ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ลั่นยังไม่เผยจุดยืนการเมือง หลอกให้งงไปก่อน – ครม. ชดเชย VAT คนจน 6% แต่ไม่เกิน 500 บาท/เดือน

นายกฯ ลั่นยังไม่เผยจุดยืนการเมือง หลอกให้งงไปก่อน – ครม. ชดเชย VAT คนจน 6% แต่ไม่เกิน 500 บาท/เดือน

18 กันยายน 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีกำหนดการร่วมประชุม ครม. อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 7 ของปี 2561 ณ จังหวัดเลยและเพชรบูรณ์ โดยในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ ณ หอประชุมขุมทองวิไล มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พบปะประชาชนจังหวัดเลย โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดถนน 4 เลน หมายเลข 201 ตอนปากภู-เชียงคาน เพื่อลดความแออัดและรองรับปริมาณการจราจรและการเดินทางของประชาชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการขนส่ง โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการใช้ท่าอากาศยานเลย เพื่อเตรียมการเป็นศูนย์กลางทางการบิน

มอบหนังสือป่าชุมชน 5 จังหวัด – แก้ปัญหาไร้ที่ทำกิน

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้เป็นสักขีพยานในการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ให้แก่ประธานป่าชุมชน 5 จังหวัด (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) เพื่อแก้ปัญหาไร้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน และรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ พบปะประชาชนจังหวัดเลยและกล่าวตอนหนึ่งว่า ดีใจที่ได้มาพบปะและเห็นรอยยิ้มของประชาชน พร้อมกับรู้สึกปลื้มใจต่อการต้อนรับของประชาชนจังหวัดเลย

“ถ้าประชาชนรักผม ผมก็รักเช่นกัน ถึงแม้จะไม่รักผม ผมก็จะรักเหมือนเดิม ทุกครั้งที่มีความรู้สึกท้อแท้ก็จะนึกถึงหน้าประชาชนทำให้มีกำลังใจขึ้น หากประชาชนท้อแท้ก็ขอให้นึกถึงหน้าผม” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวพร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ เพราะเป็นเมืองแห่งทะเลภูเขา มีทั้งอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ภูเรือ เชียงคาน รวมทั้งพระธาตุศรีสองรัก และภูลมโล ที่เป็นดงนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งสถานที่ทั้งหมดล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชิงนิเวศ มีทั้งศิลปะ วัฒนธรรม มีอัตลักษณ์โดดเด่น ทั้งประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน การตักบาตรข้าวเหนียว อันเป็นประเพณีพื้นเมืองที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว และสามารถดึงดูดให้เดินทางมาในพื้นที่

เยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่า – หนุนชุมชนปลูกไม้สวนป่า

ต่อมาในช่วงเย็น พล.อ. ประยุทธ์ เยี่ยมชมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจและการประเมินมูลค่าไม้มีค่า เช่น ต้นสักทอง ต้นมะฮอกกานี ต้นประดู่ ต้นมะขาม ต้นประคำดีควาย เป็นต้น ณ สวนป่าเกษตรห้วยแสนคำ เลขที่ 309 หมู่ 7 ตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายวรพจน์ แววศรีงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์ เกษามูล เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพปลูกสวนป่า ระดับจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2556 และเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกสร้างสวนป่า ระดับภาคเหนือ ปี พ.ศ. 2557 ให้การต้อนรับ และนำเยี่ยมชมพื้นที่ภายในบริเวณสวนป่า ชมการสาธิตการวัดเส้นรอบวงต้นไม้ การประเมินราคาไม้มีค่า และการเพาะชำกล้าไม้ พร้อมรับฟังการบรรยายภาพรวมของการขยายผลการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า และการสร้างความยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยกรมป่าไม้นำเสนอการคัดเลือกพันธุ์ไม้ กล้าไม้ และคัดกรองพื้นที่ในการปลูกไม้มีค่า สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) นำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาสวนป่าไม้มีค่า และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเสนอการประเมินมูลค่าไม้มีค่าและกลไกการใช้ไม้มีค่าเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น สัก ยางนา ตะเคียน และมะค่าโมง เป็นต้น ให้แก่ตัวแทนเครือข่ายชุมชนปลูกไม้สวนป่า พร้อมพบปะพูดคุยและมอบนโยบายในโครงการ “ชุมชนไม้มีค่า เพื่อเกษตรกรไทย” ตอนหนึ่งว่า โครงการชุมชนไม้มีค่าเป็นโครงการสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกไม้มีค่า อันจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเก็บออม และสร้างอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลจึงสนับสนุนการขยายผลโครงการชุมชนไม้มีค่าโดยการผลักดันกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพิ่มขึ้น มีการเร่งรัดขยายผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนให้มีการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ปลูก และแปรรูป รวมทั้งการส่งเสริมการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

จากนั้นที่โรงแรมอิมพีเรียล ภูแก้ว ฮิลล์ รีสอร์ท ตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พล.อ. ประยุทธ์ เยี่ยมชมสินค้าเกษตรปลอดภัย ภายใต้สัญลักษณ์หรือแบรนด์ “กรีนมาร์เก็ตเพชรบูรณ์” เช่น ผักสลัด ผักกาดขาว เบบี้แครอท บล็อกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ถั่วฝักยาว ถั่วหวาน ผักฉ่อยซำ กล้วยน้ำว้า กวางตุ้ง ฟักมังกร เสาวรส เงาะ เมลอน ฟักทอง คะน้า ไข่ไก่อารมณ์ดี มะเขือเทศ อาหารเพื่อสุขภาพ เห็ดและสินค้าแปรรูปจากเห็ด ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ ข้าวลืมผัว ฯลฯ และผลิตภัณฑ์ของดีเพชรบูรณ์ เช่น แมคคาเดเมียเพชรบูรณ์อบเกลือ มะขามหวานเพชรบูรณ์พันธุ์ประกายเพชร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูดำ (หมูดำ เพ็ด-ซะ-บูน) ซึ่งเป็นการเลี้ยงหมูดำแบบธรรมชาติด้วยสมุนไพรและปลอดภัยจากสารพิษ

พบผู้แทนเครือข่ายเขาค้อ – พัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน

ในภารกิจสุดท้ายของวัน พล.อ. ประยทธ์ ได้พบผู้แทนเครือข่ายชุมชนเขาค้อ จำนวน 40 คน เช่น ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ ผู้แทนเกษตรกรตำบลเขาค้อ สมาชิกชมรมธุรกิจท่องเที่ยวเขาค้อ ผู้แทนประชาชนตำบลเขาค้อ ผู้แทนประชาชนตำบลแคมป์สน เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเขาค้ออย่างยั่งยืน โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ เข้าร่วมด้วย ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การเดินทางมาตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ นอกจากต้องการส่งเสริมการปลูกพืชสวนป่า การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ (คลินิคหมอครอบครัว โรงพยาบาลเพชรบูรณ์) การพัฒนาแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ การจัดการที่ดินแล้ว ประเด็นในเรื่องของการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเขาค้ออย่างยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญ และต้องการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

สำหรับอำเภอเขาค้อ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ และเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จากการต่อสู้ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอดีต และด้วยสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปี จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากที่สุดแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามแนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวได้ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อแหล่งท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะขยะและสิ่งปฏิกูล ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม และการบุกรุกที่ดิน เป็นต้น การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่เขาค้ออย่างยั่งยืน จึงควรให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้ อาทิ การบริหารจัดการขยะ การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาที่ดิน การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ไฟฟ้า แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค การส่งเสริมเกษตรอาหารปลอดภัย และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ จากการหารือและร่วมสนทนาในประเด็นดังกล่าวกลุ่มผู้แทนเครือข่ายชุมชนเขาค้อ ได้เสนอแนวทางการพัฒนา ดังนี้

1. การพัฒนาการท่องเที่ยวเขาค้ออย่างยั่งยืน ได้เสนอแนวทางการพัฒนา อาทิ การสร้าง sky walk ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและสถานพยาบาล โครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายถนนเข้าแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาระบบไฟฟ้า การพัฒนาระบบการจัดการขยะและการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ และแก้ไขปัญหาเรื่องที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎกระทรวงฯ

2. การบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่ ได้เสนอขอให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ

3. การบริหารจัดการเกษตร (เกษตรปลอดภัย) ได้เสนอขอให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการเกษตร เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสู่มาตรฐานสากล

4. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้เสนอการสร้างฝายชะลอน้ำแทนฝายเดิมที่ชำรุด การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อรองรับน้ำจากจากป่าชุมชน โดย นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเสนอทั้ง 4 ข้อและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทักทายผู้นำเครือข่ายชุมชนเขาค้อที่มาเข้าพบด้วยความเป็นกันเอง ยืนยันเรื่องทุกอย่างที่เสนอมา นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งหมดแล้ว เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องบริหารจัดการทั้งหมดโดยได้มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างถ่องแท้ ซึ่งแนวทางการพัฒนาต่อไปนี้ ต้องพัฒนาและดำเนินการในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย โดยยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว รัฐบาลได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ มีการเชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองรอง การท่องเที่ยวชุมชน และเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สำหรับการเสนอขอให้มีสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตรที่ทันสมัย เส้นทางคมนาคมขนส่งให้สะดวกมากขึ้น นายกรัฐมนตรีรับจะนำไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ขณะที่การบริหารจัดการน้ำ รัฐบาลได้มีการดำเนินทั้งระบบ ทั้งการดูแลเรื่องน้ำบริโภค อุปโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คำนึงให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ โดยขณะนี้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแล้ว

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีก็มีนโยบายให้มีการส่งเสริมปลูกป่าชุมชนให้มากขึ้น เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ รวมทั้งการปลูกต้นไม้ที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนได้ในอนาคต เพราะสามารถใช้เป็นหลักประกันในการไปกู้เงินได้ พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เพื่อวางอนาคตประเทศ โดยมีเป้าหมายทำให้ประชาชนพ้นจากความยากจนในอนาคต ยืนยันสิ่งต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลดำเนินการไม่มีการเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มใดๆ ทั้งสิ้น การดำเนินการทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ และขอฝากให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกันทำเพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมย้ำให้รู้เท่าทันการใช้สื่อโซเชียลและรู้จักใช้สื่อดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผลประชุมแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด – เน้นดึงเชื่อมโยงภูมิภาค

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 ช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเปิดอาคารศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และเยี่ยมชมการดำเนินงานของคลินิกหมอครอบครัว ที่โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ก่อนจะเข้าประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 7/2561 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงแผนงานการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสารตอนบนว่ามีหลายเรื่องแต่มีสำคัญที่สุดคือการเชื่อมโยงระหว่างหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย หรือ LIMEC ซึ่งเกี่ยวพันกับเพื่อนบ้านของเราและต้องหารือว่าจะเชื่อมโยงได้อย่างไร ต้องพิจารณาในภาพรวมของรัฐบาลว่าจะสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียนอย่างไร รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMEC ที่เราได้เสนอแผนแม่บทไปแล้ว และสุดท้ายคือเชื่อมโยงในส่วนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงในภาคใต้ด้วย

“การเชื่อมโยงอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรื่องกฎระเบียบ ดิจิทัลอะไรพวกนี้มันต้องไปดูความพร้อมของแต่ละประเทศด้วย เพื่อนบ้านเราด้วย บางอย่างเรามีศักยภาพ บางอย่างประเทศกำลังพัฒนาอยู่ อันนี้ต้องเริ่มต้นระยะแรกให้ได้ นอกจากถนน รถไฟ เส้นทางแล้วจะต้องลงไปถึงกฎระเบียบ ดิจิทัล การให้บริการด้วย ทำให้การความสะดวกรวดเร็วขึ้น” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เรื่องที่ 2 ที่พูดคุยกันคือเรื่องโลจิสติกส์ ความเชื่อมโยงถนนหาทาง ซึ่ง 50-60% มันอยู่ในแผนของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะต้องดำเนินการ ก็ต้องตีกรอบคัดแยกออกมาให้ตรงความต้องการ หรือจำเป็น หรือสำคัญก่อน ที่ยังไม่รับทั้งหมดให้งบประมาณเลยเพราะถ้าดูแผนของกระทรวงก็ใช้งบประมาณรวมกว่า 200,000 ล้านบาท จะได้หรือไม่ ประเทศเรามีเท่าไหร่ จึงต้องกลับมาดูแผนแม่บทรายปี ราย 5 ปี เขียนไปกว่านี้

เรื่องที่ 3 คือแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นระบบการส่งน้ำ การพร่องน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมระบายน้ำ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ประชาชนด้วย เพราะไม่ว่าจะเรื่องน้ำหรือคมนาคม มันก็ติดไปทั้งหมดเพราะเป็นที่ดินของเอกชนไปทั้งหมด ดังนั้น ถ้าประชาชนอยากได้ประโยชน์ เราทุกคนต้องร่วมกันทำ

เรื่องที่ 4 คือการยกระดับสินค้าเกษตรจะต้องหาทางทำประโยชน์มีมูลค่าขึ้น ไม่ใช่ขายแต่วัสดุต้นทุนเพียงอย่างเดียว ขายข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว มันไม่มีทางราคาจะสูงขึ้นได้ในอนาคต ก็พูดคุยเป็นห่วงเรื่องยางพาราว่าจะทำให้ครบวงจรอย่างไร เราจะต้องไม่ขยายพื้นที่มากขึ้น อะไรก็ตามสินค้าราคาดีส่วนใหญ่ก็มักจะส่งเสริมกันต่อไปไม่มีขีดจำกัดมันไม่ได้ เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถหาตลาดได้เพียงพอ ตลาดต้องนำการผลิตทุกประเภทให้มีมูลค่าสูงขึ้น

เรื่องที่ 5 คือการท่องเที่ยว เพราะมีมูลค่าจำนวนมาก ก็ให้พิจารณาว่าการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทำได้อย่างไร เมืองหลักเมืองรอง การสัญจรไปมา จะขยายสนามบินมันเพียงพอหรือไม่ ทุกจังหวัดก็อยากมี แต่ต้องถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่บริษัทจะมาลงทุนได้ เพราะเขาก็มีค่าใช้จ่ายที่จะมา เราก็ต้องไปเชื่อมโยงกับสนามบินหลัก-รอง

เรื่องที่ 6 คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตพูดไปถึงกระทรวงสาธารณสุขว่าจะทำอย่างไร ตั้งแต่ปฐมภูมิ การป้องกันตัวเอง ไปจนถึงดูแลผู้ป่วยติดบ้านจะดูแลอย่างไร เรื่องการใช้ระบบดิจิทัลในการปรึกษาหมอขั้นต้นอะไรก็แล้วแต่ การนำส่งโรงพยาบาล การพัฒนาโรงพยาบาลประจำตำบล เมื่อเช้าก็มีเรื่องคลินิคประจำชุมชน หมอครอบครัว 1 ต่อ 10,000 คน เราก็ต้องทำให้ครบทั้งประเทศ ก็เอาหมอจากโรงพยาบาลมาส่วนหนึ่ง บรรเทาความแออัดของโรงพยาบาลได้ เว้นแต่ที่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง ก็ดูเรื่องการส่งต่อ อะไรพวกนี้

“ที่ผ่านมาปัญหามันตกหนักอยู่ที่รัฐบาลนี้ เพราะต้องแก้ปัญหาอยู่หลายอย่าง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสร้างความเข้าใจให้ได้ ทุกคนต้องรู้ว่าอะไรคือกฎหมาย ต้องไม่มีการปล่อยปละ อีกเรื่องคือการทำธุรกิจผิดกฎหมายก็เน้นย้ำไปทุกกระทรวง หลายเรื่องก็ดำเนินการได้อยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ชี้ยังไม่บอกโร้ดแมปการเมือง – หลอกให้งงไปก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องการปลดล็อกการเมืองว่าที่ผ่านมาก็ได้รับฟังข้อสังเกตมาจากรองนายกรัฐมนตรีว่าติดตรงไหนบ้าง ก็เริ่มคลายล็อกในช่วงนี้ แต่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายที่ออกมา ที่กำหนดให้เริ่มบังคับใช้ใน 90 วันไปข้างหน้า นับไปก็ช่วงธันวาคม หลังจากนั้นก็ต้องปลดล็อกให้หาเสียงอะไร

“ช่วงนี้ให้บ้านเมืองมันสงบก่อนได้หรือไม่ ถ้าผมเป็นนักการเมืองนะที่ออกมาแล้วผมว่าทำได้นะ ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย ถ้าทุกคนเจตนาจะทำให้บ้านเมืองเป็นปกติสุข แต่ถ้าทุกคนต้องการเวลาที่จะหาเสียงมากขึ้นแล้วมาใส่กันไปใส่กันมา ผมว่าไม่ได้อะไร เวลาที่มี ถ้าบอกว่าน้อยก็ต้องแถลงนโยบายว่าจะทำอะไร สังคมจะยอมรับได้หรือไม่ มันไปล้มล้างอะไรหรือไม่ สิ่งดีๆ มันมีอยู่แล้ว ถ้าจะไปเลิกมันหลายอย่างแล้วประชาชนมาตอบรับตรงนี้ มันยิ่งไปกันใหญ่นะประเทศชาติ ความมั่นคงปลอดภัย ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเริ่มพูดคุยกับพรรคการเมืองเมื่อใด เพราะกฎหมายเกี่ยวกับ ส.ส., ส.ว. และการเลือกตั้งได้ออกมาแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ต้องปลดล็อกอะไรกันก่อน ผมยังไม่พบ วันไหนก็ไม่รู้ ถึงเวลาผมพิจารณาเองคุณจะมาถามผมเอาอะไร ส่วนจุดยืนของผมที่บอกว่าจะประกาศจะมาสนใจอะไรกับผม ถ้าผมบอกว่าหลังกฎหมายออกมา นี่หลังหรือยัง หลังจากนี่ไปถึงปีหน้า ปีนู้นก็หลังหมดอะ ผมจะพูดเมื่อไหร่ก็เรื่องของผม ผมตัดสินใจเอง เรื่องอะไรผมจะออกมาให้โดนด่าตั้งแต่วันนี้เล่า คุณหาเรื่องผมทั้งหมดน่ะ”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ ขึ้นรถไปแล้วว่าในอาทิตย์หน้าจะบอกจุดยืนหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบเพียงสั้นๆว่า “ยังไม่บอก หลอกให้งงไป”

