ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ปิดทองหลังพระ แนะ 4 ประสาน 3 ประโยชน์ แนวทางบรรเทาพิษโควิด-19 ในชนบทอย่างยั่งยืน

ปิดทองหลังพระ แนะ 4 ประสาน 3 ประโยชน์ แนวทางบรรเทาพิษโควิด-19 ในชนบทอย่างยั่งยืน

4 พฤษภาคม 2020


หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคี นำแนวพระราชดำริมาบรรเทาพิษโควิด-19 ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาการเกษตร 34 อำเภอของจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์จำนวน 83 โครงการ ช่วยให้ประชาชน 3,800 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มจากเดิมปีละ 140 ล้านบาท

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ตกงานจากภัยโควิด-19 ว่ามูลนิธิฯ ยึดแนวทางบูรณาการกับภาคีในรูปแบบสี่ประสาน คือ ราชการ เอกชน ประชาชนและมูลนิธิฯ

“เวลาเดือนเดียวที่มูลนิธิฯ ตัดสินใจจะทำ ก็ได้รับความร่วมมือจากภาคีต่าง ๆ ทั้งกระทรวงมหาด ไทย กระทรวงเกษตรฯ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันสำรวจแหล่งน้ำต้นทุน สำรวจความคิดเห็นของชาว บ้าน และข้อมูลตลาดสินค้า ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจ จึงมั่นใจว่าเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร”

โดยปิดทองหลังพระฯ มีเป้าหมายเบื้องต้น คือการสร้างงานรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยนำมาผนวกกับการแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุน

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดากล่าวว่า ในระยะที่หนึ่งของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากนี้ จะส่งเสริมการมีงานทำด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ 116 แห่งในจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าและเริ่มการพัฒนาแล้ว 83 โครงการ

“ช่วงที่มีปัญหามาก ๆ อย่างตอนนี้ ประชาชนจะเห็นว่าพระราชดำริช่วยได้จริง ๆ โครงการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เกษตร เอกชน มาร่วมมือกับชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านที่ตกงานจากโควิด-19 มาทำงานหารายได้ยังชีพ 350 คนกับชาวบ้านอีกเกือบ 4,000 คนที่อาสามาทำงานเพราะเขารู้ว่าเมื่อมีน้ำแล้ว เขาเองจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงมีเอกภาพและทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ทั้งระดับชุมชน ท้องถิ่นและระดับประเทศ”

โครงการแหล่งน้ำทั้ง 83 แห่ง ครอบคลุม 34 อำเภอ คาดว่าทำให้เกษตรกร 3,844 ครัวเรือน จะมีน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตร คือเพิ่มขึ้น 15.2 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายน้ำได้ครอบคลุม 20,249 ไร่

“เราเคยทำโครงการแบบนี้มาก่อนที่อุดรธานี ซึ่งวิจัยแล้วว่าเมื่อมีน้ำเพียงพอ รายได้ของชาวบ้านจะเพิ่มขึ้นไร่ละ 7,000 บาท คือ จากข้าวประมาณสองพันบาทและจากพืชหลังนาอีกห้าพันบาท ฉะนั้นแหล่งน้ำ 83 แห่งนี้ก็จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 141 ล้านบาท ในขณะที่เงินลงทุนรวมเพียง 53 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแห่งละ 650,000 บาท”

นอกจากการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำแล้ว มูลนิธิฯ ยังจะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ และภาคเอกชน ในการส่งเสริมการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม ตรงความต้องการของตลาดอีกด้วย จึงจะทำให้เกิดคุณประโยชน์หลัก ๆ สามด้าน คือ เกิดระบบกระจายน้ำเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอาชีพเกษตร เกิดธุรกิจใหม่ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด และเกิดความรู้เพื่อให้ท้องถิ่นและชุมชนพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต


“การระบาดของโควิด-19 มาซ้ำเติมความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดใน 40 ปี เราต้องยอมเหนื่อยกัน แต่เมื่อรัฐบาลเตรียมกระตุ้นการพัฒนาแหล่งน้ำและการเกษตร ผมก็คิดว่าแนวทางที่เราทำกันอยู่นี้จะทำให้กระตุ้นได้ผลเต็มที่และยั่งยืนด้วย”

นายธวัชชัย เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า “โครงการที่มาร่วมกันทำนี้สามารถทำให้เกิดอาชีพที่มั่นคงระยะยาวแก่ชาวบ้านได้ เป็นการทำแบบเล็กไปหาใหญ่ ผมจึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยเข้ามาร่วม เพื่อเป็นการเรียนรู้รูปแบบของงานเพื่อให้กาฬสินธุ์ขยายงานต่อไปได้เอง”

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าขอนแก่นมีแนวทางชัดเจนที่จะต่อยอดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยได้มอบให้หน่วยราชการต่าง ๆ เข้ามามีบทบาท เช่น เกษตรฯ จะเข้ามาสนับสนุนทั้งในเรื่องเมล็ดพันธุ์และนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า โครงการที่จังหวัดเข้ามาร่วมงานด้วยนี้ไม่เพียงจะบรรเทาทุกข์คนตกงานจากโควิด-19 เท่านั้น แต่เป็นโครงการพัฒนาอาชีพที่จะมีความยั่งยืนตามแนวพระราชดำริได้ต่อไป เพราะสามารถแก้ปัญหาน้ำพร้อมกับเสริมความสามารถทางอาชีพให้แก่ประชาชนไปพร้อม ๆ กัน

ด้านนายพงศ์ภัค สีมี อายุ 26 ปี ชาวอำเภอหนองหาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า เขาตกงานจากอาชีพรับจ้างกรีดยางในจังหวัดสงขลา จึงต้องกลับบ้านเกิดอุดรธานีและสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ในตำแหน่งอาสาพัฒนาหมู่บ้าน (อสพ.)

“ตอนแรกผมก็ไม่รู้อะไร แต่พอมาร่วมแล้วก็ดีกว่าที่คิดเพราะมีงานทำชั่วคราว แล้วยังได้เข้าอบรม ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องพระราชดำริ กับเทคนิคการเกษตรอย่างระบบน้ำหยดพลังแสงอาทิตย์ เทคนิคการปลูกผักที่ตลาดต้องการ เป็นประโยชน์กับผมและชุมชนมาก”