ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 ก.พ. 2561: “‘หมอธี’ รมว.ศธ. ขอโทษบิ๊กป้อม ทำผิดมารยาท วิพากษ์เรื่องนาฬิกาหรู” และ “กราดยิงโรงเรียนมัธยมฟลอริดา ตาย 17”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 ก.พ. 2561: “‘หมอธี’ รมว.ศธ. ขอโทษบิ๊กป้อม ทำผิดมารยาท วิพากษ์เรื่องนาฬิกาหรู” และ “กราดยิงโรงเรียนมัธยมฟลอริดา ตาย 17”

17 กุมภาพันธ์ 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 ก.พ. 2561

  • “หมอธี” รมว.ศธ. ขอโทษบิ๊กป้อม กรณีทำผิดมารยาท วิพากษ์เรื่องนาฬิกาหรู
  • ธปท. ห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมคริปโตเคอร์เรนซี – สมาคมธนาคารไทยรับลูก หวั่นเสี่ยงสูง-ไม่มี กม. รองรับ
  • กยศ. จ่อหักหนี้ค้างชำระผ่านเงินเดือน ขรก. เริ่ม มิ.ย. เอกชนเริ่ม ต.ค.
  • สธ. สั่งเพิกถอนตำรับยาอะเซตฟีโนลิเซทิน หวั่นผู้ใช้เป็นตับอักเสบ
  • กราดยิงโรงเรียนมัธยมฟลอริดา ตาย 17
  • “หมอธี” รมว.ศธ. ขอโทษบิ๊กป้อม ปมทำผิดมารยาท วิพากษ์เรื่องนาฬิกาหรู

    นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

    กลายเป็นเรื่องให้สังคมคลางแคลงใจในความเป็นปึกแผ่นของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเว็บไซต์บีบีซีไทยได้เผยแพร่คลิปเสียงและคำสัมภาษณ์ของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังการปราศรัยในงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2561 โดยคำสัมภาษณ์ดังกล่าวได้กล่าวถึงกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยมีใจความว่า

    “เรื่องนาฬิกา ผมถูก exposed (เปิดโปง) เรือนแรกผมก็ออกแล้ว อันนี้ถามผมนะ ส่วนใครจะว่ายังไงก็ไปถามคนนู้นน่ะ ของอย่างนี้คนก็ไม่กล้าพูด กลัวอะไรอะ ทำไม พูดแล้วมันจะมาไล่ผมออกเหรอ” และเมื่อนักข่าวถามว่า “แต่ท่านอยู่ใน ครม. (คณะรัฐมนตรี)” รมว.ศธ. ก็ตอบว่า “ไม่เกี่ยวนี่ อันนี้คือความเห็นผมน่ะ ไม่ใช่ความเห็น ครม. นี่ แล้วไง ถ้าผมอยู่ที่ไหนแปลว่าผมต้องคิดตามเค้าหมดเหรอ ลูกผมยังคิดไม่เหมือนผมเลย การคิดเหมือนกันเนี่ยมันคือหลักเผ่ากู ซึ่งมันแค่โตกว่าหลักกูนิดเดียวเอง”

    ต่อมา เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า นพ.ธีระเกียรติเปิดแถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ภาพที่เห็นในคลิปกับเสียงเป็นเสียงคนละตอนกัน ในระหว่างพูดคุยกับผู้สื่อข่าวไม่ทราบว่ามีการอัดเทป “ดังนั้น 1. ผมถือว่าเขาไม่ได้สัมภาษณ์ผมเป็นทางการ และ 2. ผมก็ยอมรับว่าหลังได้คุย ได้ให้ความเห็นต่างๆ ผมก็ถือว่าผิดมารยาทในการกล่าวถึงเพื่อนร่วม ครม. โดยเฉพาะรองนายกฯ ผมก็ได้ขอโทษท่านว่าผมทำผิดมารยาท” อย่างไรก็ตามยอมรับว่าคู่สนทนาได้แสดงตัวเป็นผู้สื่อข่าว

