ThaiPublica > คอลัมน์ > STO จะมาแทน ICO

STO จะมาแทน ICO

7 ธันวาคม 2018


ทพพล น้อยปัญญา

ตามที่ผู้เขียนได้เขียนหนังสือเรื่อง “กฎหมาย Bitcoin Blockchain ICO and etc” (โดยการสนับสนุนของ “ไทยพับลิก้า”) ได้พูดถึงผลทางกฎหมายของการขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เรียกว่า ICO ไปยังไม่ทันไร ตอนนี้มีการขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบใหม่ที่เรียกว่า STO เกิดขึ้นมาแล้ว

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก็ได้มาเปิดเผยว่า “เตรียมพิจารณากฎหมาย STO เร็วๆ นี้”

STO มาเป็นข่าวดังอีกทีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา เมื่อผู้บริหารระดับสูงของ ก.ล.ต. ออกมาประกาศแก้ข่าวว่าไม่ได้ห้ามบริษัทไทยที่ตั้งในต่างประเทศขาย STO

โลกดิจิทัลนี้เปลี่ยนแปลงเร็วเกิน ทำให้ผู้เขียนต้องใช้ปัญญาอันมีอยู่น้อยมาสืบค้นหาข้อมูลเพื่อจะได้รู้ว่า STO คืออะไร?

STO ย่อมาจาก Security Token Offering ความหมายอาจจะเข้าใจยากเล็กน้อย ถ้าจะพูดอย่างง่ายๆ ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นการเสนอขายสินทรัพย์ที่นำมาทำเป็นโทเคน (เป็นคำเรียก Token ในภาษากฎหมายไทยตามที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เรียกเอาไว้นะครับ) ถ้าจะอธิบาย ต้องย้อนอดีตไปไม่ไกล เมื่อราวปีสองปีที่ผ่านมาที่มีการขายเหรียญอิเล็กทรอนิกส์หรือโทเคนกันอย่างแพร่หลาย ผ่านวิธีการขายที่เรียกว่า Initial Coin Offering หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ICO นั้น ขณะที่มีการขาย ICO กันอย่างมากหลายนั้น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) ก็ออกมาประกาศว่าการขายเงินดิจิทัลเป็นการขายหลักทรัพย์ การจะทำ ICO ก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายหลักทรัพย์ ใครไม่ทำตามก็จะถูกดำเนินคดี แล้วก็มีการดำเนินคดีจริงไปหลายรายแล้วด้วย เลยทำให้การขาย ICO ทั้งหลายถูกเบรก

อีกประการหนึ่งก็คือ พวกโทเคนทั้งหลายที่ขายกันใน ICO เป็นโทเคนประเภท utility token ไม่มีสินทรัพย์อะไรมา back อยู่ข้างหลัง มีแต่โครงการที่จะเอาเงินจากการขาย ICO ไปดำเนินการ จะสำเร็จหรือไม่ก็ยังไม่รู้ บางทีก็เหมือนกับการขายฝัน ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดการปฏิรูปสิ่งที่จะขายใหม่ ด้วยการขายของที่จับต้องได้หรือมีมูลค่าทางการเงินกลายเป็น STO หรือ Security Token Offering ขึ้นมา

เช่น สมมติว่าเราอยากไปเป็นเจ้าของอาคารสักหลังหนึ่งสมมติว่าราคา 100 ล้านบาท แต่เราคนเดียวก็ไม่มีเงินถึง 100 ล้านบาท เราก็มีทางเลือกคือ

    1. ไปขอกู้เงินจากธนาคาร แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเรามีหลักประกันอะไรให้ธนาคาร? หรือเรามีเครดิตที่ธนาคารเชื่อถือหรือเปล่า?

    2. ออกหุ้นให้ผู้คนมาลงทุน เราก็ต้องไปตั้งบริษัททำการขายหุ้นเพื่อจะได้เงินมา คนซื้อก็ได้หุ้นไป คราวนี้ถ้าเป็นบริษัทตั้งใหม่ เราคิดว่าคนเขาจะเชื่อถือเราแล้วมาซื้อหุ้นของเราหรือไม่? เราเข้าเงื่อนไขการขายหุ้นของ ก.ล.ต. หรือเปล่า? เมื่อขายได้แล้ว เราต้องเอาบริษัทไปจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้มีตลาดรองแก่คนที่ซื้อหุ้น บริษัทของเรามีคุณสมบัติที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้หรือเปล่า?

ทั้ง 2 กรณีนี้ในความเป็นจริง ทุกคนก็คงจะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบริษัทตั้งใหม่ทำโครงการใหม่

ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้ STO เกิดขึ้นมาได้ด้วยการเอาราคาตึก 100 ล้านบาทนี้มาออกเป็นโทเคน (Tokenized) แล้วให้คนที่สนใจมาซื้อตามกำลังของแต่ละคน แล้วทุกคนก็เป็นเจ้าของตึกร่วมกันคนละนิดคนละหน่อย (fraction) ตามส่วนที่มาลงทุน คนที่มาร่วมลงทุนก็จะได้โทเคนเป็นหลักฐานคล้ายเอกสารสิทธิ (แต่เป็นเอกสารดิจิทัล) มีสิทธิมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนที่ลงทุน การที่จะขายโทเคนนี้ก็ผ่านกระบวนการการขายที่เรียกว่า Security Token Offering หรือ STO นั่นเอง

แต่กระบวนการทั้งหมดที่ว่ามาต้องทำในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ โดยการซื้อขายต้องทำผ่านบล็อกเชนและเงินดิจิทัลเท่านั้น

STO ดีกว่า ICO เพราะว่าโทเคนที่ขายใน ICO ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ หนุนหลัง แต่ security token ที่เอามาขายใน STO จะมีสินทรัพย์หนุนหลัง โดยจะเป็นของสินทรัพย์ชนิดใดก็ได้ที่มีมูลค่า เช่น ที่ดิน อาคาร รถยนต์ หรืองานศิลปะ เช่น ภาพวาดที่มีราคาแพงๆ ตราสารทางการเงิน ฯลฯ โดยมีคนทำเป็นผังไว้ดังนี้

ที่มาภาพ : https://medium.com

ประโยชน์ของการทำ STO มีหลายสถาน เช่น สามารถซื้อขายกันได้ 24 ชั่วโมงอาทิตย์ละ 7 วัน เพราะการซื้อขายสามารถทำได้โดยผ่านบล็อกเชน ไม่ต้องง้อตลาดหลักทรัพย์แห่งใด กระบวนการซื้อขายก็ทำได้รวดเร็ว ช่วยให้ประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ การที่โทเคนอยู่บนระบบบล็อกเชน ก็ทำให้โทเคนยังสามารถที่จะกำหนดสิทธิใดๆ ให้กับตัวโทเคนได้ เช่น สมมติว่ารองเท้า Nike ออก security token มาก็อาจจะกำหนดสิทธิบนโทเคนนั้นว่าใครที่มีโทเคนสามารถซื้อรองเท้า Nike ในราคาลด 10% ได้ อย่างนี้เป็นต้น

ของฝรั่งนั้นด้วยความที่เขามีระบบกรรมสิทธิ์ที่เป็นส่วน (fractional ownership) จึงทำให้เขาทำ security token ที่แบ่งออกเป็นส่วนๆ (แม้จะไม่เท่ากัน) ได้ ตามกฎหมายไทย ก็มีเรื่องของ “กรรมสิทธิ์รวม” ในทำนองเดียวกัน แต่อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด

ถ้าจะว่ากันตามกฎหมายไทยแล้ว โดยที่โทเคนมีฐานะทางกฎหมายเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งไม่ใช่เงินตรา (แม้จะเรียกว่า “เหรียญ” หรือ coin ก็ตาม) ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เอกสารสิทธิที่แสดงกรรมสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างเดียวกับโฉนดที่ดิน การเข้าหุ้นรวมเงินกันมาซื้อตึกก็พอจะเข้าใจได้ แต่เวลาจะใส่ชื่อผู้ใดเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคาร จะใส่ว่าผู้ซื้อโทเคนทั้งหมดทุกคนก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงยังน่าสงสัยอยู่ว่า แล้วถ้าอย่างนั้นจะใส่ชื่อใครเป็นเจ้าของในโฉนดใบนั้น?

ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องหุ้นกู้มีประกัน (secured bond) มีคนมาให้ยืมเงิน (ผ่านหุ้นกู้) แก่บริษัทนับร้อยคน แล้วบริษัทเอาที่ดินมาจำนองให้เป็นประกันแก่ผู้ให้กู้ จะใส่ชื่อเจ้าหนี้จำนองเป็นร้อยคนได้อย่างไร? กฎหมายก็เลยให้มี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่รับจำนองแทน ถ้าลูกหนี้ (บริษัท) ผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัด ก็ให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้บังคับจำนองแทนแล้วเอาเงินมาแบ่งคืนผู้ถือหุ้นกู้ จะให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ก็ต้องมีกฎหมายมารองรับ ไม่ใช่ว่าเราจะไปกำหนดเองได้

ที่ว่ามาเป็นการยกตัวอย่างของการเอาทรัพย์สินมาทำ security token นะครับ ยังมีทรัพย์สินอื่นอีกหลายชนิดที่สามารถเอามาทำเป็นโทเคนได้ เช่น รถซูเปอร์คาร์ อย่างนี้ก็จะมีปัญหาเรื่องการตีทะเบียนรถว่าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นทรัพย์สินต่างประเภทกันก็จะมีปัญหากฎหมายต่างกันไปด้วย ในประเทศไทยก็คงต้องรอดูกฎหมายที่ ก.ล.ต. จะออกว่าจะมีหน้าตาอย่างไร

นาย Rohit Kulkarni ซึ่งเป็น Managing Director ของบริษัท SharesPost ได้เขียนบทความลงในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ว่า

“If 2017 marked the emergence of initial coin offerings and 2018 has been the year of regulatory uncertainty around those ICOs, then 2019 will belong to the security token.”

ก็ต้องคอยติดตามดูกันต่อไปครับว่า ปี 2019 ที่จะมาถึงนี้ security token จะแผลงฤทธิ์แค่ไหน?