ThaiPublica > คอลัมน์ > สารพันปัญหาโลกาวินาศเรื่องมารยาทบนรถไฟฟ้า ผิดที่ “ใคร” หรือ “อะไร” (2)

สารพันปัญหาโลกาวินาศเรื่องมารยาทบนรถไฟฟ้า ผิดที่ “ใคร” หรือ “อะไร” (2)

28 พฤษภาคม 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

ต่อจากตอนที่แล้วเลยนะครับ ขยับออกมาจากภายในตู้โดยสาร มาสู่เส้นพรมแดนระหว่างตู้โดยสารและชานชาลากัน

ปัญหาระเบียบหน้าประตูขบวนรถ เราๆ ท่านๆ ที่ใช้บริการทั้งรถไฟลอยฟ้าบีทีเอสและรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที ย่อมต้องเคยได้ยินเสียงประกาศยามรถเข้าเทียบชานชาลาเสมอ ที่บอกเป็นความว่าให้ให้หลีกทางให้ผู้โดยสารภายในตู้โดยสารลงจากขบวนรถหมดก่อนแล้วผู้โดยสารที่รออยู่บนชานชาลาจึงค่อยเดินเข้าไป โดยการจัดที่จัดทางตำแหน่งยืนของผู้โดยสารนอกขบวนนั้นก็จัดกันอย่างหลวมๆ ด้วยลูกศรที่ชี้ว่าให้ยืนตั้งแถวกันตรงไหน ที่เป็นลูกศรแทยงสีเหลืองอยู่ข้างละสองลูกน่ะครับ โดยมีเส้นคั่นลูกศรแต่ละลูก แสดงถึงการนำทางว่าให้ตั้งได้สองแถวเป็นหลัก และระหว่างลูกศรทั้งสองด้านก็จะมีลูกศรคู่หนึ่งสวนทางออกมา ซึ่งหมายถึงแนวที่ผู้โดยสารในขบวนรถจะเดินออก

ที่ต้องเขียนอธิบายยืดยาวนี่ไม่ใช่อะไรนะครับ เราๆ ท่านๆ ต่างก็เคยเจอสภาพความโกลาหลเมื่อประตูตู้โดยสารเปิดออกกันทั้งนั้น ผมก็เกรงว่าจะมีคนที่ไม่เข้าใจความหมายของลูกศรเหล่านั้นหรือเปล่า ก็ต้องใช้พื้นที่อธิบายกันนิดหนึ่ง

อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกเสมอเมื่อประตูตู้โดยสารเปิดออกก็คือ ทุกคนจะรู้ไหมว่า การรีบจนล้ำกฎ คือขยับตัวพ้นแนวลูกศรขาเข้า หรือกระทั่งรีบสวนตัวเองเข้าไปในขบวนรถทั้งที่ผู้โดยสารข้างในยังออกมาไม่หมด เหล่านั้นนั่นแหละที่จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพความเร็วโดยรวมของระบบการโดยสารรถลอยฟ้าและใต้ดินมันสูญเสียไป เพราะคนในไม่ได้ออก คนนอกไม่ได้เข้า เกะกะกันไปมา ช่องว่างที่คนนอกล้ำเข้ามานี่บางทีกินที่คนในไปช่องหนึ่งเลย นี่ยังไม่ต้องนับถึงคนที่ดูรีบมากๆ ราวกับอยากเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก แต่พอเข้าถึงในขบวนรถกลับยืนในตำแหน่งอันสุดจะขวางทางเสียอย่างนั้น พอรวมๆ กันแล้ว การระบายคนก็ย่อมไม่ลื่นไหล แทนที่การหมุนเวียนคนจะเสร็จสิ้นโดยไว ขบวนรถออกตัวได้ทันที ก็มีอันต้องเสียเวลามากขึ้น

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กรถไฟฟ้า บีทีเอส https://www.facebook.com/SkyTrain.BTS?fref=ts
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กรถไฟฟ้า บีทีเอส https://www.facebook.com/SkyTrain.BTS?fref=ts

แต่ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่บางคน (หรืออาจจะหลายคน) ใส่ใจ เพราะในเมื่อความรีบส่วนตัวประสบผลแล้วก็แล้วกัน ความรีบส่วนรวมนี่อาจจะไม่ได้อยู่ในห้วงคำนึงมาแต่แรกแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งจะว่าไป อย่าว่าแต่รถไฟลอยฟ้าหรือใต้ดิน เรื่องนี้นี่เจอได้ในขนส่งมวลชนทุกประเภท รีบจนช้ากันไปหมด

เท่าที่สังเกต ความเร่งรีบในการเข้าขบวนรถนั้นผลักดันด้วยความปรารถนาจะหา “ที่ที่เหมาะสม” ในการจะวางตัวเองลงไปในตู้โดยสารครับ เหมาะสมนี่ก็มีหลายแบบอีก บางคนคือหาที่นั่ง บางคนคือหาที่ยืนที่จะพิงหลังพักกายได้โดยไม่เบียดเบียนชาวบ้าน บางคนเพื่อหาที่โหนหรือเกาะได้ถนัด บางคนคือหาตำแหน่งยืนที่ทำให้ไม่ต้องเบียดเสียดกับผู้คนมากมายในตอนออกจากขบวนรถ เพราะโดยสารในระยะสั้นแค่ไม่กี่สถานี ยิ่งแบบหลังนี้จะมีความเร่งรีบเข้าไปในขบวนรถสูง แต่พอเข้าขบวนได้แล้วแรงจูงใจในการชิดในจะต่ำมาก

ถ้ามองถึงตรงนี้ จะเห็นแรงจูงใจสองแบบจากการรีบเบียดเข้าไปภายในขบวนรถ (ซึ่งคนละเรื่องกับรีบชิดเข้าด้านในที่สุดของขบวนรถ) แบบแรก คือการหาความสะดวกในแง่มุมต่างๆ แก่ตัวเอง ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็คือคิดเผื่อไว้แล้วว่าน่าจะไม่เดือดร้อนคนอื่น แง่ร้ายคือไม่ได้คิดเลย แบบที่สอง เป็นเรื่องของความสะดวกรวดเร็วในการออกจากขบวนรถเมื่อถึงที่หมาย

กรณีแรงจูงใจแบบแรกนั้น เป็นเรื่องอัตวิสัย หรือคิดเอาเองโดยตัวเองผู้เดียวมากๆ ครับ เพราะตัวผู้กระทำไม่สามารถไปสอบถามเอากับคนทั้งขบวนรถได้หรอกว่าตรงจุดที่ตัวเองปักหลักลงไปนั้นมันเกะกะหรือไม่เกะกะ ต่างก็ต้องคิดว่าไม่เกะกะ หรือคิดว่าไม่เป็นไร หรือเลวร้ายที่สุดคือไม่ได้ใส่ใจทั้งนั้น วิธีแก้ก็จะคล้ายๆ กับที่ผมพูดถึงปัญหาเรื่องการไม่ยอมชิดใน เราต้องมีสำนึกของการ “เติมช่องว่างให้เต็ม” ตรงนี้คือผมเรียกร้องจากคนที่ใส่ใจจะสร้างกฎระเบียบในการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างขนส่งมวลชนร่วมกันนะครับ พูดง่ายๆ คือ คุณต้องมุ่งมั่นชิดใน เห็นที่ว่างตรงไหนที่เป็ฯด้านในของขบวนรถก็แทรกตัวเองเข้าไป ถ้าทุกคนทำแบบนี้ การลงรถโดยแทรกตัวมาจากด้านในสุดก็จะไม่มีปัญหานะครับ เพราะพอคุณจะขยับออก คนที่ยังไม่ลงก็จะขยับสลับที่ไปแทนที่ที่คุณโดยสารอยู่ในทีแรก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ถึงประตูได้ง่าย คนที่อยู่หน้าประตูแล้วจะลงเหมือนกันก็บอกกันสักนิดครับว่าจะลงเหมือนกัน เท่านี้คนที่จะลงก็ไปอยู่กันหน้าประตู ก็ได้ลงกันทั้งนั้น กระบวนการนี้นี่ค่อยทำตอนรถจอดที่ชานชาลาแล้วยังได้เลย ถ้าทำพร้อมกันหมดมันก็ว่องไว

ยิ่งไปกว่านั้น การทำแบบนี้ ยังเป็นสารที่ส่งไปถึงคนที่ปักหลักในที่ที่ตัวเองเชื่อว่าสะดวกและไม่เดือดร้อนใครแล้วให้รู้ว่า ตกลงมันไม่เดือดร้อนใครจริงหรือเปล่า หรือในส่วนคนที่ไม่ได้สนใจก็อาจจะสนใจขึ้นมา หรือคิดแบบไม้แข็งหน่อยก็คือ เดี๋ยวเขาก็ปักหลักไม่สบายจนต้องหาทางขยับขยายไปเอง

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้น ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องออกจากขบวนรถไม่สะดวก ซึ่งเป็นแรงจูงใจแบบที่สอง ไปได้ด้วย

นี่เป็นสิ่งที่กระเป๋ารถเมล์พยายามพูดมาตลอดแต่ไม่เคยมีใครทำ ตลอดสามสิบปีที่ผมโดยสารตั้งแต่รถเมล์มาจนกระทั่งรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินก็ไม่เห็นมีใครทำ และผมคิดว่าเราน่าจะลองร่วมกันทำดูสักที ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนคงไม่ทำขึ้นมาพร้อมกันหรอกครับ แต่ถ้าใครที่อ่านสิ่งที่ผมเขียนแล้วอยากจะลองดู ก็ให้บอกต่อแนวคิดนี้กับเพื่อนๆ กระจายมันออกไป คุณอาจเป็นคนส่วนน้อยที่เริ่มทำมัน และอาจต้องเผชิญกับสายตารำคาญของคนที่ไม่เข้าใจว่าคุณจะเบียดไปไหน ซึ่งนี่คือการเปลี่ยนแปลงสังคมน่ะครับ อาจจะยาก ลำบาก แต่ผมก็อยากให้เข้มแข็งแล้วช่วยกันลองทำ มันอาจจะเกิดเป็นผลดีออกมาก็ได้ครับ

ปัญหาการจราจรบนบันไดเลื่อน รถไฟลอยฟ้าและรถไฟใต้ดินนั้น ดูจะเป็นระบบขนส่งที่ทำมาเพื่อสนับสนุน “ความรวดเร็ว” ในการเดินทางนะครับ และในเมื่อเป็นเช่นนั้น บันไดเลื่อนก็น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสนับสนุนวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะด้วยความเร็วของบันไดเลื่อนตามสถานีรถไฟฟ้าที่สูงอยู่แล้ว หากเราก้าวเท้าเดินให้เร็วขึ้น ความเร็วในการเดินทางก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

แต่ทีนี้ อาจเพราะบันไดเลื่อนนั้นเป็นที่แพร่หลายในห้างสรรพสินค้ามาก่อน และเป็นมาโดยยาวนาน ซึ่งวัตถุประสงค์ของห้างสรรพสินค้าดูจะไม่ใช่ความเร่งรีบ หากแต่เป็นความอ้อยอิ่งอยู่ภายใน เพื่อให้ผู้คนมีเวลาเดินชมสรรพสินค้าต่างๆ อย่างสมชื่อห้าง เราก็เลยคุ้นชินกับการยืนนิ่งให้ให้บันไดเลื่อนนำพาเราไป หรือยืนโดยสารบันไดเลื่อน แทนที่จะใช้มันช่วยเพิ่มความเร็วในการสัญจรของตัวเอง และเมื่อความคุ้นชินดังกล่าวติดมาจนถึงการใช้บันไดเลื่อนในสถานีรถไฟฟ้า ปัญหาก็เกิดละครับ เพราะมีทั้งคนรีบและคนไม่รีบมาเจอกัน

การจัดระเบียบการสัญจรบนบันไดเลื่อนในระบบรถไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ นี่คือพูดบนฐานของการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนรีบและคนไม่รีบ ผมเห็นความพยายามเล็กๆ น้อยๆ ในโลกออนไลน์มาพักใหญ่ๆ กับเรื่องของการรณรงค์ให้คนที่ไม่ปรารถนาจะเร่งความเร็วด้วยบันไดเลื่อน ก็ขอให้ยืนชิดขวา และบางการรณรงค์ก็ขอให้ยืนชิดซ้าย สุดท้าย ภาพที่ออกมาก็ไม่รู้เกี่ยวข้องกับการรณรงค์เหล่านั้นหรือไม่ คือคนเลยยืนชิดทั้งขวาทั้งซ้าย คนรีบก็เลยต้องเดินแกมวิ่งซิกแซกเป็นฟันปลาไป

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กรถไฟฟ้า บีทีเอส https://www.facebook.com/SkyTrain.BTS?fref=ts
ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กรถไฟฟ้า บีทีเอส https://www.facebook.com/SkyTrain.BTS?fref=ts
แต่แล้วในที่สุด ทางระบบรถไฟฟ้าก็ออกสติกเกอร์มาแปะไว้ที่ตลอดแนวบันไดเลื่อน โดยทางขวาระบุว่า “ยืนชิดขวา” และทางซ้ายระบุว่า “เดินชิดซ้าย” ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ คนยืนชิดขวา และคนยืนชิดซ้าย

ครับ คุณฟังไม่ผิด และคุณก็อาจจะเคยเห็นมากับตา หรือทำมากับตัว (จริงๆ อยากบอกว่าทำมากับตีน แต่ดูจะไม่สุภาพ ถือว่าในวงเล็บนี่ไม่ได้เกิดขึ้นนะครับ) ทั้งที่มีสติกเกอร์แบบนั้น คนก็ยังยืนกันแบบตามใจฉันเหมือนเดิม

อนึ่ง เรื่องบันไดเลื่อนนี่ผมใช้พื้นที่เพื่อบ่นเฉยๆ เลยครับ เพราะตัวเองก็ไม่รู้จะแก้ไขมันยังไง เท่าที่นึกออกก็มีแต่ต้องพึ่งพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำสถานี ที่เดิมคอยเป่านกหวีดเตือนไม่ให้เรายืนล้ำเส้นเหลืองบนชานชาลา ในเมื่อตอนนี้มีประตูและกำแพงปิดกั้นระหว่างชานชาลากับรางรถไฟอีกชั้นหนึ่งแล้ว (ไม่แน่ใจว่ามีครบทุกสถานีหรือยัง) ให้มายืนเร่งเร้าและจัดระเบียบคนที่ต้นหรือปลายบันไดเลื่อนนี่แหละครับ อาจจะได้ผลก็ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลายคนอาจจะหวังในใจ หรือสงสัยว่าแล้วเมื่อไหร่จะกล่าวถึง “มนุษย์ป้า” ซึ่งเอาจริงๆ แล้วเป็นคำที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ และดูจะเป็นการเรียกเหยียดหยามเอาสนุกสะใจ หรือกระทั่งระบายแค้น และบอกเลยว่าผมคงไม่กล่าวถึง เพราะจากประสบการณ์ของผม จะมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง มนุษย์สาวออฟฟิศ มนุษย์หน้าไหน สุดท้าย ถ้าไม่มีสำนึกเรื่องมารยาทในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นมารยาทที่อาจจะไม่ได้ก่อความดีงามอะไรแก่ตัวเอง แต่เป็นมารยาทที่จำเป็นในการทำให้บางพื้นที่ในสังคมดีขึ้น มันก็เป็นมนุษย์ที่สร้างปัญหาให้แก่คนอื่นในพื้นที่สาธารณะทั้งนั้นแหละครับ

คุณไม่ได้อยากเป็นปัญหาสังคมใช่ไหม?