    ขณะที่ด้านฝ่ายสื่อสารองค์กรของบีบีซีนั้นกล่าวว่า “รัฐมนตรีคนดังกล่าวได้ตกลงให้ผู้สื่อข่าวของเราสัมภาษณ์หลังจากที่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอีกคนหนึ่งต่อกลุ่มนักเรียนไทยในกรุงลอนดอน โดยเขาตกลงพูดคุยกับผู้สื่อข่าวของเราซึ่งได้บันทึกการสัมภาษณ์โดยใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเปิดเผย สามารถรับฟังคลิปเสียงดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์บีบีซีไทย”

    ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการได้ยืนยันกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่ายังให้ความมั่นใจกับนายกรัฐมนตรี 100 เปอร์เซ็นต์ และที่เข้ามาทำงานก็เพราะยังเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรีอยู่

    “นายกฯ เห็นความตั้งใจ ดังนั้นผมยังทำงานให้นายกฯ ต่อ จนกระทั่งเห็นว่ามันไม่เหมาะแล้ว ดังนั้นผมก็ยังอยู่ตรงนี้ ยืนหยัดที่จะทำงานต่อไป” นพ.ธีระเกียรติกล่าว และบอกว่าเมื่อ พล.อ. ประวิตร ได้ฟังคำขอโทษก็พยักหน้ารับ ส่วนอนาคตการทำงานร่วมกันหลังจากนี้ นพ.ธีระเกียรติยืนยันว่าตั้งแต่ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ไม่มีอะไรกันแน่นอน

    ส่วนกระแสข่าวเตรียมยื่นใบลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นพ.ธีระเกียรติยอมรับว่า เวลามีเรื่องอย่างนี้การลาออกก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ทางเลือกก็มีหลายทาง ต้องเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดต่อรัฐบาลชุดนี้ ไม่ใช่เอาแต่สะใจ เกิดอะไรขึ้น เอะอะๆ ก็จะยื่นใบลาออก ต้องปรึกษานายกฯ ว่าทางเลือกมีอะไรบ้าง ทั้งนี้ นพ.ธีระเกียรติยืนยันว่า “แต่ผมยังไม่ได้ยื่นเลยครับ ต้องคุยกับท่านก่อน ไม่ใช่จู่ ๆ ก็ไปยื่นโน่นยื่นนี่”

    ธปท. ห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมคริปโตเคอร์เรนซี – สมาคมธนาคารไทยรับลูก หวั่นเสี่ยงสูง-ไม่มี กม. รองรับ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ HACKERNOON (https://goo.gl/b2q15a)

    วันที่ 12 ก.พ. 2561 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกหนังสือเวียนไปยังสถาบันการเงินทุกแห่งโดย ธปท.ฝนส.(23)ว. 276/2561 เรื่อง ขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล โดยระบุ ว่าคริปโตเคอร์เรนซีบางประเภทไม่สามารถระบุผู้ออกได้อย่างชัดเจน ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันตามมูลค่า หรือไม่มีสินทรัพย์อ้างอิง และที่ผ่านมามีความผันผวนสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเก็งกำไร ผู้ทำธุรกรรมจึงมีความเสี่ยงจากการขาดทุนสูง รวมทั้งไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในระยะเวลาอันรวดเร็วได้

    นอกจากนี้ยังระบุว่า ในประเทศไทย คริปโตเคอร์เรนซียังไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ ผู้ทำธุรกรรมอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงินในกรณีถูกหลอกลวง หรือเกิดปัญหาในการทำธุรกรรม รวมทั้งคริปโตเคอร์เรนซีอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมายได้ เช่น การฟอกเงิน หรือการสนับสนุนการก่อการร้าย ประกอบกับการทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นการทำผ่านระบบเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของระบบเป็นสำคัญ

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริปโตเคอร์เรนซีที่ไม่สามารถระบุผู้ออกได้อย่างชัดเจน หรือไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันตามมูลค่า หรือไม่มีสินทรัพย์อ้างอิง ธปท. จึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่งไม่ให้ทำธุรกรรม หรือมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี ในกรณีดังต่อไปนี้

    1. การเข้าไปลงทุนหรือซื้อขายในคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อผลประโยชน์ของสถาบันการเงินเอง หรือผลประโยชน์ของลูกค้า

    2. การให้บริการรับแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีผ่านช่องทางให้บริการของสถาบันการเงิน

    3. การสร้างแพลตฟอร์ม (platform) เพื่อเป็นสื่อกลางให้ลูกค้าเข้าไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีระหว่างกัน

    4. การให้ลูกค้าใช้บัตรเครดิตในการซื้อคริปโตเคอร์เรนซี

    5. การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษากับลูกค้าเกี่ยวกับการลงทุนหรือการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี

    นอกจากนี้ ธปท. ขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังการให้บริการด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชี หรือการใช้บัญชีที่อาจนำไปสู่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี โดยขอให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติในเรื่องการรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer: KYC) และดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence: CDD) อย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย และประกาศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ทางการอาจกำหนดเพิ่มเติมต่อไป รวมทั้งร่วมกันดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้การทำธุรกรรมดังกล่าวถูกใช้เป็นช่องทางในการกระทำผิดกฎหมาย

    ต่อมา วันที่ 13 ก.พ. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรม หรือ มีส่วนร่วมในการสนับสนุนทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี รวมถึงการออกโทเคนของบริษัทเอกชน ซึ่งทางสมาคมธนาคารไทย โดยสถาบันการเงินต่างๆ ได้ดำเนินการระงับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี พร้อมทั้งมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าถึงความเสี่ยงสูงจากการลงทุนดังกล่าวทั้งความผันผวน และ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ โดยมูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซีไม่สามารถเทียบกับมูลค่าของเงินบาทที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

    “สมาคมธนาคารก็มีจุดยืนร่วมกันที่จะไม่สนับสนุนการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับผู้ที่ไม่รู้ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก และไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน จึงไม่สามารถหามูลค่าที่เหมาะสมสำหรับเงินสกุลนั้นๆ ได้ เพราะคริปโตเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงินที่ไม่ใช่เงินที่มีมูลค่าที่แท้จริงรองรับ” นายปรีดีกล่าว

    กยศ. จ่อหักหนี้ค้างชำระผ่านเงินเดือน ขรก. เริ่ม มิ.ย. เอกชนเริ่ม ต.ค.

    เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันที่ 12 ก.พ. 2561 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยศ. ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ ที่ทำงานของผู้กู้ยืม และไม่มาตรการเชิงบังคับการชำระหนี้ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการรวม 2 กองทุน คือ กยศ. และ กรอ. (โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต) มาบริหารจัดการแบบบูรณาการภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจในการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืม ที่อยู่ในความครอบครองขององค์กรต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน

    ส่วนการติดตามหนี้ ถือเป็นหน้าที่องค์กรนายจ้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อกองทุนได้แจ้งต่อนายจ้างอย่างเป็นทางการ นายจ้างต้องหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง หลังจากนั้นต้องนำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลา พร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระหนี้คืน

    สำหรับผู้กู้ยืมมีหน้าที่จะต้องให้แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมต่อนายจ้างภายใน 30 วัน นับแต่เริ่มปฏิบัติงาน และจะต้องยินยอมให้กองทุนฯ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมและชำระคืน รวมถึงต้องยินยอมให้หักเงินเดือนตามจำนวนที่กองทุนแจ้ง เพื่อชำระคืนกองทุน

    สำหรับแนวปฏิบัติ เพื่อทำความเข้าใจกับองค์กรนายจ้างหรือองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะออก แบบกฎกระทรวง และแนวปฏิบัติต่างๆ ของกองทุน เพื่อรองรับ พ.ร.บ. ดังกล่าว รวมถึงได้จัดเตรียมระบบนำส่งเงินชำระหนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มหักเงินเดือนผู้กู้ ในกลุ่มข้าราชการที่เป็นผู้กู้ยืม ซึ่งมีผู้กู้ทั้งหมด 170,000 ราย เป็นเงิน 16,000 ล้านบาท โดยในเดือน มิ.ย. นี้ จะหักเงินจากข้าราชการกรมบัญชีกลาง เป็นกลุ่มแรก ซึ่งมีผู้กู้ กยศ. ประมาณ 100 คน

    หลังจากนั้น ก็จะขยายไปสู่ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ  และประมาณเดือน ต.ค. จะหักเงินเดือนในส่วนของภาคเอกชนต่อไป โดยกจะหักเป็นรายเดือน จากเดิมที่อนุญาตให้มีการชำระเป็นรายปี

    สำหรับสถานการณ์การชำระหนี้ของ กยศ. ในระยะ 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 นั้น ถือว่ามียอดใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เนื่องจากยังไม่สามารถหักเงินเดือนได้โดยตรงตามแผน แต่เท่าที่ประเมินการ ชำระหนี้ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี ซึ่งอย่างน้อยก็ไม่มียอดที่ผิดนัดชำระเพิ่ม

    สธ. สั่งเพิกถอนตำรับยาอะเซตฟีโนลิเซทิน หวั่นผู้ใช้เป็นตับอักเสบ

    วันที่ 15 ก.พ. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจเผยแพร่คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา มีเนื้อหาดังนี้

    ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ คําสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ ๑๘๐๗/๒๕๖๐ เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตํารับยา

    ด้วยปรากฏว่ายาอะเซตฟีโนลิเซทิน (Acetphenolisatin) หรือออกซีเฟนิเซติน (Oxyphenisatine) ที่ขึ้นทะเบียนตํารับยาไว้ในรูปแบบยาเดี่ยว ชนิดรับประทาน ในข้อบ่งใช้เป็นยาระบาย บรรเทาอาการท้องผูกไม่มีข้อมูลสนับสนุนประสิทธิภาพของยา หรือไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยาเนื่องจากอาจทําให้เกิดโรคตับอักเสบ (hepatitis)

    ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘๖ แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคําแนะนําของคณะกรรมการยาในการประชุม ครั้งที่ ๓๗๔ – ๗/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาชนิดรับประทานตํารับยาเดี่ยวอะเซตฟีโนลิเซทิน (Acetphenolisatin) หรือออกซีเฟนิเซติน (Oxyphenisatine) ทะเบียนตํารับยาเลขที่ 1A 347/31 ชื่อการค้า Satin ผลิตโดยบริษัท เอเชี่ยนยูเนี่ยนแล็บบอราตอรี่ จํากัด จํานวน ๑ ตํารับ

    อนึ่ง หากผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคําสั่งนี้ สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้โดยให้ทําคําฟ้องเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันที่ ได้รับแจ้งคําสั่งนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

    สั่ง ณ วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
    ปิยะสกล สกลสัตยาทร
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

    กราดยิงโรงเรียนมัธยมฟลอริดา ตาย 17

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซีไทย (http://bbc.in/2ExNULH)

    วันที่ 15 ก.พ. 2561 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาร์โจรี สโตนแมน ดักลาส เมืองปาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน โดยตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้ คือ นายนิโคลัส ครูซ อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนเก่าที่ถูกไล่ออกไปก่อนหน้านี้

    ต่อมา เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า นายนิโคลัส ครูซ ให้การต่อผู้พิพากษาว่าเป็นผู้ลงมือเอง และกล่าวด้วยว่าเจตนาทิ้งอาวุธทั้งหมด ที่รวมถึงปืนไรเฟิลรุ่นเออาร์-15 และอุปกรณ์เครื่องสนาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วว่าพบว่าเป็นการซื้ออย่างถูกต้องตามกฎหมายจากร้านขายอาวุธแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา แล้วพยายามปะปนไปกับกลุ่มนักเรียนซึ่งกำลังแตกตื่น แต่ไม่สำเร็จและถูกตำรวจจับกุมได้ในที่สุด ภายในเวลาราว 40 นาทีหลังเกิดเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ใช้วิธีตามแกะรอยคนร้ายจากกล้องวิดีโอวรจรปิดที่ติดอยู่ทั่วโรงเรียน จนพบด้วยว่าครูซใช้เวลาที่สถานที่ 2 แห่งหลังก่อเหตุ คือห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ตและร้านแมคโดนัลด์ ด้านผู้พิพากษาปฏิเสธการให้ประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากถือเป็นบุคคลอันตราย