ThaiPublica > เกาะกระแส > “เซอร์ทิส” จับมือ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” เปิดตัว “DIAMONDS” เอไอพัฒนาคุณภาพการสอนของครู

“เซอร์ทิส” จับมือ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” เปิดตัว “DIAMONDS” เอไอพัฒนาคุณภาพการสอนของครู

25 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ร่วมกับมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach for Thailand) จัดงานเปิดตัวโครงการ “สร้างอนาคตเริ่มต้นที่ห้องเรียน: DIAMONDS ผู้ช่วยครูสู่การพัฒนาศักยภาพนักเรียนในยุคดิจิทัล” เพื่อพัฒนาคุณภาพการสอนผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ

นายธี วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด กล่าวเปิดงานว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือที่จะนำความเชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ สร้างผู้ช่วยครูในการสร้างข้อสอบและประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน รวมไปถึงช่วยลดภาระงานซ้ำซ้อนของครู ช่วยให้ครูมีเวลาพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ของนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายโอลิเวอร์ ก็อตชัลล์ Chief Strategy Officer บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของความสนใจประเด็นการศึกษาของไทยเกิดจากสมัยที่เป็นอาสาสมัครในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเมื่อ 20 ปีที่แล้วในจังหวัดนครนายก โดยตนเองมีหน้าที่รับส่งนักเรียนและช่วยดูแลฟาร์มไก่ของนักเรียน และรวมไปถึงช่วยทำการบ้านให้กับเด็กนักเรียน โดยครั้งหนึ่งเมื่อพยายามจะช่วยแก้ไขคำผิดของครูในการบ้านวิชาภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียน เด็กนักเรียนกลับห้ามเพราะว่าอาจจะถูกครูดุและตี ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ตนเองจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่าโรงเรียนของไทยมีสถาพแวดล้อมแบบไหนทำไมนักเรียนถึงหวาดกลัวครูขนาดนี้ และเป็นช่วงเวลานั้นที่ตนเริ่มสนใจระบบการศึกษาไทย

“ในเวลาเดียวกันผมเองยังได้เห็นเด็กนักเรียน 2 คนที่ได้ทุนไปเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำในกรุงเทพฯ พวกเขาโชคดีมากๆ และผมเองก็ติดตามผลของการศึกษาของเด็กนักเรียน 2 คนนั้น ปรากฏว่าพวกเขาได้ประสบความสำเร็จมาก คนหนึ่งเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อีกคนเป็นนักบัญชี นี่ยิ่งทำให้ผมเห็นว่ามันมีผลกระทบและความแตกต่างมากมายขนาดไหนสำหรับการได้รับการสนับสนุนและการศึกษาที่ถูกต้อง และช่วงเวลาที่ได้ทำงานอาสาสมัคร ผมเองได้เห็นว่าเด็กๆ หลายคนมีพรสวรรค์และความสามารถขนาดไหน แต่พวกเขากลับไม่สามารถดึงศักยภาพเหล่านี้ออกมาได้เพียงเพราะเขาไม่ได้รับโอกาส และนี่คือความสำคัญของการศึกษา ต่อมาในปี 2555 คุณวิชิตพล ผลโภค ผู้ก่อตั้งมูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ได้มาหาผมและขอให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผมได้ตอบรับในทันทีและเป็นกรรมการของมูลนิธิมาจนถึงทุกวันนี้ ” นายโอลิเวอร์กล่าว

เป้าหมายหลักของมูลนิธิคือภายในปี 2583 เด็กไทยจะต้องมีความรู้ ทักษะ และโอกาสที่จำเป็นสำหรับกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเอง และมูลนิธิมีแนวทางบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยการรวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถที่มุ่งมั่นและกระตือรือร้นในการสอนและผลักดันระบบการศึกษาไทย โดยจะยอมเสียสละเวลา 2 ปีของชีวิตมาสอนในโรงเรียนและช่วยยกระดับชีวิตของเด็กนักเรียนไทย และในขณะเดียวกันจะช่วยสร้างเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงทั้งจากครูและเด็กนักเรียนที่ผ่านการสอนของครูเหล่านี้

“อย่างไรก็ตาม ความท้าทายและปัญหาหลักของมูลนิธิคือการขยายผลการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างไปกว่าระดับท้องถิ่น แต่เป็นระดับประเทศหรือระดับโลก ตรงนี้เทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาท อย่างน้อยใน 3 ด้าน ด้านแรก จะช่วยออกแบบการเรียนของนักเรียน อะไรคือจุดแข็ง อะไรคือจุดอ่อนและต้องเน้นไปที่ตรงไหน ในลักษณะเดียวที่ธุรกิจใช้ข้อมูลเข้าใจลูกค้า ด้านที่ 2 เทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระครู เนื่องจากครูสามารถสร้างแบบทดสอบและประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว และด้านที่ 3 นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับผม เพราะแม้ว่าตอนนี้จะใช้แค่ในองค์กร แต่มันมีความเป็นไปได้อีกมากมายในระดับประเทศและระดับโลก ลองคิดถึงว่าจากเดิมที่การประเมินผลจะเป็นลักษณะทุก 3 ปี แต่ด้วยเครื่องมือแบบนี้ เราจะรู้ผลการประเมินแทบจะทันทีตลอดเวลา มันทำให้รัฐมนตรีหรือภาครัฐสามารถออกแบบนโยบายหรือปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์” นายโอลิเวอร์กล่าว

ต่อจากนั้นในการเสวนาหัวข้อ “จากเทคโนโลยีสู่ห้องเรียน: DIAMONDS เครื่องมือจุดประกายศักยภาพครูไทย ไปสู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม” นายจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัท เซอร์ทิส จำกัด กล่าวถึงความท้าทายของการศึกษาปัจจุบันว่า เราจะได้ยินปัญหาการศึกษามาโดยตลอด แต่ในความเป็นจริงอาจจะเรียกว่ายังหลงทาง เนื่องจากปัจจุบันการเรียนที่เน้นให้คนมีอาชีพอาจจะไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้เขาสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ และนำความรู้เหล่านี้ไปเลี้ยงดูตัวเองรวมไปถึงช่วยเหลือผู้อื่น ตนเองในฐานะที่ทำเรื่องปัญญาประดิษฐ์มาก็คุยกันว่าทำไมไม่ตอบแทนสังคมจากความเชี่ยวชาญที่มี เป็นจุดเริ่มต้นที่ติดต่อและทำโครงการนี้ขึ้นมา

“ถึงแม้ว่าเครื่องมือนี้จะมีศักยภาพ แต่อนาคตเราก็ต้องยอมรับในความจริงว่าเราคงทำแค่นี้ไม่ได้ ถ้าเป้าหมายคือจะทำให้เด็กทุกคนในประเทศออกแบบการเรียนรู้ของตนเองได้และเรียนรู้ได้มากขึ้น แค่หนึ่งหรือสององค์กรคงทำไม่ได้ มันต้องมีพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ ต้องมีคนมาช่วย ทั้งช่วยออกข้อสอบที่ดี ช่วยใช้ ช่วยลงทุน หรือทำให้มันไปต่อได้เรื่อยๆ ตอนนี้มันป็นแค่จุดเริ่มต้นที่เรามองเห็นว่าอนาคตมันมีโอกาสเยอะมาก ก็เป็นคำเชิญชวนด้วยว่าถ้าทุกท่านเห็นว่าปัญหาเป็นอย่างไรและสิ่งนี้จะช่วยลดภาระครูไปได้ และทำให้ฐานของการศึกษามันดีขึ้นได้ ผมว่าทุกท่านอาจจะช่วยพูดปากต่อปากไปได้ว่าจะทำอะไรกับมันหรือไม่ ถ้าเราบอกว่า PISA เราอยู่อันดับ 54 จาก 71 เราจะขึ้นไปจากนั้นหรือไม่ คนไทยทุกคนต้องถาม ไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ว่าจะทำเล็กทำน้อย เราทำได้” นายจรัลกล่าว

ดร.รชยา ศรีสุริฉัน ผู้อำนวยการด้านข้อมูลและผลกระทบ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กล่าวว่าปัญหาหนึ่งที่มูลนิธิเผชิญอยู่คือครูไม่มีเวลาเก็บข้อมูล จะทำให้การนำข้อมูลเข้ามาประมวลผลของมูลนิธิก็ยิ่งทำยากขึ้นไปอีก ซึ่งตรงนี้บริษัทเซอร์ทิสได้ติดต่อเข้ามาช่วยเหลือโดยนำปัญญาประดิษฐ์มาเป็นผู้ช่วยครูเก็บข้อมูล โดยปัจจุบันเครื่องมืออาจจะเป็นแค่ต้นแบบ แต่เบื้องต้นก็ช่วยทำให้เห็นว่าเด็กแต่ละคนแต่ละกลุ่มอยู่ตรงไหน ต้องพัฒนาจากตรงไหน และในอนาคตถ้าพัฒนาต่อไปก็อาจจะช่วยประหยัดเวลาของครูได้อีกมาก เช่น การกรอกคะแนนสอบอัตโนมัติ หรือการเปิดโอกาสให้ครูออกแบบข้อสอบที่เหมาะสมมากขึ้น รวมไปถึงการจัดทำถังข้อมูลข้อสอบที่ดีมากขึ้น

นายดลเดช ชึตต์ Data Analyst บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ในฐานะผู้ออกแบบปัญญาประดิษฐ์ ได้อธิบายและสาธิตการใช้งานว่าแนวคิดของ DIAMONS คือต้องการจะช่วยออกข้อสอบให้เร็วขึ้นและวัดผลได้ดีขึ้น จากเดิมที่การออกข้อสอบมักจะมีปัญหาว่าไม่สอดคล้องกับความสามารถหรือความรู้ของเด็ก เช่น ข้อสอบยากเกินไปจนสุดท้ายไม่สามารถประเมินผลและสะท้อนจุดเด่นหรือจุดด้อยของเด็กที่จะต้องพัฒนาต่อไปไป ดังนั้น DIAMONS จึงถูกออกแบบให้ข้อสอบมีความละเอียดมากเพียงพอที่จะประเมินเด็กและเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับขั้นตอน โดยครูสามารถเลือกได้ว่าจะต้องการทดสอบตัวชี้วัดอะไร ซึ่งจะมีข้อสอบที่รองรับตัวชี้วัดนั้นๆ และเมื่อการทดสอบผ่านไปครูจะสามารถนำข้อมูลมาประเมินผลได้ในทันทีว่าจุดอ่อนของเด็กแต่ละคนหรือแต่ละห้องอยู่ที่เรื่องอะไร และต้องพัฒนาทักษะจากตัวชี้วัดอะไรก่อนเป็นลำดับ

ด้านนางสาววรินทร จิวระประภัทร์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 4 มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ กล่าวถึงเทคโนโลยีกับการศึกษาไทยว่า หลายคนอาจจะมองเทคโนโลยีว่าเป็นผู้ร้ายและศัตรูกับการเรียนรู้ของเด็ก แต่ความเป็นจริงคือมันเป็นส่วนที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยจะช่วยสร้างความสนใจของเด็ก และทำให้เด็กอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ขณะที่การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวจะช่วยให้ตนเองสามารถปรับแผนการเรียนการสอนได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นมากขึ้น

“ปัญหาที่ผ่านมาเวลาเด็กสอบได้คะแนนน้อย เราจะไม่มีเวลาหาว่าเกิดจากอะไร เด็กไม่เข้าใจในประเด็นไหน แล้วจากระบบการศึกษาที่ทำให้ครูมีภาระสอนดูแลเทอมละ 5-6 ห้อง ห้องละ 30-40 คน มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหาสาเหตุ ไม่ต้องพูดถึงการออกแบบการศึกษาที่ไปดูแลเด็กนักเรียนในรายบุคคล แต่ปัญญาประดิษฐ์นี้จะมาช่วยทำให้เห็นได้ทันทีว่าเป็นข้อไหน ตัวชี้วัดอะไรที่เด็กส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ทำให้เราสามารถเลือกหัวข้อดังกล่าวกลับไปสอนใหม่ได้ทันทีในครั้งต่อไป” นางสาววรินทรกล่าว