ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ในวันที่พลิกโฉมความยั่งยืนให้ “ทรู” คะแนนสูงสุดในอุตฯสื่อสารและโทรคมนาคม “กลุ่มดัชนี DJSI”

“ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ในวันที่พลิกโฉมความยั่งยืนให้ “ทรู” คะแนนสูงสุดในอุตฯสื่อสารและโทรคมนาคม “กลุ่มดัชนี DJSI”

25 พฤศจิกายน 2018


ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

บนเส้นทางสายธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะเผชิญข่าวร้ายหลายเรื่อง แต่ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนนั้นต้องเรียกว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม (telecommunication service) ด้วยกัน

ทั้งๆ ที่เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา “ทรู” เคยเป็นผู้ตามคู่แข่งอย่าง เอไอเอส หลายขุม ในปี 2559  “เอไอเอส” ได้เป็นบริษัทสื่อสารและโทรคมนาคมรายแรกที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) ในระดับโลก เป็นรายแรกในไทย ในวันที่ “ทรู” ยังไปไม่ถึง DJSI ในเวลานั้น

ผลที่เกิดขึ้นในปีนี้จึงสร้างเซอร์ไพรส์ให้แวดวงโทรคมนาคมฯ เมื่อ “ทรู” ขึ้นเป็นที่หนึ่งโดยได้รับคะแนนสูงสุดด้านความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรมโทรคมนาคมโลก โดยไม่เพียงได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ประจำปี 2561  แต่ที่เหนือกว่าคือ ยังได้รับการประเมินให้เป็นผู้นำคะแนนสูงสุดในหมวดอุตสาหกรรมสื่อสารและโทรคมนาคมจากการประกาศผลเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา

  • ประกาศผล DJSI 2018 บริษัทไทยท็อปฟอร์มขึ้นที่ 1 “บริษัทยั่งยืน” ของโลก ใน 6 อุตสาหกรรม
  • ล่าสุด ในการประกาศรายชื่อ Thailand  Sustainability Invesment (THSI) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  “ทรู” ได้อยู่ใน 79 บริษัท   จากที่ผ่านมา “ทรู” ไม่ได้รับคัดเลือกเพราะขาดคุณสมบัติจากการขาดทุนต่อเนื่องเกิน 3 ปี

    สิ่งที่กล่าวมาเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนอย่างพลิกโฉมของ “ทรู” ในปี 2561

    “ไทยพับลิก้า” สัมภาษณ์ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญที่ได้รับมอบหมายจาก “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี ให้ยกระดับกลุ่มทรูและบริษัทในเครือซีพีก้าวสู่บริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านความยั่งยืนว่า การ “เปลี่ยนผ่าน” ครั้งนี้ทำได้อย่างไร

    …เราจะทำยังไงที่ความต้องการมันเพิ่มขึ้นสามเท่า  คือตอนแรกบอกว่าจะทำบริษัทให้กำไร แต่ตอนนี้คาดหวังกำไรอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องทำเพื่อสังคม เพื่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่งบประมาณยังต้องเท่าเดิม ต้องแข่งขันได้…

    ก้าวแรกของการพลิกโฉม “ความยั่งยืน” ในองค์กร

    ดร.ธีระพล กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้เรามีความเชื่อเดิมๆ ว่าความยั่งยืน (sustainability)  ก็จะคล้ายๆ กับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR)  ซึ่งจริงๆแล้วมีความแตกต่างอยู่บ้าง ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำกิจกรรมด้าน CSR มามากมาย ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความยั่งยืน แต่วันนี้เรื่องของความยั่งยืนจะมากกว่า CSR โดยจะเป็นเรื่องกระบวนการ in process มากขึ้น คือทำธุรกิจควบคู่กับประโยชน์ที่เกิดกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน  

    “จริงๆ แล้วการทำ sustainability  มันไม่ใช่เรื่องที่เรามีเงินเหลือแล้วไปทำดีต่อสังคม แต่จริงๆ เราจะทำยังไงที่ความต้องการมันเพิ่มขึ้นสามเท่า  คือตอนแรกบอกว่าจะทำบริษัทให้กำไร แต่ตอนนี้คาดหวังกำไรอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องทำเพื่อสังคม เพื่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่งบประมาณยังต้องเท่าเดิม ต้องแข่งขันได้ แต่ความคาดหวังมันเพิ่มขึ้นอีกตั้งสองด้าน คือสังคมกับสิ่งแวดล้อม”

    เพราะฉะนั้น เรื่องนวัตกรรม เรื่องวิธีคิดใหม่ๆ ต้องถูกเอาเข้ามาคิด เพื่อไม่ใช่แค่องค์กรได้อย่างเดียว แต่ทำยังไงให้กระบวนการทำธุรกิจปัจจุบันที่ทำอยู่แล้ว ให้ชาวบ้านได้ด้วย ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เพราะฉะนั้นจะทำตรงนี้ได้ เรื่องนวัตกรรมจึงสำคัญมาก และต้องใช้เวลา

    รื้อโครงสร้าง ตั้งเป้าหมายใหม่

    ทรูเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงใหญ่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยปรับโครงสร้างองค์กร และตั้งส่วนงานด้านความยั่งยืนและนวัตกรรมให้มาอยู่ในหมวดเดียวกัน  และกำหนดคำให้ชัดเจนว่า ความยั่งยืนไม่เท่ากับคำว่าความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร  แต่ความยั่งยืนคือการทำธุรกิจแบบมีเป้าหมาย คือต้องมีการกำหนดเป้าหมายก่อนทำงาน

    “ผมถามคุณศุภชัย (เจียรวนนท์) ว่ามอบหมายให้ผมทำเรื่องความยั่งยืน คาดหวังอะไรที่ให้ทำ คุณศุภชัยก็บอกว่าขั้นแรกเลยคือคุณไปทำเรื่องการกำหนดเป้าหมายมาให้ได้ก่อน ถ้ากำหนดเป้าหมายไม่ได้ วัดผลไม่ได้ มาคุยกันอีกปี สองปี ก็บอกไม่ได้หรอกว่าคุณมีการปรับปรุงแค่ไหน เพราะฉะนั้นเราจึงเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายขององค์กร ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ว่าทำยังไงให้ในองค์กรและคนเข้าใจเป้าหมายเดียวกันกับที่เรากำหนด นี่คือจุดเริ่มต้น ทั้งนี้ต้องขอบคุณทุกคนในองค์กร ที่ร่วมกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะผู้นำองค์กรทุกท่านที่ร่วมกันผลักดันการดำเนินการความยั่งยืน เมื่อเครือซีพีกำหนดกรอบ “House of Quality 12 เป้าหมาย”  กลุ่มทรูก็ดำเนินการสอดคล้องกับเป้าหมายของเครือด้วย”

    “ความโชคดีคือตัวผมเองก็ได้เรียนรู้จากการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายของซีพีกรุ๊ปด้วย เลยเอาวิธีการเดียวกันมาทำที่ทรู จึงเกิดเป็นเป้าหมาย 5 ปีด้านความยั่งยืนของทรู ภายใต้กรอบ Heart-Health-Home”

    ภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืนของทรู Heart เป็นเรื่องของความรับผิดชอบพื้นฐานบนการกำกับดูแลกิจการที่ดี Health เป็นเรื่องการพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมทั้งการศึกษาและการพัฒนานวัตกรรม และ Home เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ครอบคลุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

    “มันใช้เวลาเหมือนกันในการค่อยๆ ปรับแต่ละเรื่อง เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคนจริงๆ การมีส่วนร่วมมีส่วนสำคัญ ตั้งแต่ฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องไปจนถึงพนักงาน และต่อไปจนถึงคู่ค้า เช่นปีล่าสุดเราทำ code of conduct ระดับซัพพลายเออร์ไปเทรนด์ซัพพลายเออร์ แต่เขาก็กังวลว่าทำแล้วจะยังไง เรามีความต้องการเพิ่ม แล้วประโยชน์เขาคืออะไร หากเขาทำไม่สำเร็จ จะเป็นการกีดกันหรือเปล่า พวกนี้ต้องสร้างความตระหนักรู้โดยสร้างมุมมองในเชิงบวกให้ได้ เพื่อยกระดับไปพร้อมๆกันทั้งอุตสาหกรรม”

    ใช้นวัตกรรมนำการออกแบบความยั่งยืน

    ในส่วนของนวัตกรรม เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่างที่บอกว่าพอมีความต้องการที่ต้องตอบโจทย์เพิ่มขึ้น จะทำยังไงให้ต้นทุนบริษัทไม่เพิ่ม หรือบางทีสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย การนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อที่จะตอบโจทย์ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ตรงนั้น

    ในช่วงที่ผ่านมาจะมีนวัตกรรมออกมาเพื่อสังคม หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องเบรลล์โน้ต ซึ่งเป็นเครื่องการจดโน้ตสำหรับผู้พิการทางสายตา

    “เราทำเรื่องสื่อสาร คนพิการทางสายตาบางทีสมองเขาไม่ได้พิการ แต่ไม่สามารถที่จะจดบันทึกได้ เครื่องบันทึกที่มีอยู่ก็ตัวละหลายแสน ก็ไม่ค่อยได้ใช้  ก็มีพนักงานส่งผลงานเข้ามาเป็นไอเดียว่าอยากจะทำเรื่องนี้ เราก็วิจัยและทำจนเกิดเป็นเบรลล์โน้ตที่คนตาบอดสามารถกดพิมพ์บันทึกได้ โดยที่เสียงไม่ไปรบกวนคนอื่น เขาจะเปิดบลูทูธเข้ามือถือ ใส่หูฟังแล้วฟังจดบันทึก ก็ชนะรางวัลทั่วโลก เป็นตัวอย่างว่า connectivity ที่ทำให้สังคมดีขึ้นยังไง โดยเราพัฒนาเครื่องได้มีราคาถูกลงเหลือประมาณ 4,500 บาท จากตัวละหลายแสนบาท”

    หรือการพัฒนานวัตกรรมล่าสุด “บัวลอย” ซึ่งเพิ่งได้รับราววัลจากประเทศแคนาดา โดยทรูใช้ IoT (Internet of Things) ในเรื่องอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณ ไปใช้วัดระดับความลึกของแหล่งน้ำ  โดยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อที่จะรู้และคาดการณ์ถึงปริมาณน้ำที่จะใช้ทำการเกษตร และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้ราคาถูกลง เพื่อขยายประโยชน์เรื่องนี้ได้กว้างขึ้น

    “บัวลอย” วัดระดับความลึกของแหล่งน้ำ

    “ถ้าถามผมว่าเราจะทำให้ความยั่งยืนเข้ากับนวัตกรรมได้ยังไง มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่ต้องลงทุนใหม่อะไรมาก แต่ถ้าเราชัดเราตอบโจทย์ใหม่และมิติด้านความยั่งยืนที่เราจะเดินไปได้”

    Connecting People จากความเชื่อธุรกิจสู่การลงมือทำ

    ดร.ธีระพลยังยกตัวอย่าง “ออทิสติกแอปฯ” แอปพลิเคชันที่ช่วยให้เด็กออทิสติกสามารถเชื่อมต่อการสื่อสารในการ Connecting People ซึ่งเป็นเป้าหมายองค์กรของทรู

    “เด็กที่เป็นออทิสติก เขาจะเครียด เขวี้ยงของ เป็นเพราะเขาสื่อสารไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงทำแอปฯ สอนค่อยๆ ให้เขารู้จักสื่อสาร ปรากฏว่าเราใช้เวลา 2 ปี  เพราะไม่ง่ายอย่างที่คิด ตอนแรกกะว่า 3 เดือนก็เสร็จ แต่เรื่องเด็กออทิสติกซับซ้อนมาก เรื่องสีก็ไม่ได้ บางสีจะไปกระตุ้นความก้าวร้าว หรือสีนี้จะไปทำให้ยากไป ง่ายไป ฉะนั้นจึงทำวิจัยนานมาก โดยทีมต้องไปอยู่กับเด็กออทิสติก”

