย็นก็ไม่ใช่วิถีของพระ

ไปๆ มาๆ ก็เลยไปช่วยหิ้วของให้เพื่อน แล้วก็ไปเจอบ่อยก็คือ บางทีเด็กฝรั่ง พ่อแม่พาเด็กฝรั่งมา เด็กฝรั่งมันก็งง แต่งตัวประหลาด ก็ไปถามแม่ว่าอะไร ชี้ไปชี้มา แม่ก็ไม่รู้จะตอบยังไง พึ่งเห็น แต่ความท้าทายของเด็กฝรั่งก็คือ พ่อแม่ให้เด็กไปถามเอาเอง

เด็กตัวเล็กๆ ก็เดินมา อาตมาก็ยืนรอเพื่อนอยู่ ก็มาดึงจีวรข้างหลัง พอดึงจีวรก็ถามว่าอะไร เด็กก็อายไม่กล้าพูด พ่อแม่ก็ต้องมาช่วยถามให้ว่า เด็กถามว่าท่านเป็นอะไร ท่านเป็นใคร ทำไมแต่งชุดอย่างนี้ ก็เลยถือโอกาสสอนพุทธศาสนากลางห้างเลย

มันก็คือ สำหรับเขามันไม่มีความหมาย จีวรตัวนี้ เพราะว่าสัญญาของเขาไม่มี แต่พวกเราตั้งแต่เด็กเล็กๆ ยังไม่รู้เลย ธุจ้าๆ มาแล้ว เพราะฉะนั้นพวกเรามีสัญญาตัวนี้อยู่ พอเห็นพระ เราก็เลยถูกองค์ความรู้ตัวนี้มันกำหนดเลยว่าจะต้องทำตัวอย่างไร บางครั้งเราไม่ศรัทธา ไม่อยากทำ แต่ว่าส่วนใหญ่ทำก็เลยต้องทำ เป็นสัญญามากำหนดเราแล้ว รูป เวทนา สัญญา

เพราะฉะนั้น เวลาเราสัญญาคือกำหนด บางทีเวทนา อาจจะบางครั้งเราก็หงุดหงิดเพราะว่าความรู้สึกของเราที่มันได้มาจากตรงนั้น บางทีก็ชอบไม่ชอบ เพราะว่ามันมีสังขารมาปรุงแต่งตลอดเวลา

สังขารนี้ก็เป็นไปตามเวลา ตอนเช้าเราคิดว่าดี พอตอนบ่ายอาจจะไม่ดีซะแล้ว เพราะการปรุงแต่งปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเรา มันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อสังขารปรุงแต่ง  มันเปลี่ยนตลอดเวลา ก็เลยทำให้ความรู้หรือวิญญาณมันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน มันก็ตอบสนอง

แต่เมื่อตอบสนองเป็นวิญญาณตัวนั้นออกมา เราก็รู้ว่ากำลังมานั่งฟังพระบรรยาย เนื่องในโอกาสปีใหม่นี้ เห็นมั้ยครับ ห้าหกชิ้นมันทำงานเวลาเดียวกัน ในจุดเดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน ในเรื่องเดียวกัน เมื่อนั้นแหละเราเรียกว่ารู้ทัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเวลา หรือคือสิ่งที่เรียกว่ามรรคมีองค์แปด ก็เพราะว่ามันไม่ได้เป็นแปดทาง ไม่ได้ทำงานว่า รูปทำงานอย่างหนึ่ง เวทนาทำงานอย่างหนึ่ง แต่ว่าทำงานพร้อมกัน แล้วก็มีความหมายในเวลานั้น ก็คือมรรคมีองค์แปด

ทั้งแปดข้อ ไม่ว่าจะเป็นสัมมาทิฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะ สัมมาอาชีวะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ทั้งหมดนี้ความจริงมันไม่ได้แยกเป็นแปด มันคืออันเดียวกัน แต่เราจะมองจากมุมไหน มันเหมือนกับแปดแฉกในสิ่งเดียวกัน มองมุมไหน

แต่วันนี้เรามาพูดถึงสัมมาทิฐิ คำว่าสัมมาทิฐิ เราจะทำความเข้าใจอย่างไร นอกจากว่าเป็นหัวข้อหนึ่งในมรรคมีองค์แปด และมักจะเข้าใจว่าสัมมาทิฐิก็คือความเห็นถูกต้อง นี่ก็คือคำแปลพื้นฐานของเรา หรือพระบางองค์อาจจะบอกว่าความเห็นชอบ เพราะฉะนั้นคำว่า “ถูก” ตัวนี้หรือคำว่า “ชอบ” ตัวนี้มันแปลว่าอะไร สัมมา ถ้าพวกเราเป็นนักภาษาอังกฤษ มันก็คือ summan แปลว่าสูงสุด สมบูรณ์ที่สุด โดยรอบ คือคำเดียวกันในภาษาละตินกับภาษบาลี

สัมมาที่เราแปลว่าถูก ในวันนี้ไม่อยากจะให้เข้าใจแบบนั้น เพราะอะไร เพราะคำว่าถูกปุ๊บ มันก็จะมีมิจฉาเข้ามา แต่คำว่าถูก สัมมา คำว่าไม่ถูก คำว่ามิจฉา มิจฉาหรือสัมมาถูกหรือไม่ถูกใครเป็นคนกำหนด มันก็ต้องมีอัตตา มันก็ต้องมีสัญญา มันก็ต้องมีสังขาร มันก็ต้องมีตัวรูป กลายเป็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ คอยมากำหนดว่าอันนี้ถูก อันนี้ผิด

ก็แสดงว่าคำว่าถูกผิดนั้น มันก็เป็นกาลิโกสิ เพราะตัวที่จะกระตุ้นเราใส่สัญญา ใส่อะไรเข้าไปล่ะ เราปรุงแต่ง ใส่วิธีการปรุงแต่งอย่างไรล่ะ และเราเห็นอะไรล่ะ เห็นเป็นรูปยังไงล่ะ แล้วความรู้สึกของเราที่ได้มาจากตรงนั้น จากประสบการณ์ของเราจะเป็นอย่างไรล่ะ และเราเห็นเป็นอะไรล่ะ เข้าใจเป็นอะไรล่ะ ตัวนั้นคือตัวสิ่งแวดล้อม หรือว่าตัวข้างนอกเป็นเหตุปัจจัย เป็นตัวกระตุ้นทั้งหมด

ถ้าเห็นปัจจัยนี้เป็นตัวกระตุ้นทั้งหมด คำว่าถูกหรือผิด มันก็คือกาลิโกสิครับ และเราจะบอกว่าสัมมาทิฐิความเห็นถูก หรือว่าเข้าใจถูก แล้วมันจะไม่เห็นแก่ตัวเกินไปหรือ

ถ้าพวกเราพูดกันเองไม่เท่าไหร่ ถ้าอาจารย์พูดกับศาสนาคริสต์ล่ะ ของเขาก็เป็นสัมมาทิฐิ เขามีพระเจ้าของเขา เขาเป็นสัมมาทิฐิ ของเขาถูก อาจารย์ก็บอกว่าไม่มีพระเจ้า พระเจ้าเราเป็นคนสร้างเอง นรกเราก็เป็นคนสร้างเอง สวรรค์เราก็เป็นคนสร้างเองขึ้นมา อ้าว ตกลงใครถูกใครผิด ใครคือสัมมาทิฐิ  ใครคือมิจฉาทิฐิล่ะทีนี้

เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญของคำว่าสัมมาทิฐินั้น มักจะเข้าใจผิดก็คือ เรามักจะตีความในความหมายของตัวเราเองออกมาเป็นทิฐิ และเป็นทิฐิก็คือ ทิฐิจริงๆ นั้น ถ้าเราพูดกับคนสมัยใหม่ ทิฐินั้นก็คือมันเป็นความเห็น แต่ความเห็นมันก็คือ  theorem หรือว่า theory ในภาษาอังกฤษ ทฤษฎีคือสันสกฤต ทิฐิคือบาลี

ส่วน theory หรือ theorem ตัวนี้มาจากภาษาละตินก็คือภาษาอังกฤษ ความจะอันเดียวกันเลย  theory หรือทฤษฎีเราได้มายังไง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น theory ไหม, conceptual เราจะเรียกว่า theory ไหม, thought process เราจะเรียก theory ไหม, องค์ความรู้เราจะเรียกว่า theory ไหม

เพราะฉะนั้น กระบวนการของความเป็น theory มันมีอยู่ลักษณะอันหนึ่งก็คือ เราทดลองแล้วทดลองอีกจนมันมีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด  ถ้าเป็นความเห็นธรรมดา มันอันตราย มันไม่สามารถที่จะยึดได้ แม้ว่าเป็นสัมมาทิฐิ มันก็น่ากลัว เพราะว่าสัมมาของใคร มันต้องมี subject ขึ้นมา พอมี subject ขึ้นมา พอมีอัตตาขึ้นมา ไอ้ตัวทั้งหมดมันเริ่มเพี้ยนแล้ว

เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงสัมมาทิฐิในภาษาบาลีนั้นมันน่าคิด สัมมา ใช่ มันแปลว่าถูก แต่ว่ามันไม่ใช่แค่ถูกอย่างเดียว มันมีความหมายที่อาจจะเรียกว่า perfect มันอาจจะเรียกว่าสมบูรณ์ มันอาจจะเรียกว่า accomplish มันอาจจะเรียกว่าบูรณาการ อะไรได้อีกเยอะแยะ มันไม่ได้แค่แปลว่าถูก ถ้าใช้คำว่าถูกหรือผิดเมื่อไหร่ มันเริ่มที่จะตกหลุมของมิจฉาทิฐิได้ ความเห็นผิดได้ เพราะว่าเราบอกว่าเราเข้าใจอย่างนี้

ทุกวันนี้ใน ปตท. เอง แต่ละคนทะเลาะกันเรื่องอะไร เพื่อนฝูงกันทะเลาะกันในแง่วิชาชีพ อาชีพ ความเฉพาะด้าน หรือว่าทะเลาะกันในเรื่องของความเห็น เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ในละคร  ไปดูละครกันแล้วมานั่งเถียงกัน ไม่เกี่ยวกับเราเลย ว่าอันนี้ถูก อันนี้ผิด อันนี้เขาเตียงหักเพราะอย่างโน้นอย่างนี้ มันไม่เกี่ยวกับเราซะหน่อย เราก็จะมานั่งเถียงกันก็เพราะว่าทิฐิตัวนี้ theory ตัวนี้  theory ของเราบอกว่าอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้นคำว่าสัมมา อันที่หนึ่งแปลว่าถูก มันอันตราย  ทิฐิที่แปลว่า theory มันก็อันตราย แต่สัมมาทิฐิมันแปลว่าอะไร

เพราะฉะนั้น แค่คำว่าสัมมาทิฐิเอง มันน่าคิดตรงนี้ ว่ามันไม่ได้แปลว่าความเห็นถูกต้อง เพราะว่าถ้าถูกต้องเมื่อไหร่ มันอาจจะเป็นเหยื่อของกิเลส มันอาจจะเป็นเหยื่อของความเห็นที่เรายึดไว้ว่าอันนี้มันถูก ที่เรามันถูกเพราะว่ามันเข้ากับวิถีชีวิต มันเข้ากับตัวเราเอง มันไม่ได้เอาอกาลิโก ไม่ได้เอาความเป็นสันทิฐิโก เราไม่ได้เอาความเป็นสากลตัวนี้มาวัดเลย

“เพราะฉะนั้น สัมมาจริงๆ ในภาษาบาลี นอกจากคำว่าถูกต้องที่เรามักจะแปลกันนั้น มันแปลได้อีกอย่างหนึ่ง สัมมาแปลว่า “สงบ” มีรากศัพท์มาจากคำว่าสมุธาตุ แปลว่าสงบ สงบอะไร ไม่ใช่เงียบสงบอย่างห้องนี้ สงบคือ สงบจากกิเลส สงบก็คือโลภ โกรธ หลง ไม่ผุดขึ้น ไม่ทแยงขึ้น สงบนิ่งกองอยู่ข้างล่าง นั่นคือคำว่าสงบ มาจากสัมมา รากศัพท์อันเดียวกัน”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจในสัมมาในอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่คำว่าถูกต้องอย่างที่ทุกคนใช้ แต่ก็คือทฤษฎีหรือความเห็น หรือความเข้าใจที่ทำให้เราเกิดสงบ ก็คือทำให้กิเลสไม่ผุดขึ้นมา ให้กิเลสมันราบคาบ ให้โลภ โกรธ หลง มันเงียบสงบ อยู่ข้างล่าง นั่นคือคำว่าสัมมาทิฐิ มันไม่เกี่ยวกับความเห็นเลย หรือไม่ได้เกี่ยวกับความเข้าใจเลย  มันเป็นผลที่ทำให้จิตใจเราสงบจากโลภ โกรธ หลง นี่คือสิ่งที่น่าคิดในคำว่าสัมมา”

เสียดายที่พระส่วนใหญ่จำคำว่าสัมมาทิฐิก็คือความเห็นถูก ความเห็นชอบ แต่ความเห็นถูก ความเห็นชอบ มันจะมีปัญหาทันทีเมื่อเรามานั่งวิเคราะห์แล้ว คำว่าถูกและผิด มันเป็นตัวเวทนา มันเป็นตัวความรู้สึกเราไม่ใช่หรือ มันคือตัว memory เรา ไม่ใช่หรือ เมื่อเป็นความรู้สึก เมื่อเป็น memory สมมติว่าเราชอบหลวงพ่อองค์นี้ หลวงพ่อองค์นี้เก่ง ถูก แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบหลวงพ่อองค์นี้ หลวงพ่อองค์นี้ไม่ได้เรื่อง มันจะเอามาตรฐานตรงไหน

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฐิตัวนี้ ในความหมายทั่วไปเราแปลว่าความเห็นถูกต้อง หรือความเห็นชอบ มันแปลได้อยู่ แต่ว่าอยากจะให้เข้าใจว่า มันไม่ได้มีความหมายว่าถูกหรือผิดอย่างที่พวกเราเข้าใจ

อีกความหมายหนึ่งก็คือ มันแปลว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ” นอกจากสงบแล้ว วิธีการที่จะทำให้เกิดความสงบด้วย สัมมาตัวนี้ หรืออีกความหมายหนึ่งในภาษาแขกเขาบอกว่า ตัวสลักที่ทำให้เพลาในล้อเกวียนมันทำงาน ตัวนี้ก็เรียกว่าสัมมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงตรงนี้ก็คือ อะไรที่จะให้มันยึดอยู่กับหัวใจนั้นมันคือสัมมาทิฐิ

เพราะฉะนั้น พอเรามองตรงนี้ มรรคมีองค์แปดเราลืมไปได้เลย ความสำคัญมันอยู่ที่ว่ากระบวนการของอะไรก็แล้วแต่ อันที่หนึ่งมันจะมีผลทำให้เราสงบหรือเปล่า ก็คือจิตใจเราสงบจากโลภ โกรธ หลง หรือเปล่า

“หรือพวกเราชอบทำบุญโดยเข้าใจว่า ทำทาน ทำบุญแล้ว เราก็จะมีความสุข แต่หารู้ไม่ว่า การทำบุญของเรานั้น ตามหลักพุทธศาสนา มันเป็นวิธีการที่จะทำให้เราลดโลภ แต่คนที่ทำบุญทุกวันนี้ เราลดโลภมั้ย วิธีการทำบุญกลายเป็นว่าเพิ่มโลภ ค้าเกินกำไร ทำบุญร้อยบาท จะขอสามสิบล้าน ทำบุญเท่านั้นเท่านี้ ขอให้ได้โน่น ขอให้ได้นี่ กระบวนการตรงนั้นไม่ได้ไปทำให้โลภมันเกิดสงบเลย นั่นก็คือกลายเป็นมิจฉาทิฐิ”

ดังนั้น เวลาเราพูดถึงสัมมาทิฐิในพระพุทธศาสนาตรงนี้ อยากให้นึกถึงคำว่าสัมมาทิฐินั้น มันไม่ใช่เฉพาะในความหมายที่เราเข้าใจ อยากจะเปลี่ยนความคิดซะใหม่ว่า มันไม่ใช่หมายถึงถูกหรือผิด ถ้าถูกหรือผิด มันถูกกำหนดด้วยกิเลส มันถูกกำหนดด้วยความเห็น มันก็กลายเป็นทิฐิอะไรก็แล้วแต่

แต่ในพื้นฐานความหมายแรกที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ อะไรก็แล้วแต่ทิฐิ  ทิฐิตรงนี้ ความเห็นตรงนี้ มันไม่ใช่เฉพาะความเข้าใจด้วย ถ้าเป็นความเข้าใจอย่างเดียว มันไม่เป็นทิฐิ

มาถึงเวลา นั่งคุยกับใครจำชื่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่มารับ แล้วก็เล่าถึงกระบวนการของการเปลี่ยนผ่านของพัฒนาการตามกาลเวลาของ ปตท. ว่าตอนนี้มันยุคของ “ทรานส์ฟอร์เมชั่น”  ทรานส์ฟอร์เมชั่นจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีความเห็นที่ถูกต้อง

แต่สัมมาทิฐิตัวนี้มันจะทรานส์ฟอร์เมชั่น มันจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีสัมมาทิฐิในระดับพื้นฐานก็คือ ในระดับความคิดความเข้าใจเสียก่อน ในระดับโลกียะ และความจริงมันถึงจะมาอีกขั้นหนึ่ง ที่ออกมาเป็นทรานส์ฟอร์เมชั่น เปลี่ยนแปลงจากดักแด้เป็นผีเสื้อ

ทรานส์ฟอร์มตัวนั้น ความจริงดักแด้กับผีเสื้อมันคนละตัว คนละเรื่องคนละราวเลย ถ้าเราดูสองตัวนี้ในแง่ของแยกกัน มันไม่น่าจะมีปีก ไม่น่าจะมีอะไร มันแค่ดักแด้เล็กๆ มันอยู่ไหนก็ไม่รู้ แล้วก็พัฒนาการออกมาเป็นผีเสื้อที่บินได้ กระบวนการของการทรานส์ฟอร์เมชั่นตัวนี้ ถ้าเรามีความเห็นมันก็แค่ดักแด้เท่านั้นเอง ไม่สามารถจะเป็นตัวผีเสื้อได้

โดยปกติเราเข้าใจว่าสัมมาทิฐิก็คือตัวเริ่มต้น คือความคิดความอ่าน แต่ในบาลี ในพระพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎก ปรากฏว่ามันให้อีกภาพหนึ่งก็คือ พระไตรปิฎกก็คือตัว achievement ตัวเป้าหมาย พวกเราชอบมองเป้า ตั้งเป้าในการทำงาน แต่ว่ามันไม่มีความคิดความเห็นที่ถูกต้อง

ถ้าความเห็นความคิดถูกต้องก็คือ มันก็จะมี กิจกรรมที่จะไปสู่เป้าหมายตรงนั้น มันเป็น gradual process แต่วิธีคิดของเรานั้น ที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ เรามองแต่เป้า แต่ไม่ได้มองว่ากระบวนการของ gradual process ตัวนั้น ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเป้าเลย เราลืมมอง

เราอาจจะชอบดอกไม้ เห็นสวยงาม ทุกคนก็อยากได้ดอกไม้ แต่อยากได้ดอกไม้เราทำอะไร เราก็ไปปากคลองตลาด เราไปซื้อมา เคยคิดมั้ยว่าดอกไม้กว่าจะได้มานั้น เป้าหมายคือดอกไม้ ทุกคนมัวแต่จะไปซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาด

แต่ถ้าเขาเข้าใจในกระบวนการของสัมมาทิฐิก็คือ เป้าหมายคือดอกไม้ แต่สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องดูดิน ต้องดูน้ำ ต้องดูลม ต้องดูการดูแลต้นไม้ ซึ่งอาจจะออกมาไม่เกี่ยวกับดอกไม้เลย ดูแลดิน ดูแลอากาศ ดูแลน้ำ ดูแลแสงแดด ผลสำเร็จตัวนั้นซึ่งไม่เกี่ยวกับดอกไม้เลย  แต่ว่าเมื่อทำตรงนั้นได้ มันถึงจะได้ดอกไม้ แต่คนทุกวันนี้ พวกท่านเองทุกท่าน มัวแต่จะวิ่งเอาดอกไม้อย่างเดียว ข้างล่างใครทำเล่า

“เพราะฉะนั้นสัมมาทิฐิมันสำคัญตรงที่ว่า มันไม่ใช่เฉพาะกระบวนการของความเห็นตัวนั้น เราต้องเข้าใจในเป้าหมายว่าเรากำลังไปสู่อะไร และวิธีการพุทธศาสนาไม่ได้สอนว่า what พุทธศาสนาบอกว่า how  เพราะฉะนั้นเราอยากได้ดอกไม้ พระพุทธเจ้าบอกว่าอยากได้ดอกไม้ใช่มั้ย ไม่ใช่วิ่งไปซื้อที่ปากคลองตลาด ต้องไปดูพรวนดินสิ ต้องไปดูแสงแดดให้ได้สิ ต้องให้น้ำให้ดีสิ  และสิ่งที่ได้มานั้น เราจะชอบหรือไม่ชอบ แต่สิ่งที่ได้มาก็คือดอกไม้ คือเป้าหมายตัวนั้น achievement ตัวนั้น”

“แต่คนทุกวันนี้ ความที่ไม่มีสัมมาทิฐิ กลายเป็นว่าวิ่งไปที่ achievement แล้วก็มาบอกว่าทำไมฉัน fail ทำไมฉันไม่ได้โบนัส ฉันไม่ได้สองขั้น ฉันไม่ได้อะไรอย่างโน้น อะไรอย่างนี้ มัวแต่วิ่งมาตรงนั้น โดยลืมไปดูว่า กว่าจะได้ตรงนั้น มันต้องไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับดอกไม้สักอย่างเลย เพราะฉะนั้นสัมมาทิฐิตัวนี้มันมีความสำคัญตรงที่ว่า เราจะทำความเข้าใจกระบวนการชีวิตเราอย่างไร”

สมเด็จพระสังฆราชองค์เก่า คือสมเด็จพระญาณสังวร พระสังฆราช ท่านมีพระนิพนธ์เรื่องหนึ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ เป็นบทพระนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดปรานมากที่สุด เพราะว่าท่านฟังเทปที่สมเด็จพระสังฆราชท่านสอนทั้งหมด 43 ครั้ง ครั้งละชั่วโมง 43 ชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่งฟังจนท่านจำได้ทุกคำ และพระองค์ก็เลยให้ถอดเทป แล้วก็พระราชทานพิมพ์เป็นหนังสือ  แต่ปรากฏว่าพอพิมพ์เป็นหนังสือ พระองค์อ่าน พระองค์ตกพระทัยมากว่าเปลี่ยนไปได้ยังไง เพราะว่าพระองค์ฟังจนจำได้ทุกคำ รู้ว่าสมเด็จพระสังฆราชทรงสอนยังไง

อ่านปุ๊บพบว่ามันผิดหมดเลย คือวรรคตอน คำอะไรต่ออะไร  คนที่ถอดเทปออกมาทำมาผิด ในหลวงท่านวิ่งไปที่วัดบวรฯ ขอโทษสมเด็จพระสังฆราชว่าอย่าเพิ่งแจกเล่มนี้ เล่มที่ถวายไปอย่างเพิ่งแจก เพราะว่าพิมพ์ผิดเยอะเหลือเกิน แล้วท่านก็พิมพ์ใหม่ โดยทรงตรวจปรูฟเองทุกบรรทัด ทุกหน้า

ในหนังสือเล่มนั้น สมเด็จพระสังฆราชท่านบอกว่า ถ้าเราต้องการที่จะบอกว่าพุทธศาสนาคืออะไร พุทธศาสนาเราสามารถจะนิยามได้คำว่า “สัมมาทิฐิศาสนา” ศาสนาคือคำสั่งสอน สัมมาทิฐิก็คือคำสั่งสอนที่บอกว่าความเห็นถูก มันไม่ค่อยจะถูกแล้วตรงนี้ เพราะว่ามันจะต้องตีความหมายในอีกนัยหนึ่ง นัยหนึ่งเขามีในพระไตรปิฎกย่อๆ นี้  เขามีอยู่ 3 ระดับ  สัมมาทิฐิในการที่จะมอง

สัมมาทิฐิที่มองในพระไตรปิฎกทั่วๆ ไป ปกติถ้าตามคัมภีร์ เขาจะมีแค่ 2 ระดับ แต่อาจารย์เพิ่มมาอีกหนึ่งระดับที่ ปตท. แห่งนี้ ในคัมภีร์เขาจะพูด 2 ระดับก็คือโลกียะ คือสัมมาทิฐิสำหรับคนที่มีกิเลส ยังมีกิเลสอยู่ เราจะดำเนินชีวิตต่อกรกับกิเลสได้อย่างไรด้วยสัมมาทิฐิ ก็คือการที่เราเชื่อในกรรม ในเรื่องศีล ธรรม ที่ปฏิบัติอยู่ คุณธรรม ศีลธรรม พวกนี้ ก็คือระดับโลกียะ ทำอย่างไรชีวิตทั่วไปๆ ที่มีกิเลสมีคุณภาพ

แต่ถ้ามันเป็นโลกุตระ มันเป็นความรู้ที่เกิดแบบไม่มีขอบเขต ก็คือเรื่องสัจธรรม เรื่องอริยสัจ 4  มรรคมีองค์แปด เรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องปฏิจจสมุปบาท พวกนี้

ง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเปรียบเทียบเหมือนแผนที่ ถ้าโลกียะก็คือทุกอย่างเรามีแผนที่ เส้นแบ่ง นี่ประเทศไทย พม่า เขมร ลาว อะไรต่ออะไรในระดับพื้นข้างบน แต่ถ้ามันเป็นโลกุตระ เรากำลังพูดถึงพื้นที่ดินที่มันเป็น geology ที่ไม่สามารถจะแบ่งว่าประเทศไทยตรงไหน  มันก็คือผืนแผ่นเดียวกัน โลกมีสภาพเดียวกัน

แต่ระดับที่ 3 ที่อยากจะเพิ่มก็คือ ถ้าเรามาติดอยู่กับตรงนั้น พระไตรปิฎกไม่ได้ชัดเจนว่ามีอยู่ 3 แบบ แต่ว่ามีอยู่หลายที่ที่อาจารย์อ่านเจอ ที่พระพุทธเจ้าสอนแปลกนิดนึง ซึ่งบอกอย่างเช่นว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมะไม่ควรจะยึดถือ”  เพราะว่าธรรมะจะดีอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่มายึดเอาไว้ยึด

พระพุทธเจ้านั้นบอกว่า เวลาเราข้ามแม่น้ำ เราก็ต้องใช้แพข้าม พอแพข้ามไปได้แล้ว โอ้โห แพนี้มีบุญคุณเหลือเกิน ถ้าเราไม่มีแพนี้ ไม่สามารถจะข้ามไปได้ เพราะฉะนั้นจะไปไหนก็แบกแพตัวนี้ไปตลอด

เพราะฉะนั้น แม้แต่ธรรมะแต่ละอัน มันมีเป้าหมายที่จะให้ไปบรรลุไปตรงไหน ไม่ได้เอาไว้ยึด ไม่ได้เอาไว้ถือ ถ้ายึดถือธรรมะเมื่อไหร่ มิจฉาทิฐิแล้ว เห็นมั้ยครับ  พระเราบางทีสอนว่าพุทธศาสนาดี มันอาจจะเป็นมิจฉาทิฐิได้ เพราะว่าข้อที่หนึ่งไม่ให้ยึดตรงนี้ ดังนั้นถ้าไปยึดตรงนั้น มันอาจจะเป็นมิจฉาทิฐิได้

อันที่สอง การที่เราไปอธิบายในเรื่องของความเป็นสากลตัวนี้ มันก็มีองค์ความรู้กับความเข้าใจ  และอาจจะบอกว่าความรู้ความเข้าใจเราถูกหรือผิด สัมมากับมิจฉาขึ้นมา แต่ในระดับที่ 3 ที่พระพุทธเจ้าพูดไว้ในหลายที่ในพระไตรปิฎก ก็คือ “ต้องทิ้งความเห็นทั้งหมด”  อันนี้เรียกว่าสัมมาทิฐิ

ไม่ได้ชัดเจนไว้นะครับ ในคัมภีร์มีแค่สอง แต่ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งถืออยู่นั้น มันก็ยังเป็นทิฐิอยู่ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่าประเสริฐที่สุดก็คือ ต้อง “no view” ไม่ใช่ right view หรือไม่ใช่ wrong view  ต้อง no view

“ถ้า no view เมื่อไหร่ คือเราไม่มีทรรศนะ เราไม่มีความเห็น เราไม่มีปรุงแต่ง เราไม่มีอะไรเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละนั่นคือคำว่า สัมมาทิฐิ”

คงเข้าใจยาก เราสอนมาแต่เรื่องให้อย่างนี้ๆ ให้เป็นคำสั่ง ให้เป็นความเชื่อมาตลอด แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้เป็นความเชื่อ  ต้องเป็นการพัฒนาการองค์ความรู้ให้มันเกิดขึ้น จนสามารถที่จะทำให้เรามองเห็นสัจธรรมตามที่มันเป็นจริง ที่เรียกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามหลักของไตรลักษณ์

“เมื่อถึงตรงนั้นแล้ว มันจะไม่มี view ไม่ใช่ว่า right or wrong  แต่มันแปลว่า no view นั่นคือในพระไตรปิฎกอธิบายไว้ประมาณสักห้าหกแห่ง ไม่ได้ใช้คำนี้ ว่า no view แต่ว่าเนื้อหาที่พระพุทธเจ้าอธิบายก็คือ อย่าไปยึดกับสิ่งเหล่านี้ ทิฐิเหล่านี้  เพราะฉะนั้น สัมมาทิฐิที่แท้จริงก็คือ มัน no view มันมองเห็นตามที่มันเป็นจริง

ดูจากเวลาแล้ว ก็ขอให้เป็นพรปีใหม่ก็คือ ขอให้พวกเราเป็นคน no view คือไม่มีความเห็น ถ้าเราไม่มีความเห็นเมื่อไหร่ จิตใจก็สงบเมื่อนั้น

เพราะเวลาตอนนี้เราเห็นนู่น ก็ดูสิเขาแต่งตัวอย่างไร อย่าไปมีความเห็นกับเขา ดูทรงผมเขาสิ ไปมีความเห็นกับเขา เห็นมั้ยครับ ทุกสิ่งทุกอย่างเรากลายเป็นเหยื่อของสัมมาทิฐิและมิจฉาทิฐิ

แต่ตามหลักของพระพุทธเจ้า สัมมาทิฐิที่แท้จริงก็คือ ทุกอย่างสงบ เขาจะแต่งตัวอย่างไรก็ตัวของเขา ช่างเขา  เขาจะทรงผมอย่างไรก็ช่างเขา แต่อย่าเอาสิ่งเหล่านี้มากวนใจเรา ทำให้เกิดโลภ โกรธ หลง มันตื่นขึ้นมาถ้าเรารักษาโลภ โกรธ หลง สงบอยู่ข้างล่างได้ สัมมาตัวนี้ใช้คำว่าสงบได้ เมื่อนั้นแหละเราเป็นคนที่อยู่ในสัมมาทิฐิ

ขออำนวยพร…