ThaiPublica > คอลัมน์ > สร้าง Thailand 4.0 ด้วย Growth Mindset

สร้าง Thailand 4.0 ด้วย Growth Mindset

21 เมษายน 2018


จรัล งามวิโรจน์เจริญ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

คำว่า Thailand 4.0 เป็นคำที่คนยุคนี้คุ้นหูคุ้นตากันดีอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้คนรู้จักพัฒนาตัวเองไปสู่จุดนั้น เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราอย่างแทบจะเรียกได้ว่า “เต็มรูปแบบ” ทั้งกระแส Big Data และเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence, ปัญญาประดิษฐ์) ก็ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า เราจะต้องทำตัวยังไง องค์กรจะต้องปรับตัวอย่างไร และประเทศเราจะทำอะไรกับสิ่งเหล่านี้บ้าง

หากเรามองย้อนไปถึงผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกจะพบว่า

  • ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ระบบไอน้ำได้เข้ามาแทนที่อุตสาหกรรมการผลิตและการทอผ้า
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ระบบไฟฟ้าทำให้คนมีไฟและมีโทรศัพท์ใช้ รวมถึงการผลิตปริมาณมากมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตทำให้การประมวลข้อมูลและการสื่อสารฉับไวมากขึ้น
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นยุคที่เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดอย่าง AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันทั้งในโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพ การปฏิวัติครั้งนี้เป็นยุคที่ข้อมูลเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ช่วยให้เทคโนโลยีฉลาด ช่วยให้คนทำงานและตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นยุคที่ความรู้ในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเป็นตัวคัดกรองแรงงานที่มีคุณภาพ รวมถึงองค์กรหรือประเทศที่มีความสามารถออกจากคู่แข่งรายอื่นๆ

บทเรียนที่เราได้เห็นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาคือ หากองค์กรไม่ปรับตัวและรู้จักประเมินความเร็วในการยอมรับการเข้ามาของเทคโนโลยี ก็จะพ่ายแพ้การแข่งขันหรืออาจสูญเสียธุรกิจได้ (ตัวอย่างเช่น Blockbuster vs Netflix, Kodak vs Digital Camera)

ถึงแม้กระแสของ Thailand 4.0 จะมาแรง และหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้มองเห็นถึงความสำคัญ และเกิดความตื่นตัวที่จะนำ Big Data และเทคโนโลยี AI มาปรับใช้เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร แต่ก่อนที่จะข้ามไปคิดถึงเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้รับเพียงอย่างเดียว ผมอยากจะขอให้ทุกคนสำรวจตนเองก่อนว่าองค์กรของคุณจะมีวิธีในการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้อย่างไร ตรงกับ 2 วิธีด้านล่างนี้หรือไม่

    1. หาซื้ออุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้การได้เลยทันที
    2. ว่าจ้างที่ปรึกษามาสอนทำงานเฉพาะบางโปรเจกต์ แล้วค่อยทำการโอนต่อให้คนในองค์กร ในแบบ BOT (Build, Operate, Transfer)

แนวทางทั้ง 2 ข้อที่ผมกล่าวมานี้สามารถทำได้ แต่ก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะการสั่งซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน หรือการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยทำงานเพียงชั่วคราว แต่หากไม่มีการจัดตั้งทีมจากคนภายในองค์กรเพื่อที่จะมาเรียนรู้ คอยควบคุมดูแลและให้ความรู้แก่คนในองค์กรต่อไปอย่างจริงจังนั้น เป็นการลงทุนที่สูงและสูญเปล่าอย่างยิ่ง เพราะคนในองค์กรจะใช้งานไม่เป็นและเลิกใช้ไปในที่สุด

ปัญหาของหลายๆ องค์กรคือการไม่รู้วิธีการสร้างคนและการเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง (ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการศึกษาที่พึ่งพาการเรียนรู้ด้วยตัวเองน้อยเกินไป) องค์กรจึงต้องปรับตัวที่จะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่มี Growth Mindset (ทฤษฎีที่ว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และฉลาดขึ้นได้ถ้ามีความเพียรพยายาม) และพร้อมที่จะสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะคนที่ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลาพร้อมทั้งฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาตัวอย่างต่อเนื่องจะสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้

นอกจากนี้ เราควรมองหาสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือคนที่มีความสามารถในองค์กร ประกอบกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความสามารถให้กับองค์กรและประเทศชาติ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ยั่งยืน

เพื่อให้ทุกท่านเห็นถึงแนวทางการจัดการองค์กรให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ผมขอยกตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำ Big Data และ AI มาใช้ อย่างที่ผมเคยได้เห็นตอนอยู่ที่อเมริกา ดังนี้

1. องค์กรเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นบริษัทที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล มีพนักงานประมาณกว่า 25,000 คน เริ่มที่จะสร้าง Data Science Capability (จนมี Data Scientist กว่า 500 คน) เพื่อทำโปรเจกต์ที่มีมูลค่าสูง โดยเริ่มจากการหากลุ่มคนในบริษัทที่มีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์สถิติ (Math Statistics) ที่มีความสามารถเขียนโปรแกรมได้มารวมตัวกันและเริ่มทำโปรเจกต์ในลักษณะ on-the-job training โดยมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีประสบการณ์มาทำงานร่วมกัน มีการเปิดคอร์สเรียนให้แก่พนักงานที่สนใจ รวมถึงการทำโปรเจกต์นอกเวลา

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการสอนคนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานให้ดีขึ้น จากนั้นองค์กรก็ค่อยๆ สะสมองค์ความรู้ทั้งหมดและสร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นทีมกลางในรูปแบบคล้ายกับ Center of Excellence ที่ให้ยืมคนเพื่อคอยสนับสนุนโปรเจกต์ของหน่วยธุรกิจต่างๆ โดยทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและ Domain Expert ในหน่วยธุรกิจนั้นๆ (พอมีคนมากพอ บางหน่วยอาจจะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นของหน่วยธุรกิจนั้นเอง)

2. องค์กรรัฐแห่งหนึ่งต้องการสร้าง Data Science Capability เพื่อที่จะช่วยงานทางด้าน Fraud Detection (การตรวจจับการโกง) ก็จ้างบริษัทเอกชนดังกล่าวข้างต้น เพื่อมาทำงานกับทีมกลางที่ขึ้นตรงกับหัวหน้าใหญ่สุดของกรมนั้นๆ เพื่อที่จะได้รับอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ได้ โมเดลในการทำงานของ 2 องค์กรนี้คล้ายกันคือมีทีมกลางกับทีมที่ดูแลหน่วยงานต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร

ถ้าหันกลับมามองประเทศไทย Mindset ของการสร้างความรู้ ความสามารถ ในองค์กรเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่ทุกคนต้องช่วยกันปรับปรุงทั้งประเทศ ไม่เพียงแค่ภาคเอกชน แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการศึกษา ภาครัฐ รวมถึงสื่อมวลชน โดยเริ่มจากการสร้าง Mindset ให้เป็นคนมีวินัย ขยัน หมั่นแสวงหาความรู้ ซึ่งทุกคนมีอยู่และสามารถพัฒนาต่อได้

ในด้านภาคการศึกษา ผมมองว่าความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาในระบบ หรือ Formal Education เช่น ใบปริญญา ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันความสามารถ อาจจะไม่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดที่ต้องการทักษะใหม่ๆ เฉพาะทางและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ คอร์สเรียนออนไลน์ก็เกิดขึ้นมากมาย ทำให้เราได้เรียนรู้วิชาใหม่ๆ จากอาจารย์เก่งๆ ระดับโลกโดยไม่ต้องเสียเงินอีกด้วย

ห้องเรียนในอนาคตจะไม่ได้เป็นแค่การเลคเชอร์อีกต่อไป แต่ต้องเป็นที่ฝึกการทำงานและแลกเปลี่ยนไอเดีย รูปแบบการสอนจะมีความหลากหลายมากขึ้น (ตัวอย่างการฝึกคนผ่านอาชีวะ เช่น ในเยอรมัน ญี่ปุ่น) ตลอดจน Bootcamp จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพราะเป็นกระบวนการสร้างคนที่ทำงานได้ทันทีตามความต้องการตลาดในระยะเวลาอันสั้น การศึกษาควรจะเป็นแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังที่หลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เริ่มหันมาผลักดันอยู่

นอกจากการรู้จักใช้เทคโนโลยีแล้ว เรายังต้องรู้จักการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจดีขึ้น (อ่านบทความ Data Literacy) สื่อมวลชนเองก็มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างกระแสและให้ความรู้กับคนทั่วไปเรื่องการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ โดยรู้จักการนำเสนอความจริงจากข้อมูลในรูปแบบใหม่ๆ โดยใช้ Data Journalism (อ่านบทความ Data Journalism ตอนที่ 1 2 3) เพราะทุกวันนี้มีข้อมูลเปิดและข่าวเท็จมากขึ้น สื่อมวลชนจึงควรให้ความสนใจกับคำถามที่ว่า ต้องทำอย่างไรให้คนหันมาตรวจสอบข้อมูลหรือที่มาของแหล่งข่าว และเสพข่าวอย่างรู้เท่าทันสื่อได้ ลองจินตนาการดูครับว่าถ้าสื่อ เช่น ละครโทรทัศน์ บุพเพสันนิวาสสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยสนใจประวัติศาสตร์ไทยได้ แล้วจะมีแรงบันดาลใจอื่นๆ ที่ควรสร้างเพื่อช่วยให้ Mindset ของคนไทยแข็งแกร่งขึ้นอีกหรือไม่ (อาจทำเป็นหนังเรื่องของเอาข้อมูลหรือ AI มาเชือดเฉือนด้านการแข่งขันก็ได้)

ส่วนทางภาครัฐเองก็ควรจะมีส่วนช่วยในการสร้างและผลักดันความสามารถของคนด้วยการ

    1. สนับสนุนให้เปิดและใช้ Open Data ในสังคมมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์และสร้างความโปร่งใสภายในสังคม

    2. วางบทบาทของรัฐโดยทำงานร่วมกับเอกชนในการเรียนรู้และกำหนดแนวทางของเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่จำกัดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเป็นอุปสรรคในการสร้างตลาดที่ใช้เทคโนโลยีใหม่

ความเร็วในการปรับตัว เรียนรู้ และการใช้งานทางเทคโนโลยีของเอกชนมักจะเร็วกว่าองค์กรรัฐ เพราะฉะนั้น การทำงานร่วมกันของรัฐกับเอกชนควรจะมีความยืดหยุ่น ลดกระดาษ ลดขั้นตอนในการทำงานให้เร็วขึ้น ในต่างประเทศ เช่น อเมริกา ช่วงที่เพิ่งเริ่มมีอินเทอร์เน็ต หน่วยงานที่ดูแลด้านการสื่อสาร Federal Communications Commission (FCC) จะมีการกำหนดแนวทางให้ มีความเป็นกลางกับผู้ใช้ ไม่มีการกำหนดกฎระเบียบที่เคร่งครัดจนเกินไป แต่มีนัยเรื่องการเตือนการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด หรือในไต้หวัน รัฐใช้ Social Media Platform ที่ชื่อว่า vTaiwan ในการรับความคิดเห็นของประชาชนให้มีส่วนร่วมกำหนดกฎเกณฑ์การดูแลปัญหาของ Uber (บทความ)

ในอนาคต บทบาทของ Shared Economy การเปิดกว้างของการใช้ทรัพยากรร่วม รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Blockchain (บทความ) จะเปิดโลกของข้อมูลให้กว้างขึ้น การกระจายการเข้าถึงความฉลาดของ AI ก็จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งขึ้น

เราจะเป็น Thailand 4.0 อย่างที่คาดหวังได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามี Mindset ที่จะสร้างคน 4.0 มากน้อยเพียงใด ถึงเราจะเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำแต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจต่อการเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของนักลงทุนต่างชาติ สิ่งสำคัญคือต้องมีความรู้ที่มากพอเพื่อให้เราสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง จนสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญกว่าได้

ผมเชื่อว่าเราสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้แม้เริ่มจากจุดเล็กๆ (แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ) ยกตัวอย่างเช่น การวิ่งระดมทุนช่วยโรงพยาบาลของพี่ตูน หากเราเป็นคนมีความรู้ประกอบกับมีจิตใจที่อยากทำเพื่อส่วนรวม ก็จะสามารถยกระดับสังคมให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ หากเราสามารถลดการใช้ชีวิตบนโซเชียลมีเดียให้เหลือเพียง 3 ชั่วโมงต่อวันได้ (อ่านบทความ: พฤติกรรมใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทย) เราก็จะสามารถใช้เวลาที่เหลือในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และนำไปสร้างประโยชน์ให้กับคนรอบข้างและสังคมได้ ถึงแม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้ก็จริง แต่คนก็ยังคงเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะนำความรู้ที่มีไปพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้