ThaiPublica > คนในข่าว > “สุวิทย์ สิมะสกุล” อดีตเอกอัครราชทูตกับมิติสร้างความร่วมมือ “ประชาชนต่อประชาชน” เชื่อมไทยเชื่อมลาว รากเหง้า กกเค้าเดียวกัน

“สุวิทย์ สิมะสกุล” อดีตเอกอัครราชทูตกับมิติสร้างความร่วมมือ “ประชาชนต่อประชาชน” เชื่อมไทยเชื่อมลาว รากเหง้า กกเค้าเดียวกัน

11 เมษายน 2018


นายสุวิทย์ สิมะสกุล นายกสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ

เป็นเวลา 25 ปีแล้ว ที่ “สมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ” ทำงานส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยและลาว ร่วมกับสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่าง “ประชาชนต่อประชาชน” อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 โดยการผลักดันของกระทรวงการต่างประเทศ

มาถึงวันนี้ ปีนี้ สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ยังคงทำหน้าที่นี้อย่างแข็งขัน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ กีฬา วัฒนธรรม และวิชาการ โดยมีนายสุวิทย์ สิมะสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย เป็นนายกสมาคมฯ และนายบรรณสาร จันทร์สมศักดิ์ เป็นเลขาธิการสมาคมฯ

ไทย-ลาว “รากเหง้า กกเค้าเดียวกัน”

นายสุวิทย์เล่าผ่านสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวซึ่งมีระบอบการปกครองแตกต่างกันนั้นการปรับตัวตามแต่ละยุคสมัย นับตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียตเริ่มปรับตัว ซึ่งทำให้ทั้งไทยและลาวต้องปรับตัวอยู่ด้วยกันให้ได้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านความร่วมมือระหว่างประชาชนต่อประชาชน

ในช่วงเริ่มต้น ความสัมพันธ์ไทย-ลาว เป็นไปอย่างฉันญาติมิตรใกล้ชิด ในลักษณะผู้ใหญ่ในสังคมพบปะไปมาหาสู่กัน ผู้ใหญ่ชุดแรกๆ ที่พบกันคือนายอาสา สารสิน นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพคนแรก กับนายคำผาย บุปผา ประธานสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพคนแรก ซึ่งการพบปะหารือกันบ่อยครั้งมีส่วนเสริมสร้างทัศนคติทางบวก ความรัก ความเข้าใจระหว่างคนทั้งสองชาติ

กิจกรรมสองสมาคมได้รุดหน้าก้าวใหญ่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระเมตตาพระราชทานผ้าพระกฐินให้แก่วัดในประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2538 โดย สปป.ลาว ได้รับพระราชทานผ้ากฐินตั้งแต่ปีนั้น

ในปี 2544 กระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมฯ ในขณะนั้น เป็นผู้อัญเชิญผ้ากฐินไปทอดใน สปป.ลาว หลังจากนั้นสมาคมได้อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดใน สปป.ลาว ทุกปี

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี 2557

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ซึ่งคนที่ขอพระราชทานผ้าพระกฐินก็คือคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ขอพระราชทานผ้าพระกฐินจากรัชกาลที่ 9 ไปทอดกฐินในลาว กัมพูชา และเมียนมา โดยการทำกฐินในลาวจะทำช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว มีกิจกรรมประจำปีมากมาย”

นายสุวิทย์ สิมะสกุล นายกสมคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พิธีทอดผ้าพระกฐินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดโพสีไซยะทัม เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

นายสุวิทย์กล่าวว่า จากการสร้างความใกล้ชิดระหว่างผู้ใหญ่ของสองประเทศ และจากที่พบว่าทั้งไทยและลาวมีรากเหง้าเดียวกัน ทำให้กิจกรรมของสองสมาคมพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้น หากมีกิจกรรมใดที่สองประเทศสามารถทำร่วมกันได้ก็จะทำ ในปัจจุบันกิจกรรมที่ทำร่วมกันทุกปีคือการประชุมร่วมของสองสมาคม การจัดกิจกรรมด้านศาสนา ด้านกีฬา และด้านการแสดง ที่ต้องทำให้ถึงประชาชนจริงๆ

“ทั้งไทยและลาวต่างมีภาษาเป็นของตัวเอง ภาษาลาวเรียกว่า ‘กกเค้า’ ภาษาไทยเรียกว่า ‘รากเหง้า’ เมื่อพบว่าไทยลาวมีรากเหง้ากกเค้าเดียวกัน อะไรก็ตามที่เราทำร่วมกันได้เราก็จะทำ โดยทำในสิ่งที่ลาวต้องการ ทำแล้วต้องถึงประชาชน และให้เป็นของ ไม่ให้เป็นเงิน ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมด้านกีฬา เรานำฟุตบอลไปเตะที่ลาวเพื่อหาเงินไปสร้างโรงเรียนในลาว ซึ่งพบว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนถึงประชาชนได้จริงๆ”

