ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประภาศ”ตอบคำถามอดีต รมว.คลัง แจงประมูลดิวตี้ฟรี ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. PPP ใหม่หรือไม่? ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ

“ประภาศ”ตอบคำถามอดีต รมว.คลัง แจงประมูลดิวตี้ฟรี ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. PPP ใหม่หรือไม่? ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ

26 ธันวาคม 2018


นายประภาศ คงเอียด
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง

หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว “เตรียมเสนอ สนช. แก้ กม. ปลดล็อกประมูลดิวตี้ฟรี ต้นปี 62 – ไม่ต้องปฏิบัติตาม “พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ” ประชุมนัดพิเศษ 25 ธ.ค. นี้” ตามที่นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ปรากฏว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยกับการยกร่างกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ของรัฐบาล จึงแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ว่า แก้ไข พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 ครั้งนี้ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายร่วมทุนฯ โดยเฉพาะมาตรา 7 มีขอบเขตแคบลงอย่างมาก และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์การตรากฎหมายร่วมทุนฯ ฉบับแรกเมื่อปี 2535 เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการกับสภาพัฒน์ฯ และในรูปคณะกรรมการหลายฝ่าย ร่วมกันพิจารณากลั่นกรองโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท

นายธีระชัยกล่าวว่า “มาตรา 7 เดิมนั้น บรรยายไว้แบบเฉียบขาดว่า ’พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ยกเว้นเฉพาะปิโตรเลียมและเหมืองแร่’ เพราะมีกฎหมายเฉพาะต่างหาก แต่ร่างกฎหมายใหม่ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้แก้ไขมาตรา 7 ใหม่ ถึงแม้จะบรรยายกิจกรรมอย่างขึงขัง โดยแตกออกเป็นบัญชีหางว่าว 12 วงเล็บ และมีหัวเรื่องกำกับเอาไว้ แต่บีบให้แคบเหลือเฉพาะโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ”

  • เตรียมเสนอ สนช. แก้ กม. ปลดล็อกประมูลดิวตี้ฟรีต้นปี’62 ไม่ต้องปฏิบัติตาม “พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ” ประชุมนัดพิเศษ 25 ธ.ค. นี้
  • พร้อมระบุว่ากรณีนายประภาศ คงเอียด ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “ร่างกฎหมาย PPP ฉบับใหม่ ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงกรณีการใช้ทรัพย์สิน หรือ ให้เช่าต่อ ดังนั้น ในกรณีการให้เช่าหรือใช้ทรัพย์สิน จึงไม่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมาย PPP ฉบับนี้ การนำเสนอโครงการและการอนุมัติ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และระเบียบของหน่วยงานนั้น” นายธีระชัย ระบุว่า ตรงกับหลักการและเหตุผลของการยกร่างกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ที่ว่า “พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีบทบัญญัติในเรื่องของขอบเขตของโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐอย่างกว้างขวาง อันส่งผลให้มีโครงการร่วมลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐที่ต้องจัดทำเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่รัฐประสงค์จะสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุน ต้องเข้ามาสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว …”

    โดยชี้ให้เห็นว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ต้องการแยกธุรกิจบางอย่างออกไปจากกระบวนการถ่วงดุล และแยกออกไปจากขั้นตอนการกำกับควบคุมโดยหลายหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับเดิม และได้เขียนไว้ว่า เป็นการสร้างประตูผี เพื่อให้ธุรกิจบางอย่างเล็ดรอดผ่านรูออกไป

    ส่วนเหตุผลความจำเป็นที่รัฐบาลสมัยก่อนต้องตรากฎหมายร่วมทุนฯ ฉบับแรกขึ้นมาเมื่อปี 2535 นั้น นายธีระชัยกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากกระบวนการอนุญาตให้สัมปทานแก่เอกชน และการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทำกิจกรรมบางอย่างนั้น เดิมหละหลวม ส่วนใหญ่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีคนเดียว และใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการแตกต่างกัน ซึ่งเสี่ยงต่อการหาประโยชน์ส่วนตน

    ในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน จึงได้ตรา พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 ขึ้นมา เพื่อถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการกับสภาพัฒน์ฯ และพิจารณาในรูปคณะกรรมการหลายฝ่าย ยกเว้นโครงการที่มีมูลค่าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท (ไม่อยู่ในข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) แต่ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะทำให้บางธุรกิจหลุดออกไปจากวงจรควบคุมของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่

    นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
    อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    “ต่อไปนี้ แม้โครงการหมื่นล้าน แสนล้าน หรือล้านล้านบาท ก็หลุดออกไปหมด ไปขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือ หัวหน้าหน่วยงานนั้น ถือเป็นการเปิดฝาชีครั้งใหญ่ ให้นายทุนระดับชาติที่หนุนหลังนักการเมือง เอื้อมมือเข้ามาหยิบอาหารได้ง่าย เพียงแต่นักการเมืองเปลี่ยนกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นคนของตัวเองเท่านั้น ระบบการถ่วงดุลตรวจสอบ กลไกการกำกับที่เขียนไว้อย่างสง่างามในร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ ก็จะเอื้อมไปไม่ถึง ถือเป็นการปล่อยผีครั้งใหญ่ ขอตั้งคำถามถึงทีมเศรษฐกิจว่านโยบายอย่างนี้ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ท่านปลดกระบวนการพิจารณา และถ่วงดุล สำหรับบางธุรกิจ เพื่อรับใช้นายทุน หรือไม่?” นายธีระชัยกล่าว

    เวลา 18.10 น.วันที่ 25 ธันวาคม 2561 เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ กระทรวงการคลัง นำเอกสารแถลงข่าวอย่างไม่เป็นทางการ เผยแพร่ใน LINE ผู้สื่อข่าวสายกระทรวงการคลัง ระบุว่า นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ขอชี้แจงข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี 2561 จากแฟนเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ดังนี้

    ร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลโครงการลงทุนของภาครัฐ ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เพื่อให้ภาครัฐสามารถควบคุมการดำเนินการของภาคเอกชนในการให้บริการประชาชนได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการสากลเรื่อง Public Private Partnership โดยหากเป็นโครงการลงทุนของรัฐที่สอดคล้องกับกิจการ 11 ประเภท [หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมตามมาตรา 7(12)] ตามมาตรา 7 ของร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. ซึ่งรวมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการดังกล่าวด้วย ก็จะเข้าข่ายที่จะต้องดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด

    ดังนั้น สำหรับกรณีโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร หรือ ไม่ปลอดอากรในท่าอากาศยาน เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. หรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาจากรายละเอียดของโครงการที่หน่วยงานของรัฐจัดทำเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีความชัดเจนถึงความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าอากาศยาน ซึ่งจะทำให้สามารถพิจารณาได้ว่า การจัดทำร้านปลอดอากรดังกล่าวมีลักษณะเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าอากาศยาน ตามมาตรา 7(3) หรือ เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการท่าอากาศยาน ตามมาตรา 7 วรรคสอง ของร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. หรือไม่ ซึ่งหากมีลักษณะที่ต้องด้วยบทบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็จะเข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย

    อนึ่ง มีขอบเขตการใช้บังคับกับกิจการของรัฐทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการให้เอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการที่เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐ หรือไม่ ทำให้โครงการที่เข้าข่ายการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีขอบเขตที่กว้างขวาง ส่งผลให้ทุกโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องควบคุมให้เกิดมาตรฐาน และคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการจะต้องดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด ทำให้ภาครัฐอาจไม่สามารถดูแลโครงการที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง และเป็นผลให้โครงการร่วมลงทุนไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

    ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โทร. 0 298 5880-7 โทรสาร 0 2279 8547