ThaiPublica > เกาะกระแส > ศูนย์ดูแลคนสองวัย “Intergeneration Center” โมเดลเชื่อมสัมพันธ์ต่างรุ่น สร้างคุณภาพชีวิต “คนแก่- เด็กเล็ก” เรียนรู้ ใส่ใจกันและกัน

ศูนย์ดูแลคนสองวัย “Intergeneration Center” โมเดลเชื่อมสัมพันธ์ต่างรุ่น สร้างคุณภาพชีวิต “คนแก่- เด็กเล็ก” เรียนรู้ ใส่ใจกันและกัน

9 พฤษภาคม 2018


โลกในยุคศตวรรษที่ 21 ที่โครงสร้างประชากรโลกกำลังก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ ทุกประเทศในโลกเริ่มประสบปัญหาสัดส่วนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ซึ่งมีนัยต่อหลายด้าน ทั้งแรงงาน ตลาดการเงิน และความต้องการสินค้าและบริการ เช่น ที่อยู่อาศัย การคมนาคม การดูแลสังคม โครงสร้างครอบครัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ของคนจากรุ่นสู่รุ่น

ข้อมูลจากรายงานWorld Population Prospects: the 2017 Revision ระบุว่า จำนวนผู้สูงวัยของโลกซึ่งใช้เกณฑ์อายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นจาก 962 ล้านคนในปี 2017 ถึง 2 เท่า เป็น 2.1 พันล้านคนในปี 2050 และเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในปี 2100 เป็น 3.1 พันล้านคน และประชากรสูงวัยทั่วโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าประชากรในวัยหนุ่มสาว

ปี 2017 ประชากรสูงวัยของโลกมีสัดส่วน 13% ของประชากรโลก มีอัตราการเพิ่ม 3% ต่อปี โดยที่ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากสุดถึง 25% ขณะที่ภูมิภาคอื่นก็ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงวัยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ภายในปี 2050 ทุกๆ ภูมิภาคของโลกยกเว้นแอฟริกาจะมีประชากรในวัย 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

นอกจากนี้ รายงานยังคาดการณ์ว่าประชากรสูงวัยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 137 ล้านคนในปี 2017 เป็น 452 ล้านคนในปี 2050 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 909 ล้านคนในปี 2100 หรือเพิ่มขึ้นราว 7 เท่า

สำหรับประเทศไทย รายงาน Thailand Economic Monitor – June 2016: Aging Society and Economy เปิดเผยว่า ประชากรสูงวัยของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2016 ประชากรในวัย 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนถึง 11% ของประชากรทั้งหมด หรือราว 7.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 5% ในปี 1995

รายงานยังคาดการณ์ว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวน 17 ล้านคน มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุด

การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยทั่วโลกเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ทั้งในด้านตลาดแรงงานที่ประชากรในวัยทำงานลดลง งบประมาณสำหรับผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพ หรือการจ่ายเบี้ยชราภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคเอกชนในด้านการลงทุนก่อสร้างโครงการที่พักอาศัยคุณภาพเพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพที่ดีและให้มีอายุยืนยาวขึ้น

กิจกรรมที่ผู้สูงวัยและเด็กได้ทำร่วมกัน ที่มาภาพ:https://www.thestar.com/news/gta/2016/02/09/magic-abounds-when-daycare-seniors-home-share-roof.html

Intergeneration Center เชื่อมสัมพันธ์ต่างรุ่น

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งในต่างประเทศและไทย ธุรกิจเอกชนและนโยบายรัฐในการดูแลผู้สูงวัยมักมุ่งไปที่โครงการที่พักอาศัยเพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นหลัก เพราะผู้ที่ถึงวัยเกษียณส่วนหนึ่งที่มีงานมั่นคงมีก่อนเกษียณและเงินเก็บสะสม มีแนวความคิดที่จะแยกออกจากครอบครัวมาอยู่ด้วยตนเอง และเชื่อว่าสามารถดูแลตัวเองได้ รวมทั้งไม่ต้องการเป็นภาระให้กับลูกหลาน ตลอดจนมีไลฟ์สไตล์ที่ชอบอยู่ร่วมกับเพื่อนวัยชราด้วยกัน

โครงการที่พักอาศัยเพื่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อเนิร์สซิงโฮม (Nursing Home) หรือบ้านพักคนชรา แม้จะมีข้อดีตรงที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการใช้ชีวิต บริการสุขภาพครบวงจร ระบบรักษาความปลอดภัย มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้สูงวัย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกโครงการจะมีคุณภาพและมีบริการครบวงจร ผู้สูงอายุที่พำนักในโครงการเหล่านี้อาจจะมีความรู้สึกเหงา เบื่อหน่าย เพราะพูดคุยกับคนในวัยเดียวกัน ในเรื่องเดียวกัน และในวันๆ หนึ่งไม่รู้จะทำอะไร และเป็นเช่นนี้ทุกวัน ซ้ำซากจำเจ แทนที่จะการใช้ชีวิตในบั้นปลายจะมีคุณภาพ กลับกลายเป็นว่า คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะมีความรู้สึกโดดเดี่ยว ขาดความกระตือรือร้น ขาดความกระชุ่มกระชวยของวัยเด็กของวัยหนุ่มสาวมาเติมให้กับชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดูแลผู้สูงวัย โดยนำคนในสองรุ่น คือ ประชากรผู้สูงวัยและประชากรเด็ก มาอยู่ร่วมกันในที่พักอาศัยผู้สูงวัยหรือบ้านพักคนชราที่ปรับเปลี่ยนให้เป็น Intergeneration Care Center สถานที่เชื่อมสัมพันธ์ประชากรต่างรุ่น เพราะรับเด็กเข้ามาดูแลเพื่อเติมความสดใสของวัยเด็กให้กับผู้สูงวัยที่จะช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้น และขณะเดียวกันได้ใช้ประสบการณ์ของผู้สูงวัยมาดูแลเด็กรุ่นใหม่

แนวคิดเริ่มขึ้นในปี 1976 โดยชาวญี่ปุ่น ชื่อ ชิมาดะ มาซาฮารุ ที่ได้รวมการรับเลี้ยงเด็กเล็กกับการดูแลผู้สูงวัยไว้ในที่เดียวกัน ที่เมืองเอโดะกาวะ ซึ่งศูนย์ในลักษณะนี้เรียกว่า Kotoen รับเลี้ยงเด็กวัย 1-6 ปีและรับดูแลผู้สูงอายุวัย 80 ปี ต่อมาปี 1998 ก็มีศูนย์ในลักษณะนี้ 16 แห่ง และช่วงเวลานี้เองที่แนวคิดนี้ได้ขยายเข้าไปสู่อเมริกาเหนือ ทุกวันนี้ศูนย์ประเภท Intergeneration Center ได้กระจายไปทั่วญี่ปุ่นไปจนถึงสหรัฐอเมริกา แคนาดา ต่อมาหลายประเทศได้นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ ทั้งอังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์

ในรายงาน Interactive programs with preschool children bring smiles and conversation to older adults: time-sampling study ในปี 2013 ให้ข้อมูลว่า การสังสรรค์ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างรุ่นจะช่วยเพิ่มรอยยิ้มและการพูดคุยระหว่างกันของผู้สูงวัย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ได้มีการนำผู้สูงวัยในชุมชนมาเป็นพี่เลี้ยงสอนหนังสือให้กับเด็ก เช่น สอนคณิตศาสตร์ สอนให้อ่านหนังสือ ดังเช่น Intergenerational School ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า Intergeneration Programs (IPs) เพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์คนต่างรุ่น

International Consortium for Intergenerational Programs ได้ให้นิยาม IPs ว่า เป็นเครื่องมือทางสังคมที่จะสร้างการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอย่างมีเป้าหมายต่อเนื่องและการเรียนรู้ระหว่างผู้สูงวัยกับเด็กรุ่นหลังๆ รวมทั้งยังเป็นตัวช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ การสื่อสารช่วยให้ผู้ใหญ่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการฟัง แสดงความคิดเห็น และให้คำแนะนำ และมีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้ที่สูงวัยกว่า ตลอดจนยังบรรเทาความโดดเดี่ยว ความเศร้าเหงา

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงผลดีของการนำคนสองรุ่นมาอยู่ร่วมกัน โดยสำหรับผู้สูงวัยนั้นจะช่วยให้ความนับถือตนเองเพิ่มขึ้น เสริมคุณภาพชีวิต เพิ่มการสื่อสารกับสังคม ลดความทุกข์ สร้างความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ขณะเดียวกันสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้สูงวัยและเข้าใจดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของวัยในกลุ่มเด็กๆ

ในญี่ปุ่นจากการสังเกตการณ์พบว่า ผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดียังเป็นฝ่ายนำในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กในหลายรูปแบบ เช่น ช่วยในการเรียน สอนเรื่องวัฒนธรรมแต่ละภูมิภาค รวมทั้งอ่านหนังสือภาพให้เด็กฟัง

งานวิจัย Intergenerational Programming in Senior Housing: From Promise to Practice ที่จัดทำโดย Generations United พบว่า ทั้งผู้สูงวัยและเด็กที่เข้าร่วมโปรแกรมต่างเห็นถึงประโยชน์ที่ได้ คือ ผู้สูงวัยระบุว่าช่วยลดความโดดเดี่ยว การแยกตัว เพิ่มการเชื่อมต่อกับคนอื่นมากขึ้น นอกจากนี้ คนทั้งรุ่นมองว่ายังช่วยให้มีความนับถือตัวเองมากขึ้น รู้สึกตัวว่ามีคุณค่ามากขึ้น รวมทั้งยังสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนต่างรุ่นได้มากขึ้น ตลอดจนยังรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้น

กิจกรรมร่วมกัน ที่มาภาพ:https://www.today.com/health/intergenerational-care-center-combines-senior-child-care-t116046

เตรียมอนุบาลในศูนย์ผู้สูงวัย

ศูนย์ผู้สูงวัยที่มีบริการทั้งดูแลผู้สูงอายุและเด็กวัยก่อนเรียนนั้นมีประโยชน์อย่างสูงกับคนทั้งสองรุ่น โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่เด็กแทบจะไม่ใกล้ชิดปู่ ย่า ตา ยาย เหมือนสมัยก่อน การที่นำผู้สูงอายุมาอยู่ร่วมกับเด็ก นอกจากจะให้ผลทางด้านจิตใจแล้ว ยังมีประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ของคนทั้งสองรุ่น

ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีการก่อตั้งศูนย์ในลักษณะนี้ขึ้นหลายแห่ง ปัจจุบันศูนย์ที่มีชื่อเสียง คือ The Mount ที่ซีแอตเทิล ซึ่งศูนย์เรียนรู้ต่างวัยของ The Mount ได้รับใบอนุญาตเป็นสถานที่รับเลี้ยงและโรงเรียนเตรียมอนุบาลสอนเด็กวัยก่อนเรียนแบบไม่แสวงหากำไรเมื่อปี 1991 ที่ศูนย์นี้จะมีกิจกรรมให้ผู้ที่พักอาศัยและพนักงานร่วมกันเลี้ยงเด็กวัยตั้งแต่เพิ่งเกิดจนถึง 5 ขวบ จำนวน 125 คน เป็นเวลา 5 วัน ทุกสัปดาห์

รายงานของ The Atlantic เปิดเผยว่า The Mount จัดโปรแกรมในลักษณะนี้ขึ้นเพื่อลดความเหงาและบรรยากาศที่น่าเบื่อของศูนย์ดูแลผู้สูงวัยที่มีอายุเฉลี่ย 92 ปี และส่วนใหญ่ค่อนข้างเปราะบาง ไม่สามารถเดินได้ และต้องให้ความช่วยเหลือดูแลใกล้ชิด ชาร์ลีน บอยด์ ผู้บริหารศูนย์บอกว่า ต้องการสร้างศูนย์ที่มีชีวิตชีวา มีความเคลื่อนไหว เป็นศูนย์ที่คนมาใช้ชีวิตไม่ใช่มาจบชีวิต

นอกจากนี้ การอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยยังทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมและบุคลิกที่ดี และไม่รู้สึกเกร็งแม้จะอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยที่สภาพร่างกายอ่อนแอหรือไม่สมบูรณ์ ที่ The Mount ครูประจำโรงเรียนเตรียมอนุบาลจะนำเด็กๆ ไปเยี่ยมผู้สูงวัยถึง 6 ครั้งต่อสัปดาห์ซึ่งหากเป็นเด็กแรกเกิดจะให้เวลาผู้สูงวัยชื่นชม 20 นาที แต่สำหรับเด็กโตจะให้เวลา 60 นาที ขณะเดียวกันผู้สูงวัยที่พำนักในศูนย์ก็สามารถมาร่วมสังเกตการณ์ในห้องเรียนเด็กๆ ได้ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมประจำวันที่ผู้สูงวัยและเด็กๆ สามารถทำร่วมกันได้ เช่น ร้องเพลง เต้นรำ

Intergeneration Care Center ในสหรัฐฯ มีการเติบโตที่ดี จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก และมีแนวโน้มที่จะกระจายออกไปในวงกว้าง มีการนำผู้สูงวัยกับเด็กวัยก่อนเรียนมาอยู่ร่วมกัน เล่นและเรียนด้วยกัน ศูนย์ผู้สูงวัยหลายแห่งจึงมีการจัดหลักสูตรสำหรับเด็กวัยก่อนเรียน การดูแลเด็กแบบไป-กลับ (daycare) มีการสอนให้วาดภาพ ร้องเพลง ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกรณีของ The Bethlehem Center ที่ได้นำ Intergenerational Programs มาประยุกต์ใช้ในเดือนมิถุนายน 2017 จากเดิมที่มีโปรแกรมดูแลเฉพาะเด็กมานานถึง 46 ปี

รายงานข่าวwww.today.comเปิดเผยว่า The Bethlehem Center มีบริการแบบไป-กลับ ทั้งผู้สูงวัยและเด็กวัยก่อนเรียน ได้จัดให้มีกิจกรรมร่วมกันสำหรับคนต่างรุ่นหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ซึ่งมีเด็กทั้งวัยแบเบาะไปจนถึงเตรียมอนุบาล เด็กในวัยที่สูงขึ้นเล็กน้อยก็จะมีเวลาในการสร้างสัมพันธ์กับผู้สูงวัย ทั้งก่อนและหลังเลิกเรียน

Dr.Shannon Jarrott อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ได้ร่วมมือกับ The Bethlehem Center จัดทำโปรแกรมนี้ กล่าวว่า เด็กๆ จะได้ประโยชน์จากการที่มีผู้ใหญ่คอยดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากการทำวิจัยยังพบว่า ผู้สูงอายุยังสนใจที่จะทำตัวให้มีประโยชน์ต่อสังคมและยังคงมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา

ที่แคนาดาเมืองโตรอนโต Kipling Acres ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยระยะยาวได้จัดกิจกรรมและจัดโปรแกรมดูแลเด็กเล็กในลักษณะนี้มากว่า 25 ปีแล้ว จากรายงานของ The Star

Adnan Baljic ผู้เชี่ยวชาญด้านฟื้นฟูของศูนย์ บอกว่า การผสมผสานการฟื้นฟูผู้สูงวัยเข้ากับการมีส่วนร่วมของเด็กๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยต่อชีวิตให้ผู้สูงวัยและเพิ่มความกระชุ่มกระชวย เพราะผู้สูงวัยต่างตอบสนองต่อความสดใสของเด็ก ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางการเรียนรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น ความจำเป็นของคนอื่น

เดิม Kipling Acres ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์แลผู้สูงวัยและเลี้ยงเด็กวัยก่อนเรียนในปี 1990 ต่อมาได้มีการปรับปรุงใหม่พร้อมกับนำแนวคิดการเชื่อมสัมพันธ์คนต่างรุ่นมาประยุกต์ใช้ เมื่อโครงการระยะแรกเปิดปี 2014 ก็พื้นที่ที่รับเด็กแรกเกิดจนถึง 4 ขวบได้เชื่อมสนามเด็กเล่นกับสวนด้านหลังอาคารที่พักของผู้สูงวัย นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ส่วนกลางที่ล้อมรอบด้วยหน้าต่างเพื่อให้ผู้สูงวัยได้มองเด็กๆ ที่วิ่งเล่นในสนาม สำหรับกิจกรรมที่จัดให้ผู้สูงวัยและเด็กได้ทำร่วมกัน มีตั้งแต่การทำอาหาร แกะสลัก เล่นบิงโก และอื่นๆ

รายงานข่าวของ The Guardian ในปี 2017 เปิดเผยว่า ศูนย์ที่ผสมผสานการรับเลี้ยงเด็กกับดูแลผู้สูงวัยได้มีการจัดตั้งขึ้นแล้วที่อังกฤษเป็นแห่งแรก ทางด้านใต้ของกรุงลอนดอน ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก Apples and Honey Nightingale ซึ่งก่อตั้งโดย Judith Ish-Horowicz

Fay Garcia วัย 89 ปี พักอยู่ที่นี่ บอกว่า เมื่อมีเด็กๆ เข้ามาทำให้รู้สึกราวกับว่า เกิดใหม่อีกครั้ง

ที่มาภาพ:https://www.theguardian.com/social-care-network/2017/sep/06/care-home-toddlers-nursery

Judith กล่าวว่า เริ่มมีแนวคิดนี้หลายปีมาแล้วหลังจากที่ได้นำเด็กจากสถานรับเลี้ยงเด็กที่เธอบริหารเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในวิมเบิลดัน มาที่ Nightingale House ซึ่งที่ใหม่นี้รับเด็กได้ 30 คน ตั้งแต่ 2-4 ขวบ

Judith บอกว่า ทุกคนสนับสนุนให้เธอลงมือทำเมื่อขยายแนวคิดนี้ออกไป และเธอก็เชื่อว่า ศูนย์แบบผสมนี้จะมีอนาคต เพราะเป็นการสร้างเรียนรู้ระหว่างรุ่นและการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะมีผลให้สังคมและชุมชนเปลี่ยนแปลง

ด้าน Nightingale House รับผู้สูงวัยในมีอายุเฉลี่ย 90 ปี ดังนั้น กิจกรรมที่จะจัดให้มีขึ้นต้องผ่านการสร้างสรรค์ ต้องมีนวัตกรรม การดูแลต้องดี และวัดผลได้ เพราะเป็นการมีปฎิสัมพันธ์กับสังคม และเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้สูงวัยอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ยังมีผลดีทางเศรษฐกิจส่วนตัวของผู้สูงวัยอีกด้วยเพราะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ลดความเสี่ยงที่จะต้องเข้านอนโรงพยาบาล

รูปแบบใหม่ให้อิสระเลือกกิจกรรมเอง

สำหรับญี่ปุ่น ประเทศต้นแบบที่เข้าสู่สังคมสูงวัยไปก่อนประเทศอื่นนานแล้ว และยังมีอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งคาดกันว่า 1 ใน 3 ของประชากรจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไปภายในปี 2050 ขณะที่อัตราการเกิดอยู่ที่ 1.38 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2.08 ของการรักษาจำนวนประชากร

เดิมการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมักเป็นหน้าที่ลูกชายคนโต แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ลักษณะของครอบครัวเปลี่ยนไปสู่ครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และเหมือนกับหลายประเทศในยุโรปที่ผู้สูงอายุมักจะอยู่คนเดียว หรือศูนย์บ้านพักผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงวัยเหงาและโดดเดี่ยว หลายๆ งานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุยังรู้สึกแอกทีฟและยังมีประโยชน์ต่อสังคมหรือชุมชน รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

Aoi Care ที่ฟูจิซาวะ ห่างจากกรุงโตเกียว 50 กิโลเมตรไปทางตอนใต้เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงวัยที่นำแนวคิดความสัมพันธ์ต่างรุ่นมาใช้ โดยผู้ก่อตั้ง ทาดาสุเกะ คาโตะ ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำงานในศูนย์ดูแลผู้สูงวัยมาก่อน แต่ไม่พอใจกับระบบการดูแลผู้สูงวัยมากนัก เพราะส่วนใหญ่ให้ผู้สูงวัยนอนติดเตียง ให้นอน และให้กินยาเท่านั้น จึงได้ลาออกและก่อตั้ง Aoi Care ขึ้น พร้อมกับคิดนวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุเสียใหม่

Aoi Care แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นผู้สูงอายุที่มีอาการทางประสาท ซึ่งรับได้ 7 คน ส่วนที่สองเป็นพื้นที่เปิดสำหรับผู้สูงอายุที่สามารถมาเยี่ยมชมหรือพักระยะสั้นหากต้องการ ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงวัยที่นี้นั้น Aoi Care ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับเพื่อนบ้านโดยรอบ การทำตัวให้มีประโยชน์ ใช้ชีวิตอิสระ รวมทั้งการอยู่ร่วมกับคนต่างวัย

Aoi Care มีที่ตั้งใกล้กับชุมชมและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน เพราะติดถนนที่คนในชุมชนหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงใช้สัญจรเข้าสู่ตัวเมือง ไปโรงเรียนและไปทำงาน ดังนั้น เมื่อเด็กๆ ไปหรือกลับจากโรงเรียนก็จะพบปะกับผู้สูงอายุที่พักใน Aoi Care นอกจากนี้ ผู้สูงวัยใน Aoi Care ยังมีโอกาสเล่นกับเด็กๆ ได้ เมื่อพนักงาน Aoi Care ยังสามารถนำบุตรหลานของตัวเองมาฝากไว้ที่แผนกรับเลี้ยงเด็ก

ที่ Aoi Care แตกต่างกับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งอื่นที่ส่วนใหญ่จะมีการจัดกิจกรรมให้ทำร่วม แต่ที่นี่ผู้สูงอายุสามารถวางแผนการใช้ชีวิต การทำกิจกรรมแต่ละวันได้อย่างอิสระ รวมทั้งการสรรหากิจกรรมที่จะมาทำร่วมกับคนต่างรุ่นอีกด้วย ดังนั้น การที่ผู้สูงอายุหรือเด็กๆ ทำกิจกรรมร่วมกันที่ Aoi Care นี้จึงเป็นเรื่องปกติ บางครั้งเด็กๆ จะมาหาผู้สูงวัยเพื่อเล่นไล่จับลูกบอล หรือบางครั้งเด็กๆ จะร่วมกับผู้สูงอายุขายชาหรือสินค้าของ Aoi Care ซึ่งการฝึกขายของนี่จะมีส่วนให้เด็กๆ รู้จักที่จะสื่อสารกับผู้ใหญ่สูงวัย ขณะเดียวกันผู้ใหญ่เองก็มีความสุขเพราะรู้สึกว่าตัวเองมีเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยในรูปแบบใหม่อย่าง Aoi Care ในญี่ปุ่นค่อนข้างหายาก รายงานข่าวกล่าวว่า ได้แต่หวังว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่น และชุมชนอื่นๆ จะมองเห็นความสำคัญกับแนวคิดนี้ เพราะเป็นการทำให้ผู้ใหญ่สูงวัยในฐานะพลเมืองเป็นศูนย์กลางของเพื่อนบ้าน ชุมชนไปพร้อมกับคนทุกๆ วัย

ที่มาภาพ:http://www.toyproject.net/2017/04/innovative-intergenerational-care-in-fujisawa-japan/

สิงคโปร์เล็งเปิดศูนย์ใน 10 โครงการเคหะ

รัฐบาลสิงคโปร์โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศความริเริ่ม 70 ข้อเพื่อให้ประชาชนก้าวสู่ช่วงสูงวัยอย่างมั่นใจ 70 Initiatives to enable Singaporeans to age confidently ตามแผนปฏิบัติการเพื่ออนาคตผู้สูงวัย ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการเพื่อผู้สูงวัยของกระทรวงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016

แผนปฏิบัติการนี้ประกอบด้วยความริเริ่ม 70 ข้อเพื่อให้พลเมืองสิงคโปร์ก้าวสู่ช่วงสูงวัยอย่างมั่นใจและใช้ชีวิตอย่างคล่องแคล่ว และยังคงมีความสัมพันธ์ที่แน่นเฟ้นกับครอบครัวและชุมชน โดยที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อดำเนินการตามแผนร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนและประชาสังคม

แผนปฏิบัติการนี้ครอบคลุม 12 ด้านด้วยกัน คือ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การเรียนรู้ การเป็นอาสาสมัคร การจ้างงาน ด้านที่อยู่อาศัย การคมนาคม ด้านพื้นที่สาธารณะ การมีส่วนร่วมในสังคมและการให้ความเคารพ การเกษียณที่เพียงพอ การรักษาพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุ การคุ้มครองผู้สูงวัยที่เปราะบางและการทำวิจัย

Dr.Amy Khor หนึ่งในคณะกรรมการที่รับผิดชอบ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการที่จัดทำขึ้นนั้นเพื่อตอบสนองต่อประชากรสูงวัย ซึ่งการมีประชากรสูงวัยไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นโอกาสดีที่พลเมืองสิงคโปร์จะได้ใช้ประโยชน์จากการมีอายุยืนอย่างเต็มที่ แผนนี้จะช่วยให้สร้างสิงคโปร์เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าสู่ภาวะสูงวัย รวมทั้งแผนนี้ยังแสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์เป็นประเทศสำหรับผู้คนทุกช่วงวัย

สิงคโปร์วางแผนปฏิบัติการนี้เพื่อให้โอกาสสำหรับคนทุกวัย เพราะมองว่าการมีอายุยืนคือโอกาส ผู้สูงวัยทุกคนมีโอกาสที่จะทำงานต่อไปอีกได้ หรือเรียนรู้มากขึ้น และเติบโตขึ้นอีก แต่ก็มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพ

นอกจากนี้ยังมีการสร้างศูนย์ที่สานสัมพันธ์คนต่างรุ่น เพราะสิงคโปร์จะต้องเป็นชุมชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตอย่างคล่องแคล่วและมีความสุข โดยที่ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จะร่วมกันสร้างชุมชนเข้มแข็งสำหรับผู้สูงวัยและเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งยังครอบคลุมการปรับเปลี่ยนสิงคโปร์ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุ

ประเด็นที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การที่สามารถรับจ้างทำงานได้ตลอดชีวิต โดยที่อายุสำหรับผู้ที่จะกลับมาสมัครเข้าทำงานใหม่ได้นั้นได้ขยายจาก 65 ปี เป็น 67 ปี ภายในปี 2017 เพื่อให้ผู้ที่ทำงานอยู่ได้ทำงานได้นานขึ้นหากต้องการได้ รัฐบาลจะจัดให้มีโปรแกรมสุขภาพผู้สูงวัยครอบคลุมกว่า 400,000 คน รวมไปถึงโปรแกรมสำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปอีก 120,000 คน

ในด้านการดูแลรักษาผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุขมีแผนสำหรับปี 2015-2020 ที่จะเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลมากกว่า 2 เท่า เพิ่มขีดความสามารถของเนิร์สซิงโฮมให้สูงกว่า 70% เพิ่มจำนวน homecare และ community care places อีก 50% และ 100% ตามลำดับ และภายในปี 2020 จะเพิ่มจำนวนศูนย์ที่ดูแลผู้สูงอายุแบบไป-กลับอีก 40 แห่ง โดยที่ 1 ใน 4 ของศูนย์นี้จะเป็นฮับขนาดใหญ่ในโครงการการเคหะ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่คล่องแคล่วและให้บริการสำหรับการใช้ชีวิต

สำหรับการคมนาคมจะประกาศพื้นที่สำหรับผู้สูงวัย 35 โซนภายในปี 2020 จะเพิ่มสัญญาณคนข้ามถนนให้มากขึ้นจาก 500 เป็น 1,000 ภายในสิ้นปี 2018 นี้ รวมทั้งติดตั้งลิฟต์ตรงสะพานลอยข้ามถนน 41 ตัวภายในสิ้นปีนี้ และใช้รถเมล์ที่มีทางขึ้นสำหรับผู้ใช้รถเข็นภายในปี 2020 ตลอดจนจัดสรรงบประมาณ 200 เหรียญสิงคโปร์เพื่อการทำงานวิจัยสำหรับสังคมสูงวัย

ทางด้านการเรียนรู้ มีแผนรองรับผู้สูงอายุ 30,000 คนให้เรียนในสิ่งที่สนใจ และมีเป้าหมายที่จะมีโรงเรียน 100 แห่งและองค์กรอาสาสมัคร หรือชุมชนเข้าร่วมใน Intergenerational Learning Programme ตลอดจนจะรับอาสาสมัครสูงวัยเพิ่มอีก 50,000 คน และสร้างศูนย์ Inter-generational Harmony ดูแลผู้สูงวัยและเด็กเล็กในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของคณะกรรมการการเคหะจำนวน 10 โครงการ

รัฐบาลยังส่งเสริมผู้ประกอบการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยหันมาใช้แนวทางการอยู่ร่วมกันของผู้สูงวัยกับเด็กเล็กอีกด้วย

รายงานข่าว The Straitstimes เปิดเผยว่า ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก Zhi Xin, My First Skool, และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Silver Circle เป็น 3 ใน 28 ศูนย์ที่ประสานการดูแลผู้สูงวัยกับการเลี้ยงดูเด็กเล็กไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ NTUC First Campus และ NTUC Health ร่วมกันพัฒนา โดย NTUC First Campus รับผิดชอบดูแล My First Skool และ NTUC Health ดูแล Silver Circle แต่ละศูนย์อยู่ไม่ห่างกัน ดังนั้น ทั้งผู้สูงอายุและเด็กสามารถสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันได้ง่ายและทำได้อย่างสม่ำเสมอ

NTUC First Campus และ NTUC Health ได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่า วัตถุประสงค์ของโครงการคือ หนึ่ง สร้างพลังให้ผู้สูงอายุให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายผ่านการเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็ก สอง เป็นการกระตุ้นให้เด็กวัยก่อนเรียนได้เข้าใจและเห็นใจผู้อื่นรวมทั้งมห้ความเคารพผู้ใหญ่

ผู้สูงวัยและเด็กร่วมเล่นเกมส์ ที่มาภาพ:https://www.straitstimes.com/singapore/bringing-the-young-and-old-together

โครงการมี 3 ระดับ แต่ละระดับจะเสริมขีดความสามารถของแต่ละศูนย์ โดยระดับพื้นฐานและระดับกลางนั้น ประกอบด้วยกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกเดือน หรือจัดพิเศษตามแต่กรณี ส่วนระดับสูงจัดเป็นประจำ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ผู้สูงวัยและเด็ก โดยที่กิจกรรมจะจัดขึ้นทุกสัปดาห์ตามที่ศูนย์กำหนด

ศูนย์ My First Skool และ Silver Circle เป็นศูนย์ที่ร่วมทดลองแผนระดับสูง ของโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผู้สูงวัยและเด็กได้ร่วมกิจกรรมอบคุ้กกี้กับเล่นเกมบิงโก ซึ่งในปีนี้มีผู้สูงอายุ 25 คนและเกด็ก 50 คนจากศูนย์เข้าร่วม ซึ่ง Ng Lai Sam อดีตครูวัย 72 ปีกล่าวว่า สนุกกับการพบปะกับเด็กๆและได้นำเด็กทำกิจกรรม

ศูนย์ My First Skool ตั้งเป้าว่า ในอีก 5 ปี ครึ่งหนึ่งของสาขาที่มีมากกว่า 120 แห่งจะร่วมโครงการในระดับกลาง