ThaiPublica > คอลัมน์ > ให้ลดราคานำ้มัน ….ผลประโยชน์จะตกกับใคร?

ให้ลดราคานำ้มัน ….ผลประโยชน์จะตกกับใคร?

28 พฤษภาคม 2018


บรรยง พงษ์พานิช

วิวาทะพลังงานกลับมาร้อนแรงอีกวาระหนึ่ง มีการงัดข้อมูลต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายออกมาชักจูงโน้มน้าวต่างๆ นานา ซึ่งผมสังเกตดูก็เป็นการเลือกสรรข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับแนวทางการรณรงค์ของฝ่ายตน บางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ไม่ครบไม่เกี่ยวกัน เช่น เอาราคาขายปลีกสุดท้ายมาเทียบให้ดูเฉยๆ ไม่บอกรายละเอียดด้านภาษี แล้วเลือกแต่จะเทียบกับประเทศที่อยากเทียบ หรือไม่ก็เลือกคัดสรรข้อมูลในวันหรือในช่วงเวลาไม่ปรกติมาแสดง

วันนี้ผมก็เลยขอเอางานวิจัยด้านวิชาการ มาแสดงเพื่อโน้มน้าวความเชื่อฝั่งของผมบ้างนะครับ

ในงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อปลายปี 2558 เรื่อง “The unequal benefits of fuel subsidies revisited: Evidence for developing countries” ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่าการแทรกแซงด้านราคาในพลังงานนั้นมีผลเสียมากมาย ทำให้เกิดการบิดเบือนหลายด้าน และที่สำคัญ ผลประโยชน์จากการแทรกแซงอุดหนุนนั้น (ซึ่งก็คือต้นทุนของประเทศ ของประชาชนทุกคนแหละครับ) กลับไปตกกับคนรวยคนมั่งมีเสียเป็นส่วนใหญ่ คนจนได้รับกระเส็นกระสายแต่เพียงส่วนน้อยถึงน้อยมากเท่านั้น

การวิจัยที่รวบรวมข้อมูลจากประเทศกำลังพัฒนา บอกว่า ทุกบาทที่มีการอุดหนุนราคาพลังงาน ผลประโยชน์ทั้งทางตรงทางอ้อมจะตกกับคนที่รวย 20% แรกเฉลี่ยถึง 45 สตางค์ ขณะที่กลุ่มคนรายได้น้อยที่สุด 20% สุดท้ายจะได้รับเพียง 7 สตางค์เท่านั้น …แต่ถ้าเอาผลทางตรง โดยเฉพาะน้ำมัน ถ้าลดราคาลงลิตรละ 1 บาท คนรวยสุดหนึ่งในห้าแรกจะได้ไปถึง 65 สตางค์ ขณะที่คนจนหนึ่งในห้าสุดท้าย จะได้แค่ 2.4 สตางค์เท่านั้น ต่างกันถึง 27 เท่าตัว (ทั้งหมดดูรายละเอียดในชาร์ตและตารางที่ผมนำมาโพสต์ด้านล่างได้นะครับ หรือจะเข้าไปอ่านทั้งเปเปอร์ก็ได้ที่นี่

ที่มาภาพ: http://www.imf.org/external/pubs/ft/wp/2015/wp15250.pdf” rel=”noopener” target=”_blank”

ขอแปลขยายให้ง่ายๆ อีกทีนะครับ …ถ้าเราลดภาษีน้ำมันลิตรละ 1 บาท เราใช้น้ำมันเฉลี่ย 90 ล้านลิตร/วัน ปีนึง 32,900 ล้านลิตร ปีหนึ่งรัฐก็จะเสียรายได้ไป 32,900 ล้านบาท (ต้องไปหาเพิ่มทางอื่น หรือลดค่าใช้จ่ายลง) แต่ประโยชน์จะตกกับคนรวยที่สุด 13 ล้านคน (ที่มีผมอยู่ในนั้นด้วย) เสีย 21,385 ล้านบาท ได้คนละ 1,645 บาท ขณะที่คนจนสุด 13 ล้านคน แบ่งกันไป 790 ล้านบาท ได้แค่คนละ 61บาทเท่านั้น

…แล้วจะลดภาษีหรืออุดหนุนราคาไปทำไมครับ ให้ประโยชน์มาตกกับคนมีรถแรงๆ สี่คันอย่างผมทำไม

http://www.imf.org/external/pubs/ft/wp/2015/wp15250.pdf” rel=”noopener” target=”_blank”

จะว่าไป ในทางกลับกันนั้น ภาษีน้ำมันนับเป็นภาษีที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุดแบบหนึ่ง คือ เก็บจากคนรวยมากกว่าเป็นลำดับขั้นไป (ดูตารางอีกทีได้นะครับ) ซึ่งก็เป็นการสมควร เพราะคนรวยย่อมใช้สาธารณูปโภคมากกว่า ใช้ถนนหนทางมากกว่า ก็ควรจ่ายมาก

…ที่จริงเราควรขึ้นภาษีน้ำมันมากกว่านี้อีกด้วยซ้ำ แล้วเอาเงินไปช่วยคนจน ช่วยคนด้อยโอกาสแบบเต็มๆ จะดีกว่ามาก (ถ้าคนจนรับภาระไม่ไหว ก็แจกคูปองสวัสดิการไปตรงๆ ได้เลยครับ)

นี่ว่าในส่วนของภาษีและค่าเงินกองทุนต่างๆ เท่านั้นนะครับ

ในส่วนของค่าการกลั่น และค่าการตลาดที่มีคนเเลือกเอาข้อมูลอดีตในวันที่มันตำ่ผิดปรกติมาโน้มน้าวต่างๆ ผมได้เคยอธิบายไว้แล้ว จะหาโอกาสมาอธิบายอีกทีนะครับ

ขอเรียนว่า การปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดเป็นหลัก โดยรัฐเข้ากำกับ เข้าแทรกแซงเท่าที่จำเป็นอย่างที่ประเทศไทยทำอยู่ เป็นนโยบายพลังงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการแทรกแซงเกินควร ซึ่งจะก่อให้เกิดการบิดเบือน และเป็นปัญหาระยะยาวมากกว่าครับ โดยเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีแหล่งพลังงานไม่พอเพียงกับความต้องการอย่างเรา ซึ่งก็มีงานวิจัยต่างๆ ยืนยันมากมาย อย่างตัวอย่างที่ผมยกมา (ถึงตอนนี้ ก็คงมีคนมาด่าว่า IMF เป็นทาสทุนพลังงานอีกแหละครับ)

ก่อนที่จะเลือกเชื่อ จะเลือกสรุปอะไร ลองฟังความให้รอบด้าน แล้วใช้หลัก “กาลามสูตร” คิดเสียก่อนนะครับ

ป.ล. ผมเป็นสมาชิกของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Energy Reform for Sustainability) ครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกเฟซบุ๊ก Banyong Pongnanich วันที่ 28 พ.ค. 2561