ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% แม้เสียงแตกมากขึ้นเป็น 4:3 รับกังวลความเสี่ยงสงครามการค้า – ชี้เศรษฐกิจเข้มแข็งต่อเนื่อง ส่งสัญญาณเร่งสะสม “พื้นที่นโยบาย” รับมือความเสี่ยงอนาคต

กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% แม้เสียงแตกมากขึ้นเป็น 4:3 รับกังวลความเสี่ยงสงครามการค้า – ชี้เศรษฐกิจเข้มแข็งต่อเนื่อง ส่งสัญญาณเร่งสะสม “พื้นที่นโยบาย” รับมือความเสี่ยงอนาคต

14 พฤศจิกายน 2018


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวภายหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 7/2561 ว่า กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เป็นครั้งที่ 28 ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2558 โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้อุปสงค์ต่างประเทศมีสัญญาณชะลอลงบ้าง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

กรรมการ 3 คนเห็นว่า ความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ส่าหรับอนาคต ทั้งนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ที่ กนง. ส่งสัญญาณเรื่องการเริ่มเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 แม้ว่าจะเริ่มเสียงแตกมาตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 และเป็นครั้งที่ 2 ในเอกสารแถลงข่าวที่ระบุว่าความจำเป็นของนโยบายการเงินอย่างผ่อนคลายทยอยลดลงอย่างชัดเจน

“ถามว่ามีอะไรเสี่ยงเพิ่มขึ้นจนกรรมการอีก 1 ท่านลงความเห็นว่าควรปรับเพิ่มดอกเบี้ย จริงๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เห็นความจำเป็นลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจกลับมาเติบโตเข้มแข็งและมองไปข้างหน้าน่าจะเติบโตได้มากกว่าปัจจุบัน ดังนั้นกรรมการบางท่านก็มีมุมมองส่วนตัวว่าควรจะลดการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายลง ส่วนเรื่องเสถียรภาพการเงินแม้ว่าจะมีออกมาตรการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์แล้ว แต่บางส่วน เช่น หนี้ครัวเรือนก็ยังเห็นภาพว่าบางกลุ่มก่อหนี้เกินตัว ส่วนเรื่องการเร่งรักษาพื้นที่นโยบายเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต คือดอกเบี้ย 1.5% ก็ถือว่าต่ำกว่าปกติ ฉะนั้น ความจำเป็นที่จะใช้ดอกเบี้ยผ่อนปรนขนาดนี้อาจจะลดลงจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงข้างหน้าที่ต้องเร่งเตรียมพร้อมก็อีกเรื่อง ต้องติดตามอีกครั้งว่าจำเป็นต้องใช้หรือไม่ กรรมการแต่ละท่านก็ชั่งน้ำหนักกัน” นายทิตนันทิ์กล่าว

สำหรับความเสี่ยงที่ กนง. กังวลมากที่สุดครั้งนี้จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกที่จะมากระทบการส่งออก ซึ่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเห็นว่าชะลอตัวลง กนง. หารือกันว่าเกิดจากสาเหตุอะไร พบว่ามีปัจจัยชั่วคราวอย่างเรื่องพายุที่เข้าฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ก็ทำให้ตัวเลข 3 ประเทศนี้ชะลอลง และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่การค้าโลกโดยรวมชะลอตัวลง คงต้องติดตามว่าส่วนหลังจะหนักขึ้นหรือมีผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์หรือไม่

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าการส่งออกจะมีสัญญาณชะลอลงบ้างโดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง และผลจากสภาวะอากาศของประเทศคู่ค้าที่เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะที่การท่องเที่ยวชะลอลงโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน

อย่างไรก็ตาม แรงส่งของอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวตามรายได้และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากความล่าช้าในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวดีแต่เผชิญความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจมากกว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิมแต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นตามความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิมตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ด้านภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนับจากการประชุมครั้งก่อน เงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเช่นเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลงได้รับการดูแลในระดับหนึ่งด้วยการปรับปรุงหลักเกณฑ์การก่ากับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ กนง. ให้ติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้แรงส่งจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอลงบ้างและอาจมีความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และจีนที่มากกว่าคาด รวมถึงต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป ทั้งนี้ กนง. เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แต่การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะทยอยลดความจำเป็นลง