ลาวขออะไรไทยให้อย่างนั้น

นายบรรสารในฐานะเลขาธิการสมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ กล่าวเสริมว่า กิจกรรมด้านกีฬาเป็นเครื่องมือที่ดีที่มากในสร้างความสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศ โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล

ก่อนหน้านี้ สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพนำสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไปเตะฟุตบอลหาเงินให้ฝ่ายลาวสร้างโรงเรียน สร้างหอพักให้เด็กในที่ลำบาก หรือทุกครั้งที่มีงานทอดกฐิน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จะนำโค้ชฟุตบอลชาวไทยไปสอนเด็กๆ ชาวลาว ซึ่งทางการลาวและเด็กลาวชื่นชอบเป็นอย่างมาก

“ผมเริ่มนำนักฟุตบอลจากสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไปเตะฟุตบอลหาเงินให้ลาวไปสร้างโรงเรียน สร้างหอพักให้เด็กในที่ลำบาก ก็ได้รับความกรุณาจากคุณเนวิน ชิดชอบ แล้วก็ได้จากไทยเบฟฯ เอาโค้ชฟุตบอลไปสอนเด็กในแต่ละแขวงที่เราไป ซึ่งทำติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว”

ฟุตบอลกระชับมิตร

นายบรรสารกล่าวว่า ทุกปีที่มีงานทอดกฐิน ไทยเบฟฯ จะส่งโค้ชฟุตบอลไปสอนเด็กๆ ที่ลาว ซึ่งทั้งทางการลาวและเด็กเด็กของลาวชอบมาก เพราะไม่เคยมีโค้ชดีๆ ไปสอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความสัมพันธ์ประชาชนกับประชาชนที่ดีมาก และปีนี้ก็จะไปที่แขวงไชยบุรี

นอกจากนี้ยังมีกีฬาวอลเลย์บอล ที่กำลังเตรียมนำนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยไปสอน โดยน้ำดื่มเอส ที่เป็นสปอนเซอร์ของทีมวอลเลย์บอล แจ้งว่า หากเด็กลาวชอบกีฬาวอลเลย์บอลก็พร้อมที่จะไปสอนให้

สำหรับงานทอดกฐินประจำปีของสมาคม นายบรรสารเล่าว่า นอกจากจะมีกิจกรรมด้านกีฬาแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ตลาดนัดสินค้าไทย-ลาว 7 วัน การจัดทีมแพทย์จากโรงพยาบาลกรุงเทพไปตรวจรักษาฟรี บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ไปตรวจเช็ครถยนต์ให้ฟรี รวมทั้งมีการจัดคอนเสิร์ต นำนักร้องชื่อดังของประเทศไทยและลาวไปร่วมแสดง เพื่อเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ว่าจะมีงานทอดกฐิน ซึ่งคนลาวจะรู้ว่าถ้าหากมีคอนเสิร์ต หมายความว่าจะมีงานทอดกฐิน ซึ่งส่วนใหญ่ฝ่ายลาวจะเป็นผู้เลือก

“หลักการเดียวเวลาจะทำอะไร คือทำตามความต้องการของฝ่ายลาว ไม่เคยทำตามความต้องการของฝ่ายไทยเลย ลาวว่าอะไรเราทำตามให้หมด เราให้ความเห็นแต่ไม่เลือกให้ แล้วก็ปฏิบัติตามที่ฝ่ายลาวขอ” นายบรรสารกล่าว

กิจกรรมตรวจสภาพรถยนต์ฟรีโดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และกิจกรรมตรวจสุขภาพประชาชนแขวงบอลโดยคณะแพทย์จากโรงพยาบาลกรุงเทพ-อุดรธานี ในงานทอดกฐินพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แขวงบอลิคำไซ ปี 2559
พิธีเปิดตลาดนัดสินค้าไทย – ลาว – เวียดนาม หรือ งานวางแสดงสินค้าหัตถกรรม ODOP – OTOP และสินค้าอุตสาหกรรม ที่สนามกีฬาแขวงอุดมไซ ปี 2560

ความร่วมมือระหว่างประชาชนไม่ใช่มาร์เก็ตติ้ง ไม่ต้องโรดโชว์

นายสุวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพทำอยู่นั้น เป็นรูปแบบของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศทำมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสมาคมมิตรภาพร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่ช่วยกันพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด แล้วทำไปด้วยกัน ซึ่งที่ผ่านมาเห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

“เราทำในสิ่งที่ลาวต้องการ ไม่ใช่ทำแล้วประเทศไทยได้อะไร แต่ทำแล้วต้องถึงประชาชน และให้เป็นของ ไม่ให้เป็นเงิน ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา การแสดง การกีฬา การพบปะระหว่างผู้ใหญ่ สิ่งที่เราพยายามทำคือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านการต่างประเทศ” นายสุวิทย์กล่าว

สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพก็เช่นเดียวกัน โดยนายสุวิทย์กล่าวว่า ได้พัฒนามาเรื่อยๆ ขณะนี้เป็นปีที่ 25 สมาคมฯ ทำไม่หยุด ทำไปเรื่อยๆ ลาวต้องการอะไร สมาคมฯ ให้เท่าที่ทำได้ โดยสมาคมฯ จะประสานความร่วมมือจากบริษัทไทย เช่น ช.การช่าง, บ้านปู, น้ำตาลมิตรผล, ปูนซีเมนต์ไทย, สีทีโอเอ, โตโยต้า ซึ่งบริษัทที่สนับสนุนทางการเงินก็ได้ทำกิจกรรม CSR ไปด้วย ทุกอย่างเป็นการค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่าง เด็กผู้หญิงลาวบอกว่าอยากได้สนามวอลเลย์บอล เพราะดูโทรทัศน์ไทยแล้วเห็นว่าผู้หญิงไทยเก่งวอลเลย์บอล จึงอยากเป็นอย่างนั้นบ้าง สมาคมได้ให้ข้อมูลไปกับบริษัทโตโยต้า ซึ่งก็ตอบรับที่จะทำให้ หรือกรณีบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ที่สร้างศูนย์กีฬาให้โรงเรียนในลาว สร้างสนามวอลเลย์บอล สนามฟุตซอล สนามแบดมินตัน ลานออกกำลังกายให้เด็กๆ ในประเทศลาว

สมาคมไทย-ลาวและสมาคมลาว-ไทยเพื่อมิตรภาพ ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ Mobile Football Unit 5th ปี 2559

นายสุวิทย์กล่าวว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่มีแนวทางใดดีที่สุด ไม่ควรเน้นแนวทางใดแนวทางหนึ่งโดยเฉพาะ ต้องคำนึงถึงองค์รวม และทำไปด้วยกันก็จะได้ผลดีออกมาเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือเครื่องเคียงก๋วยเตี๋ยวในลาว ส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย น้ำปลาที่ลาวใช้ต้องตราปลาหมึกเท่านั้น ซอสต้องเป็นซอสศรีราชา หรือกาแฟลาวตามท้องถนนก็ต้องใส่นมข้นตรามะลิ

“เครดิตเหล่านี้เกิดขึ้นจากความรัก ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่จากมาร์เก็ตติ้ง แต่เป็นเรื่องของประชาชนต่อประชาชน ไม่ต้องไปโรดโชว์ รวมทั้งด้านการขนส่งคมนาคมไทยและเพื่อนบ้านต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และพยายามเชื่อมโยงกันอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว”

ส่วนด้านที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งคมนาคม นายสุวิทย์กล่าวว่า ได้เกิดมานานแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านต่างเข้าใจซึ่งกันและกันและพยายามเชื่อมกันอยู่แล้ว ทำกันเองมาตลอดเวลา แต่อาจจะช้าบ้าง ยกตัวอย่าง เส้นทางที่ไปติดต่อกับประเทศจีน เช่น เส้นทางหมายเลข R3A หรือ R3B ก็เชื่อมกันมาอยู่แล้ว

ทางด้านประชาคมอาเซียนก็ค่อยๆ เกิด โดย ASEAN Free Trade Area เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีปี 2534 แล้วก็ค่อยๆ ลดภาษีให้กัน โดยส่วนที่ยังลดไม่ได้ปัจจุบันก็ยังลดไม่ได้ แต่สิ่งที่ลดให้ได้ก็ได้ลดให้หมดแล้ว ทุกอย่างเป็นการค่อยๆ พัฒนามาเรื่อย

นายบรรสาร จันทร์สมศักดิ์ เลขาธิการสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ

นายบรรสารกล่าวเสริมว่า ชาวลาวมีความเชื่อตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายายว่า สินค้าของไทยนั้นเป็นของดี พร้อมกับบอกว่า ความสัมพันธ์ไทยและลาวที่เห็นได้ชัดและยั่งยืนที่สุดเรื่องหนึ่งคือเรื่อง “ไฟฟ้า” เพราะไม่ว่าสองประเทศจะมีความขัดแย้งในบางเวลาในบางประเด็น ลาวก็ยังคงใช้ไฟของไทย ไทยก็ยังคงใช้ไฟของลาว เป็นการพึ่งพากัน ลาวไม่เคยเอานำไฟฟ้ามาเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง เพราะมองว่าคนละเรื่องกัน

ทั้งนี้ไทยได้ใช้ไฟฟ้าจากเงื่อนน้ำงึมของลาวมาร่วมหลายสิบปี ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ มีบางครั้งที่ไทยกับลาวมีความขัดแย้งปะทะกันบ้างในบางพื้นที่ชายแดน แต่ลาวยังคงส่งกระแสไฟฟ้าตามปกติ ไม่ได้นำเรื่องไฟฟ้ามาเป็นเงื่อนไข ในทางกลับกันไทยก็ยังคงจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับบางพื้นที่ของลาวที่อยู่ใกล้กับไทยตามปกติเช่นกัน

ลาวอยากให้ไทยเข้าไปลงทุน

นายสุวิทย์ยังกล่าวว่าปัจจุบันลาวและประเทศเพื่อนบ้านมีพัฒนาการในเชิงเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากประเทศมหาอำนาจถอยออกไป ส่งผลให้ทุกประเทศไม่ได้อยู่นิ่ง พยายามปรับปรุงเพื่อประชาชนของตนเอง เพราะผู้นำแต่ละประเทศต้องอยู่กับประชาชน

แต่ละประเทศมีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ แต่ก็ไม่ทิ้งรากเหง้าดั้งเดิมของตนเอง เช่น ในประเทศลาวมีคนพูดภาษาลาวไม่ถึงครึ่ง เพราะที่เหลือพูดภาษาชนเผ่า เช่น ภาษาม้ง ภาษาตะโอย ภาษาข่า ภาษาโซ่ ฯลฯ ไม่ได้พูดลาว แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวยังต้องมีกองภาษาไว้สำหรับไปติดต่อกับชาวบ้าน และต้องมีล่ามเพื่อแปลภาษาท้องถิ่นเหล่านั้น

นายสุวิทย์ชี้ว่า หากนักลงทุนไทยจะเข้าไปทำธุรกิจในลาว สามารถเดินทางเข้าไปติดต่อนักธุรกิจที่ลาวได้โดยใช้วิธีปลูกฝังความสัมพันธ์กับประชาชนในประเทศลาวเหมือนดังที่นมตรามะลิ น้ำปลาตราปลาหมึก หรือซอสศรีราชา เคยทำมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งภาวะธุรกิจในประเทศลาวก็เหมือนกับประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน

แต่ประเด็นสำคัญคือคนไทยต้องมีมุทิตาจิต มีเมตตาจิตให้มากๆ อย่าไปคิดว่าลาวหรือเพื่อนบ้านจะเก่งกว่า หรือกลัวว่าจะเจริญกว่าไทย นอกจากนี้ต้องมองว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว ไทยควรจะทำอะไร ปฏิบัติต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร

ยกตัวอย่าง การปลูกข้าวของลาว อย่าไปกลัวว่าลาวจะทำนาปลูกข้าวแข่งกับไทย อย่ามองในแง่เดียว มองให้ลึกลงไปว่า เมื่อลาวปลูกข้าวมากขึ้นต้องใช้น้ำมากขึ้น ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ต้องใช้ท่อน้ำ ต้องใช้รถไถนา ต้องใช้น้ำมัน ซึ่งทั้งเครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ รถไถ น้ำมัน เป็นสินค้ามาจากประเทศไทยทั้งสิ้น

“สมัยก่อนคนขุดคลองแสนแสบคือแรงงานลาว รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เป็นแรงงานลาวมาจากเวียงจันทน์มาสร้างพระนคร ขณะที่รัชกาลที่ 1 สมัยเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ท่านก็ใช้แรงงานเขมรและพม่ามาเผาอิฐสร้างกรุงเทพมหานคร สมัยนั้นต้องเสี่ยงชีวิตที่ให้คนเหล่านี้มาเพื่อสร้างพระนคร แต่สมัยนี้เขาขึ้นรถมาทำงานในประเทศเราเอง”

“หรือชาวเขาที่หนีมาอยู่เมืองไทยจากสารพัดประเทศ มาอาศัยพระบรมโพธิสมภารในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็ให้ชาวเขาคนเหล่านี้รักษาป่าต้นน้ำ ให้เลิกปลูกฝิ่น เปลี่ยนชื่อให้ จนปัจจุบันมีลูกมีหลานเต็มไปหมด รัชกาลที่ 9 ท่านทำให้อยู่เรื่อยๆ แต่วันนี้เรากำลังทำกลับข้างหรือเปล่าลองไปคิดดูว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร”

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีนักธุรกิจไทยเข้าไปทำธุรกิจในลาวค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นบริษัทกิจการขนาดใหญ่ ไม่ใช่ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายลาว โดยเฉพาะคนที่ทำเรื่องไฟฟ้าหรือผลิตสินค้าต่างๆ ที่ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา จนรัฐบาลลาวบอกว่าอยากให้นักธุรกิจไทยเข้าไปอีก

“วันนี้ประเทศลาวไม่ได้ปิดอะไร เข้าไปลงทุนได้ เพียงแต่อย่าไปคิดว่าเขาเป็นประเทศไทย และถ้าเราทำธุรกิจตรงไปตรงมากับเขา รับรองได้ว่าไม่มีพัง” นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพกล่าว

โครงการโรงเรียนมิตรลาว-ไทย

สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ ริเริ่มโครงการโรงเรียนมิตรลาว-ไทยขึ้น เพื่อสร้างและซ่อมอาคารเรียน ห้องพักครู ห้องสมุด หอนอนของเด็ก ห้องน้ำ ติดตั้งระบบไฟฟ้า ในลาวมาร่วม 6 ปี ซึ่งแสดงถึงความมีน้ำใจของประชาชนไทยที่มีต่อประชาชนลาว และเป็นอีก 1 กิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและลาว โดยได้ส่งมอบโรงเรียนภายใต้ชื่อโรงเรียนมิตรลาว-ไทย ไปแล้ว 8 แห่งและส่งมอบโรงเรียนภายใต้ชื่อโรงเรียนเพื่อนมิตรไป 1 แห่ง

นายนภดล เทพพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ได้เป็นประธานในพิธีมอบอาคารเรียนหลังใหม่ของโรงเรียนมัธยมตอนต้นบ้านกิ่วกะจำ เมืองใหม่ แขวงพงสาลี ปี 2559

โรงเรียนมัธยมตอนต้น บ้านกิ่วกะจำ ไม่มีอาคารเรียนใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงเพิงมุงจากที่ใช้เป็นห้องเรียน 2 ห้อง เพิงพักครู และเพิงพักของนักเรียนจากหมู่บ้านห่างไกลที่ผู้ปกครองและนักเรียนสร้างขึ้นเอง ทั้งๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้จะต้องรองรับนักเรียนที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากหมู่บ้านต่างๆ ในเมืองใหม่มากถึง 13 หมู่บ้าน กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรายงานจากคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากดังกล่าว จึงได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณ โครงการ “โรงเรียนเพื่อนมิตร” เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก ซึ่งได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558

อาคารเรียนหลังใหม่โรงเรียนมัธยมตอนต้นบ้านกิ่วกะจำ เมืองใหม่ แขวงพงสาลี

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีแผนที่จะสร้างหอนอนให้แก่เด็กนักเรียน จำนวน 2 หลัง โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 สมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษระหว่างทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด กับ ทีมออลสตาร์ลาว พรีเมียลีก ที่สนามกีฬาหลัก 16 นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อหารายได้ในการสร้างหอนอนพร้อมเตียงนอน และตู้เก็บของสำหรับนักเรียนหญิงและนักเรียนชายรวม 2 หลังให้แก่โรงเรียน ซึ่งมีผู้ร่วมบริจาคเงินทั้งชาวไทยและชาวลาว เป็นเงินจำนวน 241,657,441 กีบ และกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยยังได้อนุมัติเงินสนับสนุนการก่อสร้างดังกล่าวอีกจำนวน 1,700,000 บาท โครงการก่อสร้างที่โรงเรียนแห่งนี้ยังเป็นที่ระลึกการครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ลาว อีกด้วย

อาคารนอนหลังเก่า-ใหม่

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือโรงเรียนเพื่อนมิตร 1 หรือ โรงเรียนมัธยมตอนต้นบ้านดอนทาด เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว โดยได้สร้างอาคารเรียนใหม่เป็น อาคารชั้นเดียว 6 ห้อง จากเดิมที่เป็นเรือนไม้ไผ่เปิดโล่งหลังคาสังกะสีรวมทั้ง ปรับปรุงอาคารเก่าและต่อเติมอาคารเพิ่ม 4 ห้องเรียน แซ่มแซมและทาสีอาคารเก่า และสร้างอาคารสุขา

โรงเรียนมัธยมตอนต้นบ้านดอนทาด เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว
ปรับปรุงอาคารสำหรับโรงเรียนบ้านดอนทาด