ThaiPublica > คอลัมน์ > Collective Intelligence: Organization & Principle (Vol.3)

Collective Intelligence: Organization & Principle (Vol.3)

2 กรกฎาคม 2017


จรัล งามวิโรจน์เจริญ

จาก 2 บทความที่ผ่านมา2 บทความที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้จากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีความฉลาด (intelligence) แต่เมื่อมีกระบวนการที่ต่างคนต่างช่วยกัน ทำให้เกิดความฉลาดรวมหรือความฉลาดของกลุ่ม (collective intelligence) ซึ่งมีประโยชน์ต่อกลุ่มมาก เมื่อนำมาปรับใช้กับคนซึ่งมีความฉลาดอยู่แล้วก็ยิ่งทำอะไรได้มหาศาลในระยะเวลาอันสั้น (เช่น digitize book แปลภาษา) วันนี้ผมจะขอนำเสนออีก 2-3 ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับองค์กรต่างๆ ที่นำ collective intelligence มาใช้

Prediction market หรือตลาดเพื่อการพยากรณ์ เป็นกระบวนการสร้าง ‘ตลาด’ เพื่อการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตที่เราสนใจว่าจะเกิดขึ้น โดยใช้กลุ่มคนหรือผู้เข้าร่วมตลาดที่สนใจในเรื่องนั้นๆ มาประเมินความน่าจะเป็นของตลาดจำลอง อาทิ การทำนายผลการแข่งขันฟุตบอล การทำนายรายได้ของภาพยนตร์หลังจากเข้าฉายไปได้หนึ่งสัปดาห์ การทำนายยอดขายผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัท เป็นต้น

หลักการของ prediction market มาจากความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย Friedrich Hayak ที่ว่าตลาดมีความสามารถที่จะย่อยข้อมูลของบุคคลและสังเคราะห์เป็นข้อมูลเช่น ราคาที่คนยอมที่จะจ่ายให้สินค้าหรือบริการ เงื่อนไข prediction market ที่ทำให้มีประสิทธิภาพคือ ต้องมีความคิดเห็นที่หลากหลาย มีข้อมูลน้อยกระจัดกระจายตามองค์กร ข้อมูลที่ปิดและไม่ชัดเจนหรือมีความไม่สมมาตรของข่าวสาร (information asymetries) ในองค์กร prediction market ก็จะเป็นตลาดรวมข่าวสารข้อมูลเพื่อพยากรณ์อนาคตได้ ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการ collective intelligence นั่นเอง

ตัวอย่างการทดลอง Prediction market อื่นๆ เช่น การเปิดให้คนซื้อขายหุ้นของเหตุการณ์ในอนาคต โดยผู้ที่เข้าร่วมในกลุ่มจะซื้อขายหุ้นด้วยราคาที่สะท้อนถึงความฉลาดของกลุ่มเกี่ยวกับราคาของหุ้นที่อาจจะเป็นไปได้ หากคนซื้อเดาราคาถูกก็จะได้รางวัล หรือการใช้ prediction market ของ Microsoft เพื่อประมาณวันปิด project เป็นต้น

อีกองค์กรที่สามารถนำ collective intelligence มาใช้ได้คือ องค์กรการปกครอง ตัวอย่างของ collective intelligence ในการปกครองนี้ จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากในการปกครองมากขึ้น โดยการที่องค์กรการปกครองนำแนวความคิด collective intelligence ไปใช้นี้จะทำให้องค์กรการปกครองได้รับประโยชน์หลายอย่าง กว้างๆ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1. เพื่อเข้าใจข้อเท็จจริงจากข้อมูลของประชาชนมากขึ้น 2. เพื่อพัฒนาหาไอเดียดีๆ 3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.เพื่อการตรวจสอบข้อผิดพลาดและเพิ่มความโปร่งใส

ตัวอย่างองค์กร non–profit Citizens Foundation in Reykjavik ใน Iceland ที่นำ collective intelligence มาใช้ในโครงการ “Better Reykjavik” ด้วยการให้ประชาชนมานำเสนอ idea ที่จะช่วยปรับปรุงเมือง โดยใช้การถกเถียงและ Vote เพื่อที่จะได้ idea โดย idea ที่ได้รับความนิยมและนำไปปฏิบัติได้ก็จะถูกนำไปดำเนินการโดยองค์กรที่ปกครองเมือง Reykjavik

อีกตัวอย่างหนึ่งในอินโดนีเซีย คือ service ที่ชื่อ Lapor! ให้ประชาชนได้แจ้งคำร้องทุกข์ของบริการของรัฐ โดยระบบได้รับคำร้องจากประชาชน คำร้องซึ่งเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบไปประสานและแก้ไขต่อไป กระบวนการเหล่านี้เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีมีประสิทธิภาพและมีการตรวจสอบได้

รัฐบาลไต้หวันมีระบบการให้คำปรึกษาที่เรียกว่า vTaiwan โดยรัฐบาลให้คำปรึกษาเมื่อได้รับ feedback ประเด็นที่ผ่านการพิจารณาโดยผู้เกี่ยวข้องต้องใช้ผ่านระบบ digital และใช้ pol.is ซึ่งเป็น platform ที่ใช้สำหรับสื่อสารและช่วยสร้างความสัมพันธ์ของประชาชนและรัฐบาลเพื่อให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างนโยบายของประเทศ ยกตัวอย่างกรณีของกฎหมายการควบคุม Uber ซึ่งก็เป็นปัญหาในไต้หวัน รัฐบาลเห็นความสำคัญและหากลุ่มที่มีผลกระทบ จากนั้นก็ชักจูงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องผ่าน Facebook มายัง pol.is ให้คนได้มาเขียน comment ในประเด็นที่ถกเถียงกัน แต่ระบบของ pol.is ไม่ให้มีการตอบกลับ (reply) แต่จะให้คนที่มีส่วนร่วม vote บน comment นั้นว่า ยอมรับ (agreed) ไม่ยอมรับ (disagreed) หรือผ่าน/ไม่แน่ใจ (pass/unsure) เพื่อที่ระบบจะได้ประมวลผลว่า มีคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับประเด็นเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็ใช้ผล vote ที่ได้มาประชุมพบปะเพื่อที่จะสรุปเป็นร่างกฎหมายต่อไป กระบวนการนี้ผ่านระบบที่ช่วยประมวลข้อมูลทำให้ได้ข้อสรุปที่นำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ (น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศเราในการหาข้อสรุปประเด็นต่างๆ ร่วมกันอย่างชาญฉลาดแบบ collective intelligence)

Gerald Hauser Professor ทางวาทศิลป์ (Rhetoric) กล่าวไว้ว่า ระบอบประชาธิปไตยต้องพึ่งความสามารถและโอกาสของประชาชนที่จะได้มีส่วนร่วมกับการถกเถียงกันจนเกิดความรู้แจ้ง แม้ว่าการตัดสินใจด้านนโยบายสาธารณะผ่านการโต้แย้งนี้อาจจะทำให้เกิดประสิทธิภาพน้อย แต่เป้าหมายที่แท้จริงของการหารือผ่านทางสาธารณะนั้นไม่ใช่เพื่อรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่เพื่อการตัดสินใจที่ได้รับการเรียนรู้ อย่างที่ Aristotle แสดงในงานวาทศิลป์ของเค้า

“Democratic governance rests on the capacity of and opportunity for citizens to engage in enlightened debate. Although deciding public policy through argumentation has little to recommend it in terms of efficiency, the purpose of public deliberation, as Aristotle recognized in his rhetoric, is not efficient government, but educated judgment.”

จากตัวอย่างที่ผ่านมาทั้งหมดจะสังเกตได้ว่าองค์ประกอบของการสร้าง ทีม องค์กร สถาบัน ที่มีศักยภาพในการใช้ความรู้ ข้อมูล เพื่อทำให้เกิดความฉลาด ความรู้ รวมถึงความฉลาดของกลุ่ม collective intelligence ต้องประกอบไปด้วย

  • เป้าหมาย (goal) ทีชัดเจนที่ทำให้คนในทีมเห็นพ้องต้องกัน
  • ตัวบุคคล (agents/staffing) ที่เห็นประโยชน์ของส่วนรวมสำคัญกว่าประโยชน์ของตัวเอง บุคคลต้องทำหน้าที่ของตัวเองในทีมอย่างรับผิดชอบ
  • สิ่งจูงใจ (incentives) สิ่งจูงใจของส่วนตัวที่ตรงกับเป้าหมายของทีม
  • กระบวนการ (process) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ข้อมูล ความรู้ ความคิดผ่านทีมได้ดี มีระบบการตัดสินใจร่วมกันหลังจากคัดกรองหลากมุมมองหรือทางเลือกหลายทาง (divergence vs convergence) การเปิดใจและมีความยืดหยุ่นในการทำงาน การตัดสินใจที่ตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยในน้ำมีปลาในนามีข้าว เราอยู่อย่างสบายๆ ตัวใครตัวมัน แก่งแย่งชิงดี มานานพอแล้วหรือยัง ประเทศอื่นๆ ที่เคยล้าหลังกว่าเรา (ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย) ก็ก้าวข้ามเราไปเพราะเค้ารู้จักการทำงานร่วมกันเพื่อส่วนรวม ยอมรับความแตกต่าง ตัดสินใจร่วมกันเป็น (ไม่ใช่เกี่ยวขากันเอง ไม่ได้ติเพื่อก่อหรืออิจฉาตาร้อนเมื่อคนอื่นได้ดี นี่เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เราและประเทศของเราไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง) รู้จักหน้าที่ของตัวเอง มีกระบวนการที่โปร่งใส collective intelligence เป็นตัวอย่างของกลไกและ เวทีที่ใช้ที่แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ของคนในสังคมเพื่อก่อให้เกิดความรู้ร่วมใหม่ๆ ในการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้สังคมฉลาดและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชาติ แล้ววันนี้เรายังจะแยกกันอยู่หรือเลือกที่จะรวมกันฉลาดขึ้น