    จนในที่สุดสามารถมีการพัฒนาขึ้นมา 4 แอปพลิเคชัน ได้แก่

      1. Trace & Share ช่วยในการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กออทิสติก เพราะเด็กออทิสติกไม่เคยใช้กล้ามเนื้อมือ เพราะฉะนั้นเวลาจะมาเล่นแอปฯ แม้กระทั่งนิ้วเขายังควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องทำตั้งแต่การฝึกกล้ามเนื้อมือ
      2. Daily Tasks เป็นแอปพลิเคชันที่สอนเรื่องพื้นฐานอย่างการอาบน้ำแปรงฟัน โดยให้เล่นเป็นเกม เพื่อให้เด็กรู้จักและเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองได้   
      3. สอนเรื่องเกี่ยวกับการเข้าสังคมในสถานการณ์ต่างๆ เช่น อยู่วัดต้องทำอย่างไร ผ่านผู้ใหญ่ต้องก้มหัว ยกมือไหว้ อย่ากรี๊ด โดยทำเป็นเกมจำลองสถานการณ์ให้เด็กฝึกและทำตาม
      4.  Communications เป็นแอปฯ ที่ใช้ในการพัฒนาการสื่อสารกับเด็กออทิสติกโดยสอนเด็กผสมคำ ถือเป็นแอปฯ ที่ได้รางวัลมากสุด และที่สำคัญกว่านั้น นี่เป็นแอปฯ ที่มีผู้ปครองเด็กออทิสติกใช้มากที่สุด

    “แอปฯ จะให้เราถ่ายรูปแทนคำเป็นคำ เช่น รูปพ่อ รูปอาหาร รูปตอนกินข้าว เป็นตัวแทนคำ แล้วสมมติเขียนว่า พ่อกินโปเต้ เด็กก็จะพูดตาม จากเด็กที่ไม่เคยพูดได้ อยู่ดีๆ ก็กลับมาพูดได้ แม่เขาน้ำตาไหลเลยนะ บอกว่าทรูเอาปากมาให้ลูกเขาเรียกแม่ได้ เพราะตั้งแต่เด็กจนอายุสิบขวบไม่เคยเรียกแม่ได้”

    นอกจากนี้ โครงการที่เกี่ยวกับการ Connecting People ที่เป็นธงนำของ “ทรู” คือโครงการพัฒนาการศึกษาในชื่อ CONNEXT ED  ที่มีการต่อสร้าง ” แพลตฟอร์ม” ใหม่ในการพัฒนาการศึกษา โดยสร้างระบบ School Partner และร่วมกับเอกชนรายอื่น เช่น  ปตท. เอสซีจี  ไทยยูเนี่ยน มิตรผล ไทยเบฟเวอเรจ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ  ภายใต้แพลตฟอร์มนี้ นอกจากเงิน โครงการออกแบบใช้ความสามารถของคนจากองค์กรธุรกิจเพื่อสนับสนุนการบริหารงานโรงเรียน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก โดยเน้นการสนับสนุนการบริหารโรงเรียนของผู้บริหาร ตลอดจนนำระบบเทคโนลียีสารสนเทศเข้าไปสร้างการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของเด็ก โดยมี ICT Talent เข้าไปดูแล ปัจจุบันดำเนินโครงการไป 3 ปี ขยายพาร์ทเนอร์ที่เป็นองค์ธุรกิจไปได้แล้ว 30 องค์กร และขยายผลในโรงเรียนไปแล้วกว่า 4,000 แห่ง

    แพลตฟอร์มใหม่ของการพัฒนาการศึกษา โดยดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาต่อยอดประสบการณ์ในการทำโครงการเพื่อสังคมของ “ทรู” ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบได้ในที่สุด

    โมเดลแบบนี้ จะทำให้ทั้งผู้บริหาร ครู และเด็ก ถูก disrupt การที่เราใช้ ICT Talent ไปช่วย พอทำต่อเนื่อง ครูก็จะเริ่มถูก disrupt  เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น เด็กๆ เองเริ่มที่จะเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์ได้ ถ้าเรายืนพื้นได้ในระยะหนึ่งก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลง

    “อย่างโครงการ ครูใหญ่มาบอกอยากจะพัฒนาโรงเรียนด้านนั้นด้านนี้ จะให้สนับสนุนงบประมาณ เราบอกว่าไม่ได้ ต้องนำเสนอแบบที่เรานำเสนอของบประมาณ แล้วคนไปนั่งฟังเป็นระดับซีอีโอของบริษัทพันธมิตรต่างๆ อย่างคุณศุภชัย ไปนั่งฟังครูใหญ่มานำเสนอ หากผ่านความเห็นชอบ โรงเรียนก็ได้งบสนับสนุนไปพัฒนา โดยเรามุ่งไปที่ตัวเด็กโดยตรง”

    สิ่งเหล่านี้เป็นการพัฒนาวิธีคิด ที่พยายามค้นหาและต่อยอดจากสิ่งที่เราทำ และสำคัญกว่าการลงทุนใหม่อย่างเดียว

    “ผมว่าหัวใจสำคัญคือการรักษาโมเมนตัม อย่าทำให้เรื่องความยั่งยืน เป็นแค่ management fashion เราต้องทำให้ทุกปี โมเมนตัมมันแรงขึ้นๆ อย่าให้คนรู้สึกเป็นภาระ ฉะนั้นจะทำตรงนี้ได้ ก็ต้องกลับไปที่ใจเขาให้ได้ว่าทำแล้วมันดีจริงๆ”

    ความสัมพันธ์ของนวัตกรรม-ธุรกิจ-ความยั่งยืน

    หลายๆ เรื่องที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะในงานด้านนวัตกรรมทางสังคม สามารถไปกับธุรกิจได้ เช่น ถ้าใช้ connectivity  กับแอปฯ หลายอันของเรา เขาใช้ซิมเราอยู่แล้ว มันก็จะเป็นรายได้ได้ แม้ไม่ได้เป็นรายได้มหาศาล แต่เป็นสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว สิ่งนี้ยังจะช่วยให้ลูกค้ามีความผูกพันกับบริษัทมากขึ้น และคนที่อยู่ในวงนี้ก็จะรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ของทรูรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

    นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา จะสามารถตอบโจทย์ความยั่งยืนหลักๆ 3 เรื่อง

  • เรื่องแรก คือ การลดต้นทุน

    เช่น เราทำนวัตกรรมเปลี่ยนระบบ free flow cooling system ในห้องคอนโทรลรูม สมัยก่อนต้องใช้แอร์เป่า ค่าไฟมหาศาล ตอนหลังทำเป็นระบบ flow อากาศ คือดูดอากาศเข้า แล้วพ่นอากาศออก โดยที่ไม่ต้องใช้ระบบแอร์ แต่ใช้ระบบน้ำ จนการไฟฟ้าฯ มาขอดูงานว่าคุณปิดโรงงานไปหรือเปล่า ทำไมค่าไฟมันหายไป 80% เป็นตัวอย่างการเกิด cost saving

  • เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของ การลดความเสี่ยง (risk mitigation)
  • จากการแบ่งกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็น 11 กลุ่ม ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัท แต่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ไปฟังเขาเลย กระบวนการรับฟังผู้ที่มีส่วนส่วนเสีย ทำให้เราได้ไปแก้ปัญหาก่อนที่จะเจอจุด breakpoint

    “เราพบว่า อ้าว เราไปทำอย่างนี้กับคุณเหรอ คุณอยู่อย่างนี้เหรอ เราไปแก้ตรงนี้ก่อน มันกันความเสี่ยงได้หลายๆ เรื่อง”

  • เรื่องสุดท้ายคือการสร้างรายได้ (generate revenue)
  • ผ่านความไว้วางในในแบรนด์ โดยเชื่อว่าเรื่องความยั่งยืนจะส่งผ่านเรื่องนี้กลับมายังแบรนด์และผลิตภัณฑ์

    ทั้งนี้ ในรายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนปี 2560 ของกลุ่มทรู มีการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่า 10 ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญระดับสูง 10 ประเด็น ได้แก่

      1. การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์และการประกันคุณภาพการให้บริการ
      2. ความพร้อมใช้งานของเครือข่าย
      3. การกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ
      4. การสร้างผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจและการขยายตัวทางธุรกิจของบริษัท
      5. การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคล
      6. การสรรหาเชิงรุกและการดูแลรักษาพนักงาน
      7. การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า
      8. การปกป้องข้อมูลส่วนตนของลูกค้า
      9. ความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงาน
      10. การบริหารจัดการนวัตกรรม

    นอกจากนี้ ในรายงานฯ ยังระบุถึง “ความเสี่ยงใหม่” ของบริษัท โดยพบว่าประเด็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นใหม่ของธุรกิจ ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงนวัตกรรม/เทคโนโลยีอย่างพลิกผัน  และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล

    3 ปัจจัยความสำเร็จของการ “พลิกโฉม”

    จากประสบการณ์ในตลอดระยะเวลา 3 ปีที่พลิกโฉมให้ทรูมีความโดดเด่นในวันนี้นั้น ดร.ธีระพลกล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จ สำคัญที่สุด เรื่องแรก คือ เรื่องของผู้นำ ผู้นำต้องส่งสัญญาณให้ทุกคนเห็นว่าเอาจริงเรื่องนี้ “อย่างคุณศุภชัยเองที่ปรับโครงสร้าง แล้วก็ให้ผมมาช่วยนำเรื่องนี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ผมมีคุณศุภชัยเป็นคนส่งสัญญาณอยู่ข้างหลัง คุณศุภชัยให้ทิศทางกับทั้งองค์กรว่าเราจะเดินบนเส้นทางของความยั่งยืนจริงๆ”

    สอง คือ การมีส่วนร่วมและวัดผลได้ (engagement & evaluation) “ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราโยนเป้าหมายไปทำ แต่เราทำเวิร์กชอปให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย เช่น ในกลุ่มเทเลคอมใช้เวลากี่ปีในแต่ละด้านที่เราจะไปถึง ช่องว่างอยู่ตรงไหน เราจะทำอะไรบ้าง  เป้าหมายเป็นยังไง แล้วคุณศุภชัยอยู่ในเวิร์กชอปด้วย” 

    เพราะฉะนั้น กระบวนการแบบนี้ทำให้คนเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณจากผู้นำว่านี่คือเรื่องใหญ่ขององค์กร ฉะนั้นต้องมีเป้าหมายและวัดผลได้

    สาม คือ การมีรายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (sustainability report) ที่ต้องทำทุกปี “ผมรู้สึกว่ามันดีมากเลย มันเป็นเหมือนกับสมุดพก หมายความว่าเราทำเรื่องต่างๆ ไปมากมาย แต่จริงๆ มันจะสะเปะสะปะ แต่เวลาเรามีกระบวนการทำรายงาน มันเหมือนกระบวนการตกตะกอนความคิดว่าหมวดนี้เราทำหรือยัง อยู่ดีๆ มีคนมาบอกเราด้วยว่าอันนี้เราทำดี อันนี้เราทำไม่ดี มันอะเมซิ่งนะ เราทำทุกปีมันก็ทำให้เรามีความคืบหน้า”

    สุดท้าย คือ การสร้างวัฒนธรรม หมายความว่าไม่ใช่แค่ผู้นำทำ แต่เราจะสื่อสารไปกับทั้งองค์กรยังไงจนอยู่ในกระบวนการและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืนขึ้นมาได้  “เราก็ใช้หลักการของการสื่อสารไปหาพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเป็น action base เรื่องนี้คุณศุภชัยก็บอกเหมือนกันว่าการที่เราจะให้พนักงานไปบอกว่าบริษัทเราทำดีต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อมยังไง ต่อให้เราทำสมุดเป็นเล่มให้เขาอ่าน เขาก็ไม่พูดให้เราอยู่ดี”

    วิเคราะห์ “ความยั่งยืน” อุตฯ “โทรคมนาคม”

    อย่างไรก็ตาม ในระดับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและการสื่อสาร ในมุมของ ดร.ธีระพล มองว่า อุตสาหกรรมนี้กระทบคนจำนวนมาก ในการตีความเรื่อง “ความยั่งยืน” ในระดับอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำให้คนมีความสามารถในการเข้าถึงทุกอย่าง(accessibility) ขั้นแรกที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือ การเข้าถึงเสียง หมายความว่าถ้าคนป่วยจะโทรหาหมอ ต้องมั่นใจว่าเขายกหูโทรแล้วติด คนที่อยู่ในบ้านมีโจรมาบุก มันต้องโทรได้

    ขั้นที่สอง คือ คอนเทนต์ (content) เรื่องนี้สร้างผลกระทบได้มหาศาล ยกตัวอย่าง ทรูทำเรื่อง telehealth เอาหมอไปเจอคนไข้ เราทำเป็นแอปฯ ไปสำรวจว่าคนป่วยเป็นเบาหวานทั้งหมู่บ้าน ซึ่งพบว่ามันเป็นเพราะสำปะหลังที่เขาปลูก เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งต่อมาคือ ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงแพทย์ เข้าถึงครู และเข้าถึงความรู้ ในที่สุด

    ขั้นที่สาม เป็นเรื่องของการสร้างอาชีพ อย่างของทรูตอนนี้ก็ทำเรื่องอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ โลจิสติกส์ เช่น ไปทำเรื่องเถ้าแก่ 4.0 ที่โป๊ป (ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) โฆษณาอยู่ คือไปเปลี่ยนร้านค้าให้เป็น 4.0  คนเข้าไปในร้านเอามือถือจ่ายเงินได้เลย ก็เป็นอีกสเตปหนึ่งที่เรากำลังจะขับเคลื่อนให้คนไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ของธุรกิจโทรคมนาคม เวลาจะตีความความยั่งยืน หนีไม่พ้นเรื่องข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ

    มองไปในอนาคตปี 2563

    ในรายงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 2560  สารจากประธานกรรมคณะกรรมการบริหาร ศุภชัย เจียรวนนท์ ระบุถึงอนาคตข้างหน้าของทรูไว้ว่า บริษัทได้ใช้จุดแข็งของการมีเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบริษัท ในการขับเคลื่อนความยั่งยืน สำหรับเป้าหมายในปี 2563 มี 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

      1. เป้าหมายการเพิ่มรายได้จำนวนร้อยละ 50  จากการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างคุณค่าแก่ผู้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      2. เป้าหมายเพิ่มจำนวนประชากรไทยที่สามารถเข้าถึงสาระ ความรู้ และแหล่งข้อมูลต่างๆ รวม 4 ล้านราย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

      3. เป้าหมายลดค่าความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อรายได้ร้อยละ 10 และลดการใช้น้ำต่อรายได้ที่ร้อยละ 10 (เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558) รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

    และนี่คือ commitment ในฐานะผู้นำ ที่เป็นอีกครั้งที่”ศุภชัย เจียรวนนท์” สื่อสารเรื่องนี้ถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจจะอย่างที่ ดร.ธีระพลพูดย้ำหลายครั้งระหว่างการพูดคุยว่า  “แม้เทคโนโลยีสำคัญ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้เทคโนโลยีคือ commitment ของผู้นำองค์กร  ผู้นำต้องหมั่นส่งสัญญาณว่ามันคือ priority ของบริษัท เพราะถ้าเป็นการผลักจากข้างล่างขึ้นไป ผมว่าเหนื่อยเหมือนกัน”

    “เพราะความยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องทำเพื่อสังคม แต่ยังเป็นเรื่องธุรกิจอยู่ครึ่งหนึ่ง ถ้าดูคะแนน DJSI จะเห็นว่าอง์กรที่ยั่งยืนได้ ธุรกิจต้องได้ด้วยก่อน ถ้าธุรกิจยืนไม่ได้ มันไม่มีทางยั่งยืนได้ เพราะฉะนั้นมันจะเกี่ยวข้องกับคนในองค์กรทุกระดับจริงๆ ” ดร.ธีระพลกล่าวในที่สุด