ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > วิกฤติขยะอาหาร(1) สถานการณ์ขยะอาหารในไทย ความจริงที่ไม่เคยถูกพูดถึง

วิกฤติขยะอาหาร(1) สถานการณ์ขยะอาหารในไทย ความจริงที่ไม่เคยถูกพูดถึง

21 มีนาคม 2018


บรรยากาศบนเวทีเสวนาเรื่อง วิกฤติขยะอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ดร.อำไพ หรคุณารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กำลังฉายภาพให้เห็นถึงวิกฤติขยะอาหาร

“วิกฤติขยะอาหารกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก  มีอาหาร 1 ใน 3 ของโลกเกิดการสูญเสียและถูกทิ้ง ขณะที่ร้อยละ 11 ของประชากรโลกกำลังเผชิญกับความอดอยาก ไม่มีจะกิน โดยปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้ง สร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงถึง 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และคิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลก”

ดร.อำไพ หรคุณารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของ “ขยะอาหาร” และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะอาหารที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไว้บนเวทีเสวนาเรื่อง วิกฤติขยะอาหาร:ความจริงที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก (Food Waste: an Unpalatable Truth)” ซึ่ง เทสโก้ โลตัส และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงภาพยนตร์ 4 มิติ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน

เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัวภาพยนตร์สารคดีสั้น Food Waste: an Unpalatable Truth สารคดี 15 นาทีที่จะกระตุ้นเตือนผู้คนถึงปัญหาวิกฤติขยะอาหาร และความจริงที่เราทุกคนอาจจะไม่เคยมองเห็น ในการรณรงค์กับภาคครัวเรือนในการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและลดการทิ้งอาหารที่ไม่จำเป็น เพราะหากเปรียบเทียบสถานการณ์ขยะอาหารที่โลกเผชิญหน้า ในประเทศไทยสถานการณ์ในเรื่องนี้อาจจะไม่แตกต่างกันมากนักและอยู่ในระดับวิกฤติ เพียงแต่เป็นวิกฤติที่เราอาจจะไม่เคยมองเห็น

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า การสร้างขยะของคนไทยต่อครัวเรือนในปี 2559 ปัจจุบันโดยเฉลี่ยคิดเป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน จากทั้งหมด 27.06 ล้านตัน และเกินกว่าครึ่งเป็นขยะอาหาร

“ในประเทศไทย มีสถิติระบุชัดเจนว่า ในจำนวนขยะที่เราต้องจัดการทั้งหมด มีถึง 64% ที่เป็นขยะอาหาร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทิ้งทุกวัน โดยเห็นว่ามีอีก 11 คน ในจำนวน 100 คน ยังไม่มีจะทาน เรื่องนี้จึงเป็นวิกฤติที่จะต้องช่วยกันหาทางออก” ดร.อำไพ กล่าว

ปัญหาที่ไม่มีใครมองเห็น

รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

จากผลสำรวจของโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน “ เทสโก้ โลตัส โครงการเพื่อสังคมในการส่งเสริมการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบและลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น ล่าสุดพบว่า ครัวเรือนและผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้หรือมองว่าเป็นปัญหา

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามปรากฎการณ์ทางสังคม รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า คนมองปัญหาขยะอาหารว่าเป็นเรื่องไกลตัวและมองปัญหาโดยไม่ได้เชื่อมโยงตัวเองกับผลกระทบที่เกิดขึ้น สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่รู้ปัญหา ผลกระทบของขยะอาหารในด้านสิ่งแวดล้อมนั้นนำไปสู่การปล่อยก๊าซมีเทน ที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ถึง 14 เท่า กองขยะที่มีปริมาณขยะอาหารมากจะยิ่งเป็นกองขยะที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงที่สุด

