ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > กบข. มุ่งสร้างความเข้าใจการลงทุนบนหลัก ESG เพื่อผลตอบแทนยั่งยืน – ช่วยบริหารความเสี่ยง

กบข. มุ่งสร้างความเข้าใจการลงทุนบนหลัก ESG เพื่อผลตอบแทนยั่งยืน – ช่วยบริหารความเสี่ยง

7 ธันวาคม 2018


นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) (ที่ 7 จากขวา) กับวิทยากรที่ร่วมงานสัมมนา

ปัจจุบันการลงทุนแนวใหม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable and Responsible Impact – SRI) เป็นอีกแนวคิดที่กำลังถือปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น จากเดิมที่การลงทุนจะใช้ข้อมูลทางการเงิน เช่น ผลกำไร รายได้ เป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจการลงทุน แต่วันนี้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการนำหลักความยั่งยืนมาผสมผสานกับการดำเนินธุรกิจ

รูปแบบหนึ่งของการลงทุนแบบยั่งยืน คือ การลงทุนที่ยึดหลัก ESG หมายถึงการลงทุนในกิจการหรือบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (environmental) ด้านสังคม (social) และด้านบรรษัทภิบาล (governance)ในการทำธุรกิจ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการและการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้สภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน

ESG ในกระบวนการลงทุน

นักลงทุนสถาบันให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น โดยนักลงทุนที่ลงนามรับหลักการการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment – PRI) ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของ PRI เดือนเมษายน 2561 มีจำนวนถึง 1,961 ราย มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 81.7 ล้านล้านดอลลาร์ มีสินทรัพย์ของเจ้าของทรัพย์สินกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ จากเจ้าของทรัพย์สินเกือบ 500 ราย

การนำ ESG มาใส่ในกระบวนการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเจ้าของทรัพย์สินเห็นว่าจะช่วยให้กิจการมีการจัดการและบริหารความเสี่ยงระยะยาวได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสปรับระบบการดำเนินธุรกิจโดยรวมให้ดีขึ้น ESG สามารถนำมาใช้ได้ตลอดห่วงโซ่การลงทุน ตั้งแต่การจัดสรรการลงทุน การสร้างพอร์ตการลงทุน การบริหารความเสี่ยงและการจัดทำรายงาน

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันที่บริหารเงินออมของสมาชิกข้าราชการทั่วประเทศให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืน โดยอยู่ในขั้นตอนลงนามรับหลักการ PRI มาใช้กับการจัดการลงทุน และได้นำ ESG เข้ามาใส่ไว้ในกระบวนการลงทุน จัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในตราสารทุน หรือ ESG Focused Portfolio เน้นลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG เป็นหลัก
ล่าสุด กบข. ได้ร่วมกับ World Bank, OECD, PRI และ UNDP จัดสัมมนาขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ในหัวข้อ ESG Investing: Return Enhancing or Sacrificing? How to make it work? เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ กบข.

จากงานสัมมนาช่วง Thailand Chapter: What’s next on ESG Investing? เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศที่นำ ESG ไปใช้ในกระบวนการลงทุนอยู่ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียหรือนอร์ดิกส์ (Nordics) เป็นส่วนใหญ่ ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นผู้นำ มีการเติบโตต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะกองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่น (GPIF) ให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นยั่งยืน

ESG เป็นการลงทุนที่ช่วยลดความเสี่ยงทั้งระยะสั้นและระยะยาว ช่วยสร้างความไว้วางใจ ลดความเสี่ยงที่จะมีผลต่อชื่อเสียง เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบชัดเจนต่ออัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง รวมทั้งได้ผลตอบแทนคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยงและบางครั้งได้ผลตอบแทนเท่ากับหรือสูงกว่าตลาดเมื่อเทียบกับมาตรฐานการลงทุนอื่น ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG จะมีการปรับตัวที่ดีกว่าตลาด

โดยข้อมูลจาก MSCI เอเชียแปซิฟิก ที่นำเสนอในงานสัมมนา พบว่า ณ เดือน กันยายน 2017 ผลตอบแทนรวมของการลงทุน ESG Universe อยู่ที่ 8.7% ขณะที่ ESG Leader ได้ผลตอบแทนรวม 8.6% ขณะที่การลงทุนของ MSCI All Country World Index (MSCI ACWI) อยู่ที่ 8.3% ส่วนผลตอบแทนต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง (Sharpe Ratio) ของ MSCI ACWI อยู่ที่ 0.64 แต่ของ ESG Universe อยู่ที่ 0.69 และ ของ ESG Leader อยู่ที่ 0.70

สัมมนาช่วง Thailand Chapter: What’s next on ESG Investing? โดย พอล แชนด์เลอร์(ที่ 2 จากขวา), Head of Environmental Issues จาก PRI, ดร.ชินยะ สึจิโมโต (ซ้ายสุด)ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nippon Life Global Investors, คริสติน่า เทบาร์ เลสส์ (ที่ 2 จากซ้าย) Head, Responsible Business Conduct จาก OECD และมี ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์(ขวาสุด) รองเลขาธิการ กลุ่มงานกิจกรรมองค์กร กบข. ดำเนินการเสวนา

นอกเหนือจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนระยะยาวจะเป็นปัจจัยจูงใจให้นักลงทุนนำ ESG มาใส่ในกระบวนการลงทุนแล้ว การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการลงทุนแนวยั่งยืนก็มีความจำเป็น

การลงทุนแนวทาง ESG ในระยะต่อไปจะเป็นแนวทางลงทุนปกติรูปใหม่ (New Normal Investment) และไม่ใช่ทางเลือกในการลงทุนอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะนักลงทุนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่ม Millennials ให้ความสนใจในด้าน ESG มากขึ้น คนรุ่นหลัง Millennials จะยิ่งให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นไปอีกและเรียกร้องความรับผิดชอบจากการดำเนินธุรกิจมากกว่าเดิม

การลงทุน ESG จึงเป็นการลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม สังคม เป็นกระบวนการลงทุนแบบรอบด้านในอนาคต

ESG ไม่ใช่ทางเลือกแต่ต้องทำ

ในงานสัมมนาช่วง GPF’s ESG Integrated Alternative Investment: Case study ได้ยกตัวอย่างกิจการที่นำ ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ที่ กบข. ได้เข้าไปลงทุน คือ เอสซีแคปปิตอล พาร์ตเนอร์ จำกัด (SC Capital Partners Pte Ltd. – SCCP) และฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท ที่ภูเก็ต (Holiday Inn Resort) ซึ่งเป็นตัวอย่างของกิจการที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESG

นายสุชาติ เจียรานุสสติ ประธานและกรรมการผู้จัดการ เอสซีแคปปิตอล พาร์ตเนอร์ จำกัด

โดย SCCP เห็นว่า แนวปฏิบัติตาม ESG ให้ผลดีชัดเจนต่อ SCCP ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริหารกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนหุ้น มีการลงทุนในทรัพย์ในหลายประเทศ ทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบเพื่อให้มีการดำเนินงานในแนวทาง ESG อย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบสำนักงานให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ และระบบน้ำ ตลอดจนสนับสนุนให้พนักงานและผู้อยู่อาศัยในโครงการของ SCCP ใช้รถร่วมกัน (Car Pool) ลดการแออัดของการจราจร นอกจากนี้ยังจัดสรรเงิน 1-2% ของรายได้ไปในด้าน CSR

SCCP นำแนวปฏิบัติของกิจการไปเทียบกับมาตรฐานสากล โดยในด้าน ESG ของอาคารสำนักงาน ยึดมาตรฐานหลัก คือ Global Real Estate Sustainability Benchmark หรือ GRESB ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก และได้รับการประเมินในอันดับ Green Star ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตรฐาน GRESB ในด้านการจัดการและนโยบาย (management & policy) ด้านการนำไปปฏิบัติและการวัดผล (implementation & measurement) ขณะนี้ได้ใช้กับทรัพย์สินในกลุ่มอาคารสำนักงาน และจะขยายการปฏิบัติตามมาตรฐานนี้ไปยังทรัพย์สินในกลุ่มอื่นต่อไป

สะท้อนให้เห็นได้ว่า ESG ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจาก ESG เป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญ”

ยึดหลักความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม

ด้านโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ภูเก็ต ให้ข้อมูลว่า ฮอลิเดย์ อินน์ เป็นหนึ่งใน 15 แบรนด์ของ IHG โดย IHG มีวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดหลักความรับผิดชอบในด้านสิ่งแวดล้อมที่ปฏิบัติกันทั่วทั้งกลุ่มใน 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม การให้โอกาสทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น การบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดของคนที่เปลี่ยนไป เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีการรับรู้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

นายบาร์ต คัลเลนส์ General Manager ฮอลิเดย์ อินน์ ภูเก็ต

ฮอลิเดย์ อินน์ ภูเก็ต ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมผ่าน Green Engage ด้วยการนำเข้าไปสู่สถานศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลดก๊าซคาร์บอน โครงการแฮปปี้โฮม การลดใช้พลาสติกโดยจากเดิมที่เคยซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสบู่และแชมพูมากถึง 440,000 ชิ้น ลดเหลือ 220,000 ชิ้น และยังให้ความสำคัญกับการศึกษา ด้วยการให้ทุนการศึกษา

นอกจากนี้ ยังผลักดัน ESG ผ่านสมาคมโรงแรมในภูเก็ตที่มีสมาชิกโรงแรม 65 แห่ง ทั้งบูทีกโฮเทลไปจนถึงโรงแรมระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมของเกาะภูเก็ต รวมทั้งดึงให้ประชาชนในภูเก็ตเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อลดผลกระทบด้านการท่องเที่ยว