ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระแห่งชาติด้านกัญชาเพื่อการแพทย์ : จากการค้นคว้าวิชาการ สู่การวิจัยสร้างยารักษาโรค

วาระแห่งชาติด้านกัญชาเพื่อการแพทย์ : จากการค้นคว้าวิชาการ สู่การวิจัยสร้างยารักษาโรค

16 พฤศจิกายน 2018


ที่มาภาพ : https://thehempmag.com/2018/08/why-cannabigerol-or-cbg-could-be-the-next-lucrative-cannabinoid/

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอร่างกฎหมายให้รัฐบาลปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เพื่อนำมาศึกษาวิจัยเป็นประโยชน์ทางการแพทย์  ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 พ.ย. 2561 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. โดยคลายล็อกให้ทดลองใช้กัญชามาวิจัยทางการแพทย์ในเบื้องต้น 5 ปี  แต่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และให้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ควบคุมดูแล

ความเคลื่อนไหวกัญชาทางการแพทย์ในไทย

ก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายสนับสนุนให้ปลดล็อกกัญชาเพื่อวิจัยทางการแพทย์ โดยให้เหตุผลระบุว่าในตำราแพทย์แผนไทยแต่โบราณ รวมทั้งการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ทั่วโลกจำนวนมากพบว่ากัญชาเป็นสมุนไพรใช้เป็นยารักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดได้

แต่ทั้งนี้ก็มีผู้คัดค้าน ยังไม่ยอมรับว่างานวิจัยที่มีอยู่สามารถตัดสินว่ารักษาโรคได้ในฐานะยารักษาโรค ขณะที่ผู้ป่วยไทยบางส่วนลักลอบนำเข้าและผลิตกัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้วในราคาแพง โดยไม่ทราบถึงสารปนเปื้อน และไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์

นอกจากนี้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีกระแสความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์อยู่หลายครั้ง ทั้งการค้นคว้าทางวิชาการ การเสนอโครงการวิจัย จัดประชุมสัมมนา อมรบหลักสูตร การยกร่าง พ.ร.บ.กัญชา รวมถึงสำรวจผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรคจริงๆ

และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จำนวน 22 คน โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธานกรรมการ

พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับไทยพับลิก้าว่า รัฐบาลรับทราบเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว เนื่องจาก 3-4 ปีที่ผ่านมามีการค้นคว้าทางวิชาการจากคณะแพทย์และนักวิชาการเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ และนำข้อมูลไปเสนอที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้วเมื่อปี 2559

โดยในเวลานั้น พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลงานด้านวิจัยของประเทศ ได้มอบหมายให้หน่วยงานด้านการวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ไปศึกษาและทบทวนรายงานเกี่ยวกับพืชกัญชาทางการแพทย์เพิ่มเติมจากข้อเสนอของกลุ่มแพทย์และนักวิชาการ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ต่อมาคณะแพทย์และนักวิชาการได้ไปทวงถามความคืบหน้าอีกครั้ง จนมีการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ มีการนำเสนอข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีผลอะไรที่ชัดเจนออกมาเช่นกัน

หลังจากนั้นคณะแพทย์และนักวิชาการได้นำข้อมูลไปเสนอ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับเชิญ ป.ป.ส. มารับฟัง ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าพอสมควร เช่น มีการยกร่างกฎหมาย แต่เมื่อ พล.อ. ไพบูลย์ ไปดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี เรื่องต่างๆ ก็หยุดชะงักลงไป

  • หมอนักวิจัยหนุนปลดล็อก “กัญชา” เพื่อการแพทย์ ผู้ป่วยไทยใช้รักษาโรคจำนวนมาก แต่นำเข้าราคาแพง – ซื้อขายผิดกฎหมาย
  • พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

    จากการค้นคว้าวิชาการ สู่การวิจัยเตรียมสร้างยารักษาโรค

    พญ.อรพรรณ์เล่าว่า หลังจากยังไม่มีใครตัดสินใจเรื่องนี้ คณะแพทย์และนักวิชาการบางส่วนจึงมาขับเคลื่อนกันเอง โดยมีการจัดอบรมเรื่องกัญชาการแพทย์หลายครั้งและพบว่าผู้ที่เข้ารับการอบรมสัมมนา ล้วนเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องนี้จำนวนมาก เช่น แพทย์แผนไทย ผู้ป่วย นักวิจัยเป็นต้น

    “ผู้ที่อบรมบางรายบอกว่าตัวเขาก็ใช้กัญชารักษา ส่วนใหญ่ซื้อเมล็ดพันธุ์เมล็ดละ 500 บาท หรือซื้อสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีค่า CBD (Cannabidiol) หรือ THC (Tetrahydrocannabinol) สูงๆ  นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยลักลอบซุกซ่อนมากับหมวก กับแผ่นซีดี แล้วมาปลูกและขายกันใต้ดิน บางคนก็ไปสกัดผิดวิธี แถมยังเกิดพ่อค้าสกัดยาบานเป็นดอกเห็ด บางคนเป็นพ่อค้าแต่ทำตัวเป็นคนป่วย ไม่มีใครสอบสวน ฉะนั้นการที่ทุกอย่างมันอยู่ใต้ดิน ประชาชนจึงมีความเสี่ยง” พญ.อรพรรณ์กล่าว

    พญ.อรพรรณ์กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้สมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ จึงจัดโครงการสอบสวนผู้ใช้ยากัญชารักษาตนเองใน 3 กลุ่มโรค คือเบาหวาน กลุ่มโรคสมองพิการ และกลุ่มโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังจัดหลักสูตรอบรม “การแพทย์แคนนาบินอยด์และกัญชาการแพทย์” เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับพืชกัญชาที่จะมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกต้องและสามารถวิจัยพืชกัญชาได้ โดยอบรมมาแล้ว 5 รุ่น มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 400 คน ทั้งนักวิชาการสายเกษตร สายวิศวกร รวมทั้งนักวิจัย แพทย์ และเภสัชกร

    หลังจากอบรมครบไปแล้ว 5 รุ่นแล้ว ขณะนี้ได้คนที่สนใจในแต่ละรุ่นแต่ละเรื่องมาเขียนโครงการวิจัย ขอรับทุนสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ด้วยการมาทำให้เป็นยา

    “ขณะนี้เรากำลังจัดโครงการวิจัยเรื่อง ‘ยาการแพทย์แคนนาบินอยด์จากพืชสมุนไพรกัญชา’ มีนักวิจัยเสนอโครงการมาแล้วประมาณ 100 คน แต่จะคัดให้เหลือราว 40 คน เพื่อใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและสร้างรายได้เข้าประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและวัดประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาการแพทย์แคนนาบินอยด์จากพืชสมุนไพรกัญชา รักษาโรคที่คนไทยประสบในประเภทยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย รักษาโรคลมชัก พาร์กินสัน ออทิซึม มะเร็ง ความเสื่อมของระบบสมองและประสาทส่วนกลาง ความผิดปกติของเมตาบอลิซึม เช่น เบาหวาน และการป่วยด้วยอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ”

    โครงการนี้มีวัตถุประสงค์จะสร้างยา แต่จะทำได้ต้องมีขั้นที่ 2 เพื่อสกัดวิเคราะห์ แยกสารออกฤทธิ์ประเภทแคนนาบินอยด์และไฟโตเคมิคอลจากพืชสมุนไพรกัญชา เพื่อใช้ทำยาพืชสมุนไพรสายพันธุ์พื้นถิ่นประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เรายังไม่มีความรู้ ต้องศึกษา รวมทั้งสายพันธุ์ที่พัฒนาในทางสากลแล้ว เพื่อสร้างองค์ความรู้และต่อยอดสำหรับผลิตยา

    “เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพืชสมุนไพรกัญชาทั้งทางพฤษศาสตร์ พันธุศาสตร์ ลักษณะ สารเคมีที่พืชผลิต และถิ่นกำเนิดของกัญชา รวมทั้งศึกษาวัฒนธรรมการใช้กัญชา เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล”

    พญ.อรพรรณ์กล่าวว่าส่วนวิธีการดำเนินงานวิจัย มีตั้งแต่ขั้นเตรียมสายพันธุ์ ปลูกเก็บเกี่ยวรักษาพืชสมุนไพร ไปจนถึงควบคุมให้เป็นยา ฉะนั้น เราจะทำโครงการไว้ก่อน หากปลดล็อกเมื่อไหร่ก็ทำได้เลย เราเตรียมนักวิจัย เตรียมองค์ความรู้ เตรียมคำถามวิจัยให้ชัดเพื่อก้าวเข้าสู่การวิจัย ซึ่งมีหน่วยที่จะเข้ามาร่วมกับเราแล้ว เช่น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

    พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย

    กัญชาในกระแสโลก

    พญ.อรพรรณ์กล่าวต่อว่า จากการศึกษาข้อมูลรวมรายงานการศึกษากัญชาการแพทย์พบว่ามีกว่า 2 หมื่นรายงานทั่วโลก ในตำราอินเดีย จีน ยุโรป เป็นที่รู้กันว่ากัญชามีฤทธิ์รักษาอาการปวด  เช่น ในอินเดียใช้รักษาอาการปวดหลังคลอดบุตร ทั้งนี้สารสกัดจากกัญชาที่ถูกค้นพบมีชื่อว่า “แคนนาบินอยด์” (Cannabinoid) มี 2 ชนิดหลัก คือ

    1. THC ออกฤทธิ์กับเซลล์ในสมองและระบบประสาท ยกเว้นก้านสมอง ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย คลายความเครียด

    2. CBD ไม่ออกฤทธิ์กับจิตและประสาท แต่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ กระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดให้ทำงาน ช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จัดการกับเชื้อโรคหรือภาวะอักเสบ จนมีการสันนิษฐานว่าน่าจะรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องต่างๆได้ เช่น มะเร็ง ซึ่งเริ่มมีการใช้เพื่อรักษาแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

    นอกจากนี้มีการค้นพบสารแคนนาบินอยด์อีกประมาณ 70 ชนิด แต่ยังไม่ถูกกล่าวถึง ซึ่งยังเป็นคำถามวิจัยขนาดใหญ่ของโลกและไทย

    อย่างไรก็ตาม การวัดผลไม่ได้เกิดจากนักวิชาการ แต่ได้ข้อมูลมาจากการบอกเล่าของผู้ใช้ชาวตะวันตกที่นำกัญชาไปรักษาตัวเอง หรือนักวิจัย เช่น นักเคมี นักวิเคราะห์ หรือแพทย์ที่สนใจ แต่ยังไม่พบว่าแพทย์กระแสหลักศึกษาเรื่องนี้

    อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา มีบริษัทยายักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาสนใจนำสารสกัดกัญชาไปวัดผลกับโรคลมชักในเด็ก โดยขออนุญาตตามระบบยาแผนปัจจุบัน จนในที่สุดได้รับอนุญาตให้เป็นยา เหมือนยาปัจจุบันชื่อ Epidiolex ใช้รักษาโรคลมชัก ผลิตจากกัญชา

    นอกจากนี้บริษัทดังกล่าวยังวัดผลยาชื่อ Sativex โดยมีสัดส่วนของสาร THC และ CBD อย่างละเท่าๆ กัน แต่ไม่มีการบอกว่ามาจากกัญชาสายพันธุ์ไหน จนในที่สุดสามารถจดทะเบียนเป็นยาสำหรับรักษาโรค  Multiple Scleroderma หรือโรคผิวหนังแข็ง สามารถจำหน่ายเป็นยาแผนปัจจุบันได้ ส่งผลให้มีอีกหลายบริษัทไปผลิตสารที่มีหน้าตาแบบ THC มาสกัดเป็นยา แต่เป็นสารสังเคราะห์ ไม่ใช่ได้มาจากธรรมชาติ แต่ก็สะท้อนว่าในต่างประเทศมียากัญชาขายทั้งกัญชาธรรมชาติและกัญชาสังเคราะห์

    นอกจากนี้ในทางการแพทย์ยังพบว่า สามารถใช้สารสกัดกัญชาได้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคสมองและระบบประสาทส่วนกลางที่การแพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ ต้องทานยาตลอดชีวิต เช่น  พาร์กินสัน ซึ่งได้ผลดี โดยมีรายงานการศึกษาออกมาจำนวนมาก

    “ประเทศไทยมาถึงจุดที่ข้อมูลมันถาโถมเข้ามามาก แต่คนยังไม่ค่อยสนใจมากนัก เพราะเราอยู่ในระบบที่ไม่เคยพูดถึงสมุนไพรว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่เราอยู่ในฐานะใช้ยาต่างประเทศ เราเป็นผู้ใช้ ไม่ใช่เป็นผู้คิดค้น แต่ในภาคประชาชนไปเร็ว เพราะสังคมมันโกลบอล มีการสั่งซื้อยากัญชามารักษาแบบผิดกฎหมายมาหลายปี สั่งซื้อมาแพง และสั่งเมล็ดกัญชามาซ่อนปลูกและรักษากันเอง”

    อย่างไรก็ดี ในส่วนการค้นพบหรือศึกษาในประเทศไทยยังเรียกว่าเป็นข้อมูลระบาดวิทยาในกลุ่มประชากร มีเป็นลักษณะจำกัด เป็นข้อมูลที่เกิดจากการที่นักวิชาการไปติดตามมาจากผู้ใช้  ไม่มีตัวควบคุม ไม่มีตัวเปรียบเทียบ เป็นเพียงข้อมูลการบอกเล่าเท่านั้น

    “เราจึงอยากให้มีการวิจัยวัดผลที่เป็นมาตรฐาน โดยที่ตัวยากัญชาก็ต้องทำการผลิตในรูปแบบที่เป็นสากล วัดผล และสามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ของประเทศไทย สามารถสร้างเป็นตัวยาทดแทนได้ถ้าผลมันใช่ ขณะเดียวกันก็สามารถส่งออกได้ด้วย ซึ่งมันไม่ได้ยากสำหรับประเทศไทยในการผลิตยาตำรับ สกัดออกมาเป็นชนิดต่างๆ จากสายพันธุ์พันธุ์ต่างๆ ถ้าสามารถทำได้ เราจะสามารถเอามาวัดผลได้อย่างไม่มีอคติ” พญ.อรพรรณ์ระบุ

    ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/8a/Cannabis
    _Sativa_Querschnitt.JPG/1024px-Cannabis_Sativa_Querschnitt.JPG

    วาระแห่งชาติด้านกัญชาเพื่อการแพทย์

    ปัจจุบันหน่วยงานในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญสามารถสกัดสารเคมีในพืช รวมทั้งสกัดสารกัญชาแคนนาบินอยด์ได้คือ “กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร” สังกัดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ทำมาแล้ว 15 ปี มีโรงงานตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แต่ยังไม่สามารถสกัดสารจากกัญชาได้เพราะยังติดเรื่องข้อกฎหมาย

    พญ.อรพรรณ์กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  จากการไปดูงานที่กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร พบว่ามีเครื่องมือและเครื่องจักรสามารถสกัดสารเคมีในพืชและในกัญชาได้ แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้องค์การเภสัชฯ เป็นคนทำ และเมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จำนวน 22 คน มี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชฯ เป็นประธาน

    “จึงอยากให้ประเทศไทยจับมือกันภายใต้เรื่องนี้ ใครชำนาญเรื่องไหนควรส่งเสริมกัน แล้วนำมารวมกันเป็นวาระแห่งชาติด้านกัญชา เราต้องการวาระแห่งชาติด้านกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  เรื่องนี้คนไทยจะต้องร่วมกันเอาทรัพยากรคน ทรัพยากรเงิน นำคนที่มีความรู้ความชำนาญ สนใจทำจริงๆ มามีส่วนป็นกรรมการ หรือไม่ก็มอบหมายให้กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพรพัฒนาไปเลย เพราะว่าเขาเชี่ยวชาญเรื่องสมุนไพรและมีเครื่องมือทำอยู่แล้ว”

    พญ.อรพรรณ์เห็นว่า การพัฒนาของประเทศไม่ควรจะมีอุปสรรค ควรจะต้องนำคนเก่งมาช่วยกัน เช่น เมื่อสามปีที่แล้วมีนายแพทย์จากโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีได้ศึกษาวิจัยเรื่องกัญชาเพื่อรักษามะเร็งตับ โดยขออนุญาตปลูกกัญชาที่โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี แล้วสกัดออกมาเพื่อวัดผลเป็นยา แต่หลังจากเสนอโครงการไปที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลายครั้ง ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะอาจจะขัดกับหลักกฎหมายยาเสพติดให้โทษ จนต้องตัดสินใจล้มเลิกโครงการไป

    หรือกรณี ศ. ภญ. ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรผู้คิดค้นสูตรยาต้านไวรัสโรคเอดส์ได้ แต่มีอุปสรรคการทำงานในเมืองไทย จนเธอต้องเลือกออกไปช่วยผู้ป่วยแถบทวีปแอฟริกา ผลิตยารักษาโรคเอดส์จนได้รับรางวัลไปทั่วโลก จนได้รับสมญานามให้เป็นเภสัชกรยิปซี

    “ตรงนี้เราอยากมองย้อนมาที่เรื่องกัญชา เราควรจะเอาบทเรียนที่เราเสียโอกาสมาเยอะ แล้วระดมความร่วมมืออันแท้จริง บนฐานทรัพยากรของเราที่มี ทรัพยากรพืชเรามี ทรัพยากรคนเราก็มี ความรู้แพทย์แผนไทยเราก็มีสั่งสม คนที่ทำมายาวนานสกัดออกมาก็มี อย่าให้คนมากีดกันเพียงเพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือประโยชน์องค์กรตัวเอง เช่น เรื่องสิทธิบัตร เพียงเพราะผู้วิจัยจะได้ประโยชน์จากสิทธิบัตรนั้น”