ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 4 ปมความยากของการแก้ไข รธน. 2560 – ย้อนสถิติ 86 ปี รัฐธรรมนูญฉบับไหนแก้ไขมากที่สุด

4 ปมความยากของการแก้ไข รธน. 2560 – ย้อนสถิติ 86 ปี รัฐธรรมนูญฉบับไหนแก้ไขมากที่สุด

12 มิถุนายน 2018


กระแสเรียกร้องให้ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง จากการ “ปักธง” ของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งประกาศแก้ไขทันทีหากมีโอกาสได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร เริ่มจากยกเลิก มาตรา 279 ว่าด้วยการคุ้มครอง ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ก่อนที่แนวร่วมอย่างพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จะทยอยเปิดตัวออกมาร่วมขบวนขอแก้ไขในหลายมาตรา ทั้งระบบภายในพรรคการเมือง ระบบเลือกตั้ง รวมถึงกลไกบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำงานได้ลำบาก

แต่อีกฝั่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ประกาศจุดยืนเดิมขอเดินหน้าพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 2560 ตามเจตนารมณ์ของประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงประชามติเห็นชอบ จากจุดแข็งเรื่องการปฏิรูป ความเห็นต่างที่เกิดขึ้นกำลังจะเป็นชนวนขัดแย้งในอนาคตหรือไม่

ทว่า เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่ง่ายดายนัก โดยเฉพาะหลักเกณฑ์เงื่อนไขการแก้ไขใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560

แม้กรอบการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะมีจุดเริ่มต้นที่ไม่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ 1. การเสนอญัตติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2. ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ ส.ส. ที่มีอยู่ 3. ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกสองสภาเท่าที่มีอยู่ และ 4. จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน

พร้อมปิดช่องแก้ประเด็นหลัก “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้” เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีเงื่อนไขที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเป็นไปได้ยากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นคือ

1. ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระนั้น ในส่วนของการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา “ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

การใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 ถือเป็นเงื่อนไขใหม่ เพื่อต้องการถ่วงดุลไม่ให้ ส.ส. ใช้เสียงข้างมากหักหาญแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่อีกด้านก็ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากขึ้น เพราะต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง ยิ่งหากพิจารณาจากที่มาของ ส.ว. 250 เสียง ที่มาจากการเลือกโดย คสช. ด้วยแล้ว โอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 5 ปีแรก ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

2. การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

นอกจาก 84 เสียงของ ส.ว. แล้ว ในการลงมติวาระ 3 ยังต้องได้เสียง ส.ส. จากพรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่ไม่ได้เป็น รมต. หรือประธาน-รองประธานสภาฯ อีกด้วย ทำให้พรรคเล็กมีส่วนสำคัญในการชี้ขาดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

3. กรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

4. ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี สามารถเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 255 คือเป็นการการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือไม่ รวมทั้งมีลักษณะที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

ทั้ง 4 ด่านนี้ทำให้กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปได้ยากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ

ย้อนสถิติ 86 ปี รัฐธรรมนูญฉบับไหนแก้ไขมากที่สุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในแวดวงการเมืองไทย เพราะนับจากรัฐธรรมนูญ 2475 บังคับใช้ ก็มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

รัฐธรรมนูญ 2550 มีการ แก้ไข 2 ครั้ง

แม้จะเคยถูกถล่มว่าเป็นผลไม้พิษที่หลายฝ่ายประกาศจุดยืนจะเดินหน้าแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติกลับเดินหน้าได้ยากเพราะถูกดักคอว่าจะเป็นการแก้ไขเพื่อคนหนึ่งคนใดหรือไม่ ทำให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเวลานั้นไม่อาจผลีผลามเร่งเดินหน้าตามเป้าประสงค์

สุดท้ายการแก้ไข้รัฐธรรมนูญ 2550 มีการเสนอญัตติเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23-25 พ.ย. 2553 ทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 71,543 คน นำโดย น.พ.เหวง โตจิราการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) สาระสำคัญของร่างนี้ คือ ให้นำเนื้อหารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้บังคับ วาระแรกที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการ 235 เสียง รับหลักการ 222 เสียง งดออกเสียง 123 เสียง

2. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 102 คน เป็นผู้เสนอให้แก้ไขหลายมาตรามี 6 ประเด็น ตามแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน เช่น มาตรา 190 ท่ีมา ส.ส. ที่มา ส.ว. และ การยุบพรรคยากขึ้นในมาตรา 237 รวมไปถึงการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 265-266 ซึ่งวาระแรกที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติ ไม่รับหลักการ 177 เสียง รับหลักการ 148 เสียง งดออกเสียง 212 เสียง

3. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 93-98 ซึ่ง ครม. เป็นผู้เสนอ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เป็นผู้เสนอ โดยแก้ระบบเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งเขตละคน และมี ส.ส. เขต 375 คน ส่วน ส.ส. สัดส่วน 125 คน ซึ่งวาระแรกที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ รับหลักการ 330 เสียง ไม่รับหลักการ 156 เสียง งดออกเสียง 34 เสียง

และ 4 ร่างแก้ไขของ ครม. ตามข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนายสมบัติเช่นกัน โดยเสนอให้แก้ไขมาตรา 190 กำหนดให้การทำหนังสือสัญญาจะกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาว่าเรื่องใดบ้างที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งวาระแรกที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบ 354 เสียง ไม่เห็นชอบ 19 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง

จากทั้งหมด 4 ร่าง ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบในหลักการ 2 ร่าง ซึ่ง ครม. เป็นผู้เสนอ โดยต่อมาในวันที่ 11 ก.พ. 2554 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ 397 ต่อ 19 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวาระที่ 3 และเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 ประเด็นที่มา ส.ส. ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 347 ต่อ 37 งดออกเสียง 42 เสียง

รัฐธรรมนูญ 2540 แก้ไข 1 ครั้ง

สำหรับรัฐธรรมนูญ 2540 มีการแก้ไขเพิ่มเติม 1 ครั้ง โดยเป็นการแก้ไขในประเด็นเนื้อหา องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำหนดให้มีกรรมการสรรหามาจากผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคนเป็นกรรมการด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองขณะนั้นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีเพียง 4 พรรค ไม่อาจดำเนินการให้มีองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ได้ครบถ้วนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงสมควรแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา เพื่อให้สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้ โดยกำหนดให้คณะกรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

รัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไข 6 ครั้ง

รัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขมากที่สุดคือรัฐธรรมนูญ 2534 หรือ รัฐธรรมนูญฉบับ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ภายหลังประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2534 ได้ประมาณ 7 เดือน ได้มีการแก้ไขครั้งแรกประเด็นสถานะให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา รวมทั้งแก้ไของค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

แก้ไขครั้งที่ 2 ประเด็นกำหนดให้ปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย และการประชุมในสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองของรัฐสภา วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร สามารถพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้เช่นเดียวกับสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

แก้ไขครั้งที่ 3 ยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และบทบัญญัติที่ให้วุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ทั้งสามครั้งมีผลบังคับใช้วันที่ 30 มิ.ย. 2535

ครั้งที่ 4 แก้ไขคุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกาศใช้วันที่ 12 ก.ย. 2535

ครั้งที่ 5 แก้ไขในส่วนสำคัญเกือบทั้งฉบับ ตั้งแต่มาตรา 24- 211 ด้วยเหตุผลให้เกิดความสมานฉันท์ เช่น คุณสมบัติ และวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. เมื่อมีการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ภายใน 60 วัน กำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการรัฐสภา และศาลปกครอง

ครั้งที่ 6 แก้ไขให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้วันที่ 22 ต.ค. 2539

รัฐธรรมนูญ 2521 แก้ไข 2 ครั้ง

รัฐธรรมนูญ 2521 มีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกประกาศใช้ 14 ส.ค. 2528 แก้ไขวิธีการเลือกตั้งจากรวมเขตเป็นแบบแบ่งเขต แก้ไขครั้งที่ 2 ประกาศใช้ 30 ส.ค. 2532 โดยแก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา และให้นำข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาใช้บังคับในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา

รัฐธรรมนูญ 2517 แก้ไข 1 ครั้ง

รัฐธรรมนูญ 2517 มีการแก้ไข 1 ครั้ง ประเด็นให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนประธานองคมนตรี โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2518

รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไข 3 ครั้ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 มีการแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกแก้ไขชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2482 ครั้งที่ 2 ขยายเวลา ส.ส. ประเภทที่สองซึ่งมาจากการแต่งตั้ง จาก 10 ปี เป็น 20 ปี พ้นจากกำหนดดังกล่าวให้เหลือ ส.ส. จากเลือกตั้งอย่างเดียว ประกาศใช้ เมื่อ 4 ต.ค. 2483 และ ครั้งที่ 3 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้ง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นขยายเวลาดำรงตำแหน่ง ส.ส. อีกคราวละไม่เกิน 2 ปี ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2485

สำหรับรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีการแก้ไขสองฉบับ ได้แก่

รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว 2490) มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 แก้ไขวิธีเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบรวมเขตจังหวัด และกำหนดจำนวนราษฎร 2 แสนคนต่อ ส.ส. 1 คน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2490 ครั้งที่ 2 แก้ไขประเด็นวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ยกร่างให้เสร็จภายใน 180 วัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2491 และครั้งที่ 3 แก้ไขประเด็นให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีเอกสิทธิ์ และได้รับความคุ้มกันเช่นเดียวกับ ส.ส. ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2491

รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มีการแก้ไข 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 เป็นการแก้ไขวิธีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ประกาศใช้ 15 ก.ค. 2558 ครั้งที่ 2 ยังเป็นการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2559 ครั้งที่ 3 แก้ไขเพื่อเพิ่มจำนวน สนช. จาก 220 คน เป็น 250 คน โดยประกาศใช้วันที่ 30 ส.ค. 2559 และครั้งที่ 4 แก้ไขประเด็นพระราชอำนาจ มีผลบังคับใช้เมือวันที่ 15 ม.ค. 2560