ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ ผลิตแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นปัญหาใหญ่ที่มีการพูดถึงมานานหลายสิบปีในวงการอุตสาหกรรม หลังจากบริษัท ยูเนี่ยนออยล์ จำกัด ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2505 อีก 11 ปีต่อมา บริษัทยูเนี่ยนออยล์ได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบและผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกที่แหล่งเอราวัณ ปรากฏว่าในยุคบุกเบิกนั้น บริษัทฯ ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องนำเข้า “ช่างเทคนิคปิโตรเลียม” มาจากต่างประเทศ
ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2522 ทางบริษัท ยูเนี่ยนออยล์ จึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมพนักงานยูโนแคลไทยแลนด์” ขึ้นที่จังหวัดสงขลา (บริษัทยูเนี่ยนออยล์เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในเวลาต่อมา) โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จัดหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรของบริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ ให้มีทักษะความรู้ความสามารถด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเริ่มก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2522 ถึงเดือนมิถุนายน 2523 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2523 ในชื่อ “Union Oil Training Center” โดยมี ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฯ
จากนั้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ จึงได้ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “ศูนย์เศรษฐพัฒน์” ซึ่งมีความหมายว่า “เศรษฐกิจและการพัฒนา”
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561 นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมด้วย นายวิษุวัต สิงหศิริ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดสงขลา เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์เศรษฐพัฒน์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงแนวนโยบายในการพัฒนาศูนย์เศรษฐพัฒน์ว่า วัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ ก็เพื่อผลิตช่างเทคนิคด้านปิโตรเลียม รองรับงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้กับประเทศไทย ตลอด 38 ปีที่ผ่านมา บริษัทเชฟรอนฯ พยายามพัฒนาหลักสูตรการอบรมด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุค 4.0 เช่น การพัฒนาระบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ พัฒนาแอปพลิเคชัน นวัตกรรม และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เพื่อผลิตช่างเทคนิคปิโตรเลียมที่มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล
“การพัฒนาช่างเทคนิคปิโตรเลียมของศูนย์เศรษฐพัฒน์ ที่นี่เน้นสอนเรื่องกระบวนการ ความคิด สามารถดึงข้อมูลจำนวนมากในโลกยุคอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์กับการใช้งานจริง ต่อยอด ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของช่างเทคนิคปิโตรเลียม กล่าวคือ มีองค์ความรู้ มีความสามารถในการใช้ประสบการณ์และประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้ หลังจากนั้นตัวเนื้อหาหรือวิชาการมันจะตามมาเอง ต้องพยายามปลูกฝังแนวความคิดตรงนี้ให้ได้ เพราะหัวใจของการทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่ที่ข้อมูล ประสบการณ์ของคนอ่านและวิเคราะห์ข้อมูล” นายไพโรจน์กล่าว
นายไพโรจน์กล่าวต่อว่า หลายคนคงไม่ทราบว่าบริษัทเชฟรอนฯ ใช้โดรนช่วยในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยมานานแล้ว เราเก็บข้อมูล big data ที่ได้จากการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา มาใช้ในการวิเคราะห์และประเมินผลความคุ้มค่าในการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าไปไกลเพียงใด แต่ก็ยังต้องใช้คนอยู่เหมือนเดิม ยกตัวอย่าง แท่นขุดเจาะของเชฟรอนหลายแห่ง ใช้รีโมทควบคุมการทำงานของเครื่องจักร แต่ก็ยังต้องใช้คนในการควบคุมรีโมท ส่วนงานซ่อมบำรุงสมัยนี้ใช้กล้อง VR กรณีช่างเทคนิคปิโตรเลียมมีปัญหาในการซ่อมแซมอุปกรณ์บางอย่าง ก็จะส่งข้อมูลภาพผ่านระบบเรดาร์ ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบไร้สาย เพื่อขอคำแนะนำมาจากศูนย์กรุงเทพฯ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงเล็งเห็นความสำคัญในการฝึกอบรมบุคลากรของบริษัทเชฟรอนฯ ให้มีความรู้และทักษะในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้
นอกจากนี้ บริษัทเชฟรอนฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการสร้างบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า “สะเต็ม” (STEM) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมความสนใจด้านสะเต็มให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัทเชฟรอนฯ ได้ดำเนิน “โครงการ Chevron Enjoy Science สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” พัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็มทั้งในระดับสามัญศึกษาและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และทักษะสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคต ผ่านการดำเนินงานในหลายๆ ด้าน เช่น นำผู้บริหารของโรงเรียนอาชีวะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร และครูอาชีวะ มาฝึกอบรมเทคนิคการสอนสมัยใหม่ หลักสูตรพื้นฐานทางช่างที่สอนกันมานาน บางอย่างก็อาจล้าสมัยไปแล้ว เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ครูผู้สอนและเด็กก็ต้องเรียนรู้กันอยู่ตลอดเวลา
“ศูนย์เศรษฐพัฒน์” มีหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร นายวิษุวัต สิงหศิริ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าที่ศูนย์เศรษฐพัฒน์แห่งนี้ เราไม่ได้เปิดอบรมเฉพาะพนักงานของกลุ่มบริษัทเชฟรอนฯ เท่านั้น เราเปิดรับนักศึกษาจากทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวะ มีทั้งระดับ ปวช., ปวส. และปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ หลังผ่านการอบรมแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาทำงานกับบริษัทเชฟรอนฯ ไปทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่มีสัญญาผูกมัดใดๆ วัตถุประสงค์หลักของศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ คือ ผลิตช่างเทคนิคปิโตรเลียมให้กับประเทศไทย
หลักสูตรการเรียนการสอนของศูนย์เศรษฐพัฒน์ ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ 1. ภาษาอังกฤษ ซึ่งเน้นการฟัง พูด และศัพท์เทคนิคเฉพาะที่ใช้กับงานบนแท่นขุดเจาะ เพื่อใช้ในการสื่อสารกับช่างเทคนิคปิโตรเลียมต่างชาติ 2. เทคโนโลยีปิโตรเลียม มีทั้งช่างไฟฟ้า ช่างกลึง ช่างเครื่องยนต์ ช่างควบคุมอุปกรณ์มาตรวัด และอุปกรณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติ ครอบคลุมไปถึงเรื่องธรณีวิทยา การสำรวจ การขุดเจาะ การผลิต และคุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติ 3. การปฐมพยาบาล การฝึกว่ายน้ำ การช่วยเหลือตนเองในน้ำ การใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตต่างๆ การผจญเพลิง และการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทะเล และการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน และ 4. ความเป็นผู้นำ จริยธรรม หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อสังคม ใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมทั้งหมด 6-8 เดือน โดยในช่วง 7 เดือนแรก ผู้เข้ารับการอบรมจะอยู่ที่ศูนย์เศรษฐพัฒน์ จากนั้นจะถูกส่งไปฝึกอบรมภาคปฏิบัติงานจริงที่แท่นขุดเจาะ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งอีก 4 สัปดาห์
นายวิษุวัตกล่าวต่อว่า ก่อนที่จะถูกส่งไปปฏิบัติงานจริงที่แท่นขุดเจาะ ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะถูกฝึกวิธีการช่วยเหลือตัวเองในน้ำ และการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย โดยจำลองสถานการณ์เฮลิคอปเตอร์นำช่างเทคนิคปิโตรเลียมไปส่งที่แท่นขุดเจาะที่ประสบเหตุพลิกคว่ำกลางทะเล โดยมีผู้บรรยาย คือ อาจารย์จักรเพชร พานแก้ว หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรบด้านความปลอดภัยฯ และการตอบโต้สภาวะฉุกเฉิน และอาจารย์มัจฉริยะ ครไชยศรี ผู้ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยฯ และการตอบโต้สภาวะฉุกเฉิน แห่งศูนย์เศรษฐพัฒน์ ซึ่งทั้งคู่เคยเป็นอดีตนายทหารหน่วยซีล
อาจารย์จักรเพชรกล่าวย้ำว่า “ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เป็นการจำลองเหตุการณ์เพื่อใช้ในการฝึกอบรมนักศึกษาเท่านั้น”
อาจารย์จักรเพชรกล่าวว่า หลังจากเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงสู่ผิวน้ำ นักศึกษาจะยังไม่ออกจากเฮลิคอปเตอร์โดยทันที ต้องรอจนกว่าสถานการณ์จะหยุดนิ่งก่อน จากนั้นก็จะว่ายน้ำออกมา พร้อมกับอุปกรณ์เสื้อชูชีพ ว่ายน้ำออกไปรวมตัวกันด้านนอกและตั้งแถว โดยใช้เท้าทั้ง 2 ข้างเกี่ยวที่เอวเพื่อน ว่ายน้ำตรงไปที่เรือยางด้วยท่ากรรเชียงอย่างพร้อมเพรียง พร้อมกับส่งสัญญาณขอรับความช่วยเหลือ ทางชายฝั่งก็จะส่งเฮลิคอปเตอร์มารับ
จากนั้นบริษัทเชฟรอนฯ ได้พาสื่อมวลชนไปดูงานที่ “ศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการฉุกเฉิน” (Emergency Response Training Center: ERTC) ซึ่งใช้เป็นสถานที่ฝึกการผจญเพลิง โดยจำลองเหตุการณ์ก๊าซธรรมชาติรั่วไหล เกิดไฟลุกไหม้บนแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมฝึกอบรมของศูนย์เศรษฐพัฒน์ โดยมีอาจารย์ชัยพฤกษ์ จีนเพชร ผู้ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยฯ และการตอบโต้สภาวะฉุกเฉิน เป็นผู้บรรยาย
อาจารย์ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรช่างเทคนิคปิโตรเลียม พนักงานของบริษัทเชฟรอนฯ และบริษัทผู้รับเหมาที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกชายฝั่งทุกคนต้องเรียนรู้วิชาพื้นฐานในการดับเพลิง และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่นอกชายฝั่งบางตำแหน่งจะต้องฝึกวิชาผจญเพลิงเพิ่มเติมอีกด้วย รวมถึงฝึกการสวมชุดป้องกันไฟ หน้ากากป้องกันก๊าซพิษ และการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงชนิดต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ดับเพลิง กรณีเกิดเหตุไฟไหม้ที่แท่นขุดเจาะ
นอกจากศูนย์เศรษฐพัฒน์จะฝึกอบรมให้กับนักศึกษาไทยและพนักงานของบริษัทเชฟรอนฯ แล้ว ศูนย์เศรษฐพัฒน์ยังฝึกอบรมให้พนักงานของบริษัทเชฟรอนฯ จากประเทศเวียดนาม บังกลาเทศ พม่า และอินโดนีเซียด้วย สำหรับพนักงานของบริษัทเชฟรอนฯ แล้ว ถือเป็นหลักสูตรภาคบังคับที่ทุกคนต้องผ่านการอบรมจากศูนย์นี้ และต้องจัดให้มีการอบรมซ้ำทุกๆ ปี
ที่ผ่านมา ศูนย์เศรษฐพัฒน์ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกว่า “OPITO” (Offshore Petroleum Industry Training Organization) รวมทั้ง ยังได้รับการรับรองการฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำจากกรมเจ้าท่าร่วมกับมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย และกรมแรงงานและคุ้มครองสวัสดิการ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนฝึกผจญเพลิง และการทำงานในพื้นที่อับอากาศอีกด้วย
ตลอด 38 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เศรษฐพัฒน์ได้ฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปแล้วหลายแสนคน ตลอดจนผลิตช่างเทคนิคปิโตรเลียมให้กับประเทศไทยไปทั้งหมด 46 รุ่น จำนวนกว่า 1,700 คน ให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา และเทคโนโลยีการผลิตก๊าซธรรมชาติ เสริมสร้างทักษะการทำงาน ทั้งในเรื่องของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การควบคุมการผลิต เทคนิคการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการยกระดับการศึกษาของไทย เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน