ThaiPublica > เกาะกระแส > “ส.ค้าปลีก” เตรียมยื่นอุทธรณ์สรรพากร ยันเปิดคืน VAT นักท่องเที่ยว 5 จุด ตอบโจทย์ “ชอปปิ้ง พาราไดซ์”

“ส.ค้าปลีก” เตรียมยื่นอุทธรณ์สรรพากร ยันเปิดคืน VAT นักท่องเที่ยว 5 จุด ตอบโจทย์ “ชอปปิ้ง พาราไดซ์”

3 ตุลาคม 2018


เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย (ขวา) ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมค้าปลีกไทย และกลุ่มรีเทลในนามบริษัทร่วมทุน แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด แถลงข่าว “เกิดอะไรขึ้นกับโครงการ Downtown VAT Refund For Tourists?”

หลังจากกรมสรรพากรประกาศผลการคัดเลือก “ตัวแทน” คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ จุดขายในเมือง (VAT Refund For Tourists) ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 โดยให้บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเพียงรายเดียว รวมทั้งชี้แจงเหตุผลการพิจารณา กรณีกรมสรรพากรตัดสินให้ผู้สมัคร 2 รายไม่ผ่านคุณสมบัติ โดยผู้สมัครรายแรก ไม่ได้ระบุในหนังสือรับรองนิติบุคคลว่าจะประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนคืน VAT ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ส่วนรายที่ 2 คือ บริษัทร่วมทุน แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และสยามพารากอน ไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะยื่นคำขอเปิดจุดให้บริการ 5 จุด ขณะที่แนวปฏิบัติของกรมสรรพากร กำหนดให้เปิดจุดคืน VAT ได้ไม่เกิน 3 จุดนั้น

  • สรรพากรนำร่อง คืน VAT นักท่องเที่ยว ณ จุดขาย – รับสมัคร “เอเย่นต์คืนภาษี” 10-17 ก.ย. นี้
  • “เซเว่นฯ” คว้างานคืน VAT นักท่องเที่ยวต่างชาติ สรรพากรยืนยันคัดเลือกโปร่งใส
  • เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมค้าปลีกไทย และกลุ่มรีเทลในนามบริษัทร่วมทุน แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด แถลงข่าว “เกิดอะไรขึ้นกับโครงการ Downtown VAT Refund For Tourists?” ณ ห้อง sapphire ชั้น 23 โรงแรมอโนมา ถนนราชดำริ

    นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากการที่กรมสรรพากรประกาศรับสมัครตัวแทนคืน VAT ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ในช่วงวันที่ 10-17 กันยายนที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า มีผู้ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เป็นตัวแทนคืน VAT เพียงรายเดียว คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เปิดให้บริการคืน VAT แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผ่านร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” 3 สาขา ได้แก่ สาขาลิโด้, สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขาผดุงด้าว (เยาวราช) นั้น ส่งผลให้บริษัทร่วมทุน แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบด้วย ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และ สยามพารากอน ซึ่งเตรียมความพร้อม Counter Service VAT Refund For Tourist ไว้เรียบร้อยแล้ว ต้องพลาดโอกาสในการสนับสนุนงานภาครัฐไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่ได้เตรียมความพร้อมร่วมกับกรมสรรพากรมานานเกือบ 1 ปี และกรมสรรพากรได้รับทราบเหตุผลตั้งแต่แรกแล้วว่าทำไมต้องเปิดให้บริการคืน VAT จำนวน 5 จุด ทั้งนี้ ก็เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและเพื่อผลสัมฤทธิ์ของโครงการฯ

    นอกจากนี้ ยังมีการประชุมพิจารณาระบบซอร์ฟแวร์ และขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งเดินสำรวจจุดคืน VAT ทั้ง 5 จุดร่วมกัน ซึ่งทางกรมสรรพากรทราบดีว่าทั้ง 5 จุดมีความพร้อมในการดำเนินงานที่สมบูรณ์ แต่ผลการอนุมัติตัวแทนคืน VAT กลับเหลือแค่ผู้ประกอบการรายเดียว และมีจุดคืน VAT แค่ 3 จุด

    นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า จากการที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ทำงานร่วมกับกรมสรรพากรมาเกือบ 1 ปี ยืนยันว่าทั้ง 5 จุด ที่บริษัทร่วมทุนแวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด นำเสนอต่อกรมสรรพากรนั้น เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเปิดจุดให้บริการคืน VAT แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะอยู่ในแนวรถไฟฟ้า ครอบคลุมห้างสรรพสินค้าชั้นนำถึง 5 แห่ง ตั้งแต่สยามพารากอน ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรียม และปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติขอให้ห้างสรรพสินค้า 5 แห่งออกแบบฟอร์มการขอคืน VAT หรือ ภ.พ. 10 มากกว่า 900,000 ฉบับต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 60% ของแบบฟอร์มการขอคืน VAT นักท่องเที่ยวทั่วประเทศ คิดเป็นมูลค่าสินค้าตามที่ระบุในใบกำกับภาษี 38,000 ล้านบาท หากกรมสรรพากรอนุมัติให้บริษัทร่วมทุนแวตรีฟันด์ฯ เปิดให้บริการ 5 จุด ในช่วงทดลอง 6 เดือน คาดว่าจะเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าอีกหลายพันแห่งที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท จึงอยากจะให้กรมสรรพากรพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ต้องหอบหิ้วสินค้าที่ชอปปิ้งเพื่อไปหาที่คืนภาษี VAT นอกจุดขาย”

    “หลังจากที่บริษัทร่วมทุนแวตรีฟันด์ฯได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาจากกรมสรรพากรอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ ทางบริษัทร่วมทุนฯ ก็คงต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ตามที่กำหนดในประกาศอธิบดีกรมสรพากรต่อไป โดยยืนยันว่าจะเปิดจุดให้บริการคืน VAT แก่นักท่องเที่ยว 5 แห่งเหมือนเดิม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวมาชอปปิ้งกันอย่างหนาแน่น โครงการนี้เป็นโครงการทดลอง 6 เดือน หากเลือกตัวอย่างในการทดลองที่เหมาะสม ผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ก็จะออกมาดี และที่สำคัญ ต้องอย่าลืมว่านักท่องเที่ยวพักอยู่ในประเทศไทยไม่นานนัก มีเวลาชอปปิ้งแค่ 1-2 วัน อาจไม่มีเวลาไปตระเวนหาจุดคืน VAT ขณะที่ร้านสะดวกซื้อเองก็มีพื้นที่จำกัด ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มารอเข้าคิวขอคืน VAT ได้หรือเปล่า และเมื่อนักท่องเที่ยวได้ภาษี VAT คืนเป็นเงินสด ตามวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือ ต้องการให้นักท่องเที่ยวนำเงินภาษีที่ได้คืนกลับมาชอปปิ้งต่อหลายรอบ แต่สินค้าที่วางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อมีมูลค่าเฉลี่ย 100 บาท ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถขอให้ร้านสะดวกซื้อออกเอกสารขอคืน VAT ได้ เพราะมูลค่าสินค้าไม่ถึง 2,000 บาทต่อชิ้น ตามที่กรมสรรพากรกำหนด” นายวรวุฒิกล่าว

    นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและบริษัทร่วมทุนฯ ยืนยันว่าการเปิดจุดให้บริการคืน VAT ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั้ง 5 แห่ง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์แหล่งชอปปิ้งที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด โดยมีข้อสรุปดังนี้

      1. ในประเทศที่มีการคืน VAT แก่นักท่องเที่ยว ไม่มีประเทศใดที่ตั้งจุดคืน VAT แก่นักท่องเที่ยว ในร้านค้าขนาดเล็ก ทุกประเทศล้วนแล้วแต่กำหนดจุดคืน VAT แก่นักท่องเที่ยวไว้ในห้างสรรพสินค้า หรือในศูนย์การค้าทั้งนั้น

      2. ห้าจุดยุทธศาสตร์แหล่งชอปปิ้ง เป็นคำตอบที่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้เพราะเป็นแหล่งที่มีร้านค้าจดทะเบียน VAT Refund For Tourists มากที่สุด จึงช่วยลดความแออัดให้กับนักท่องเที่ยวในสนามบินได้เป็นอย่างดี ซึ่งร้านค้าขนาดเล็กอาจไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

        2.1 ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใน 5 จุด ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีระบบในการออกใบ ภ.พ. 10 อยู่แล้ว จึงสามารถออกใบ ภ.พ 10 ได้ดีกว่าร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้เข้าอยู่ในระบบการออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว

        2.2 ข้อจำกัดของพื้นที่ร้านค้าขนาดเล็กให้บริการที่ไม่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความไม่สะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่อาจต้องต่อคิวรอเป็นเวลานาน

      3. ห้าจุดยุทธศาสตร์นี้ติดอันดับต้นๆ ของจุดที่นักท่องเที่ยวรู้จัก เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะมีตารางการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างแน่นอนและมีเวลาจำกัด จุดที่กำหนดให้เป็นจุดคืน VAT แก่นักท่องเที่ยวจะต้องเป็นจุดที่สังเกตได้ง่าย เป็นแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวรู้จัก

      4. การพิจารณาเปิดจุดให้บริการคืน VAT จาก 3 จุด เป็น 5 จุด มีแต่จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักท่องเที่ยวที่ขอคืน VAT โดยเฉพาะใน 5 โลเคชั่นนี้ ซึ่งนับเป็นใจกลางของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นจุดหมายปลายทางของการชอปปิ้ง (shopping destination) ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300,000 คนต่อวัน ที่เดินจับจ่ายอยู่ในบริเวณนี้

      นอกจากนี้ ทั้ง 5 จุดดังกล่าวยังเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที อีกด้วย บริษัทร่วมทุนฯ จึงมองว่าหากกรมสรรพากรอนุมัติ 5 จุดนี้ จะช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจไทยได้มาก และยังเป็นการระบายความแออัดของนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอคืน VAT ในสนามบินได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทำให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการขนาดกลางถึงเล็กในเมืองมีรายได้จากการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

      5. การขายสินค้าและบริการของห้างสรรพสินค้ามีขั้นตอนและกระบวนการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร จนถึงการออกใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวยื่นแบบคําร้องขอคืน VAT สําหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) มากกว่า 900,000 ใบต่อปีในบริเวณ 5 จุดดังกล่าว คิดเป็น 60% ของปริมาณการขอใบ ภ.พ. 10 ทั่วประเทศ จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะกำหนดให้ทั้ง 5 จุดเป็นจุดการคืน VAT แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ ครอบคลุมจำนวนนักท่องเที่ยว ตอบสนองความพึงพอใจ และการกระจายรายได้สู่กิจการทุกระดับ

      6. จำนวนเงินในการขอคืน VAT ต้องมียอดซื้อสินค้า 2,000 บาทขึ้นไป และยกเว้นสินค้าประเภทอาหาร ผู้ที่จะสามารถออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ได้ต้องเป็นร้านค้าจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากรเท่านั้น ดังนั้น นักท่องเที่ยวจะจับจ่ายใช้สอยสินค้าในร้านค้าที่สามารถคืน VAT ได้จะมายื่นขอใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ที่เคาน์เตอร์บริการ VAT Refund For Tourist ณ ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า และจะทำการขอคืน VAT ที่เคาน์เตอร์บริการ VAT Refund For Tourist ในบริเวณเดียวกัน หรือสถานที่ใกล้กับจุดที่ลูกค้าซื้อสินค้ามากที่สุด ซึ่งหมายความถึงความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่าการต้องมาทำการขอคืนภาษีในร้านค้าขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลออกไป

      7. เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืน VAT ในสกุลเงินบาท นักท่องเที่ยวก็จะจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่า 4 พันล้านในช่วงการทดลอง 6 เดือน

      8. การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการให้แก่นักท่องเที่ยวทั้ง 5 จุดดังกล่าว มีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน, ธุรกิจการบิน, สมาคมการค้า รวมทั้งมีสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของตัวเองที่สามารถช่วยในการโปรโมทการคืน VAT ให้แก่นักท่องเที่ยวในเมืองได้เป็นอย่างดี สร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นวงกว้าง รวดเร็ว

      9. การที่กรมสรรพากรอนุมัติจุดคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยวให้มีจำนวนมาก ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวอยากที่จะจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายและไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งอยู่ในบรรยากาศของการจับจ่าย เนื่องจากเป็นไฮซีซั่นและเป็นช่วงเทศกาล

    สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ภายใต้การบริหารงานบริษัทแวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด พร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับรัฐบาล ด้วยความชำนาญด้านค้าปลีก และหากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ก็หวังว่ารัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ร้านค้าที่เข้าเกณฑ์ทั่วประเทศได้มีเคาน์เตอร์แวตรีฟันด์ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป