ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”เผย ปลดล็อคการเมือง หลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯมีผล ธ.ค. นี้ – มติ ครม. ยกเว้น “ค่าวีซ่า” นักท่องเที่ยว 21 ประเทศ 2 เดือน

“บิ๊กตู่”เผย ปลดล็อคการเมือง หลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯมีผล ธ.ค. นี้ – มติ ครม. ยกเว้น “ค่าวีซ่า” นักท่องเที่ยว 21 ประเทศ 2 เดือน

6 พฤศจิกายน 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

เผยปลดล็อคการเมือง หลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฯมีผล ธ.ค. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อเตรียมการปลดล็อกก่อนเลือกตั้ง ว่า ที่ประชุม คสช. วันนี้ได้หารือในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบในข้อกฎหมายต่างๆ ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำกับ คสช. ในการดูแลความสงบเรียบร้อยเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่

ดังนั้น เรื่องการปลดล็อกต้องเป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ คสช. แต่เกี่ยวกับกฏหมายต่างๆ ที่ออกมา โดยต้องมีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ออกมาก่อน ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ก่อนจะหารือเรื่องการปลดล็อกได้ การดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายจะเป็นอย่างไรนั้น ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดก่อนการเลือกตั้งให้สื่อมวลชนรับทราบต่อไป

“ไม่ต้องกังวล เป็นเรื่องตามกฎหมายทุกประการ ต้องไปไล่ดูว่ากฎหมายออกมาครบหรือยัง และต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจะมีผลภายในระยะเวลากี่วัน ไม่ใช่ คสช. จะทำอะไรที่บิดเบือนให้ช้าหรือเร็วได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของกฎหมาย จึงต้องไปดูว่ากฎหมายออกมาครบแล้วหรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า ที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าให้ประชาชนช่วยกันดูแลก่อนและหลังการเลือกตั้ง แสดงว่ามีความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นธรรมดาในทุกวาระและทุกสถานการณ์ที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุร้าย ไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง และก่อนเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องเฝ้าระวัง และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้รับทราบหากมีสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย

นอกจากนี้ อยากให้ตั้งข้อสังเกตที่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองบางพรรคบางพวกออกมาระบุว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นนั้น ขอให้ไปหาดูว่าใครเคยพูดเรื่องเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องนำมาพิจารณาด้วย ว่าจะเป็นแบบที่เขาว่าหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้เรียบร้อย ตนก็ไม่รู้ว่าใครจะทำให้ไม่เรียบร้อย แต่หากใครกล้าทำเช่นนั้น เชื่อว่าประชาชนจะไม่เห็นด้วย

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญและรายงานปฏิทินการทำงานของคณะรัฐมนตรีและปฏิทินการเลือกตั้งเบื้องต้นที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุม ครม. โดยกำหนดการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปจนถึงการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และวันที่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้ง คาดว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่เกินเดือนมิถุนายน 2562

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้นายวิษณุจัดทำรายละเอียดวันเวลาให้ชัดเจน ก่อนจะมีการแถลงข่าวภายในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

ด้านกระทรวงศึกษาธิการรายงานต่อที่ประชุมว่า จากการหารือเบื้องต้น จะมีการเลื่อนการสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) ให้เร็วขึ้น 1 สัปดาห์ เป็นวันที่ 16 หรือ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นการเลื่อนที่ยึดตามโรดแมปเดิมที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่หากวันเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลง จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องจัดการต่อไป

สั่งฝ่ายมั่นคง ตรวจปฏิทิน “แม้ว-ปู” เมิน “โอ๊ค” ลงการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีทหารยึดปฏิทินปี 2562 ที่มีรูปนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ จ.อุดรธานี ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ก็ไปหากันมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่งคงไปตรวจสอบเพื่อดูว่ากระทบความมั่นคงกับส่วนใดหรือเป็นเรื่องคดีความเพิ่มเติมหรือไม่ โดยฝ่ายความมั่นคงต้องดูทุกเรื่องที่มีผลในการสร้างความเกลียดชัง เพราะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีความที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ จึงต้องดูว่าควรทำหรือไม่ ซึ่งตนไม่อยากให้มีการขยายผลในเรื่องดังกล่าว

ส่วนถึงกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร ระบุพร้อมจะเล่นการเมือง พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า จะพร้อมหรือไม่ก็ไปเตรียมตัวให้พร้อม กฎหมายสิทธิหน้าที่ว่าอย่างไร ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน หากใครอยากจะสมัครหรือลงเล่นการเมืองก็ไปสมัครมา แต่ขึ้นอยู่กับ กกต. ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องของตนเอง

ประเมินผล “ไทยนิยมฯ” ไม่พบทุจริต – ย้ำไม่ใช่ “ประชานิยม”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงผลการดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยยืนยันว่าได้มีการประเมินผลแล้ว และตนให้ตรวจสอบแล้ว ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ ตนก็ให้รับเรื่องและข้อสังเกตไป และให้ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงท่องเที่ยวฯ ชี้แจงในส่วนของตัวเอง ต้องมีการตรวจสอบประเมินผลด้วย

“ขณะนี้ยังไม่พบ และไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง ไม่ใช่ประชานิยม เพราะฉะนั้นอย่าไปกล่าวอ้างกันไปเลอะเทอะ เพราะการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ เหล่านี้ เป็นความต้องการของประชาชน ผ่านประชาคม สำรวจไปแล้ว ต้องไปแยกแยะให้ออกว่า อันไหนเป็นของไทยนิยม อันไหนเป็นของกองทุนหมู่บ้าน ก็ต้องไปหาให้ได้ว่า มีไม่ชอบด้วยหลักการเหตุผลตรงไหน อย่าเอาอะไรมาตีกันไปมา มันเสียเวลา”

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการบริหารแก้ไขหนี้สินเกษตรกรของกองทุนฟื้นฟูที่ค้างมายาวนาน โดย พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า วันนี้ได้มีการตรวจสอบตามกติกาทั้งหมด ซึ่งบางครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำ มีการสรุปแล้วทั้งหมด 6 แสนกว่าราย เข้าเกณฑ์เพียงแค่ประมาณ 5 หมื่นกว่ารายเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปหามาตรการต่อไปว่าจะทำอย่างไร

โดยได้ฝากไปถึงผู้ที่เคลื่อนไหวอยู่ด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลพยายามจะทำให้เต็มที่ ขออย่ากลับไปหาที่เก่าเลย ตอนนี้มีทั้งลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน สหกรณ์การเกษตร ฯลฯ ซึ่งก็ต้องนำข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อนปี 2560 มาพิจารณาด้วยว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร ก็ขอให้เกษตรกรเข้าใจรัฐบาลด้วย ที่ผ่านมาบางทีก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไร เลยค้างคามาตลอด

ถก ป.ป.ช.แก้ปม “บอร์ดมหาวิทยาลัย” ลาออก กรณีแจงบัญชีทรัพย์สิน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสภามหาวิทยาลัยและอีกหลายองค์กร ลาออกจากการเป็นกรรมการ เนื่องจากต้องแจ้งบัญชีทรัพท์สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ขณะนี้กำลังหารือกับ ป.ป.ช. ว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เพราะจะมีผลต่อการประชุมขององค์กร เนื่องจากองค์ประกอบไม่ครบ จึงจำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไข อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนทราบถึงเจตนาที่ดี แต่ต้องไปแก้ปัญหาที่จะตามมาด้วย ดังนั้นต้องรอว่าผลจะออกมาอย่างไร ขณะนี้ยังมีเวลา เพราะยังไม่มีผลบังคับใช้

รื้อ “บ้านป่าแหว่ง” ต้องรอบครอบ – วอนหยุดเคลื่อนไหว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการรื้อบ้านพักข้าราชการตุลาการ ทับป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (บ้านป่าแหว่ง) ว่า  กรณีดังกล่าวตนได้เคยชี้แจงแล้วว่า มอบให้กระทรวงยุติธรรมเสนอแผนงานโครงการที่จะย้ายไปจังหวัดเชียงรายขึ้นมา ซึ่งระหว่างนี้ต้องให้เวลากับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดที่ป่าแหว่งที่อยู่มาก่อน โดยจะเร่งสร้างแล้วเอาคนเหล่านี้ออกไป

