ThaiPublica > คอลัมน์ > เหล้าเก่าที่ต้องเป็นเหล้าใหม่ในขวดการศึกษา

เหล้าเก่าที่ต้องเป็นเหล้าใหม่ในขวดการศึกษา

2 ตุลาคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องหนึ่งที่ร้อนแรงด้านการศึกษาระดับโลกในปัจจุบันก็คือการเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนโปรแกรมสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไรและมีความจำเป็นอย่างไร

เมื่อต้นปี 2016 ประธานาธิบดีโอบามาได้ชี้แจงประชาชนว่า เขาจะจัดสรรเงินนับพันล้านเหรียญสหรัฐให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศเพื่อให้เด็กทุกคนเรียนการเขียน code ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ computer education ทั้งนี้ เพื่อให้มีทักษะสำคัญของศตวรรษที่ 21

ในการใช้งานคอมพิวเตอร์นั้นมีความจำเป็นต้องสร้าง ‘ภาษา’ เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับสั่งงานให้เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำงาน ภาษาเหล่านี้แต่ดึกดำบรรพ์ ได้แก่ Fortran/Cobalt/Assembly ฯลฯ และที่ทันสมัยในปัจจุบันได้แก่ Java /JavaScript/PHP/Python ฯลฯ

ใครจะให้คอมพิวเตอร์ทำงานรับใช้ได้ก็ต้องสามารถสื่อสารกับมันได้ ซึ่งก็หมายความว่าคนสั่งต้องเรียนรู้ภาษาประดิษฐ์เหล่านี้ ในสมัยเมื่อ 40-50 ปี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายสาขาต้องเรียนรู้การทำงานของคอมพิวเตอร์ ต้องเรียนรู้การเขียนโปรแกรมซึ่งหมายถึงมีความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อสั่งให้มันทำงาน

ผู้เขียนเรียนการเขียนโปรแกรม Fortran 4 (ห้ามร้องโอ้โฮ) ต้องเรียนตรรกะของการเขียนเพื่อสั่งงาน โดยเขียนโปรแกรมเป็นบรรทัดๆ แต่ละบรรทัดก็พิมพ์ลงบนกระดาษที่เจาะรู เมื่อพิมพ์ทุกบรรทัดซึ่งหมายถึงครบทุกใบก็จะเอาไปส่งที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเป็นถาดๆ และรอคอย บางครั้งเป็นชั่วโมง หากเครื่องหมายผิดหนึ่งที่หรือตรรกะผิดก็ต้องมาพิมพ์ใบใหม่เพื่อแก้ไขจนกว่าจะได้ผลออกมาตามที่ต้องการ เช่น ใส่ข้อมูลเข้าไปบวกคำสั่งเพื่อให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์หาค่าสหสัมพันธ์ของตัวแปร ซึ่งหากทำด้วยมือก็อาจใช้เวลาเป็นวันๆ ในขณะที่เครื่องทำได้ในเวลาครึ่งวินาที

ในสมัยต่อมาปริญญา computer science ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทก็มักหายไปกลายเป็น information technology เมื่อมีการเอาความรู้คอมพิวเตอร์ไปผสมกับเทคโนโลยีโทรคมนาคม รูปแบบการใช้คอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีคนเขียนโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อให้ใช้กันสะดวกโดยไม่ต้องเขียนเองดังที่ผู้เขียนต้องทำดังที่เล่าข้างต้น computer science จึงมีการเรียนการสอนกันน้อยลงมาก เหลือเฉพาะในหมู่ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ผู้คนทั้งหมดมุ่งสู่ความสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนที่รากฐานกัน และคำว่าเขียน program ก็กลายเป็นคำว่าเขียน code แทน (programming เป็น coding)

การให้เด็กเรียน coding ก็คือการเรียนการเขียนโปรแกรม ซึ่งประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่าต้องการให้เด็กเหล่านี้สามารถทำงานได้ทันทีที่เรียนจบ เพราะโลกข้างหน้าเป็นโลกของการสั่งงานให้เครื่องจักรทำงานแทนมนุษย์ประกอบไปกับการเรียนตรรกะของการเขียน เข้าใจกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

ที่มาภาพ : https://newsela.com/articles/coding-education/id/14453/
ที่มาภาพ : https://newsela.com/articles/coding-education/id/14453/

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งและไม่สบายใจมานานที่เห็นผู้คนใช้สิ่งสำเร็จรูปกันโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ตรรกะของการใช้ ไม่รู้ขีดจำกัด ไม่รู้กลไกการทำงานของโปรแกรม ผู้เขียนเชื่อว่าการเรียนรู้ coding และ computer science ขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญของการเกิดนวัตกรรมที่เราต้องการ

ผู้เขียนขอเปรียบเทียบเรื่องนี้กับหมูแดง ผู้คนซื้อหมูแดงมากินกันอย่างเอร็ดอร่อยก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะไม่ต้องทำเอง แต่ตราบที่ไม่รู้ว่าหมูแดงเขาทำกันอย่างไร วัตถุดิบประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ละวัตถุดิบมีส่วนช่วยในการสร้างรสชาติในลักษณะใด มีการทำกี่แบบ วัตถุดิบที่ขาดไม่ได้ วัตถุดิบใดที่ทำให้เก็บไว้ได้นาน ฯลฯ การนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรม เช่น ยำหมูแดง ต้มยำหมูแดง หมูแดงแผ่น ลาบหมูแดง ฯลฯ ก็เกิดขึ้นได้อย่างไม่ก้าวไกลและไม่ยั่งยืน

ในการให้เรียนรู้ coding นั้น มิได้ต้องการให้เด็กทุกคนเป็นมืออาชีพในอนาคต (เรียนไวโอลินก็มิได้มุ่งเก่งกว่าโมสาร์ท หากเพื่อแสวงหาความอ่อนโยนและความงดงาม) หากมันช่วยให้เด็กรับเอาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตลอดจนการคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้าไว้ในชีวิต ซึ่งสองสิ่งนี้จะครอบงำโลกอีกยาวนาน และ “การรับ” นำไปสู่ “การตื่นตัวและการยอมรับ”

การศึกษาเป็นกระบวนการ ไม่ใช่รู้หรือไม่รู้แล้วจบกัน พ่อแม่พาลูกไปวัดมิได้ต้องการให้บวชเป็นสมภารต่อไปหรือเป็นมหา หากต้องการให้ซึมซาบคำสอนและและมีวัตรปฏิบัติในเรื่องศีลเรื่องธรรม การเรียน coding จะเป็นตัวกลางนำเด็กไปสู่การมองโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีอย่างชัดเจนขึ้น มีความระแวดระวัง เข้าใจข้อจำกัด มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล มีความภูมิใจในความสามารถของตนเอง และมีวิชาที่จะไปหากินต่อได้อย่างสะดวกขึ้น

สำหรับเด็กจำนวนหนึ่งในชั้นมัธยมปลายสายสามัญและสายอาชีวะที่เก่งในด้านนี้ก็จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็น programmer ซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในโลกในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ อย่าลืมว่าถ้าไม่มี coding ก็ไม่มี computer software ไม่มี applications และ websites (ทั้ง browser ทั้ง OS คือ operating system ทั้ง applications ทั้งไลน์ ทั้ง Facebook และ websites ต่าง ๆ อาศัย coding ทั้งสิ้น) ที่กำลังสร้างกันอยู่โดยเฉพาะในเรื่อง startup ที่เกี่ยวกับ IT

เมื่อไม่นานก่อนหน้านี้การเรียน computer science และการเขียน code ของเด็กนักเรียนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในอังกฤษและบางประเทศในยุโรป อเมริกาต้องเร่งตามให้ทันเพราะตระหนักดีว่า coding คือรากฐานของนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของมนุษย์ปัจจุบัน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 27 ก.ย. 2559