เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ที่ธานาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้แถลงผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ในรอบ 6 เดือนของปีบัญชี 2558 (เมษายน–กันยายน 2558)
ครึ่งปี NPL แตะ 5.66% ผลจากราคาข้าว-ยากตก
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม ณ ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ มียอด 1,388,605 ล้านบาท ธนาคารมียอดเงินฝากรวม 1,195,707 ล้านบาท รวมสินเชื่อคงเหลือ 1,160,584 ล้านบาท ขยายตัวจากสิ้นปีบัญชี 2557 คิดเป็น 6.50% สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 3.38% ในยอดปิดบัญชีปี 2557 เป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เป็น 5.66% ของสินเชื่อรวม เป็นเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
นายลักษณ์ระบุว่า ในครึ่งปีแรกนี้ ธนาคารยังคงมีผลกำไรสุทธิ จำนวน 5,627 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในชนบทได้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 70,820 ล้านบาท รวมทั้งธนาคารมีสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ที่ระดับ 11.80% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งเอาไว้ที่ 8.50%
“สำหรับ NPL ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัว โดยเฉพาะยางพาราและข้าวเปลือก แต่ตลาดมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคายังคงดีอยู่ ส่วนนี้ ธ.ก.ส. ได้มีการจัดหามาตรการในการช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านช่วงเวลาที่ราคาผลผลิตตกต่ำไปได้ นอกจากนี้ทางธนาคารได้มีการเตรียมวงเงินในส่วนหนี้สงสัยเผื่อจะสูญเป็นจำนวน 2.1 แสนล้านบาท เป็นส่วนสำรองที่มีมากกว่า NPL ถึง 3 เท่าตัว NPL ที่เพิ่มขึ้นจึงไม่เป็นปัญหาที่จะบั่นทอนประสิทธิภาพการดำเนินงาน” นายลักษณ์กล่าว
6 เดือน สนับสนุนนโยบายรัฐแตะ 1 แสนล้าน
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ในปีบัญชี 2558 ธนาคารได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรตามมติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 6 โครงการ ได้แก่
- โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นการบรรเทาภาระทางการเงินและหนี้สินของเกษตรกรรายย่อย ผ่าน 3 โครงการย่อย ดังนี้ คือ โครงการปลดเปลื้องหนี้สินดำเนินการไปแล้ว 8,691 ราย จำนวนเงิน 433 ล้านบาท โครงการปรับโครงสร้างหนี้ 95,241 ราย จำนวนเงิน 13,950ล้านบาท และโครงการขยายเวลาชำระหนี้ 297,820 ราย จำนวนเงิน 46,594 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูการผลิต จำนวน 285,559 ราย เป็นเงิน 49,624 ล้านบาท
- โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 เพื่อลดความเสี่ยงจาการประกอบอาชีพ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 92,033 ราย พื้นที่ 51 ล้านไร่
- โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน ลูกหนี้ที่ได้รับการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 66,956 ราย ซึ่งลูกหนี้ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการบริหารทุนและหนี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ธนาคารได้จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 36,663 ราย จำนวนเงิน 3,615 ล้านบาท
- มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการโอนเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ธ.ก.ส. ได้เข้าไปสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองโดยล่าสุดสามารถโอนเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้านแล้ว 16,252 กองทุน วงเงิน 14,805 ล้านบาท มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านได้รับประโยชน์ประมาณ 900,000 ราย
- โครงการสนับสนุนการออมตามนโยบายของรัฐบาล ธ.ก.ส. เป็นช่องทางในการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผ่านเคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ จำนวนผู้สมัคร 202,203 ราย จำนวนเงิน 194,221,557บาท
- โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กองทุนอ้อยเเละน้ำตาลทราย จำนวน 16,938 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้เกษตรกรในอัตราตันละ 160 บาท จำนวน 105 ล้านตัน มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 153,676 ราย (คลิกภาพเพื่อขยาย)
“สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาแล้งโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ซึ่งคาดว่ามีเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ 330,000 ครัวเรือน โดยทางธนาคารจะมีการออกมาตรการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระหนี้สินของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมทั้งมีการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้กับเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตทางการเกษตร สินเชื่อเพื่อการสร้างงานในชนบท สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพอื่นๆ สินเชื่อให้กับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ทั้งรายคนและรายกลุ่ม วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท” นายสมศักดิ์กล่าว
ด้านนายสุพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการประกันภัยนาข้าวเนื่องจากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้มีการขยายกรอบเวลาให้ชาวนาได้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และกระทรวงมหาดไทย ได้มีการหารือเพิ่มเติม ที่จะเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบประกันภัยข้าวแก่ชาวนามเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพยายามที่จะเจรจาต่อรองเพื่อให้มีการกำหนดอัตราสินไหมเพิ่ม จากที่ตั้งไว้เป็นวงเงิน 1,111 บาท/ไร่
ทั้งนี้ การเข้าไปดูแลชาวนาในฤดูการผลิต 2557/2558 ได้มีการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในการเพิ่มวงเงินสำหรับ 3 มาตรการที่เคยทำในปีที่ผ่านมา ได้แก่ มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ชาวนาที่ทำการขอสินเชื้อจาก ธ.ก.ส. ไปดำเนินการเพาะปลูกข้าว ในอัตรา 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน กรอบวงเงิน 975 ล้านบาท มาตรการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในการแปรรูปข้าวสารให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น วงเงินให้สินเชื่อ 12,500 ล้านบาท (เดิม 6,700 ล้านบาท) และมาตรการสนับสนุนสินเชื่อชะลอการขายแก่ชาวนาที่มียุ้งฉางทั้งข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงินให้สินเชื่อ 26,000 ล้านบาท (เดิมประมาณ 1 หมื่นล้าน)
นายอภิรมย์กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามากำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐระยะที่ 1 ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านธรรมาภิบาล การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง กระบวนการด้านสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้เข้ามาตรวจการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. และได้ให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. เป็นปกติอยู่แล้ว จะมีส่วนที่ต้องปรับเล็กน้อยคือ เรื่องของการสรรหาผู้บริหารในระดับผู้จัดการ และรองผู้จัดการ ที่ต่อจากนี้จะต้องส่งรายชื่อให้กับ ธปท. เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนทำการคัดเลือก
นอกจากนี้ ได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมสำหรับมติสำหรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่เห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต้องนำส่งเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พ.ศ. 2558 จำนวน 0.18% ของเงินฝาก และมติ ครม .เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ในการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลของ ธ.ก.ส. จากเดิมที่การทรวงการคลังจะทำการเพิ่มทุนให้ทุกปี เป็นการให้ธนาคารส่งเงินปันผลเข้าสู่กระทรวงการคลังโดยตรง
“ในส่วนของการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ปี 2558 นี้คำนวณเม็ดเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนคิดเป็นจำนวน 1,690 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ทางธนาคารได้รับทราบมาล่วงหน้า และได้เตรียมความพร้อม รวมถึงกำหนดมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรองรับไว้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. แต่อย่างใด ส่วนกรณียกเลิกการจ่ายเงินปันผลโดยการที่กระทรวงการคลังซื้อหุ้นเพิ่มทุน เป็นการส่งรายได้เข้ากระทรวงการคลังแทนนั้น ในปี 2558 มีส่วนที่จะต้องเริ่มส่งประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินส่วนนี้ก็ยังสามารถขอเปลี่ยนกลับมาเป็นการเพิ่มทุนได้” นายลักษณ์กล่าว
นายลักษณ์กล่าวต่อไปว่า กรณีของการส่งเงินเข้ากองทุนนั้นยังสามารถนำเงินออกมาใช้ได้ ส่วนนี้ได้มีการหารือเพิ่มเติมในระดับผู้บริหารของธนาคาร ถึงเรื่องการตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการเพิ่มทุน ซึ่งอาจทำได้ 3 รูปแบบ คือ การเพิ่มทุ่นโดยใช้งบประมาณจากภาครัฐ การเพิ่มทุนโดยเงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และการเพิ่มทุนจากศักยภาพของธนาคารเอง
ทั้งนี้ คาดการณ์ผลประกอบการสิ้นปีบัญชี 2558 (31 มีนาคม 2559) สินเชื่อขยายตัว 122,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.2% ด้านเงินฝากเพิ่มขึ้น 65,000ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรา 5.27% สำหรับ NPL คาดว่าจะต่ำกว่า 4.0% และจะมีผลกำไรสุทธิจำนวน 9,835 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 0.70% และสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง BIS Ratio อยู่ที่ระดับ 11.86%