ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.คงดอกเบี้ย 1.5% เสียงแตกส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม “พื้นที่นโยบาย” – กังวล “สงครามการค้า” ไม่จบเร็ว

กนง.คงดอกเบี้ย 1.5% เสียงแตกส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพิ่ม “พื้นที่นโยบาย” – กังวล “สงครามการค้า” ไม่จบเร็ว

20 มิถุนายน 2018


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงข่าวการประชุม กนง. ครั้งที่ 4/2561 ซึ่งมีกรรมการ 1 ท่านลาประชุม ว่ากนง. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เนื่องจากนโยบายการเงินผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการปรับตัวของเงินเฟ้อทั่วไปให้กลับสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน  ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน ให้เหตุผลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เอกชนประเมินความเสี่ยงของภาคการเงินต่ำกว่าที่ควรและเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ในอนาคตด้วย

“เรื่องพื้นที่นโยบายกนง.ก็พูดถึงว่าเป็นความจำเป็น แต่ยังมองเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้วไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ คือทุกคนก็มองว่าตอนนี้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ ต้องใช้คำว่าเป็นพิเศษ คือดอกเบี้ยเราเกือบต่ำเกือบที่สุดแล้ว พอมาถึงจุดหนึ่งมันต้องปรับเข้าสู่ระดับปกติ ตรงนี้กรรมการ 1 ท่านก็มองว่าถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจ ตัวเลขเงินเฟ้อ ตัวเลขอะไรต่างๆแล้ว ตอนนี้การขึ้นดอกเบี้ยจะไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบ แต่ถามว่าอนาคตจะเห็นภาพการปรับขึ้นหรือไม่จะต้องรอดูต่อไปเรื่อยๆในการปะรชุมครั้งต่อๆไป” นายจาตุรงค์ กล่าว

อนึ่ง การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบมากกว่า 3 ปีที่กนง.ไม่ได้มีมติเอกฉันท์ โดยหลังจากลดดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อการประชุมครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 กนง.ก็มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยมาโดยตลอด จนกระทั้งเมื่อการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ที่มติ 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยและขึ้นดอกเบี้ย ก่อนที่ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 3/2561 มติกลับมาเป็นคงดอกเบี้ยเป็นเอกฉันท์อีกครั้ง หลังจากมีกรรมการ 1 ท่านลาการประชุมคือนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ก่อนจะกลับมาเสียงแตกอีกครั้งในการประชุมวันนี้

  • กนง. เสียงแตก 6:1 คงดอกเบี้ย 1.5% 23 ครั้งติดต่อกัน เริ่มกังวลเสถียรภาพการเงิน – ชี้โครงสร้าง “แรงงาน-อุตสาหรรม” ปรับ แต่เศรษฐกิจไม่กระจายลงรากหญ้า
  • กนง. คงดอกเบี้ย 1.5% ต่อเนื่อง 3 ปี ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังจับตาการจ้างงาน – หนี้ครัวเรือน
  • สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนปะทุ หลังสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าและจีนตอบโต้ต่อเนื่อง
  • สำหรับรายละเอียดภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว และอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงและการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง จึงท่าให้กำลังซื้อยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งกนง.เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ไขด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง

    สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่างๆ ในระยะข้างหน้า การใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาและมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

    ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ธปท.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2561 ใหม่อีกครั้งจาก 4.1% เป็น 4.4% และจาก 4.1% เป็น 4.2% ในปี 2562 ขณะที่รายละเอียดส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุนของภาคเอกชน การส่งออกและนำเข้า มีเพียงการอุปโภคและลงทุนภาครัฐที่ปรับตัวลดลงในปี 2561 ก่อนจะปรับมาฟื้นตัวในปี 2562 นอกจากนี้ ธปท.ยังคาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบและอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น

    “ภาวะเศรษฐกิจเห็นว่าการบริโภคของเอกชน สินค้าคงทนและกึ่งคงทนมากขึ้น โดยภาคเกษตรก็เห็นบางกลุ่มที่ราคาปรับดีขึ้น เช่นข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง ส่วนผลผลิตพบว่าทุกประเภทเพิ่มขึ้น ทำให้โดยรวมมูลค่ารวมไปถึงรายได้ของเกษตรกรยังปรับดีขึ้น ขณะที่การส่งออกก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9% ในปีนี้จาก 7% ในการประเมินเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ส่วนในปี 2562 จะปรับชะลอลงตามฐาน รวมไปถึงเรื่องนโยบายการกีดกันทางการค้าที่มีสัญญาณว่าจะไม่ได้จบกันเร็วและมีความไม่แน่นอนในอนาคตค่อนข้างสูง ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่สุดของเศรษฐกิจตอนนี้ เพราะนอกจากจะกระทบกับภาคส่งออกแล้วจะส่งผ่านไปถึงภาคธุรกิจและการจ้างงานภายในประเทศด้วย หากไม่มีปัจจัยนี้ธปท.ก็คาดว่าการส่งออกจะเติมโตได้มากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่การลงทุนภาครัฐที่ปรับลดลงในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากความล่าช้าในการเบิกจ่าย แต่จะเห็นว่าปี 2562 ฟื้นตัวกลับมา ส่วนหนึ่งมาจากงบลงทุนของปี 2562 ที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายการลงทุนของเอกชนส่วนใหญ่จะมาจากโครงการอีอีซีที่มีความชัดเจน โดยธปท.ปรับประมาณการเพิ่มจากส่วนที่มีรายละเอียดโครงการหรือ TOR เข้ามาด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนที่ยังไม่มีรายละเอียดและถ้าในอนาคตสามารถขับเคลื่อนได้ตามแผนและมีรายละเอียดออกมาก็คาดว่าการลงทุนจะปรับตัวขึ้นได้อีก” นายจาตุรงค์ กล่าว

    สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยและเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยหลักเป็นผลของราคาน้ำมันที่เร่งขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและคาดว่าปีหน้าจะปรับตัวขึ้นได้อย่างชัดเจน กนง.จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต อาทิ การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce และการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวชัดเจน สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมทรงตัว

    ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ -0.6% ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเคลื่อนไหวผันผวนจากทิศทางการด่าเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

    “ประเด็นเรื่องเงินไหลออกในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กนง.ก็ประเมินอยู่แต่ต้องติดตามหลายปัจจัยประกอบกัน ปัจจุบันมีทิศทางใกล้เคียงกับประเทศเกิดใหม่อื่นๆ แต่คงจะเทียบเป็นปริมาณตรงๆไม่ได้ เพราะขนาดของตลาดและปัจจัยพื้นฐานต่างกันและนักลงทุนก็แยกแยะเรื่องเหล่านี้อยู่ โดยของประเทศไทยยังมีภาคต่างประเทศเข้มแข็ง ทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง หนี้ต่างประเทศต่ำ การถือครองตราสารทางการเงินของต่างประเทศในไทยที่ต่ำ ทำให้ไทยมีกันชนรองรับพอสมควร นอกจากนี้ กนง.ยังให้น้ำหนักกับปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก เงินที่ไหลออกเกิดขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนคือพันธบัตรและหุ้นและเป็นระยะสั้น ซึ่งก็มีกระทบกับต้นทุนการระดมทุนของเอกชนบ้างจาก Yield Curve ที่ปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่เห็นผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงหรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ กนง.ก็มองว่าจนถึงปัจจุบันยังเข้มแข็งอยู่ ไม่ได้กดดัน ค่าเงินอ่อนค่ากลับมาใกล้เคียงกับช่วงปลายปีที่แล้ว หลังจากต้นปีแข็งค่าขึ้นมา แต่ในอนาคตต้องติดตามใกล้ชิด เพราะมีความผันผวนค่อนข้างมาก”

    ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่่าเป็นเวลานาน ซึ่งอาจน่าไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

    อย่างไรก็ตามมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ต้องติดตามความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการของเงินเฟ้อในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีความไม่แน่นอนอยู่มาก กนง.จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป