ThaiPublica > คอลัมน์ > เล่าเรื่องร้อน “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” (Privatization) ตอนที่ 2

เล่าเรื่องร้อน “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” (Privatization) ตอนที่ 2

2 มีนาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

เมื่อปีที่แล้ว ผมได้เขียนเรื่อง “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ไว้ 3 ตอน ยังไม่จบ มีผู้โต้แย้งเข้ามาพอสมควร พอดีมีเรื่องอื่นๆ ชวนให้ไปเขียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกที่เริ่มปะทุและยกระดับความร้าวลึกขึ้นมา เลยยังไม่ได้สานต่อเสียที

มาวันนี้ วันที่ความแตกแยกเริ่มบานปลาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกาศตนว่า “รักชาติสุดชีวิต” ในกลุ่ม กปปส. เริ่มมีความเห็นต่างกันเอง โดยเฉพาะเรื่อง “การปฏิรูปพลังงาน” ซึ่งเกินเลยไปจนมีการเรียกร้องใหญ่โตให้ทวงคืน หรือ ริบคืน “ปตท.” ให้กลับไปเป็นของรัฐ (อยู่ใต้อุ้งมือนักการเมือง 100%) เหมือนเดิม

ผมเห็นเป็นโอกาสเหมาะ ที่จะต่อเรื่อง “การแปรรูปฯ ” ที่เขียนคั่งค้างไว้ให้จบ รวมไปถึงจะวิจารณ์ประเด็นร้อนเรื่องพลังงานด้วยเลย จึงขออนุญาตเอา 3 ตอนที่เขียนไว้มาโพสต์อีกที เพื่อปูพื้นสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านนะครับ

ตอนที่ 2: เขียนเมื่อ 18 ส.ค. 2556

“การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” เป็นการ “ขายชาติ” … “อุดมคติ” หรือ “มายาคติ”

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยต่อต้านการแปรรูปฯ NGOs บางกลุ่มบางพวกถึงกับถือเป็นอุดมการณ์หลักเลยก็มี นักวิชาการไม่น้อยก็ไม่เห็นด้วยที่จะแปรรูป มีการปลุกเอาอุดมคติความ “รักชาติ” เอาการที่บรรพบุรุษได้สร้างได้สะสมสมบัติของชาติ มาเป็นจุดปลุกระดมหลักเพื่อต่อต้านตลอดมา

ดูเหมือนว่าฝ่ายต่อต้านจะประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก เพราะถึงแม้ว่า “การแปรรูปฯ” จะถูกระบุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาทุกแผน ตั้งแต่แผนที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) แต่มีความคืบหน้าน้อยมาก มีเพียงการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิบกว่าแห่ง แต่ยังไม่มีการดำเนินการแปรรูปต่อให้สมบูรณ์เลย รัฐยังมีอำนาจ มีภาระ รวมทั้งยังให้สิทธิพิเศษแก่รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นอยู่ไม่น้อย

จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ในช่วง 20 ปี (ค.ศ. 1988-2008) มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใน 120 ประเทศทั่วโลกกว่า 70,000 รายการ

ถ้าการแปรรูปฯ เป็นการ “ขายชาติ” จริง ทำไมมันถึงตั้งหน้าตั้งตาจะ “ขายชาติ” กันทั้งโลกอย่างนี้ (วะ)

โดยเฉพาะ ประเทศที่เป็น Transition Economy หรือก็คือ ประเทศที่เคยใช้ระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์ (Centrally Planned Economy) ที่เคยเชื่อว่า รัฐดี รัฐเก่ง รัฐเท่านั้นที่จะทำทุกอย่างได้ดี แล้วล้มเหลวไม่เป็นท่าในการพัฒนา ต้องยอมเปลี่ยนมาใช้ระบบ Market Economy (เริ่มด้วยพี่เติ้ง เสี่ยว ผิง ในปี ค.ศ. 1979, คุณกอร์บาชอฟ ปี ค.ศ. 1985, กำแพงเบอร์ลินล่ม ค.ศ. 1989 เรื่อยมา) ซึ่งหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนก็คือ ต้องคืน ต้องขาย ทรัพย์สินกิจการที่ยึดมา หรือที่ทำอยู่ให้กับตลาด ให้กับเอกชนไปทำ

ในประเทศ Transition Economy นี้มีอยู่ประมาณ 30 ประเทศ ได้แก่ พี่เบิ้มอย่างรัสเซีย จีน พวกยุโรปตะวันออกทั้งหลาย โปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี เช็ค ลัตเวีย โครเอเชีย ฯลฯ ในเอเชียก็เช่น เวียดนาม ลาว เขมร ฯลฯ ประเทศเหล่านี้ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาแปรรูปฯ อย่างขะมักเขม้น โดยทำไปประมาณ 60,000 รายการใน 20 ปีที่ผ่านมา แล้วก็เลยทำให้เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้า เป็น Emerging Market ที่มีอนาคต คึกคักขึ้นมา หลังจากไปเชื่อท่าน Marx ทดลองระบบเสียสี่สิบกว่าปี แล้วพบว่าไม่เวิร์ก

อย่างจีนที่ผมเปรียบกับไทยบ่อย เพราะในปี ค.ศ. 1979 ปีที่ท่านเติ้ง ประกาศนโยบาย “จีนใหม่” จีนมี GDP ต่อคนต่อปีแค่ 182 เหรียญ ขณะที่เรามี 589 เหรียญ มากกว่าตั้งกว่าสามเท่าตัว แต่ปีที่แล้ว เขาแซงเราไปแล้ว 6,079 เหรียญ/5,630 เหรียญ แล้วก็คงไม่เหลียวหลัง มุ่งเป็นเสือตัวที่เจ็ดแห่งเอเชียตามมาเลเซียไป ปล่อยให้เราลดดิวิชันไปรออินเดีย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ต่อไป (แต่อย่างน้อยผมยังค่อนข้างมั่นใจว่าก่อนผมตาย เขมร ลาว พม่า ไม่น่าจะแซงเราไปได้…อุ่นใจอยู่บ้าง)

ความจริงผมเน้นหลักการหลายครั้งแล้วว่า เป็นที่ยอมรับทั่วโลกแล้วว่า รัฐที่แสนดี แสนเก่ง ไม่มีในโลกนี้ ประสิทธิภาพต้องมาจากการแข่งขัน ถ้าให้คนที่มีอำนาจ ถืออำนาจ ลงไปแข่ง ก็จะเกิดการบิดเบือน ตลาดก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ ยิ่งถ้าให้สิทธิ์ Monopoly ไปด้วยยิ่งแล้วใหญ่

วันนี้จะขอสาธยายถึงประโยชน์ทั้งมวลที่การแปรรูปฯ จะนำมาให้อีกทีนะครับ

– ที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวคุณภาพ ตัวประสิทธิภาพ ของสินค้าและบริการที่ถ้ารัฐทำก็มักจะการันตีได้สามอย่าง คือ ของคุณภาพห่วย ต้นทุนสูง (ถึงแม้บางครั้งจะขายต่ำกว่าทุน เป็นภาระงบฯ) และปริมาณไม่เพียงพอ จากประสบการณ์การแปรรูปทั่วโลก กว่า 95% ทุกอย่างดีขึ้นมากมายก่ายกอง มีส่วนน้อยที่แย่ลงหรือไม่ประสบผลสำเร็จ (แต่นักต่อต้านจะพูดถึงตลอด เช่น รถไฟอังกฤษ ไฟฟ้าอาร์เจนตินา…จะอธิบายให้ฟังวันหลังนะครับ)

– ประโยชน์ที่สอง ก็คือการลดภาระของรัฐ ที่จะต้องใช้ทรัพยากรภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด มาอุดหนุนในภารกิจที่เอกชนทำได้ และยินดีทำอยู่แล้ว ให้เค้าทำไป รัฐจะได้เอางบประมาณไปทำสิ่งจำเป็นอื่น เช่น การศึกษา การสุขภาพ สวัสดิการต่างๆ ฯลฯ อย่าง พ.ร.บ.กู้เงินสองล้านล้าน ถ้าดูให้ดี มีมากกว่าครึ่งที่ปกติในประเทศพัฒนาเอกชนเขาทำได้ ของเราถ้าจะว่าเพิ่งเริ่มไม่มีใครกล้าเสี่ยง (ก็ใครจะกล้าลงทุนรถไฟเร็วไปหนองคาย 170,000 ล้านเพื่อหวังว่าจะมีคนนั่งเต็มวันละสี่สิบขบวนถึงจะคุ้มทุนล่ะครับ) ก็ยังจัดระบบ Public-Private Participation ให้เขาร่วมได้หลายรูปแบบ หรือแม้ไม่มีใครอยากจะร่วมกับรัฐไทยเพราะเคยมีแต่ประสบการณ์เลวร้าย (วันหน้าจะเล่าเรื่องนี้อีกทีครับ) เราก็ยังขายหุ้นรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่ากว่าล้านล้านบาทที่รัฐถืออยู่ จะได้ไม่ต้องเป็นหนี้บักโกรก ต้องใช้ตั้งห้าสิบปี

– ในส่วนทรัพยากรที่ติดอยู่กับตัวรัฐวิสาหกิจเอง ก็จะได้มีโอกาสเอาไปใช้ไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์เต็มที่ยิ่งขึ้น บุคลากร ถ้าไปอยู่กับภาคเอกชน ก็จะได้พัฒนา มีคุณภาพสูงขึ้น แล้วย่อมได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น (เฉพาะคนดีคนเก่งนะครับ) มีผู้เคยวิเคราะห์ว่า รัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปไม่น่าทำงานด้วย ไม่มีระบบคุณธรรม ไม่ยุติธรรม เล่นพรรคเล่นพวก (เพราะนักการเมืองสั่งได้) เลยเป็น “ที่ห่วย” สำหรับคนดีและเก่ง แต่เป็น “ที่ดี” สำหรับคนห่วย และเ-ี้ย (เวลาผมเขียนว่า มีผู้….แปลว่า ผมจำเขามานะครับ ไม่ได้คิดเอง พูดเอง โปรดอย่ามาตื้บผม)

– สินค้า และบริการของรัฐวิสาหกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นของจำเป็น และเป็นพื้นฐาน เป็นต้นทุน ของทุกๆ อุตสาหกรรม ถ้ามีคุณภาพดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง ปริมาณเพียงพอ ก็จะเพิ่มศักยภาพการผลิต การแข่งขันของประเทศ เพิ่ม productivity รวม ซึ่งเป็น bottom line หนทางเดียวเท่านั้นที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้

– ประโยชน์ใหญ่หลวงอีกอย่างหนึ่งก็คือ การลดคอร์รัปชัน วิธีที่ง่ายที่สุดในการลดคอร์รัปชันก็คือการลดขนาด ลดบทบาทภาครัฐ รัฐวิสาหกิจมีงบค่าใช้จ่าย งบจัดซื้อ งบลงทุนรวมกันถึงเกือบสี่ล้านล้านบาทต่อปี สูงกว่างบประมาณแผ่นดินถึงกว่า 70% ลองคิดดูว่า ถ้าแปรรูปไปได้ส่วนใหญ่ เราจะลดขนาดของมะเร็งคอร์รัปชันลงได้เพียงใด ถ้าสังเกต เวลาแบ่งเค้กการเมือง นอกจากกระทรวงที่มีงบประมาณสูงแล้ว กระทรวงที่มีรัฐวิสาหกิจสำคัญก็จะอยู่เกรดสูงไปด้วย อย่าง กระทรวงอุตสาหกรรม เคยเป็นเกรดเอบวก พอตั้งกระทรวงพลังงาน ย้าย ปตท. กฟผ. กระทรวงอุตสาหกรรมเลยกลายเป็นเกรดบีไปเสียอย่างนั้น มีผู้ (คนอื่นอีกแล้ว) บอกว่าพอท่านถูกสับกระทรวง ถึงกับปาดเหงื่อ ต้องรีบออกนวัตกรรม คณะกรรมโรงงาน 4 มาชดเชยอย่างเร่งด่วนเลยทีเดียว

– สุดท้ายที่ผมนึกออก ก็คือการแปรรูปฯ ช่วยพัฒนาตลาดทุน รวมถึงดึงดูดเงินทุน (capital flow) จากทั่วโลก อย่างที่อังกฤษเคยได้รับที่เล่าให้ฟังแล้ว หรือในไทย การนำ ปตท. เข้าตลาดในปี 2544 นับว่าได้ช่วยปลุกตลาดหุ้นที่ซบเซาสุดขีดจากวิกฤติต้มยำกุ้ง SET Index วันที่เริ่มขายหุ้นอยู่ที่ 280 ทำให้เรามีตลาดทุนที่แข็งแกร่งมาทุกวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นยุคที่ 3 ของตลาดหุ้นเลยทีเดียว (ยุคแรกราชาเงินทุน พ.ศ. 2520, ยุค 2 Globalization พ.ศ. 2530) เช่นเดียวกับ Emerging Market หลายแห่ง เช่น จีน มาเลเซีย ที่รัฐวิสาหกิจเป็นตัวชูโรง

ถามว่า การแปรรูปมีประโยชน์ถึงเพียงนี้ แล้วทำไมคนถึงยังต่อต้าน ยังกรีดเลือดค้านกันสุดลิ่มทิ่มประตู มันมีโทษมหันต์อย่างไร

ความจริงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นมีตัวอย่าง มีบทเรียน มีการศึกษาปรับปรุงมาอย่างยาวนาน ถ้าทำได้ดี ถูกต้องตามหลัก แทบไม่มีโอกาสที่จะเป็นโทษเลย แต่ที่มีปัญหา อาจเนื่องจากปัจจัยบางอย่าง กับมีความผิดพลาด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะมีวาระซ่อนเร้น ที่ผมจะมาขยายในตอนหน้า

มาเขียนมาเล่าเรื่อง “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนเก่า เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งชื่อ “คุณหมู” บุญชัย ศรีปรัชญาอนันต์ ที่เคยร่วมงานกันยาวนานกว่า 15 ปี ที่หลักทรัพย์ภัทร คุณหมูนับเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแปรรูปฯ ทำดีล ศึกษา มีความรู้เรื่องนี้เยอะมาก ทำให้ผมได้เรียนรู้ตามไปด้วย ถ้าบทความนี้มีประโยชน์ ผมต้องขอบคุณ ยกเครดิตให้ครับ

มีคนเตือนว่าอย่าเขียนยาวมาก เลยต้องยกยอดไปอีก สงสัยอีกหลายตอนครับ (อ่านตอนที่3)

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich