ThaiPublica > เกาะกระแส > Thailand’s Simple & Smart Licence #2 เปิดแนวทางทบทวนใบอนุญาต ยึดหลัก”ความจำเป็น”- ตัดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

Thailand’s Simple & Smart Licence #2 เปิดแนวทางทบทวนใบอนุญาต ยึดหลัก”ความจำเป็น”- ตัดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

17 พฤศจิกายน 2018


ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ TDRI ที่ปรึกษาโครงการ

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดงานเปิดตัวโครงการทบทวนการอนุญาต Thailand’s Simple & Smart Licence

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตามนโยบาย THAILAND 4.0 ของรัฐบาล โดยการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพ หรือการประกอบอาชีพ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน ตลอดจนพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับ ที่มีผลใช้บังคับอยู่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ

กลไกขับเคลื่อนโครงการ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ภายใต้กำกับของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายโดยมี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการฯ ซึ่งจะพิจารณาให้ความเห็นชอบการทบทวนกฎหมายและเสนอต่อ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

  • Thailand’s Simple & Smart Licence #1 – “วิษณุ เครืองาม” เล็งขอมติ ครม. สั่งส่วนราชการทบทวนกฎหมาย-ระเบียบการอนุญาต ให้เสร็จใน 1 ปี
  • ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย(TDRI) ที่ปรึกษาโครงการ ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานโครงการการขออนุญาตของทางราชการ โดยเปิดเผยว่า ภารกิจและเป้าหมายของโครงการแบ่งออกได้ 2 ด้าน ด้านแรก การพัฒนาฐานข้อมูลการอนุญาต (e-licence registry) เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่มีฐานข้อมูลการอนุญาตที่ประชาชนสามารถสืบค้นได้ตามหน่วยงาน รหัสอุตสาหกรรม และกิจกรรม ด้านที่สอง การทบทวน ความเหมาะสมของการอนุญาต (checklist) เพื่อปรับลดกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ หรือเป็นต้นทุนต่อเศรษฐกิจ/สังคมโดยไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจน

    ขณะนี้ยังไม่ได้ทบทวนเพราะปัญหาคือ ยังไม่รู้ว่ามีใบอนุญาตทั้งหมดกี่ใบในประเทศไทย แต่ได้ใช้ฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) ที่รวบรวมข้อมูลไว้ โดยได้ทำ mapping ฐานข้อมูลอนุญาต และกระบวนงานไว้ในบางอุตสาหกรรมบางธุรกิจแล้ว TDRI ได้มาต่อยอด ทำให้สามารถเริ่มทำเรื่องนี้

    สิ่งที่ TDRI ทำ ในด้านฐานข้อมูลการอนุญาต (e-license registry) คือ อย่างแรกพยายามนำใบอนุญาตทั้งหมดที่มีในประเทศ มาจัดลำดับว่า เป็นใบอนุญาต และดูว่าภายใต้ใบอนุญาตนั้นมีกี่กระบวนงาน จัดให้เป็นระบบที่สามารถสืบค้นได้ อย่างที่สองเมื่อมีฐานข้อมูลนี้แล้ว ก็จะทำการทบทวนว่า ใบอนุญาตไหนควรมีและอะไรไม่ควรมี

    ฐานข้อมูลการอนุญาต จะช่วยให้ หนึ่ง สามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการขออนุญาต ตามชื่อหน่วยงาน รหัสอุตสาหกรรม (TSIC 5 digit) หรือ ลักษณะของธุรกิจได้ (เช่น การก่อสร้างตึกคอนโดมีเนียม)

    “เราทำด้าน e-license registry เพื่อให้เอกชนรู้ว่า เวลาทำธุรกิจต้องใช้ใบอนุญาตกี่ใบ เช่น ขณะนี้การพัฒนาคอนโดมีเนียมมีการให้ข้อมูลกันว่าต้องมีถึง 27 ใบ ที่จอดรถก็ต้องมีใบอนุญาต เราก็จะลิสต์ไว้ ตามชื่อหน่วยงาน ค้นหาตามหน่วยงานได้ หรือตามลักษณะตามธุรกิจ”