“ไม่อยากให้เคลื่อนไหวกันไปกันมาเสียเวลาเปล่าๆ เรื่องจะรื้อไม่รื้อจะไปดูอีกที ทำอะไรต้องมีความรอบคอบ มันก็ง่าย ผมไม่ได้บอกว่าจะรื้อหรือไม่รื้อ อย่าไปเขียนให้มันงงไปหมด ส่วนเรื่องการก่อสร้างที่สร้างไปแล้วถูกกฎหมายหรือไม่ ต้องไปดูว่าอนุมัติกันมาว่าอย่างไรตั้งแต่เมื่อไหร่ สร้างกันมาได้มันถูกหรือมันผิด ถ้าอนุมัติหมดทุกอันในรัฐบาลของรัฐบาลก่อนๆ มาถ้าคิดว่ามันถูกมันก็ถูก แล้วผมถึงได้ตามแก้นี่ไง บางครั้งต้องแก้ไขฟังเสียงประชาชนดูบ้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้รัฐบาลพยายามดูแลทุกอย่าง ทุกเรื่องร้องเรียนที่รับมาทั้งผ่านโซเชียลมีเดีย หรือตามสื่อต่างๆ โดยยืนยันว่าตนไม่เคยลืมเรื่องอะไร เพียงแต่ขอเวลาให้ส่วนราชการบ้าง เพราะการแก้ปัญหามันไม่ง่าย หลายปัญหาเป็นเรื่องที่ซับซ้อน หมักหมมมานาน ต้องทยอยดำเนินการ ซึ่งตนก็คาดหวังอย่างยิ่งว่ารัฐบาลต่อไปไม่ว่าใครจะเป็นก็แล้วแต่จะไม่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีก ไม่เช่นนั้นจะทับซ้อนกับสิ่งที่รัฐบาลนี้ยังแก้ไขไม่ได้เข้าไปอีก

ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักตุลาการ กล่าวว่า ได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ ไปดูมิติของการใช้ที่ดินของรัฐในอนาคตอย่างเหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น ความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐที่ต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณของประชาชน เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก เพราะเครือข่ายภาคประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่าแหว่งจะมีแนวทางการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

ชงปลดล็อค “กัญชา” เข้าครม. 13 พ.ย.นี้ – เน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการปลดล็อกใช้กัญชาทางการแพทย์ว่า จากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้เสนอเข้ามา และรัฐบาลจำเป็นต้องมาดูและศึกษาในรายละเอียด ว่าจะทำแค่ไหนอย่างไรนั้น เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว

“ข้อสำคัญเราต้องค่อยๆ ทยอยปลดล็อกดีกว่า ถ้าปลดล็อกมากๆ ก็จะเกิดปัญหา ประเทศไทยต้องค่อยๆ เดินไปทีละขั้น ทำอะไรอย่าผลีผลาม แต่แน่นอนมันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาล การสาธารณสุข เราก็ค่อยๆ ทยอยดำเนินการ ซึ่งก็อยู่ในแผนแม่บทเหมือนกันเรื่องการพัฒนาสาธารณสุข การปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย แล้วทำให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ จากเดิมที่เป็นพืชเสพติด มันต้องแก้ปัญหาที่ละเปาะๆ อย่าเร่งร้อนกันนักเลย เดี๋ยวจะเป็นปัญหาต่อไปในภายหน้า” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า รัฐบาลได้ส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เข้าสู่ สนช. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่ง สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างดังกล่าว โดยกรอบแรกใช้เวลาพิจารณา 90 วัน แต่เนื่องจากมีรายละเอียดมากและซับซ้อน รวมถึงจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน จึงมีการยืดเวลาอีก 90 วัน ซึ่ง สนช. กำหนดไว้ว่าจะให้การพิจารณาร่างกฎหมายนี้เสร็จสิ้นในเดือน กุมภาพันธ์ 2562

“คณะกรรมาธิการฯ และสมาชิก สนช. ส่วนหนึ่งเห็นว่าการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้นควรแยกเป็น พ.ร.บ.เฉพาะเรื่อง ซึ่ง สนช. ได้ยกร่างขึ้นมาแล้ว มีบทบัญญัติไม่กี่มาตรา โดยจะชี้แจงในที่ประชุม สนช. ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 นี้ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ไปรับเรื่อง โดยจะใช้เวลาพิจารณาภายใน 3 วัน แล้วจะเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ถ้า ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งร่างนี้ไปเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ต่อไป ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดการปลดล็อกเรื่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” พล.อ.อ. ประจิน กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลความเป็นมาของงานวิจัย ประโยชน์ที่ได้รับ และข้อเสนอในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งหลายประเทศมีการวิจัยเรื่องประโยชน์ของกัญชา เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งเขาพบว่าน้ำมันสกัดสารจากกัญชาสามารถใช้ผสมกับสูตรต่างๆ แล้วนำไปรักษาโรคได้ ซึ่งโรคที่มีเกณฑ์ในการรักษาแล้วประสบความสำเร็จเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคหืดหอบ และโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ นักวิจัยของไทยหลายสถาบันได้ติดตาม ค้นคว้า และศึกษา ซึ่งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมผลการวิจัยและความเป็นไปได้ในการจะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงต้องยึดถือข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) เนื่องจากได้ร่วมเป็นสมาชิกในด้านการป้องกันยาเสพติด ซึ่งกำหนดว่าให้ประเทศสมาชิกต้องไม่ยินยอมให้นำยาเสพติดมาเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งให้นำพืชเสพติดมาใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์และประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น

“สำหรับกัญชาที่จะถูกนำมาใช้นั้น จะมีการนำพันธุ์กัญชามาปลูกในพื้นที่ควบคุมซึ่งมีอุณหภูมิ แสง และน้ำที่เหมาะสม อีกทั้งกระบวนการการสกัดน้ำมันต้องทำในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำไปผสมเป็นสูตรในการรักษาโรค รวมถึงต้องมีแพทย์และผู้ป่วยที่สมัครใจเข้ารับการรักษาด้วยสารดังกล่าว ซึ่งตรงนี้ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศ รวมถึงจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้ประกอบการทำธุรกิจตรงนี้เป็นธุรกิจที่พึ่งพาตนเองในประเทศ” พล.อ.อ. ประจิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกฎหมายออกปลดล็อกเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชาแล้ว จะมีการกำหนดผู้ทำหน้าที่ดูแลการผลิต และผู้ควบคุมการรักษาให้เป็นตามวัตถุประสงค์ของการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการเปลี่ยนกัญชาให้เป็นพืชเสพติด ประเภทที่ 2 เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ทันที รวมถึงต้องปรับแก้กฎกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องการได้มาซึ่งแหล่งของกัญชาเพื่อนำมาสู่กระบวนการสกัด

เมื่อแก้ไขกฎกระทรวงแล้ว จะทำให้องค์การเภสัชกรรมเป็นหน่วยนำร่องในการผลิตน้ำมันสารสกัดจากกัญชามาใช้ทางการแพทย์ก่อนจะระดมหน่วยงานด้านการวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ มาเข้าสู่ระดมและร่วมมือกัน ผลิตแล้วขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สมัยใหม่ ส่วนแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทยจะต้องรอให้ออก พ.ร.บ.นี้ก่อน และต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนก่อนนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกกฎหมาย

“คงไม่สามารถนำกัญชาอัดแห้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมมาใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ได้ เพราะกระบวนการสกัดเป็นน้ำมันจะต้องใช้ต้นกัญชาสดที่มีอายุในระดับหนึ่ง แต่กัญชาที่จับกุมได้นั้นฝ่อไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้สกัดน้ำมันได้” พล.อ.อ. ประจิน กล่าว

สั่งคมนาคมจัดทำแผนบูรณาการ “แก้รถติด” ภายใน 3 เดือน

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่าตนได้เน้นย้ำในที่ประชุม ครม. โดยให้กระทรวงคมนาคมบูรณาการแผนการแก้ปัญหาจราจร หลังจากที่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ตนได้ไปเปิดอุโมงค์ที่แยกรัชโยธิน ได้เห็นถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง ขอให้ทำให้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุโมงค์ หรือสะพานลอย รถไฟฟ้าหรือที่จอดรถใต้ดิน และได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในขณะนี้ให้เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยง และต้องเป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงาน

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพิ่มเติมให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปจัดทำแผนการกำหนดจุดจอดรถเพิ่มเติมในบริเวณใกล้เคียง เพื่อรองรับกับการขนส่งในอนาคต รวมทั้งให้สำรวจระบบการแก้ปัญหาจราจรในสี่แยกอื่นๆ ให้ครบวงจร แล้วให้นำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม ครม. อีกครั้งภายใน 3 เดือน

“อะไรที่ทำได้ตอนนี้ก็ทำไป ยังมีอีกหลายที่ที่ยังอยู่ในช่วงการก่อสร้างอยู่ ส่วนที่ยังทำไม่ได้ งบประมาณยังไม่เพียงพอก็จะบรรจุอยู่ในแผนแม่บทในเรื่องของการคมนาคมขนส่งต่อไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งก็จะทำให้ต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้น สิ่งที่ผมเป็นกังวล คือ ทำอย่างไรจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อเพื่อลดปัญหาจราจร เป็นปัญหาจราจรที่ต้องทำต่อเนื่อง” นายกนายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาตลาดจตุจักรที่มีปัญหาเรื่องค่าเช่าให้เร็วที่สุด และเกิดความโปร่งใสเป็นธรรม

เดินสาย ฝรั่งเสศ-สิงคโปร์-ปาปัวนิวกินี สัปดาห์หน้า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการเดินทางไปร่วมประชุมเวทีต่างประเทศว่า ในสัปดาห์หน้าตนเองมีกำหนดการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมการประชุมอย่างต่อเนื่อง จึงมีเวลาทำงานอย่างจำกัด โดยกำหนดการงานดังนี้ กิจกรรมในงานวันรำลึกการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 และพิธีเปิดการประชุม Paris Peace Forum ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีผู้นำ 40 กว่าประเทศเข้าร่วม เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งกำลังทหารเข้าร่วมการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1

จากนั้นจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2561 ต่อจากนั้นเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 26 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2561 ตนคงใช้เวลาในการเยือนต่างประเทศตั้งแต่สัปดาห์นี้ จนถึงสัปดาห์หน้า ทุกอย่างจึงมอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาการแทนในระหว่างที่ตนไม่อยู่

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

มติ ครม. มีดังนี้

ขยายโควตาส่งออก “ข้าวอินทรีย์” เจาะตลาดยุโรป

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ให้ร่วมกันดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวที่มีการปฏิบัติตามระบบการเกษตรที่ดี หรือ GAP ครบวงจร ปี 2560/61 โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปให้กับโครงการจำนวน 2,000 ตัน (ร้อยละ 10 ของปริมาณโควตาทั้งหมด) สำหรับเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์กับกลุ่มเกษตรกร

ทั้งนี้ มีผลการดำเนินงานดังนี้ ผู้ประกอบการค้าข้าว จำนวน 28 ราย ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายข้าว (MOU) และรับซื้อข้าวจากเกษตรกร 74 กลุ่ม ปริมาณ 6,691.47 ตัน แบ่งเป็นข้าวอินทรีย์ 60 กลุ่ม ปริมาณ 1,716.32 ตัน และข้าว GAP 14 กลุ่ม ปริมาณ 4,975.15 ตัน โดยปีนี้มีผู้ประกอบการค้าข้าว จำนวน 9 ราย ได้รับการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป ปริมาณ 2,000 ตัน โดยส่งออกข้าวปริมาณ 1,962.36 ตัน (คิดเป็น 98% ของโควตา) คงเหลือ 37.64 ตัน ซึ่งปริมาณคงเหลือจะนำไปรวมเป็นโควตากองกลางสำหรับการจัดสรรต่อไป

นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าจะมีข้าวเปลือกอินทรีย์ประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปี 2561-2564 เพิ่มขึ้นรวมแล้ว 997,000 ตันข้าวเปลือก ดังนั้น เพื่อให้ปริมาณข้าวอินทรีย์มีตลาดรองรับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ครม.จึงอนุมัติขยายปริมาณการจัดสรรโควตาการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป ให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ภายใต้โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรจากเดิม 10% (2,000 ตัน) ของปริมาณโควตาทั้งหมด เป็น 25% (5,000 ตัน) ของปริมาณโควตาทั้งหมด ภายในปี 2564 เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกร

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่อยู่ในโควตา 10% แรก สามารถส่งออกข้าวชนิดใดก็ได้ตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป ส่วนผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่อยู่ในโควตาที่เกิน 10% จนถึง 25% จะต้องใช้โควตาเพื่อการส่งออกข้าวอินทรีย์ที่ได้การรับรองมาตรฐาน Organic Thailand หรือได้มาตรฐานข้าวอินทรีย์ของประเทศปลายทางเท่านั้น โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร และเป้าหมายโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปี 2560/61 และเห็นชอบการขยายปริมาณการจัดสรรโควตาดังกล่าวแล้ว

ตั้ง “สภาดิจิทัล” ประสานนโยบายรัฐบาล

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ จัดตั้ง “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” โดยส่วนหนึ่งจะปรับเปลี่ยนมาจาก “สมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย” เดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนผู้ประกอบกิจการดิจิทัล ทำหน้าที่แทนภาคเอกชนในการประสานกับภาครัฐ เช่น นโยบาย การดำเนินงานร่วมกัน รวมถึงศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหา และให้คำแนะนำกับภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลด้วย

สมาชิกของสภาดิจิทัล มี 3 ประเภท ได้แก่
1. สมาชิกสามัญ ประกอบด้วย บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล
2. สมาชิกวิสามัญ ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา ผู้ประกอบธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ผู้ประกอบการที่ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือรับบริการดิจิทัล บุคคลที่มีความสนใจ หรือ สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรดิจิทัล
3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล หรือ ผู้ทำประโยชน์แก่สภาฯ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ซึ่ง คณะกรรมการเชิญมาเป็นสมาชิก

ทั้งนี้ สภาฯ จะมีภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ
1. ขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล
2. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
3. ทำงานร่วมกับรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่น ในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล
4. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยดิจิทัล

สำหรับอำนาจหน้าที่ของสภาฯจะเป็นการวางแผนนโยบายดิจอทัลจากด้านเอกชนและประสานความร่วมมือกับภาครัฐบาล คล้ายกับสภาหอการค้าฯ และสภาอถตสาหกรรมฯ อนึ่ง กฎหมายได้กำหนดให้ สภาฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่สามารถของความเห็นชอบจากรัฐบาลให้ปรับเปลี่ยนได้ แต่จะเป็นลักษณะของการหารือพูดคุยเป็นหลัก นอกจากนี้ ให้จัดตั้งสำนักงานสภาดิจิทัลฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของสภาฯ และมีผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าสำนักงานฯ

ปรับเกณฑ์ขอ Smart Visa – หลังพบผู้เชี่ยวชาญต่างชาติได้สิทธิอยู่ต่อ 28 ราย

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และสิทธิประโยชน์ ภายใต้การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ หรือ Smart Visa ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ปรับปรุงใหม่จากเดิม ที่ ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 เห็นชอบให้มีวีซ่าประเภทใหม่ คือ Smart Visa ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคลากรต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถสูง ให้เข้ามาลงทุน มาทำงาน หรือสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในไทย และเปิดศูนย์ One Stop Service เพื่อให้บริการเป็นการเฉพาะ โดยให้เริ่มยื่นขอ Smart Visa ได้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม หลังจากดำเนินการมาได้กว่า 8 เดือน มีผู้ขอข้อมูล 1,078 ครั้ง ยื่นขอ 37 ราย และผ่านการรับรองเป็นผู้มีสิทธิได้ Smart Visa จำนวน 28 ราย รัฐบาลจึงรวบรวมเอาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มาปรับปรุงหลักเกณฑ์ คุณสมบัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ดังนี้

  1. เพิ่มเติมสาขาวิชาชีพ ที่สามารถขอ Smart Visa ได้อีก 3 สาขา ได้แก่ (1) การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (3) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน
  2. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือ Smart Visa โดยให้สามารถใช้ช่องทางพิเศษ หรือ Fast Track ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยานระหว่างประเทศทุกแห่ง ในการเข้าออกประเทศไทยได้
  3. ปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอ Smart Visa ดังนี้

3.1) Smart “T” สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent)
จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า ผู้ขอวีซ่าประเภทนี้จะต้องมีเงินเดือนไม่รวมค่าตอบแทนอื่น ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน เปลี่ยนเป็น จำแนกตามลักษณะการทำงาน คือ
– กลุ่มทั่วไป จะต้องมี “เงินได้” เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน
– กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานใน Startup และผู้เชี่ยวชาญเกษียณอายุ ต้องมี “เงินได้” เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน
– และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มาปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันฝึกอบรมเฉพาะทาง และหน่วยงานของรัฐ ไม่กำหนดเงินได้ขั้นต่ำ และไม่กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของสัญญาจ้างด้วย จากเดิมที่จะต้องมีสัญญาจ้างนาน 1 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ในกรณีของผู้เชี่ยวชาญที่มาทำงานให้หน่วยงานของรัฐ สามารถให้หน่วยงานของรัฐนั้นๆ เป็นผู้ให้การรับรองความเชี่ยวชาญและการทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แทนการที่จะต้องรอขอการรับรองจากหน่วยงานในเครือข่ายของศูนย์บุคลากรทักษะสูงเพียงอย่างเดียว เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ถือ Smart Visa ได้มากขึ้น

3.2) Smart “I” สำหรับกลุ่มนักลงทุน (Investor)
จากเดิม ที่กำหนดว่า จะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตหรือให้บริการ เปลี่ยนเป็น ให้ได้ใน 2 กรณี คือ
– ลงทุนขั้นต่ำ 20 ล้านบาทในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน หรือกิจการร่วมลงทุนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ
– ลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ในวิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจในโครงการบ่มเพาะ หรือโครงการเร่งการเติบโต ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ

เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบการลงทุนที่มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ Startup ในประเทศ

3.3) Smart “E” สำหรับกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (Executive)
จากเดิม กำหนด “เงินเดือน” ไม่รวมค่าตอบแทนอื่น ขั้นต่ำ 200,000 บาทต่อเดือน เปลี่ยนเป็น ให้มี “เงินได้” เฉลี่ยขั้นต่ำ 200,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาด SMEs ซึ่งอาจมีเงินเดือนไม่สูงนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนอย่างอื่นแทน เช่น สวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ

3.4) Smart “S” สำหรับผู้ประกอบการ Startup
จากเดิม กำหนดว่าจะต้องมีหลักฐานทางการเงิน คือมีเงินฝากในบัญชีฝากประจำระยะเวลาเหลือ 1 ปีขึ้นไป เปลี่ยนเป็น ให้มีบัญชีเงินฝากในประเทศไทย ประเทศที่ตนมีสัญชาติ หรือมีถิ่นพำนัก ขั้นต่ำ 600,000 บาท ซึ่งถือครองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการพิจารณา

ส่วนเรื่องอายุของวีซ่าจากเดิม อนุมัติครั้งแรกให้ 1 ปี ขยายได้คราวละ 2 ปี โดยต้องตั้งกิจการในไทยภายใน 1 ปีเปลี่ยนเป็น แบ่งอายุวีซ่าออกเป็น 3 ระยะ คือ 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปีสำหรับกรณีที่ ผู้ประกอบการได้จัดตั้ง Startup ที่เข้าหลักเกณฑ์แล้ว ก็ให้ได้รับ Smart Visa ที่มีอายุ 2 ปีได้ตั้งแต่ครั้งแรก

ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว 21 ประเทศ 2 เดือน

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยวชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2561 หรือ Visa on Arrival (VoA)

มีสาระสำคัญคือ ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าว ซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด้านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) จากเดิมที่ให้มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียม ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน 2,000 บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เป็น ให้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการชั่วคราว โดยให้ใช้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2561 – 31 มกราคม 2562

“สืบเนื่องจากที่ผ่านมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบข้อมูลสถิติผู้โดยสารที่มาขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด้านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 จนถึงปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในไทย และขอรับการตรวจลงตราลดลงอย่างต่อเนื่องราว 10% ครม. จึงมีมติให้ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ส่วนรายได้ภาษีที่รัฐจะสูญเสียคงระยุไม่ได้ตอนนี้เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวจาก 21 ประเทศนี้ลดลงมาตั้งแต่ปี 2559 จึงยากที่จะเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ หน้าว่าต้องมีนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ คิดว่ารอตัวเลขจริงเลยดีกว่า”

ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ได้แก่ 1) เป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น และ 2) จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30%

อนึ่ง รายชื่อจองประเทศที่ได้รับวีซ่าประเภทนี้จากไทย มีทั้ง 20 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. ราชรัฐอันดอร์รา (Andorra), 2. สาธารณรัฐบัลแกเรีย (Bulgaria), 3. ราชอาณาจักรภูฏาน (Bhutan: Kingdom of Bhutan), 4. สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China), 5. สาธารณรัฐไซปรัส (Cyprus: Republic of Cyprus), 6. สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย (Federal Democratic Republic of Ethiopia), 7. สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ (The Republic of Fuji Islands), 8. สาธารณรัฐอินเดีย (India: Republic of India), 9. สาธารณรัฐคาซัคสถาน (Kazakhstan: Republic of Kazakhstan), 10. สาธารณรัฐลัตเวีย (Latvia: Republic of Latvia), 11. สาธารณรัฐลิทัวเนีย (Lithuania: Republic of Lithuania), 12. สาธารณรัฐมัลดีฟส์ (Maldives: Republic of Maldives), 13. สาธารณรัฐมอลตา (Malta), 14. สาธารณรัฐมอริเชียส (Mauritius: Republic of Mauritius), 15. ปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea), 16. โรมาเนีย (Romania), 17. สาธารณรัฐซานมารีโน (San Marino), 18. ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia: Kingdom of Saudi Arabia), 19. ไต้หวัน (Taiwan), 20. ยูเครน (Ukraine) และ 21. อุซเบกิสถาน (Uzbekistan)

แก้กม. รักษาการผู้บริหาร รสก. 8 แห่ง มีอำนาจเต็ม

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. โดยกำหนดให้ผู้ทำการแทน ผู้รักษาการแทน หรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจนั้น ซึ่งรวมถึงอำนาจหน้าที่ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น จากเดิมที่จะต้องรอการแต่งตั้งผู้บริหารใหม่อย่างเป็นทางการเสียก่อนจึงจะดำเนินนโยบายต่างๆ ใหม่ได้ ซึ่งทำให้ช่วงรอยต่อของการบริหารไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

โดยจะมีผลบังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง ได้แก่ การกีฬาแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน และองค์การสวนพฤกษศาสตร์

เห็นชอบตั้งต่างชาติเป็นอนุญาโตตุลาการ

รายงานข่าวจากสํานักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. กำหนดให้คู่พิพาทในทางอนุญาโตตุลาการสามารถตั้งคนต่างด้าวเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือผู้รับมอบอำนาจเพื่อทำหน้าที่แทนในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในราชอาณาจักรได้
  2. กำหนดให้คนต่างด้าวตามข้อ 1 ที่ทำหน้าที่ในการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการโดยส่วนราชการหรือหน่วยงานที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น และมีภารกิจที่เกี่ยวเนื่องในด้านการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ สามารถขอหนังสือรับรองจากส่วนราชการหรือหน่วยงานดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้
  3. กำหนดให้คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือรับรองตามข้อ 2 มีสิทธิได้รับอนุญาตให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือรับรองและมีสิทธิทำงานในราชอาณาจักรได้ตามหน้าที่ของตน

ลดกรอบประเมินผลงานส่วนราชการเหลือปีละครั้ง

รายงานข่าวจากสํานักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบกรอบการประเมิน เกณฑ์การประเมินและรอบระยะเวลาในการประเมินส่วนราชการและจังหวัด ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เนื่องจากเดิมการประเมินมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการที่จัดทำขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ มีปัญหาและข้อจำกัด เช่น ข้อมูลในหลายตัวชี้วัดไม่สามารถออกผลได้ทันภายในการประเมินรอบที่ 1 และเกณฑ์การประเมินรูปแบบเดิม ทำให้ส่วนราชการที่มีผลการดำเนินงานในองค์ประกอบใดเพียงองค์ประกอบหนึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย ถูกจัดอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง แม้ว่าส่วนราชการนั้นจะมีผลการประเมินในองค์ประกอบที่เป็นภารกิจหลักอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายก็ตาม

วันนี้ ครม. จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงใหม่โดยได้ปรับปรุงใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. กรอบการประเมิน องค์ประกอบในการประเมินยังคงมี 5 องค์ประกอบเช่นเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้ ซึ่งประกอบด้วย (1) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามภารกิจพื้นฐาน (Functional base) (2) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามภารกิจยุทธศาสตร์หรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ (Adenda base) (3) การดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นที่/จังหวัด กลุ่มจังหวัด (Area Base) (4) ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม (Innovation base) และ (5) ศักยภาพในการดำเนินการของส่วนราชการตามยุทธศาสตร์ชาติ (Potential base) แต่ได้มีการปรับปรุงประเด็นการประเมินในองค์ประกอบที่ 1 โดยได้เพิ่มเติมประเด็นการประเมินด้านการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อให้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ในปัจจุบันส่วนราชการหลายแห่งมีการดำเนินงานตามภารกิจหลักโดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน
  2. เกณฑ์การประเมิน สืบเนื่องจากเกณฑ์การประเมินรูปแบบเดิม ทำให้ส่วนราชการที่มีผลการดำเนินงานในองค์ประกอบใดเพียงองค์ประกอบหนึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย ถูกจัดอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง แม้ว่าส่วนราชการนั้นจะมีผลการประเมินในองค์ประกอบที่เป็นภารกิจหลักอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายก็ตาม ดังนั้น จึงได้มีการปรับปรุงเกณฑ์การประเมิน เป็นการคำนวณคะแนนเฉลี่ยเป็นร้อยละของทุกองค์ประกอบ และยังคงแบ่งเป็น 3 ระดับเช่นเดียวกับรูปแบบเดิม โดยส่วนราชการที่จะถูกจัดอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงจะต้องมีคะแนนผลการดำเนินงานในภาพรวมต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งจะสะท้อนผลการดำเนินงานของส่วนราชการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  3. กรอบระยะเวลาในการประเมิน การประเมินส่วนราชการตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมได้กำหนดให้ส่วนราชการต้องประเมินปีละ 2 รอบ (รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 มีนาคม และรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน) แต่ข้อมูลในหลายตัวชี้วัดไม่สามารถออกผลได้ทันภายในการประเมินรอบที่ 1 (ภายในวันที่ 31 มีนาคม) ดังนั้นจึงได้ปรับปรุงรอบระยะเวลาในการประเมิน โดยกำหนดให้ส่วนราชการและจังหวัดต้องประเมินปีละ 1 รอบ (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 30 กันยายน)

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561เพิ่มเติม