ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand’s Simple & Smart Licence #1 – “วิษณุ เครืองาม” เล็งขอมติ ครม. สั่งส่วนราชการทบทวนกฎหมาย-ระเบียบการอนุญาต ให้เสร็จใน 1 ปี

Thailand’s Simple & Smart Licence #1 – “วิษณุ เครืองาม” เล็งขอมติ ครม. สั่งส่วนราชการทบทวนกฎหมาย-ระเบียบการอนุญาต ให้เสร็จใน 1 ปี

15 พฤศจิกายน 2018


ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดงานเปิดตัว โครงการทบทวนการอนุญาต Thailand’s Simple & Smart Licence โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทำไมประเทศไทยต้องทบทวนการอนุญาต”

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามนโยบาย THAILAND 4.0 ของรัฐบาล โดยการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพ หรือการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่มีผลใช้บังคับอยู่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ

กลไกขับเคลื่อนโครงการ คือ “คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน” โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ภายใต้กำกับของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายโดยมี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการฯ ซึ่งจะพิจารณาให้ความเห็นชอบการทบทวนกฎหมายและเสนอต่อ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ตามกฎหมายเดิมต้องขออนุญาต 9 ขั้นตอน

ดร.วิษณุกล่าวว่า การที่ต้องเปิดตัวโครงการ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะปฏิบัติจริงแต่เป็นการสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้น เพราะว่าเรื่องอย่างนี้จะให้สบความสำเร็จได้ต้องอาศัยยิ่งกว่าประชารัฐอีก ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐต้องร่วมมือกัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทบวง กรม เพราะอำนาจในการอนุมัติแผ่ซ่านไปในเงื้อมมือของทุกกระทรวง ทบวง กรม แม้กระทั่งระดับอำเภอ ระดับตำบล ทั้ง อบจ. อบต. มีอำนาจนี้ในมืออยู่ด้วยกันทั้งนั้น

ถ้าย้อนไป 50 ปี มีอำนาจนี้อยู่ในมือถือว่าดี 100% เพราะเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐในการเข้าจะไปตรวจสอบ เป็นการสร้างความอบอุ่นมั่นใจให้กับประชาชนว่า การที่ใครสักคน บริษัทอะไร จะทำอะไรลงไปสักอย่างนั้นผ่านการกลั่นกรองอนุญาต ถ้าไม่ดีก็ไม่อนุญาต ถ้าอนุญาตแปลว่าไว้ใจได้ ประชาชนมีหูมีตาไว้แทน

“ผมถึงเรียนว่า แนวคิดอย่างนี้ถ้าใช้เมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นเรื่องดี บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่เมื่ออำนาจนี้มีมากขึ้นและการใช้อำนาจมากขึ้น และการพัฒนาของโลกในเวลาที่พัฒนามามากกว่า 50 ปีเราไม่ยังรู้จักยุคดิจิทัล ยังไม่รู้จักคำว่าโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ และเรายังไม่รู้จักอะไรอีกหลายอย่าง แต่วันนี้รู้จักหมดแล้ว หากแนวความคิดเรื่องการอนุญาต อนุมัติ ยังคงอยู่และอยู่อย่างเดิมนั้น จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอนที่สุด จึงนำมาสู่ความคิดใหม่ในยุคนี้ว่า ต้องทบทวนเรื่องที่เกี่ยวกับการอนุญาตอนุมัติทั้งหลาย”

เมื่อพูดถึงการอนุญาต ถ้าใช้ทางสังคม ใช้ในการสมาคม ใช้ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี การขออนุญาตหรือการให้อนุญาต มีความหมายเพียงว่ายินยอมให้ทำ ไม่ยุ่งยากอะไร เราเดินไปที่ร้านอาหาร มีเก้าอี้ คนนั่งล้อมรอบ เราจะแทรกตรงที่ว่างก็บอกว่า ที่ตรงนี้ว่างไหมขออนุญาตนั่งหน่อยครับ เราก็นั่งได้แล้ว หรือเวลาประชุม ยกมือขออนุญาตพูด ประธานชี้ให้พูดได้ก็จบ การอนุญาตทางสังคม ไม่มียุ่งยากเป็นเรื่องมารยาท เป็นเรื่องน้ำใจ ไม่มีอะไรมากไปกว่าความกรุณา

อย่างเวลาจะบวชพระ ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงเวลาจังหวะหนึ่ง นาคหรือคนที่จะบวชต้องยืนนิ่งหลังพิงโบสถ์สอบอันตรายิกธรรม โดยพระสององค์ และจะถามอะไรอีกหลายอย่าง ให้ตอบว่า เยส หรือ โน แต่ตอบเป็นภาษาบาลี ถ้าเยส ตอบว่า อามะ ภันเต ถ้า โนก็ตอบว่า นัตถิ ภันเต นาคบางคนจำไม่ได้ก็ตอบสลับกัน ถามว่าพ่อแม่อนุญาตให้บวชไหม ก็ตอบ โน นัตถิ ภันเต ถามว่าเป็นโรคเรื้อนไหมก็ตอบ เยส อามะ ภันเต หนึ่งในคำถามที่เขาจะถามเวลาบวช คือ อานนญาโตสิก มาตาปิตู แปลว่า มารดาบิดาของท่านอนุญาตให้ท่านบวชหรือไม่ ถ้าตอบว่า นัตถิ ภันเต เขาไม่อนุญาตให้บวช ต้องตอบว่าอามะ ภันเต คือ เยส อนุญาตแล้ว บวชได้ อันนี้คือตัวอย่างของสมาคมและขนบธรรมเนียมประเพณี

แต่ในทางกฎบัตรกฎหมาย พอเอ่ยคำว่า อนุญาต ขออนุญาตเป็นเรื่องยุ่งยากมากเหลือเกิน เพราะเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาเสียทั้งความรู้สึก เพราะคำว่าอนุญาตในทางกฎหมายหมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐยินยอมให้ใครสักคนหรือมีใครสักรายสามารถทำอะไรได้ ถ้าแปลแค่นี้ก็ไม่ยุ่งยาก

แต่กระบวนการอนุญาตทางกฎบัตรกฎหมายนั้น เกี่ยวพันกระบวนการอนุญาต 9 กระบวนการ กับคำว่า อนุญาตคำเดียว

1) เริ่มต้นต้องมีการขออนุญาต หมายถึงการกรอกแบบฟอร์ม ต้องไปติดต่อ บางแห่งต้องไปโชว์ตัว ความคิดแบบนี้ เกิดตั้งแต่สมัยยังไม่รู้จักคำว่าออนไลน์ การขออนุญาตออนไลน์ถึงมีไม่ได้ในกฎหมาย แค่นี้ก็เป็นภาระพออยู่แล้ว ถ้าบ้านเราอยู่หน้าอำเภอ หน้าเขต ง่าย แต่วันนี้เสียค่าน้ำมันเสียเวลาหาที่จอดรถ นี่คือความยุ่งยากประการแรกในการไปขออนุญาต

2) ความยุ่งยาก อันเนื่องมาจากการขออนุญาต คือ จะต้องขออนุญาตภายในเวลาที่กำหนด ใน season ที่กำหนด บางทีไปยื่นขออนุญาตก็บอกว่าหมดเวลา เกินไปแล้ว

3) ในการขออนุญาตสารพัดจะต้องนำเอกสารหลักฐานไปแสดง บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส ใบเปลี่ยนชื่อ ถ้าไปเกี่ยวพันกับคนโน้น ต้องไปหาใบมรณบัตรมาด้วย ทั้งหมดเป็นปัญหาเรื่องเอกสารจะต้องเอาตัวจริงมาแสดง ต้องถ่ายเอกสาร ถ่ายทั้งด้านหน้าด้านหลังเป็นภาระ อันนี้พยายามปลดเปลื้อง

4) เมื่อยื่นไปแล้วก็จะมีกระบวนการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะใช้ดุลยพินิจในการที่บอกว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาต

5) การออกใบอนุญาต การขออนุญาตทุกอย่างจะต้องจบลงด้วยใบอนุญาต ขณะที่การอนุญาตทางสังคมเป็นเรื่องของ permission เป็นเรื่องของ beg เป็นเรื่อง ของ may I คำตอบ คือ yes ก็จบ แต่การอนุญาตในทางราชการทั้งหมดจบด้วยคำว่า license

ขั้นตอนที่ห้าคือขั้นตอนออกใบอนุญาต เมื่อได้ขั้นตอนในอนุญาตในขั้นตอนที่ห้าก็ต้องตามมาด้วยขั้นตอนที่ 6) ต้องเสียค่าธรรมเนียม ถ้าเสียน้อยไม่ว่าถ้าเสียมากเป็นภาระ เมื่อวานนี้มีกฎหมายฉบับหนึ่งเข้า ครม. คือ พ.ร.บ.ยา การที่จะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องต่างๆ ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งผมเรียนถามท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้คำตอบว่าจำเป็นเพราะเกี่ยวพันกับชีวิต ความปลอดภัย

“เราไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำถึงขนาดบอกว่าห้ามไม่ให้ใช้ใบอนุญาต แต่ให้อนุญาตเท่าที่จำเป็น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ผมสงสัยนิดเดียว ใบอนุญาตของเดิมใบละ 5,000 บาทก็เพิ่มเป็น 20,000 บาท ของเดิมใบละ 10,000 บาทก็ขึ้นเป็น 50,000 บาท ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร เพราะนี่คือภาระในการออกใบอนุญาต เพราะจะตามมาด้วยเรื่องค่าธรรมเนียม ท่านก็บอกว่า อย่าเพิ่งตกใจ ในบัญชีท้ายจะบอกไว้หลายราคา 10,000 บาท 20,000 บาท หรือแสนหนึ่ง แต่ในเนื้อกฎหมายจะเขียนว่า คนที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่ปรากฎในบัญชีท้าย ส่วนจะกำหนดเท่าไรจะมีการออกกฎกระทรวงอีกที รายการในบัญชีท้ายเป็น maximum คือไม่เกิน ผมก็บอกว่างั้นดีแล้ว ช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะชาวบ้านเวลาจะเดินขบวนนี่เขาไม่ดูเนื้อกฎหมาย เขาดูบัญชีท้าย กฎหมายบอกว่า 50,000 บาทเขารับไม่ได้ เป็นไปได้ไหมที่กฤษฎีกาจะเขียนว่าไม่เกิน 50,000 บาท เปิดดูจะได้เห็น นี่คือสิ่งที่ต้องปรับทั้งนั้น”

7) เกี่ยวพันเรื่องที่ขอใบอนุญาตแล้ว ใบอนุญาตหมดอายุ พอหมดอายุต้องแล้วต่อใบอนุญาตอีก ใบอนุญาตบางอย่างของหน่วยงานบางแห่ง มีอายุ 3 เดือน พอครบก็ต้องไปยุ่งยากกันใหม่ ใบอนุญาตบางแห่งมีอายุ 1 ปี ไม่ว่าจะขอวันไหนเขาก็จะจบภายใน 31 ธันวาคม ทั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือวันที่ 25 ธันวาคม จะมีคนแห่กันไปต่อใบอนุญาต แล้วก็พิจารณาไม่ทัน 31 ธันวาคม ใบอนุญาตก็หมดอายุ ใครจะทำอะไรต่อไปในช่วงวันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป ตราบใดที่ใบอนุญาตใหม่ยังไม่ออกหรือไม่ได้รับการต่ออายุทำไม่ได้

เมื่อทำไม่ได้ก็ผิดกฎหมาย ก็เกิดอาชีพใหม่ คืออาชีพที่เจ้าหน้าที่ติดต่อกันอย่างบูรณาการ การพิจารณาไม่เสร็จก็มีการส่งข้อความไป สื่อออนไลน์ไปยังเครือข่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปตรวจ รับรองว่าตรวจรายไหนใบอนุญาตก็หมดอายุ แต่ยังทำอยู่ ก็จับปรับ ก็เป็นปัญหา จับปรับเข้าหลวงไม่เปนไร แต่จับปรับเข้าอย่างอื่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

8) นอกจากนี้ยังเจอขั้นตอนการอุทธรณ์ การที่ไม่ออกใบอนุญาตให้ โดยมากกฎหมายจะเขียนให้อุทธรณ์ได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ตอบเยสหรือโนเร็ว การอุทธรณ์ก็ทำไม่ได้ เพราะยังไม่มีคำตอบ ต้องรอ ถ้ารีบตอบรีบบอกว่า โน เขาจะได้รีบอุทธรณ์ แต่ถ้าไม่ตอบเขาก็อุทธรณ์ยังไม่ได้ และการอุทธรณ์เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนอีกเหมือนกัน ในระหว่างอุทธรณ์ใครไปทำอะไรก็ไม่ได้

9) ขั้นสุดท้าย ยุ่งยากมากด้วย คือ การขออนุญาตเรื่องเดียว แต่ขอใบอนุญาตหลายใบ สำหรับกิจการเดียวแต่หลายชนิด ใบอนุญาตหลายใบ บางทีต่างกรม แต่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน บางทีก็ต่างกระทรวง แต่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเมื่อได้ใบอนุญาตหนึ่งมาแล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมีใบอนุญาตอีกใบด้วย

ยกตัวอย่าง โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่ง จะขออนุญาตก่อสร้างอาคารต้องไปที่มหาดไทย โรงแรมก็ต้องมีร้านอาหาร ต้องไปขออนุญาตสาธารณสุข ใบอนุญาตฟิตเนสก็ต้องอีกกระทรวงหนึ่ง มีร้านขายของเก่าก็ต้องไปกระทรวงวัฒนธรรม บางโรงแรมมีโรงหนังขนาดเล็ก ก็ต้อขออนุญาตเรื่องโรงหนัง ถ้ามีร้านขายสุราต้องขอใบอนุญาตอีกใบ ต้องติดใบอนุญาตไปทั้งแถว ปัญหาเกิดขึ้นคือได้ใบอนุญาตบางใบ อีกใบรออยู่ และบางมีได้ใบอนุญาตที่สองมาแล้ว แต่ใบแรกหมดอายุ สรุปคือทำอะไรไม่ได้ ทั้งหมดความยุ่งยากนี่เกิดจากคำเดียว คือ อนุญาต

มีความจำเป็นทางกฎหมาย

ดร.วิษณุกล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องทบทวนมีมหาศาล ความจำเป็นเมื่อ 50 ปีในยุคเก่าเอามาอ้างในยุคใหม่นี้ไม่ได้แล้ว คำว่าทบทวนการอนุญาตจึงเกิดขึ้น ความจำเป็นในทางธุรกิจ ทางเศรษฐกิจทุกคนรู้อยู่แก่ใจ เอาความจำเป็นทางกฎหมาย เพราะความจำเป็นทางธุรกิจเอกชนเรียกร้องมานาน ภาครัฐไม่ค่อยได้ยิน แต่ถ้าจะให้ภาครัฐได้ยินต้องเอากฎหมายมาขู่ กฎหมายขู่แล้วว่าต้องทบทวน

หนึ่ง รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องปฏิรูประบบราชการ จะต้องมีการปฏิรูปการออกกฎหมาย กฎหมายจะออกเท่าที่จำเป็น กฎหมายที่จะออกต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น กฎหมายจะมีเนื้อหาที่ไม่เขียนเรื่องการตั้งคณะกรรมการ เพราะเป็นการปัดความรับผิดชอบ

อธิบดีคนเดียวไม่กล้ารับผิดชอบ การตั้งกรรมการหลายชุดแปลว่าเรื่องยืดยาวมาก กฎหมายเขียนแล้วในมาตรา 77 รัฐธรรมนูญให้ทบทวนเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด นี่คือ mandate ของรัฐธรรมนูญ จะไม่ทำก็คงไม่ได้ แล้ววันหนึ่งเราจะเห็นการฟ้องร้องว่ารัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 77

สอง แผนปฏิรูปประเทศ แผนปฏิรูปประกาศออกมาแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 มีการปฏิรูป 12-13 ด้าน แต่ด้านหนึ่งเขียนไว้ว่า ปฏิรูปใบอนุญาต ต้องทบทวนกฎหมายที่เขียนให้มีการออกใบอนุญาต

สาม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 มี 6 ด้าน ด้านที่ 6 บอกว่าต้องทบทวนเรื่องการออกใบอนุญาต

สี่ ใกล้ตัวที่สุด พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในมาตรา 6 เขียนไว้ว่า ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ. บังคับใช้ ให้ผู้อำนาจอนุมัติอนุญาตออกใบอนุญาตตามกฎบัตรกฎหมายทั้งหลาย ต้องทบทวนกฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตทั้งหมด ว่าควรจะยกเลิกอะไรหรือผ่อนคลายอะไร หรืออะไรหลายใบควรรวมเป็นใบเดียว

เล็งขอมติ ครม. สั่งทบทวนภายใน 1 ปี

กฎหมายอำนวยความสะดวกฯ บังคับใช้มา 3 ปีกว่าแล้ว เหลือเวลาอีก 2 ปี เมื่อทบทวนแล้วให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นแจ้งผลการทบทวนไปยังคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีอาจจะส่งให้ที่ปรึกษากฎหมายที่มี ดร.มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ให้ความเห็นมาประกอบด้วยก็ได้

“ผมเชื่อว่าวันนี้ยังไม่มีส่วนราชการใดคิดทบทวนแม้แต่บรรทัดเดียว เพราะเชื่อว่ามีเวลาอีก 2 ปี และเมื่อ 2 เดือนใกล้จะครบ 5 ปี ส่วนราชการจะบอกว่าทบทวนแล้ว ไม่มีอะไรให้เปลี่ยนแปลงและดีอยู่แล้ว เหมาะสมแล้ว ผมกำลังคิดว่าอาจจะเสนอรัฐบาลนี้ดี อยากขอมติคณะรัฐมนตรี ว่าระยะเวลาอีก 2 ปีนั้น ให้หดลดลงเหลือ 1 ปี ให้ทบทวนภายใน 1 ปีที่เหลือแล้วก็บอกกลับมาว่าจะทบทวนในลักษณะใด จะเอามาตรการใดมาแทนหรือไม่”

ตรงนี้ผมก็คิดว่าต้องสร้างองค์กรขึ้นมา คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เป็นผู้รับเรื่องจากทุกกระทรวงมาดู และให้ความเห็นเบื้องต้นต่อผลการทบทวนของกระทรวง และส่งไปพร้อมความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.มีชัยเข้า ครม. ครม. จะได้มีความเห็นที่หลากหลาย จะได้ไม่ต้องฟังจากเฉพาะกระทรวงอย่างเดียว แล้วสั่งให้ทำอย่าวไรกระทรวงจะได้ดำเนินการ หรือให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วนทำก็ได้

ดร.วิษณุกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา 9 ขั้นตอนของการให้อนุญาต หรือ Licensing ไม่ได้เลวร้าย มีหลายด้านแก้ไขไปแล้ว เช่น ขั้นแรก การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาต ซึ่งถือเป็นขั้นที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับมอบหมายจาก ครม. ไปแล้ว ว่ากฎหมายเก่าไม่มีเวลาไปรื้อ แต่กฎหมายใหม่ช่วยดูให้ว่าอะไรที่ต้องมีการอนุญาตอนุมัติ หากตัดได้ให้ตัดเสีย อะไรที่ต้องอนุญาตต้องเข้าคณะกรรมการให้ตัดเหลือแค่ระดับอธิบดี หรืออะไรก็ตามที่ไม่ต้องขออนุญาตเลย เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นได้ เช่น การจดแจ้ง การขึ้นทะเบียน ซึ่งก็คือการอนุญาตชนิดหนึ่งแต่ง่ายกว่า license ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงกฎหมายใหม่ไปแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาไปทำของเก่า

สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำไปแล้วในขั้นตอนที่สอง คือเรื่อง ระยะเวลา ครม. มีมติไปแล้วว่า อะไรก็ตามที่กฎหมายกำหนดเวลาไว้ ไม่สามารถขยายได้ แต่หากกฎหมายไม่ได้กำหนด ส่วนราชการไม่ต้องกำหนดเอง

สามในขั้นตอนการมีเอกสารมาแสดง ครม. มีมติโดยข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ให้ลดเอกสารต่างๆ ลง และหากจำเป็นต้องมีเอกสารไม่ต้องมีการถ่ายสำเนา ซึ่งมีการรับรู้ไปหลายกระบวนงานแล้ว วันนี้เพียงแสดงบัตรประชาชน แต่สิ่งที่เราต้องการเห็นต่อไปคือบัตรประชาชนก็ไม่ต้องแสดง แต่ต้องคิดว่าจะใช้อะไรแทน ต้องมีอะไรสักอย่างที่ใช้แทนกันได้

สี่ กระบวนการในการพิจารณาของทางราชการ ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) เสนอว่าจะต้องมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตใช้หลักเกณฑ์อะไร คนจะได้รู้และทำให้ถูกเกณฑ์ มี checklist ถ้าครบก็อนุญาต ถ้าไม่ครบก็ไม่อนุญาต ซึ่งมาตรา 77 รัฐธรรมนูญกำหนดในวรรคสุดท้ายว่ากฎหมายจะต้องกำหนดกรอบการใช้ดุลยพินิจของรัฐ และหากทำตามหลักเกณฑ์แล้วยังไม่ให้ใบอนุญาตก็สามารถอุทธรณ์ได้ถูกต้อง

ห้า การออกใบอนุญาต หรือ Licensing วันนี้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ช่วยได้มาก บังคับให้ส่วนราชการทุกแห่งทำคู่มือกำหนดกรอบเวลา ถ้าครบกำหนดแล้วยังไม่ตอบมาว่าอนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่ให้ก็จะได้อุทธรณ์ แต่หากยังไม่ตอบ ฟ้องได้ กฎหมายให้ฟ้องได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการร้องเรียนแล้วมีการฟ้องตามมาตรา 157 ซึ่งตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ส่วนราชการสามารถแจ้งกลับไปได้ว่ายังไม่เสร็จ ขอขยายเวลาได้

หก ขั้นตอนการเสียค่าธรรมเนียม ตรงนี้พยายามคุมอยู่แล้ว แพงก็ได้ แต่ต้องรู้ว่านั่นคือระดับสูงไม่เกิน และเมื่อจะออกกฎกระทรวงก็ต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมด้วย

เจ็ด ขั้นตอนอุทธรณ์ ควรกำหนดเวลาในการอุทธรณ์ให้ชัดเจน บอกให้ชัดว่าอุทธรณ์ที่ไหน แล้วการพิจารณาอุทธรณ์ต้องมีเวลาด้วย ว่ากำหนดเสร็จเมื่อไร

“สุดท้ายที่ถือว่าสำคัญมากคือ ใบอนุญาตหลายใบ ทำให้มีปัญหา สิงคโปร์มี License One เราก็น่าจะมีได้ ก.พ.ร. ได้เสนอมา เลือกใบอนุญาตออกมา 10 กว่าธุรกิจ และก่อนเดือนธันวาคมจะออกมา 15 อย่าง สำหรับธุรกิจที่จะเป็น License One คือยื่นคำขอครั้งเดียว จะออกมาเป็นใบอนุญาตทั้งหมดเป็นแพ็คเกจ ทุกกรม กระทรวง ออกมาพร้อมกัน ถ้าติดก็ติดทั้งหมด อย่างนี้เป็นเรื่องที่ดี หรืออะไรที่ใช้ใบอนุญาตหลายใบก็รวมเป็นใบเดียวและให้ครอบคลุมหลายเรื่อง ระบุเลยใบอนุญาตนี้ใช้เพื่อการใด กี่อย่าง เช่น เดิม 5 ใบ ก็รวมเป็นบเดียวระบุวัตถุประสงค์ไว้ 5 อย่าง ส่วนค่าธรรมเนียมที่ได้ก็จัดสรรแบ่งตามส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง” ดร.วิษณุกล่าว

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ได้ปรับปรุงไปแล้ว แต่ยังเกิดไม่เต็มที่ จึงเกิดโครงการทบทวนการอนุญาต Thailand’s Simple & Smart Licence เพราะจุดหมายอันดับแรกของเราคือ เลิกระบบการออกใบอนุญาตในสิ่งที่ไม่จำเป็น สอง สิ่งใดที่ทำเป็นใบอนุญาตแบบ License One ของสิงคโปร์ก็ให้ทำเป็นใบเดียว และให้ครอบคลุมหลายใบ สาม กระบวนการอนุญาตที่มี 9 ขั้นตอนจะต้องรวดรัดรวดเร็ว

กระบวนการใหม่ต้องง่าย-เร็ว-ถูก

ดร.วิษณุกล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้ให้หลักเกณฑ์กับ ก.พ.ร. ในการปรับปรุงไปแล้ว คือ ต้องไปบอกกับส่วนราชการทั้งหลายว่านโยบายรัฐบาลต้องการเน้นหลัก 3 ERs คือ การออกใบอนุญาตทั้งหมดต้อง Easier ง่ายลงจากเดิม สิ่งที่ทำอยู่ถือว่ายากทั้งหมด สอง คือ Faster เร็วขึ้นกว่าเดิม เดิมใช้เวลา 7 วันให้เหลือ 2 วัน สามคือ Cheaper ที่ทุกอย่างต้องถูกลง ถูกลงทั้งทุนรอนของประชาชน ค่าธรรมเนียมและงบประมาณแผ่นดินที่จะนำมาใช้ การที่จะใช้ 3 อย่างนี้ได้ผลต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในทุกช่องทางที่ทำได้ ออนไลน์ ดิจิทัล ให้นำมาใช้ได้ทั้งหมด

“แม้แต่การขออนุญาต การอนุญาต ให้ทำผ่านทางไลน์ได้ และขณะนี้การต่ออายุใบอนุญาตกำลังเตรียมจะออกพระราชกฤษฎีกาซึ่งเข้า ครม. ไปแล้ว แต่จะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ว่ากิจการบางด้านที่จะต้องต่ออายุใบอนุญาตนั้น เมื่อใบอนุญาตเก่าหมดอายุ หากผู้ได้ใบอนุญาตนั้นนำเงินเอาเงินค่าธรรมเนียมไปวาง ก็เท่ากับต่อใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ ข้อกำหนดนี้ไม่ได้ใช้กับทุกเรื่อง ใช้เฉพาะกับบางกิจการ แต่จะขยายให้มากขึ้น” ดร.วิษณุกล่าว

ดร.วิษณุกล่าวว่า เมื่อต่ออายุใบอนุญาตโดยอัตโนมัติแล้วเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการที่ต้องไปตามตรวจสอบภายหลัง ว่าการดำเนินงานยังได้มาตรฐานหรือไม่ เช่น คุณภาพการให้บริการ มีการกดขี่แรงงานหรือไม่ หากมีปัญหาให้เพิกถอนใบอนุญาตได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาธุรกิจชะงักในระหว่างที่ใบอนุญาตหมดอายุและยังต่ออายุไม่ได้

“คำว่า Licensing คำเดียวเกี่ยวข้องกับ 9 ขั้นตอน สามารถสร้างความยุ่งยากได้หมด แต่หากร่วมมือมีน้ำใจ มีสปิริต ขั้นตอนทั้งหมดทำให้เสร็จในเวลารวดเร็วได้ หากใช้คำของผม easier, faster, cheaper” ดร.วิษณุกล่าว

การเปิดตัวโครงการทบทวนการอนุญาต Thailand’s Simple & Smart Licence ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ simple และ smart บางอย่างใบอนุญาตไม่ต้องมี และใช้มาตรการอื่นแทนได้ และหากรัฐต้องการที่จะเข้าไปรู้ข้อมูล อยากได้ความร่วมมืออยากเข้าไปตรวจสอบ ก็ใช้วิธีการ pre-audit หรือ post-audit ใช้วิธีการจดแจ้ง ให้ทำไปก่อนแล้วมารายงานให้ทราบ มีแนวทางสารพัดหากมีแก่จะคิดได้หมด

วันนี้เราพูดถึงเรื่อง Regulatory Guillotine หลายคนกำลังรออยู่ เพราะอยู่ในขั้นตอนที่กำลังจะเกิด ในต่างประเทศ ทำสำเร็จแล้ว เช่น เกาหลี ส่วนเวียดนามเพิ่งเสร็จ ตัดกระบวนการที่ไม่จำเป็นออกไปได้มากมาย ไทยก็น่าจะทำได้ และมีมติ ครม. ให้ทำแล้ว เพียงแต่ว่าแทนที่จะจับทุกอย่างในครั้งเดียว ให้น้ำหนักไปที่กฎหมายทางธุรกิจก่อน แล้วในบรรดากฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจซึ่งมีจำนวนมาก ให้เริ่มที่เรื่องการออกใบอนุญาตอนุมัติก่อน เวลาจะได้สั้นเข้าและมีโอกาสสำเร็จ งบประมาณก็ใช้ไม่มากจนเกินไป หากสำเร็จก็จะขยับไปที่กฎหมาย ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการอนุญาต แล้วขยายไปที่กฎหมายอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่กฎหมายธุรกิจด้วย แต่ให้กฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตนำร่องไป

ดร.วิษณุกล่าวว่า ขอความร่วมมือจากส่วนราชการทั้งหลาย เป็นความจำเป็นของประเทศชาติของโลกที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เนื่องจากมีนักลงทุนสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยเมื่อวานนี้ผู้บริหารมอร์แกน สแตนลีย์ ได้มาพบรองนายกฯ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมสอบถามความคืบหน้าเรื่อง Licensing กับ Regulatory Guillotine เพื่อที่จะได้นำข้อมูลไปแนะนำลูกค้า

นอกจากนี้ จากการพบปะกับหอการค้าจีนที่เสิ่นเจิ้นในสัปดาห์ก่อน ผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนที่แสดงความสนใจลงทุนในไทย นอกเหนือจากการสอบความต่อเนื่องนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ยังได้สอบถามความคืบหน้าของ Licensing กับ Regulatory Guillotine เช่นกัน

“นี่คือความสนใจของนักลงทุน และที่นำมาเล่า ก็เพื่อที่บอกว่าหากเป็นภาครัฐต้องขยับตัว ขับเคลื่อนไม่ทำไม่ได้ ส่วนภาคเอกชนโปรดเอาใจช่วย เข้าใจ แนะนำ และร่วมมือ บางเรื่องรัฐยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรก็หวังในความร่วมมือจากประชารัฐทั้งหลาย” ดร.วิษณุกล่าว