ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > 8 ปี “ปิดทองหลังพระ” ฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่รับน้ำ 2.1 แสนไร่ 9 จังหวัดนำร่อง “มีน้ำมีรายได้”

8 ปี “ปิดทองหลังพระ” ฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่รับน้ำ 2.1 แสนไร่ 9 จังหวัดนำร่อง “มีน้ำมีรายได้”

8 มีนาคม 2018


หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีจำนวนมาก ต่อยอดไปถึงโครงการพระราชดำรินับพันโครงการ สิ่งเหล่านี้คือ “ศาสตร์ของพระราชา” ทุกแนวทางของพระองค์ล้วนไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ขณะที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างเป็นทางการและในปีที่ผ่านมามีผู้ลงทะเบียนคนจนถึง 14 ล้านคน โครงการปิดทองหลังพระ เป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดศาสตร์นี้แก่พื้นที่ที่ประสบปัญหา โดยการดำเนินงานในปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 มีการขยายผล 7 พื้นที่ต้นแบบ ใน 9 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุดรธานี เพชรบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุทัยธานี และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดงานแถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2560 และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต โดยหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ณ โรงแรมมณเฑียร

8 ปีกับพื้นที่รับน้ำ 2.1 แสนไร่ ชุมชนรายได้เพิ่ม 102 ล้านบาท

ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกจะเริ่มฟื้นตัวและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลางการเติบโตก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ประเทศไทยแม้จะเล็กแต่ก็อุดมสมบูรณ์ ถ้าเราพากันหันมาเอาจริงกับแนวพระราชดำริมั่นใจได้ว่าเราปลอดภัยและมีความสุข โดยการดำเนินงานในระยะ 8 ปีที่ผ่านมาพบว่าประชาชนมีความพร้อมและต้องการที่จะพัฒนาตนเอง เมื่อได้รับความสนับสนุนอย่างเหมาะสมก็สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น

“1 ปีที่ผ่านมาเราต่างอยู่ในภาวะโศกเศร้า แต่นับจากนี้ควรเป็นเวลาที่จะร่วมกันสืบสานแนวพระราชดำริอย่างจริงจัง หัวใจสำคัญคือ การระเบิดจากข้างใน ทำด้วยความเบิกบาน ให้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริงกับชีวิตคน ให้เกิดการสืบสาน รักษา ต่อยอด อย่าทำเพียงเพราะหน้าที่ การกระทำ เพราะเป็นหน้าที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ยั่งยืน”

ภาพรวมการทำงานของปิดทองฯ ในปีที่ผ่านมาบ่งชี้ให้เห็นว่า “น้ำ” แปรผันตรงกับรายได้ของชาวบ้าน พื้นที่ต้นแบบ 9 จังหวัด ได้รับต่อยอดการพัฒนาแหล่งน้ำจนมีพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 41,668 ไร่ โดยการขยายงานในพื้นที่ขอนแก่นทำให้มีพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 6,280 ไร่ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 ต่อเนื่องกับเดือนมกราคม 2561 รวมระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่ได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำจนมีพื้นที่รับน้ำรวม 217,557 ไร่ ทำให้เกิดโอกาสสร้างอาชีพเพิ่มขึ้น ประชาชนในพื้นที่ต้นแบบจำนวน 4,281 ครัวเรือน มีรายได้เสริมจากอาชีพประจำเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 102.4 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมา 28.9 ล้านบาท คิดเป็น 28.8% 

ทั้งนี้ รายได้ดังกล่าวยังไม่รวมรายได้จากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยพื้นที่ จ.เพชรบุรีมีรายได้เพิ่มมากที่สุด 3.2 เท่า เพราะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทุเรียน รองลงมาคือขอนแก่น มีรายได้เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า เนื่องจากระบบน้ำเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงมีผลผลิตมากขึ้น

ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวต่อไปว่า เมื่อมีน้ำแล้วจึงส่งเสริมอาชีพต่อ โดยมุ่งเน้นพืชทางเลือกใหม่ๆ ส่งเสริมพืชหลังนาและปศุสัตว์ ตลอดจนพัฒนาระบบตลาดเพื่อขยายโอกาสและสร้างรายได้ที่มั่นคง ซึ่งนอกจากเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้วเรามีความดีใจที่รายงานการสำรวจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่า ชาวบ้านเห็นว่าตนเองมีความรู้มากกว่าเดิมและมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพมากขึ้น

“นี่เป็นตัวบ่งชี้ถึงโอกาสที่จะพัฒนาให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคตตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้อย่างแท้จริง เมื่อเขามีความรู้มีความมั่นใจเขาจะเดินต่อไปได้เองซึ่งควรเกิดขึ้นมากๆ แล้วประเทศจะมั่นคง”

นางจันทร์เพ็ญ ไชยคำ เกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น(ขวา)และนายกอเซ็ง สาและ ผู้นำศาสนาและชาวบ้าน ชุมชนบ้านจำปูน (ซ้าย)

ทั้งนี้นางจันทร์เพ็ญ ไชยคำ เกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ยอมรับว่าหนี้สินที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านบาท จากการทำเกษตรตามกระแสในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ลองรับการอบรม ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกมาเป็นเกษตรผสมผสานทั้งที่ตนไม่มั่นใจเลย เพราะที่ผ่านมารัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือไม่จริง แต่การเข้ามาของปิดทองฯ นำพาตลาดมาด้วย เช่น เทสโก้ โลตัส ทำให้ตนมั่นใจว่าเมื่อตลาดไม่ล้ม คนก็ไม่ล้ม