    สอง จากนั้นจะเชื่อมโยงใบอนุญาตนี้ไปสู่หน่วยงานที่เป็นเจ้าของใบอนุญาต ทำให้เอกชนสามารถตรวจสอบข้อมูลขั้นตอน ระยะเวลาในการดำเนินการ ค่าธรรมเนียม เอกสารที่ต้องใช้ โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

    สาม เป็นเรื่องที่กำลังพัฒนาและได้หารือกับดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการฯ ในเบื้องต้นว่า จะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อเพิ่มมาตราหนึ่งเข้าไปว่า กฎระเบียบใดที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลนี้ ไม่สามารถบังคับใช้ในลักษณะที่เป็นโทษได้ แก่เอกชนหรือ ใครๆก็ได้ เพราะต้องการให้มีความโปร่งใส ในหลายประเทศเรียกว่า positive security เนื่องจากไม่ควรมีกฎระเบียบใดที่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน บังคับใช้ได้ อันนี้เป็นหลักการที่กำลังจะผลักดัน

    สี่ คิดว่าในที่สุดฐานข้อมูลจะนำไปสู่การยื่นขออนุญาตออนไลน์(on-line) ได้ และ สุดท้าย ต้องการฐานข้อมูลเพื่อนำมาใช้เองด้วย เป็นฐานข้อมูลในการประเมินความจำเป็นในการมีใบอนุญาต เช่น จำนวนคำขอ หรือ รับจดแจ้งรายได้จากค่าบริการ ฯลฯ

    “ที่ปรึกษาต่างประเทศที่จะเข้าทบทวนใบอนุญาตในไทยถามว่า ใบอนุญาตใดที่มีคนขอมากที่สุด เราตอบไม่ได้ เพราะไม่มีฐานข้อมูล เราไม่รู้ว่าใบอนุญาตแต่ละใบมีคนขอกี่คน ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลที่เราต้องเก็บ แม้กระทั่ง รัฐมีรายได้แค่ไหน เพราะใบอนุญาตบางเรื่อง เป็นช่องทางทำรายได้เข้ารัฐ เก็บค่าธรรมเนียม ดังนั้นการยกเลิกใบอนุญาตก็ต้องรู้ว่ารัฐเสียรายได้เท่าไร”

    แบ่งทบทวน 1,000 กระบวนงาน 3 ช่วง

    ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า ขั้นตอนการทบทวน เริ่มจากคำนิยามของการอนุญาต ซึ่งหมายถึง การอนุญาต/ออกใบรับรอง การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การอนุมัติ การให้ประทานบัตร/อาชญาบัตร อื่นๆ ซึ่งในพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯมีคำนิยามอยู่

    “โครงการนี้มีระยะเวลาทั้งหมด 8 เดือน ใน 8 เดือนนี้เรา commit ว่าจะทบทวนกระบวนงานทั้งหมด ซึ่งราว 1,000 กระบวนงาน โดยจะแยกเป็น 3 ช่วงช่วงละ 300 กว่ากระบวนงาน และเริ่มตั้งแต่เดือนที่แล้ว ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพราะต้องมีการเทรนนิ่ง ในการทำ check list”

    ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า ได้เริ่มทำงานในส่วนของในอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว การจ้างงานคนต่างด้าว ธุรกิจโรงแรม การอนุญาตการส่งออกข้าว และบางเรื่อง รอบต่อไปจะขยายไปที่ค้าส่งค้าปลีก ตลาดแบบตรง สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน และจะมีใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับ EEC ตลอดจนยังเปิดกว้างหากมีข้อมูลจากภาคธุรกิจมากขึ้น

    สำหรับใบอนุญาตที่จะนำมาทบทวน ให้ความสำคัญกับใบอนุญาตที่เป็นปัญหาตามข้อเสนอของภาคธุรกิจและภาคประชาชนมากเป็นอันดับแรก ที่ผ่านมาพยายามรวบรวมใบอนุญาตที่มีปัญหาจากแทบทุกสมาคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งได้รับข้อมูลกลับมา 70-80 ใบอนุญาตแล้ว และ 80-90% เป็นเรื่องของ ใบอนุญาตทำงานหรือ work permit

    อันดับที่สอง ดูใบอนุญาตที่มีจำนวนการขอมากที่สุด ขณะนี้ยังไม่มีฐานข้อมูล อันดับที่สามการอนุญาตที่เกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้ง EEC กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และอันดับที่สี่การอนุญาตของกระทรวงที่พร้อมดำเนินการ ซึ่งบางกระทรวงสนับสนุนเต็มที่

    ใช้ระบบ check list วัด 3 ด้าน

    วิธีการทบทวนเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะการทบทวนอะไรบางอย่างที่มีจำนวนมากต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนั้น ระบบที่ใช้คือ check list เป็นมาตรฐานเดียวกันที่หน่วยงานราชการใช้อยู่และภาคประชาชนจะต้องประเมินกฎหมายด้วยวิธีการเดียวกัน ทุกคนจะต้องปัญหาในรูปแบบฟอร์มเดียวกัน

    นอกจากนี้วิธีการประเมินที่ต้องเหมือนกันแล้ว จะต้องมีความโปร่งใส คือ checklist ที่ทำขึ้นนี้ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของใบอนุญาตก็จะทำด้วย ประชาชนก็สามารถเข้าไปทำได้ รวมทั้งจะรู้ว่าข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงมีอะไรบ้าง กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่โปร่งใสมาก ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปในระบระบบcheck list

    สำหรับการทบทวนโดยการใช้ check list เดิมใช้แนวทางของ OECD ที่ใช้กันมา 20 ปีแล้ว แต่ก็เป็นเพียงแบบฟอร์มสอบถามความจำเป็น ไม่มีข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ต้นทุน หรือทางเลือกอื่น ดังนั้นจึงต้องมีการทำ check list ที่ละเอียดมากขึ้นเป็นระบบมากขึ้น มีการตรวจสอบคำตอบ โดยการทบทวน check list แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจสังคม และด้านต้นทุนด้วย

    การทำ check list เริ่มด้วยคำถามด้านกฎหมายก่อนเป็นอย่างแรกว่า ใบอนุญาตที่ออกมานั้นมีอำนาจทางกฎหมายรองรับหรือไม่ ถ้าไม่มียกเลิกได้เลย เพราะผิดกฎหมาย บางใบอนุญาตไม่มีฐานกฎหมายรองรับ แต่อธิบดีอนุญาต

    ข้อสองมีการแก้ไขกฎหมายที่ให้อำนาจหรือไม่ บางที่กฎหมายนั้นอาจจะยังอยู่ แต่มีกฎหมายอื่นมา overwrite หรือมีข้อยกเว้น เช่น กฎหมายจัดตั้ง EEC นั้น overwrite กฎหมายอื่นๆจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องดูว่ากฎหมายนั้นยังมีอยู่หรือไม่ หรือถูกยกเลิกไปแล้ว ข้อสาม ขัดกับซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่ ขัดกับพันธกรณีของไทยในความตกลงระหว่างประเทศหรือไม่ ประเทศไทยเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก หรือ WTO เงื่อนไขบางอย่างที่เลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยกับคนต่างประเทศ บางครั้งอาจจะผิด WTO หรือพันธกรณีที่ให้กับต่างประเทศ เช่น การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA ข้อห้า มีการประกาศกฎหมายที่ให้อำนาจนั้นอยู่ตรงไหน

    เมื่อจบข้อที่ห้าด้านกฎหมายแล้ว ก็เข้าสู่การประเมินด้านเศรษฐศาสตร์ต่อว่า มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและเหมาะสมหรือไม่ วัตถุประสงค์นั้นสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันหรือไม่ บางกฎหมายเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2497 หรือแม้แต่การสงวนบางอาชีพให้กับคนไทยเช่น อาชีพตัดผม รวมไปถึงการบังคับใช้มีประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์หลักหรือไม่ เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้าออกมา 20 ปีแล้ว แต่ไม่เคยบังคับใครได้ ก็ต้องตั้งคำถามว่าจะปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไปหรือควรยกเลิก หรือแก้ไขให้บังคับใช้ได้ และข้อที่สี่ หากบอกว่ากฎหมายจำเป็น แต่การบังคับใช้มีประสิทธิผลหรือไม่ ต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่เพียงบอกว่าใช้ได้ แต่ไม่มีหลักฐานข้อมูลมาแสดง หรือบอกว่าจำเป็น แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีปัญหาจริง

    สุดท้ายมีทางเลือกในการลดภาระหรือลดต้นทุนหรือไม่ ประเมินจาก ค่าจ้าง/ค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติตามกฎหมาย ต้นทุน เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องมือ ค่าเสียโอกาส

    จากนั้นการทบทวนจะลงรายละเอียดว่า ใบอนุญาตนั้นยังคงอยู่และมีความจำเป็น แต่อาจมีการใช้ดุลยพินิจ และจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ามีการใช้ดุลยพินิจทั้งนั้น ตัวอย่าง เช่น การจัดตั้งบริษัทจัดหางาน มีกฎกระทรวงออกมาว่า สำนักจัดหางานจะต้องไม่อยู่ในที่เดียวกับในอาคารที่เป็นห้างสรรพสินค้า โรงเรียน อยู่ในตึกที่มีสำนักจัดหางานอื่นก็ไม่ได้ และสำคัญที่สุดสองข้อสุดท้ายระบุว่าต้องเป็นอาคารที่มีส่วนแบ่งแยกอย่างชัดเจน และสถานอื่นๆที่ไม่เหมาะสม อันนี้อันตรายมาก ใครเป็นตีความเรื่องความเหมาะสม

    “การทบทวนของเรา วิธีการเริ่มตั้งแต่ใบอนุญาตที่เป็นตัวแม่ ซึ่งมีใบอนุญาตอื่นตามมาเป็นพวง ดังนั้นในการทบทวนจะไม่ลงในข้อปลีกย่อย เช่น ไม่ขอดูบัตรประชาชน แต่จะดูว่าใบอนุญาตนี้จำเป็นหรือไม่ หากไม่จำเป็นใบอนุญาตนี้จะหลุดทั้งยวงเลย ดังนั้นเราจะเริ่มจากด้านบนว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้าจำเป็นแล้วถึงจะมาดูกระบวนงานหลัก เช่น ใบอนุญาตนี้จำเป็น การขอต่ออายุใบอนุญาตนี้จำเป็นหรือไม่ ต้องต่ออายุทุก 3 เดือนหรือทุกปี หรือ 3 ปีมีความจำเป็นหรือไม่ หรือกรณีเปลี่ยนผู้บริหารก็ต้องขออนุญาตอีก หากกระบวนการผ่านก็จะลงไปในรายละเอียด เช่น แบบฟอร์มการขอต่ออายุใบอนุญาต” ดร.เดือนเด่นกล่าว

    ข้อเสนอยกเลิก-แจ้ง-ตัดคุณสมบัติไม่จำเป็น

    ดร.เดือนเด่นกล่าวถึงข้อเสนอแนะมี 3 ด้าน ด้านใบอนุญาตประกอบด้วย หนึ่ง จะเสนอให้ยกเลิก โดยเทียบกับมาตรฐานในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ เช่น กรณีต้องการส่งเสริมธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย จะไปศึกษาว่าประเทศที่ส่งเสริมธุรกิจลักษณะนี้มีกฎเกณฑ์อย่างไร กำกับแบบละเอียดหรือไม่ หรือหากเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาภาพยนตร์ ก็อาจจะเสนอให้ยกเลิกใบอนุญาตเลย

    สอง เปลี่ยนเป็นแค่แจ้ง อนุมัติจดทะเบียน แต่หากกฎหมายกำหนดว่าต้องขออนุญาตก็ต้องแก้ไขกฎหมาย แต่การแก้ไขกฎหมายจะทำได้ยาก ดังนั้นข้อเสนอแนะอาจจะไม่ยกเลิกใบอนุญาตแต่เปลี่ยนเป็นการอนุญาตโดยอัตโนมัติ หมายถึงว่าหากมีเอกสารกำหนดครบถ้วนก็ได้รับอนุญาต เสมือนกับการจดแจ้ง แต่ที่สำคัญคือ ไม่มีดุลยพินิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

    สาม ตัดคุณสมบัติที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบมาคุณสมบัติหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายทุกฉบับคือ จะต้องไม่เป็นคนที่มีสติฟั่นเฟือน
    ด้านที่สองกระบวนงานจะเปลี่ยนการขอเป็นการแจ้ง และจะตัดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระดับกฎหมาย แต่อยู่ในระดับประกาศกระทรวง

    ด้านที่สามแบบฟอร์ม จะตรวจสอบเอกสารที่ไม่จำเป็น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด กรณีการของ work permit ของคนต่างชาติที่ต้องตรวจโรคถึง 7 โรค ก็ต้องตั้งคำถามว่า เงื่อนไขเหล่านี้กำหนดไว้เพื่ออะไร

    “กระบวนการทำงานของหน่วยงานเรา ก็จะนำ check list ทั้งหมดนี้ให้ทั้งเอกชนช่วยกรอก เรากรอกเอง และส่วนราชการช่วยกรอกด้วย และเราจะหา best practice ในโลกเป็น benchmark รวมรับฟังเหตุผลจากราชการว่า ทำไมใบอนุญาตถึงยังคงอยู่ เอกชนต้องแสดงให้เห็นว่าหากตัดออกไปจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ และจะนำไปสู่ข้อเสนอว่า คงเดิมหรือ ยกเลิก” ดร.เดือนเด่นกล่าว

    เมื่อมีข้อเสนอแล้ว ก็จะมีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผลที่เกิดจากการตัดใบอนุญาตประหยัดต้นทุนได้เท่าไร ซึ่งเคยมีกรณีตัวอย่างจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทบทวนยกเลิกแบบฟอร์การแลกเปลี่ยนเงินตราที่ประหยัดต้นทุนได้ถึง 1.8 พันล้านบาท

    ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า จะนำข้อเสนอแนะส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ซึ่งจะพิจารณาและเสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายอย่างเร่งด่วนต่อไป จากนั้นนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากให้ความเห็นชอบ เรื่องในระดับกฎหมายก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่หากเป็นประกาศกระทรวงก็ให้รัฐมนตรีประจำกระทรวงเสนอมาที่ครม. และพยายามจำกัดการแก้ไขจำนวนมากไว้ที่ระดับกระทรวงเพื่อให้เรื่องนี้คืบหน้าไปได้เร็วกว่า

    ข้อเสนอแนะการทบทวนใบอนุญาตภายใต้หลักการ 5Cs

    โครงการทบทวนการอนุญาต Thailand’s Simple & Smart Licence เว็บไซต์ระบุว่า เมื่อได้ศึกษาใบอนุญาตตาม Conceptual Framework พร้อมคำนวณตัวเลขภาระที่ประชาชนต้องแบกรับจากกฎหมาย กฎ ระเบียบ และกระบวนงาน และเป็นภาระบุคลากร ภาครัฐก็สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง โดยรัฐจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ความจำเป็นความเหมาะสม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ และความได้สัดส่วนระหว่างสภาพปัญหากับมาตรการที่เลือกใช้ รวมถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ดังนั้น แนวทางการจัดทำข้อเสนอแนะจะดำเนินการภายใต้หลักการ 5Cs ต่อประเด็นกฎหมาย กฎ ระเบียบ และกระบวนงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • Cut คือ การยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกระบวนงาน
  • Change คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกระบวนงานบางส่วน
  • Combine คือ การรวมกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกระบวนงานไว้ด้วยกัน
  • Continue คือ การคงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และกระบวนงานไว้เช่นเดิม
  • Create คือ การยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่
  • ขณะนี้โครงการทบทวนการอนุญาต Thailand’s Simple & Smart Licence อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน SS และกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่าน เว็บไซต์ www.sslicence.go.th