ThaiPublica > คอลัมน์ > ถาม “ทำไม” ให้กระตุ้นความคิด

ถาม “ทำไม” ให้กระตุ้นความคิด

24 มีนาคม 2018


จรัล งามวิโรจน์เจริญ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด

ช่วงนี้กระแสย้อนยุคกำลังมาแรง ผมเลยอยากนึกย้อนวัยไปกับเขาบ้าง แต่คงไปไม่ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา (เพราะคาดว่ายังไม่เกิด) ฉะนั้นขอย้อนไปแค่ในวัยเด็กของผมก็พอ เมื่อย้อนคิดไปถึงสมัยนั้น มีคำถามประเภทหนึ่งที่ผมไม่ชอบที่สุดคือคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม” (Why?) หรือ “เพื่ออะไร” (What for?) สาเหตุก็เพราะเวลาต้องเจอคำถามประเภทนี้ตอนทำข้อสอบหรือทำการบ้านมักจะไม่ค่อยมีคำตอบชัดเจนในหนังสือที่อ่าน ต้องใช้ความคิดไตร่ตรองหาเหตุผลหรือคำอธิบายที่จะสอดคล้องกับสิ่งที่อ่านมา แล้วค่อยกลั่นกรองเป็นคำตอบอีกที ตอนนั้นทุกคนมักจะถูกสอนให้ตอบคำถามประเภท “อะไรคือ…?” (What is?) ที่ถามหาสิ่งที่อยู่ในหนังสือหรือที่ครูสอนให้ฟังเสียส่วนใหญ่ เราเลยขาดทักษะในการตอบคำถามว่า “ทำไม” และ “อย่างไร” ไปโดยปริยาย

พอเริ่มโตขึ้นมาอีก ผมได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ จึงได้เริ่มเข้าใจถึงความแตกต่างในเชิงความคิดของชาวต่างชาติมากขึ้น ตัวผมเองจบวิศวกรรมไฟฟ้า และได้มีโอกาสเรียนต่อและทำงานในสายโทรคมนาคมที่อเมริกา ได้รู้จักเพื่อนร่วมงานที่มีความสามารถซึ่งส่วนใหญ่จบปริญญาตรี แต่พวกเขาเหล่านั้นมีความคิดและความเข้าใจในเชิงเทคนิคอย่างลึกซึ้ง จนผมอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดเขาจึงสามารถพัฒนาความคิดได้ดีมากขนาดนี้

สุดท้ายผมก็ได้คำตอบว่า การศึกษาของเขาสนับสนุนให้ทั้งตั้งและตอบคำถามว่า “ทำไม?” และยังเน้นทักษะการอ่านและคิดแบบ Critical Thinking มีการใช้เหตุผลในการสนับสนุนความคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ได้ดีมากกว่าการจำเพียงอย่างเดียว (ยืนยันได้จากการเจอกับตัวตอนทำข้อสอบเขียนเรียงความหรือ Essay ที่ต่างประเทศ) ถ้าจะพูดกันจริงๆ (อย่างเป็นข้ออ้าง) ก็รู้สึกว่าตัวเองถูกสอนมาอย่างไม่พร้อมที่จะพัฒนากระบวนการคิดและสร้างองค์ความรู้ ตอนนั้นผมเลยเริ่มชื่นชมคำถามที่ต้องการหาเหตุผล อย่าง “ทำไม” มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นคำถามสำคัญสำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย

ช่วงการทำงานกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไตร่ตรองตัวเองบ่อยครั้ง (self reflection) ทั้งยังได้ทำงานด้านที่ปรึกษาและด้านนโยบาย ทำให้ตระหนักได้ว่า นอกจากการรู้จักตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์แล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีก คือ ศิลปะในการฟัง ศิลปะในการตั้งคำถาม และ ศิลปะในการเล่าเรื่อง

การเป็นผู้ฟังที่ดี (รวมถึงการรู้จักอ่านผู้พูด) ก็เหมือนการเก็บข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาของผู้พูดมากขึ้น การฟังที่ดีต้องคิดตาม กลั่นกรองความคิดและจดสรุปสิ่งที่เราได้ยิน แม้เราเคยถูกสอนให้จดตามที่เขียนบนกระดานหรือตามที่ครูพูดเสียส่วนใหญ่ แต่การจดบันทึกมีหลายรูปแบบนอกเหนือจากการจดบันทึกตัวอักษรเท่านั้น เช่น การใช้ diagram เช่น causal loop (ตัวอย่าง บทความความคิดหลายด้านตอน 2) mind map หรือ metamap (ตัวอย่างที่เคยสรุปว่าจะเขียน blog ของตัวเอง) ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของสิ่งที่ได้ฟ้งชัดขึ้น การมองเห็นองค์ประกอบต่างๆ ในปัญหาเป็นทักษะที่ทำให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ดังนั้น ผู้ฟังที่ดีก็ต้องรู้จักเรียนรู้ผู้พูดด้วย (มีหลายเทคนิคดูตัวอย่าง link นี้)

การฟังที่ดีและการรู้จักตั้งคำถามเป็นสิ่งที่สอดคล้องกันอย่างขาดไม่ได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญและสามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้หลากหลายมิติ ประสบการณ์งานที่ปรึกษาช่วยให้ผมรู้จักคำถามหลากหลายแบบ แตกต่างกันไปตามเนื้องาน ถึงตอนนี้ถ้าถามผมว่าชอบถามคำถามแบบไหนที่สุด ก็คงไม่พ้นคำถาม “ทำไม…? อย่างไร? เพื่ออะไร? และ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?” เช่น เวลาพบลูกค้าที่คิดว่าอยากจะทำ Big Data Analytics หรือเอา Machine Learning มาใช้ คำถามแรกของผมคือ ทำไปทำไม หรือเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยได้อย่างไร (บ่อยครั้งลูกค้ามักจะคิดว่าเทรนด์เหล่านี้แก้ปัญหาธุรกิจของเขาได้ ซึ่งอาจไม่จริงเสมอไป) ในงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล การวางกรอบของปัญหา (ตัวอย่าง) และการตั้งแนวทางของคำถาม (line of inquiry) เพื่อที่จะค้นหา ทดลอง จะช่วยทำให้เราได้เห็น insight หลายๆอย่าง คนทำงานทางด้านข้อมูลต้องใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่ถาม การตั้งคำถามที่ดีทำให้เราได้ความรู้ใหม่ ตามหลักของนักปรัชญา Socrates ที่ถามคำถาม Socractic approach เพื่อการเรียนรู้โดยที่ไม่ต้องมีการเรียนผ่านห้องเรียน

ความเป็นวิศวกรของผมช่วยให้มองปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเป็นระบบ และสรุปเนื้อหาได้อย่างตรงไปตรงมาก็จริง แต่สิ่งที่วิศวกรมักจะขาดก็คือศิลปะในการเล่าเรื่อง เพราะการเล่าเรื่องที่ดีจะสามารถทำให้ผู้ฟังจดจำเรื่องราวและสิ่งที่เราพูด อีกทั้งยังช่วยโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อมั่นและคล้อยตามซึ่งเป็นสิ่งความสำคัญในธุรกิจ ถ้าคนฟังจำในสิ่งที่เราพูดได้ก็ถือว่าสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว อริสโตเติลเคยกล่าวถึงสูตรลับของการเป็นนักพูดโน้มน้าวใจคนฟัง คือต้องมี Ethos (ความน่าเชื่อถือของนักพูด) Pathos (การเข้าถึงอารมณ์ของผู้ฟัง) Logos (การโต้แย้งอย่างมีตรรกะ) ซึ่งเรื่องราว (Story) เป็นส่วนเนื้อที่ช่วยโน้มน้าวคนฟัง

ประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงทุกวันนี้สอนผมทั้งหมด ยิ่งโตขึ้น ยิ่งมีมุมมองที่กว้างขึ้น ผมมองเห็นการศึกษาไทยบางส่วนยังขาดการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ และตั้งคำถามที่ดี ยิ่งในอนาคตที่ศาสตร์วิทยาศาสตร์ข้อมูลจะเข้ามามีบทบาทกับแทบทุกสายอาชีพ ทักษะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้

กลับมาสู่ปัจจุบัน ผมยังพบความสนใจของผมอีกอย่างหนึ่งที่ทำขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะการฟัง การตั้งคำถาม และการเล่าเรื่อง นั่นคือการทำรายการ คิดแบบมีมูล โดยผมจะมีแขกรับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมพูดคุยกันในบรรยากาศสบายๆ แต่ได้ความรู้ท่วมท้น ฝากทุกท่านลองติดตาม และหากมีข้อแนะนำก็สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ที่ Facebook Page: Sertis

ขอให้ทุกท่านสนุกกับความคิดในทุกๆ วันครับ