ขยายพื้นที่ต้นแบบลง 3 จังหวัดชายแดนใต้

เนื่องจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาไม่ได้มีเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ปิดทองฯ ขยายงานในพื้นที่ต้นแบบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือในปี 2559 เริ่มลงไปสู่พื้นที่เปราะบางใน 7 หมู่บ้าน และหนึ่งพื้นที่ขยายผลของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากปัญหาสะสมในพื้นที่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้ประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้เต็มศักยภาพ จากการสำรวจจึงพบว่าชาวบ้านมีหนี้สินรวมกว่า 73.6 ล้านบาท หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,652 บาท 

ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวว่า เราไปเพื่อนำศาสตร์พระราชาช่วยไปแก้ปัญา แต่การทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดไม่ใช่เรื่องง่าย คนในพื้นที่จะไม่ไว้ใจคนนอก การเข้าไปให้ความรู้จึงต้องสร้างความไว้ใจแก่คนในพื้นที่ ให้คนในพื้นที่เลือกอาสาสมัครที่เขาไว้ใจและสมัครใจ เข้ามาอบรมเรียนรู้กับปิดทองฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งในพื้นที่ ชุมชนบ้านจำปูน อ.รามัน จ.ยะลา มีการสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 110,000 บาทต่อปี แต่มีเงินออมเพียง 1,700 บาทต่อปีเท่านั้น

“เมื่อมีน้ำ เราสนับสนุนให้เขาปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือแบ่งขาย และจะไม่ทิ้งพื้นที่จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเขาสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน มีคนมาต่อยอดคนรุ่นนี้ และต้องไม่ใช่การทำเกษตรแบบพ่อแม่แต่เป็นทักษะที่ต้องต่อยอด คือ Social Enterprise และ Sub-potential Economy ซึ่งต้องดูพัฒนาการไปถึง 9 ปี สิ่งที่เห็นตอนนี้แค่เพียงผิวเท่านั้น”

สำหรับสายตาของคนในพื้นที่อย่างนายกอเซ็ง สาและ ผู้นำศาสนาและชาวบ้าน ชุมชนบ้านจำปูน มีความเห็นเช่นเดียวกับนางจันทร์เพ็ญว่า การเข้ามาของปิดทองฯ จะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้จริงหรือ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่สักระยะก็หายไป เมื่อให้เลือกตัวแทนไปอบรม ก็ตั้งใจที่จะส่งเด็กมีปัญหาไปดูงาน แต่สิ่งที่ได้รับเมื่อเด็กเหล่านั้นกลับมาคือความเปลี่ยนแปลงที่สามารถแนะนำคนในชุมชนให้ประกอบอาชีพได้ตามศาสตร์พระราชา มีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีเงินออกราว 500 บาทต่อสัปดาห์ จากการทำเกษตรผสมผสานแล้วส่งผลผลิตที่เหลือกินให้กับโรงพยาบาลรามัน

ปั้น “ทีมดี” ถ่ายองค์ความรู้เอกชนสู่ชุมชน

ที่มาภาพ: มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวต่อไปว่า ส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนในการพัฒนานั้นปิดทองหลังพระได้ขยายความร่วมมือออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมากจากทุกภาคส่วน โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษาต่างๆ ทำงานกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย

ในปีที่ผ่านมาก็ได้ริเริ่มความร่วมมือกับพันธมิตรภาคธุรกิจให้เข้าร่วมสืบสานแนวพระราชดำริซึ่งปัจจุบันรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “ทีมดี” ประกอบด้วย 4 มูลนิธิ คือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิปิดทองหลังพระ มูลนิธิรากแก้ว และมูลนิธิมั่นพัฒนา ส่วนภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), เทสโก้โลตัส และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด

“ในตอนนี้ต้องเรียกว่าทีมดียังอยู่ในขั้นดูใจกัน ยังคาดหวังอะไรมากไม่ได้ เพราะไม่เคยร่วมงานกันใกล้ชิดมาก่อน แต่ผมก็หวังว่าธุรกิจใหญ่ๆ ที่ทำกำไรมากๆ จากภาคประชาชนจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นไปได้ นำเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรแต่ครบทุกห่วงโซ่มาดำเนินงานในพื้นที่เดียวกัน ต้องให้เขาเห็นชาวบ้านเป็นสำคัญ แต่ไม่ใช่การให้เปล่าหรืออุปถัมภ์ แต่เป็นการพัฒนาที่ให้ประโยชน์ทั้งแก่รัฐ เอกชน และประชาชน”

ปัจจุบันทีมดีริเริ่มทดลองทำงานด้วยกันในพื้นที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยมีบริษัทน้ำตาลมิตรผลฯ และเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นแกนนำส่งเสริมการเกษตรและส่งเสริมการทำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่

ปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สื่อมวลชนมีบทบาทมากขึ้นในการร่วมพัฒนาประเทศผ่าน ชมรมสื่อมวลชนพัฒนาชนบทหรือชมรมสื่อบ้านนอก ที่จะริเริ่มงานวิชาการตีแผ่ความจริงชนบทไทยทุกๆ ปีเริ่มจากปลายปีนี้ โดยได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