มติครม.มีดังนี้

เห็นชอบคุ้มครองสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรหรือที่อยู่

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรม โดยกำหนดบทนิยามเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ซื้อฝากและผู้ขายฝาก กำหนดหน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานที่ดินและกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับความสมบูรณ์ของสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. กำหนดบทนิยามของคำว่า “ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม” “ที่อยู่อาศัย” และ “รัฐมนตรี” เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

2. กำหนดให้การขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยต้องใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้และเป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้กำหนดให้การทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยจะต้องได้รับการตรวจสอบเนื้อหาของสัญญาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและหากมีข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับขายฝากในภายหลังต้องได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงจะมีผลใช้บังคับ

3. กำหนดให้การทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย จะกำหนดระยะเวลาไถ่ที่ดินต่ำกว่าหนึ่งปีมิได้ โดยการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะต้องไม่กระทบสิทธิของผู้ขายฝากที่จะไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากก่อนครบกำหนดระยะเวลาไถ่

4. กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ซื้อฝากและผู้ขายฝาก ได้แก่

    4.1 กำหนดให้ผู้ซื้อฝากมีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากใช้สิทธิไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนดระยะเวลา และกำหนดอัตราค่าสินไถ่ให้ชัดเจน หากไม่ได้กำหนดให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

    4.2 กำหนดให้ผู้ซื้อฝากสามารถเรียกหรือรับประโยชน์ตอบแทนได้กรณีที่ได้กำหนดสินไถ่เท่ากับหรือต่ำกว่าราคาขายฝากและผู้ขายฝากยังคงเป็นผู้ใช้ทรัพย์สินที่ขายฝาก

    4.3 กำหนดให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่และหากผู้ซื้อฝากบอกปัดหรือหลีกเลี่ยง หรือมีเหตุขัดข้องไม่อาจรับไถ่ได้ ให้ผู้ขายฝากวางสินไถ่ไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์

    4.4 กำหนดให้ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม ผู้รับโอนทรัพย์สินหรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น ใช้สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก

    4.5 กำหนดเงื่อนไขมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กำหนด

    4.6 กำหนดค่าใช้จ่ายที่ผู้ขายฝากจะต้องชำระให้แก่ผู้ซื้อฝากเมื่อครบระยะเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากตามสัญญาและให้ผู้ซื้อฝากในการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายฝาก กำหนดสิทธิของผู้ขายฝากในการได้รับทรัพย์สินที่ไถ่คืนไปโดยปลอดจากสิทธิใดๆ ที่ผู้ซื้อฝากได้ก่อไว้

5. กำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่และอำนาจดังนี้ (1) ตรวจสอบเนื้อหาของสัญญาและเอกสารหลักฐานให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรม ตามที่กฎหมายกำหนด (2) ชี้แจงรายละเอียดของสัญญา สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ข้อปฏิบัติและข้อควรระวังให้คู่สัญญาทราบโดยละเอียด (3) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและกำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูล หรือให้จัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

6. กำหนดให้การชำระเงินตามสัญญาขายฝากต้องกระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยให้เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบจำนวนเงินและเงื่อนไขในสัญญาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการรับเงินไว้เป็นสำคัญหากมีกรณีที่ผู้ซื้อฝากชำระเงินให้แก่ผู้ขายฝากไม่ครบตามราคาขายฝากที่กำหนดไว้ให้ถือว่าจำนวนเงินที่ผู้ขายฝากได้รับไปจริงเป็นราคาขายฝาก

7. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

8. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทั่วประเทศ

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า เพื่อให้ประเทศไทยมีชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชนใน 10 ปี รวมทั้งมีการปรับปรุงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เพื่อให้ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือนมีความมั่นคงในอาชีพ และคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้มีค่า 1.04 ล้านล้านบาท โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวิภาพ (องค์กรมหาชน) กรมป่าไม้ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลัก ทำงานครบวงจรตั้งแต่สร้างเครือข่าย การลงทะเบียนไม้ การคัดเลือกพันธุ์ที่ดี รวมไปถึงการเพาะพันธุ์ การส่งเสริมการปลูก การทำรหัสต้นไม้ การตีมูลค่าไม้จะทำอย่างไร และสุดท้ายคอการส่งเสริมการตลาดและแปรรูป

“ตัวอย่างมูลค่าที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกิดจากการปลูกต้นไม้ คิดว่าจะลดได้ 670,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าตามหลัก Carbon Credit เกือบ 560 ล้านบาท โดยที่ยังไม่ได้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้แต่อย่างใด เพียงแค่ปลูกเอาไว้เท่านั้น แล้วพอจะใช้ก็สามารถตัดมาใช้ได้ ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีหลักประกันในระยะยาว ปลูกตั้งแต่มีลูกใหม่ๆ พอจะเรียน จะทำอะไรก็สามารถตัดมาได้ทันที” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

คืน VAT คนจน 6% เพดาน 500 บาท – บังคับ 1% ออม

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อทดลองผลดีผลเสียของมาตรการดังกล่าวในเบื้องต้น

โดยจะชดเชยจากการใช้จ่ายทั้งจากวงเงินสวัสดิการที่ได้รับตามสิทธิและที่ภาครัฐได้เติมเงินเข้าไปในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (ในกรณีที่ผู้มีรายได้น้อยลกทะเบียนพัฒนาตนเองในระยะที่ 2 ของโครงการ) และเงินเพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการ นอกจากนี้ หากผู้มีรายได้น้อยหันมาเติมเงินรายได้อื่นๆ เข้ามาใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการดังกล่าว รัฐจะชดเชยภาษี VAT เช่นเดียวกัน แต่จำกัดเพดานไว้ที่ 500 บาทต่อคนต่อเดือน (รวมที่รับชดเชยจากวงเงินตามสิทธิปกติแล้ว) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสู่สังคมไร้เงินสดอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เงินชดเชยให้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดการชดเชยเงินภาษี VAT จะแบ่งเป็น 2 ส่วน 1) 5% เพื่อการใช้จ่าย โดยให้กรมบัญชีกลางโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรฯ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป 2) 1% เพื่อการออม ผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วจะให้โอนเข้าบัญชีโดยตรง แต่หากไม่ได้เป็นสมาชิกและไม่ขาดคุณสมบัติ ให้สมัครสมาชิกเพื่อรองรับการโอนเข้าบัญชีรายตัว และหากขาดคุณสมบัติ จะให้กระทรวการกคลังหารือวิธีการเปิดบัญชีส่วนนี้ต่อไป โดยให้พิจารณาผลตอบแทนที่เหมาะสมและให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีด้วย ขณะที่อีก 1% ยังต้องเสียภาษีตามปกติเช่นเดิม

“ในทางปฏิบัติธนาคารกรุงไทยจะเข้าไปติดตั้งเครื่อง POS หรือ Point of Sale เพื่อแยกแยะว่าราคาสินค้าที่ซื้อไปส่วนไหนเป็นราคาสินค้า ส่วนไหนเป็นภาษี VAT ละจะคำนวณเงินชดเชยออกมาให้ โดยข้อดีของโครงการนี้นอกจากจะช่วยภาระค่าใช้จ่ายแล้ว อีกด้านก็จะช่วยให้ร้านค้าเข้ามาจดทะเบียน VAT มากขึ้นจากที่ปัจจุบันมีร้านธงฟ้า 30,000 กว่าร้าน แต่มีที่จดทะเบียนอยู่เพียง 2,000 ร้าน หากยังไม่ไปจดก็อาจจะทำให้ลูกค้าหันไปใช้ร้านอื่นแทนได้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบระบบเกษตรกรรมยั่งยืน – ตั้งเป้า 5 ล้านไร่ใน 5 ปี

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. อนุมัติพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. …. ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีเกษตรกรรมเพื่อแปลงนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และนิเวศของแต่ละชุมชน ตั้งแต่การผลิต การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการตลาด จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2561-2564) ซึ่งกำหนดให้ในปี 2564 ประเทศไทยต้องมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน จำนวน 5 ล้านไร่ และเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ประเทศไทย มีข้อผูกพัน ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้จะสามารถตอบสนองการดำเนินการทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับเกษตรกร ระดับประเทศ จนถึงระดับนานาชาติ

กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยทุกภาคส่วน อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นกลไกในการกำหนดเป้าหมายและแนวทาง ของนโยบายและแผนระดับชาติ โดยมีการจัดตั้งสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินงานในอนาคตผ่านการจัดทำข้อเสนอหรือแนวทางการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เสนอให้หน่วยงานของรัฐพิจารณา และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ เกษตรกรรมยั่งยืน

“ครม. คลอดกฎหมายฉบับนี้ ออกมาแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจะไม่มีการปรับ อาจารย์ยักษ์ หรือนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยกว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกจากคณะรัฐมนตรี  เพราะกฎหมายฉบับนี้อาจารย์ยักษ์เป็นผู้เสนอ แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาการปรับ ครม. เป็นแค่ข่าวลือ นอกจากนี้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลต้องมีการคุ้มครองพื้นที่สำหรับการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบยั่งยืน และมีการปรับเป้าหมายจากเดิม 20% พื้นที่ทำการเกษตรของประเทศไทย เหลือเพียง 3% หรือประมาณ 5 ล้านไร่ใน 5 ปี”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีความทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก ดังนั้น ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นรูปแบบการเกษตรที่สามารถแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งยังหมายรวมถึงระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความเสื่อมโทรมของดิน และการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนได้ผ่านทางเกษตรกรเป็นผู้ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง หลัง ครม. อนุมัติหลักการแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ไปยังสานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณาต่อไป

เห็นชอบแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด เน้นเชื่อมโยงภูมิภาค

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวถึงผลการหารือระหว่างเอกชนและรัฐบาลในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) เพิ่มเติมจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอขอรับการสนับสนุนที่สำคัญในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ด้านการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย (LIMEC) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่ประชุมเห็นชอบพิจารณาให้การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ ไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบพัฒนาศักยภาพโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 117 และเส้นทางรองเชื่อมโยงจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยการปรับปรุงมาตรฐานทาง ขยาย 2 ช่องจราจร พร้อมช่องจราจรไต่เขา และ 4 ช่องจราจร (พื้นที่ชุมชน) ปรับปรุงขยายสะพาน และระบบรางระบายน้ำ

เห็นชอบการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าของภาคเหนือตอนล่างและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย การพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่สำหรับธุรกิจระหว่างประเทศ, การประชุมนานชาติ ไทย-เมียนมา-ลาว, การส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี จัดแสดงสินค้า ณ ประเทศเพื่อนบ้าน, การศึกษาเพื่อจัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าอาหารทะเลภาคเหนือตอนล่าง และการศึกษาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก สุโขทัย-ศรีเทพ-หลวงพระบาง-แหล่งวัฒนธรรมของสหภาพเมียนมา

และสุดท้ายคือเห็นชอบการอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออก ประเทศไทย ผ่านด่านชายแดนทางบกด้วยระบบ eVisa (ขอวีซ่าผ่านระบบออนไลน์) โดยขอให้เพิ่มประเทศเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ประเทศไทยจะเปิดให้บริการในปี 2561 โดยมอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงต่างประเทศ บูรณาการแผนงานวางยุทธศาสตร์ให้เกิดความเชื่อมโยง พร้อมเตรียมแผนงานรองรับสถานการณ์ในอนาคตต่อไป

2. ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบสนับสนุนพัฒนาท่าอากาศยานจังหวัดพิษณุโลก และพัฒนาตลาดธุรกิจการบิน เพื่อยกระดับสู่การให้บริการการบินระหว่างประเทศ ในส่วนของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามศักยภาพด้านโลจิสติกส์ มีระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเห็นชอบสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานเลย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานท่าอากาศยาน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของนักเดินทางและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มและมีแนวโน้มเติบโตขึ้น พร้อมเห็นชอบให้ศึกษาความเหมาะสมโครงการท่าเรือบก จังหวัดอุดรธานี เพื่อรองรับแพลตฟอร์มของระบบโลจิสติกส์ของรัฐบาล และเห็นชอบให้ศึกษาการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อทุกจังหวัดภายในกลุ่ม (เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) โดยทุกแผนงานโครงการให้คำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก และให้เร่งดำเนินการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ในทันที

3. ด้านแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ปัญหาอุทกภัย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้เร่งรัดดำเนินการพัฒนาระบบชลประทานลุ่มน้ำป่าสัก โดยเสริมความจุอ่างเก็บน้ำคลองลำกง จังหวัดเพชรบูรณ์ และพัฒนาโครงข่ายระบบโทรมาตรเครื่องวัดปริมาณน้ำ และก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งท้ายประตูระบายน้ำคมรุม จังหวัดอุตรดิตถ์

มีโครงการที่ให้ศึกษาความเหมาะสม ได้แก่ การก่อสร้างเขื่อนทดน้ำท้ายเมืองพิษณุโลก ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก, ระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก เชื่อมโยงจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร, การขยายคลองลอยจากเขื่อนผาจุก-ศรีสัชนาลัย-สวรรคโลก

และมีโครงการขอรับการสนับสนุนที่ที่ประชุมเห็นชอบคือการก่อสร้างระบบระบายน้ำในเมือง จ.บึงกาฬ เช่น การปรับปรุงภนนคอนกรีตเสริ่มเหล็กและระบบระบายน้ำ, การก่อสร้างปรับปรุงระบบระยาบน้ำ ฝั่งซ้ายของทางหลวงหมายเลข 222, ถนนผังเมืองสาย ข.1 และสาย ก.6, การก่อสร้างประตูระบายน้ำและห้วยน้ำล้นห้วยกำแพง เขื่อนดินหนองเบ็น การปรับปรุงห้วยหนองเบ็นจากหนองโง้งถึงฝายฝั่งแดน พัฒนาระบบชลประทานรอบหนองกุดทิง พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยกำแพง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังให้ศึกษาความเหมาะสมพัฒนาลำน้ำสวยเพื่อภาคการเกษตร รวมถึงศึกษาสำรวจออกแบบการพัฒนาลุ่มน้ำในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เช่น แหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยโมง แหล่งน้ำหนองหาน ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน ตอนกลาง แหล่งน้ำบึงชวน ลุ่มน้ำเลย ลุ่มน้ำหมัน เป็นต้น

4. ด้านยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต กลุ่มจังหวัดภาคตะวันอกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่ประชุมเห็นชอบขยายพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มจังหวัดโดยการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่การเกษตรพร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน และเห็นชอบตั้งศูนย์ Excellent Center เพื่อวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้าน SME โดยใช้ชื่อว่า “Sabai Dee Excellent Centre for Local Development” ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมทางการเกษตร รวมทั้งขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ด้านการแปรรูป การตลาดและส่งเสริมสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันอกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกาศเป็นกลุ่มจังหวัดคลัสเตอร์ยางพารา เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาเรื่องยางพาราอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตยางพารา รวมถึงเห็นชอบพิจารณาประกาศให้จังหวัดอุดรธานีเป็นเมืองสมุนไพรเพิ่มจากที่กำหนดไว้

5. ด้านการท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้พิจารณาศึกษายกระดับการท่องเที่ยวและเกษตรปลอดภัยด้วย Digital Platform พัฒนาผู้ประกอบการและผู้ประกอบการอาชีพด้านเกษตรกรรมปลอดภัย การพักผ่อนและการท่องเที่ยว การบริหารสุขภาพให้สามารถใช้ Digital Technology ที่เหมาะสม และเห็นชอบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รวมทั้งเห็นชอบให้พิจารณาดำเนินการศึกษาเพื่อผลักดันแหล่งธรณีวิทยาจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอุทยานธรณีโลก พร้อมทั้งเห็นชอบให้พิจารณาพัฒนาบึงทุ่งกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว

กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัด โดยจัดให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ด่านพรมแดนทางบก พร้อมทั้งให้พิจารณาดำเนินการจัดมี Visa on Arrival โดยนำร่องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และท่าอาศยานนานาชาติอุดรธานี

6. ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ที่ประชุมเห็นชอบเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างอาคารผ่าตัดรักษา โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และอาคารผู้ป่วยนอก ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาลหล่มสัก โดยปรับแผนมาดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพการบริการสุขภาพโรงพยาบาลในจังหวัดเลย (โรงพยาบาลเลย, โรงพยาบาลวังสะพุง) เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขด้านการให้บริการผ่าตัดและลดความแออัดในโรงพยาบาล

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายระหว่างการประชุมว่า การประชุมหารือในวันนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือการทำงานของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นจากส่วนราชการในพื้นที่ด้วย ในส่วนของโครงการต่างๆ ที่ได้มีการเสนอในที่ประชุมนั้น รัฐบาลพร้อมรับหลักการเพื่อนำไปพิจารณาซึ่งจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณเป็นหลัก ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันสร้างห่วงโซ่มูลค่า สร้างชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง วางแผนการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

พร้อมกับเน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเกษตรต้องส่งเสริมให้เป็นสินค้า GI ระบุแหล่งที่มาของสินค้าอย่างชัดเจน สามารถตรวจสอบพื้นที่ในการเพาะปลูกได้ด้วย ส่วนเรื่องของยางพาราต้องส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากยางพาราในด้านต่างๆ ให้มากที่สุด และขอความร่วมมือไม่ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นอีก เพราะจะกระทบต่อราคายางพารา

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก พร้อมกับเป็นเจ้าบ้านที่ดี และให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยให้เพิ่มมูลค่าตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว แบ่งสถานที่ท่องเที่ยวให้ชัดเจน ว่าสถานที่ไหนเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก และสถานที่ไหนเป็นแหล่งท่องเที่ยวรอง