รศ.ดร.เจษฎา ยกตัวอย่างว่า “อย่างเราคิดว่ากินข้าวเสร็จที่ฟู้ดคอร์ท เดี๋ยวก็มีคนมาเก็บจานไปให้ เทขยะให้ แต่เราไม่เคยติดตามว่ามันไปไหนทำให้เรามองไม่เห็นปัญหา ไม่เหมือนเวลาที่เราให้อาหารสุนัขจรจัด ก็คิดว่าไม่เป็นไร ก็ให้ไป แล้ววันนึงสุนัขจรจัดตัวนั้นเกิดไปติดพิษสุนัขบ้า แล้วกลับมากัดลูกหลานเราจนติดเชื้อ อย่างนี้เราถึงจะเห็นปัญหา แต่ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์เราจะไม่เห็น”

เขาชวนคิดว่า “ ถ้าเกิดอาหารทั้งหมดที่เราคิดว่าทิ้งแค่นิดเดียว แต่พอคูณด้วยคนไทย 66 ล้านคน มันเป็นจำนวนมหาศาลแค่ไหน ถ้ามันถูกเก็บเรียบร้อยก็จะไปอยู่ที่กองขยะ แต่กองขยะมันก็ไม่ใช่แค่กองขยะเฉยๆ แต่มันคือมลภาวะ มีสิ่งที่ตามมามากมาย มีการย่อยสลายที่มีจุลินทรีย์ จะเห็นว่ามีนก หนู แมลง เข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นว่ามีเชื้อโรคจำนวนที่มากขึ้น แล้วก็แพร่ไปในแหล่งน้ำ จะเห็นว่ามันมีกระทั่งการสร้างก๊าซขึ้นมา แล้วก๊าซนี้กลายเป็นก๊าซเรือนกระจก ก็เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งจริงๆทั้งหมดนี้มันเริ่มต้นตั้งแต่เราทิ้งเศษอาหารตั้งแต่ครั้งแรก เรื่องมันยาวไปหมด แต่เราไม่เคยมองถึงความเชื่อมโยงหรือปัญหาที่ตามมา”

ความจริงจาก “กองขยะ”

สถานการณ์วันนี้ ในแต่ละวันขยะจำนวนมหาศาล จึงไปที่กองขยะ เฉพาะพื้นที่ที่กองขยะเพียงแห่งเดียวที่ “ลุงม้วน” ทองม้วน ษิลาล้อม ทำงานต่อวันก็มีปริมาณขยะมหาศาลมากถึง วันละ 4,000 ตัน กว่า 25 ปีที่ลุงม้วนทำหน้าที่แยกขยะที่ถูกขนเข้ามาทิ้ง แต่ปริมาณขยะก็ยังมีมากมายมหาศาลจนกลายเป็นภูเขาขยะ

ลุงม้วน บอกว่า ขยะที่เข้ามาส่วนมากเป็นถุงพลาสติก ขวด และเศษอาหาร ซึ่งมากเป็นอันดับต้นๆ ขยะเศษอาหารเก็บอย่างไรก็เก็บไม่หมด เพราะมีจำนวนมาก เห็นแล้วก็เสียดาย เพราะมีอาหารแทบทุกชนิด ซึ่งสำหรับคนเก็บขยะ อาหารอะไรที่ยังกินได้ก็เก็บมากิน เก็บมาใช้ และเก็บมาขาย เพื่อดำรงชีวิต

“บางท่านบอกว่าวันนี้จะกินอะไรดี แต่สำหรับพวกผมที่เก็บขยะ คิดว่าเราจะเอาอะไรกินในแต่ละวัน บางครั้งก็เก็บเศษอาหารส่วนที่เหลือ อันไหนกินได้ก็เอามากิน อันไหนใช้ได้ก็เอามาใช้ อันไหนขายได้ก็เอามาขาย” ลุงม้วนเล่าถึงคุณค่าของอาหารที่ถูกทิ้งมาในกองขยะ ที่ลุงม้วนจะแยกอาหารที่ถูกทิ้งและยังกินได้ออกมาจากขยะทั่วๆไป และนำมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกที่ทำงานด้วยกัน นำไปปรุงอาหาร

เมื่อถามว่าจะเราจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ลุงม้วน มองว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันรับมือกับเรื่องนี้  “ถ้าให้ผมแก้ ก็คงแก้ไม่ได้หรอกครับ นอกเสียจากทุกท่านจะช่วยกันแก้ ถ้าทุกท่านลดได้ ผมก็ลดได้ เพราะว่าผมเป็นคนเก็บปลายทาง ท่านทิ้งใส่ถังขยะไว้แล้ว ผมเป็นคนเก็บ ผมเก็บยังไงก็เก็บไม่หมด ถ้าท่านทิ้งเยอะ แต่ถ้าท่านไม่ทิ้งเยอะ ผมก็เก็บหมด”

ขยะอาหาร วิกฤติที่จำเป็น “ต้องรับมือ”

ในวิกฤติขยะอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้า กลุ่มเทสโก้ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ในธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม เทสโก้ในสหราชอาณาจักร เป็นผู้นำร่องโครงการ และได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2560 ร้านค้าของเทสโก้ในสหราชอาณาจักรทุกสาขาจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศลและกลุ่มชุมชนกว่า 5,000 องค์กรเพื่อนำสินค้าที่บริจาคไปประกอบเป็นอาหารให้กับผู้ยากไร้  และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย 12.3 ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์กรสหประชาชาติ โดย มร. เดฟ ลูอีส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทสโก้ ยังเป็นประธานกลุ่ม Champions 12.3 คณะทำงานที่รวบรวมผู้นำจากหลายสาขาทั่วโลกร่วมกันลดการสูญเสียและขยะที่มาจากอาหาร

“สลิลลา สีหพันธุ์” รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส

“สลิลลา สีหพันธุ์” รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส  กล่าวว่า วิกฤติขยะอาหารเป็นปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ ดังนั้นสิ่งที่เทสโก้ทำได้คือการแก้ปัญหาที่ตัวเราเองก่อน นั่นคือในส่วนต้นน้ำ โดยพยายามเข้าไปทำงานกับเกษตรกรโดยตรงมากขึ้น พยายามไปบอกเกษตรกร โดยใช้ “การตลาดนำการผลิต” ว่าอยากขายสินค้าอะไร จะซื้อสินค้าอะไร แล้วก็ให้เกษตรกรปลูกในปริมาณที่พอดี เพราะหากถ้าปลูกมากเกินไปก็จะล้นตลาด ไม่มีใครซื้อ

เรื่องที่สองคือ ในแต่ละวันเราพยายามจะขายสินค้าให้หมด แต่ถ้าขายไม่หมด จะบริหารจัดการแยกประเภท ของทานได้ ของดี เราแยกไว้ แล้วหาพันธมิตรมาช่วยกันนำของเหล่านี้ไปมอบให้ชุมชนทาน ให้ผู้ยากไร้ทาน ซึ่งปัจจุบันทุกสาขาใหญ่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลของเทสโก้ โลตัส บริจาคทุกวัน ไม่มีการทิ้ง และขณะนี้กำลังขยายผลไปที่ต่างจังหวัดด้วย เราบริจาคไปแล้ว 1.2 ล้านมื้อ จากทุกไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพ ที่ปัจจุบันไม่มีการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้

ส่วนสุดท้าย คือเรื่องของครัวเรือน โดยพยายามสร้างการรับรู้ ให้ทุกคนตื่นตัวและตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น แล้วให้ผู้บริโภคไปบริหารการบริโภคของตัวเอง เพราะถ้าอยู่นอกร้านเทสโก้อาจจะเข้าไปช่วยลำบาก แต่สิ่งที่เราทำได้วันนี้คือจุดประกาย ว่าปัญหามันใหญ่แค่ไหน และทุกคนต้องไปช่วยดูแลกันคนละไม้คนละมือ

ปัญหา “วิกฤติขยะอาหาร” ในสังคมไทยจึงไม่เพียงต้องทำความจริงให้ปรากฏ ในเวลาเดียวกันต้องทำให้คนเข้าใจความจริงว่า ปัญหาทั้งหมดสามารถเริ่มต้นได้ที่จานอาหารในทุกมื้ออาหารของเราทุกคน

ติดตามตอนที่ 2วิกฤติขยะอาหาร (2) ธุรกิจค้าปลีกกรณีศึกษาการลดความสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทาน