ThaiPublica > คนในข่าว > “ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” (ตอนที่1) : เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน 2 เดือน ผลิตเด็กอาชีวะ 4.0

“ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” (ตอนที่1) : เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน 2 เดือน ผลิตเด็กอาชีวะ 4.0

2 พฤษภาคม 2017


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นับเป็นการสนทนาที่ยาวกว่า 2 ชั่วโมง กับการเล่าเรื่องราวที่ได้ทำมาในห้วงเวลาแค่ไม่กี่เดือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้มีอาชีพจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อถูกทาบทามให้มาเป็นผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อมาพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่ทำได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ต้องมารับหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และล่าสุดได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการเต็มตัว กับสารพัดโจทย์ที่ต้องแก้เกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย

เดิมทีก่อนมานั่งเก้าอี้ตัวนี้ นพ.ธีระเกียรติ ไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ-ลอนดอน ไม่มีบ้านอยู่กรุงเทพฯ เมื่อต้องรับบทบาทรัฐมนตรี มารับเงินเดือนเดือนละ 70,000 บาท/เดือน พร้อมค่าเลี้ยงรับรอง 40,000 บาท/เดือน เพื่อบริหารเงินงบประมาณปีละกว่า 500,000 ล้านบาท ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ยังไม่มีบ้านอยู่ ได้แต่เป็นเพียงผู้อาศัย

หมอธีระเกียรติเล่าว่า ด้วยหัวโขนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาที่มีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ทำให้มีเรื่องราวให้ต้องตัดสินใจมากมาย แค่ฝนตกต้นไม้ล้มที่โรงเรียนแล้วไม่สอบภารโรง ต้องให้รัฐมนตรีสั่ง เพราะรัฐมนตรีคุมโรงเรียน เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่ต้องสั่งการ

“เพราะฉะนั้นวันๆ มีเรื่อง มากองที่ผม เช่น ใครมีชู้กับใคร ก็มีคนมาฟ้องทุกวัน ด้วยนโยบาย centralize (รวมศูนย์) มันเป็นการบริหารจากส่วนกลาง แม้จะมีสำนักงานเขตก็ยังเป็นการบริหารแบบส่วนกลาง เขาไม่ได้เป็นบริหารราชการแบบส่วนภูมิภาค เมื่อก่อนนี้เขตการศึกษาเป็นจังหวัด แต่ตาม พ.ร.บ. ใหม่ เป็น 225 เขตมาตั้งแต่ปี 2543 เป็นการรวมศูนย์ มีระดับซี 11 จำนวน 5 คน เป็นแท่งๆ เหมือนผมมี 5 กระทรวง แต่มีคน 9 แสนคน แล้ว centralize มาที่ผม… ไม่ตายเหรอ เรื่องมาเยอะขนาดนี้”

ข้าราชการกระทรวงศึกษา 900,000 คน ทั่วประเทศ เป็นครู 4 แสนกว่า ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ ภารโรง ธุรการ ประมาณ 4 แสนคน ใช้งบประมาณ 5 แสนกว่าล้านบาท แล้วรวมศูนย์แบบนี้ ตายอย่างเดียว ไม่มีกำลังทำ เพราะกฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีไว้ สมัยผมเป็นรัฐมนตรีช่วย งานเซ็นมันไม่เยอะ แต่เรื่องบุคคล เรื่องงบประมาณ มอบหมายไม่ได้ กฎหมายเขียนไว้ แล้วตำแหน่งประธานกรรมการที่เป็นคณะใหญ่ๆ อย่างเช่น ประธานกรรมการครู ก็ต้องเป็นรัฐมนตรี มอบหมายไม่ได้ (อันนี้มีมาตั้งแต่ปฏิรูปการศึกษาปี 2543) ทำให้ผมไม่ค่อยอยากไปไหนเลย ไปทีกลับมางานค้างตรึม

หลังจากปี 2543 เรามีรัฐมนตรีศึกษาทั้งหมดจนถึงตอนนี้นะครับ 20 คน ผมเป็นคนที่ 20 ท่านคิดได้เลยว่าจะมีนโยบายอะไรที่มันต่อเนื่อง ถึงจะอยู่รวมศูนย์ก็ตาม ผมคิดว่าต้องเอาการศึกษาออกจากวงจรการเมืองให้ได้ ด้วยการทำอย่างไรไม่ให้การเปลี่ยนรัฐมนตรีมากระทบต่องานภารกิจหลัก ในต่างประเทศอย่าง ฟินแลนด์ ถึงเขาเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่กระทบ เกาหลีใต้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น รัฐมนตรีใหม่อาจจะมีโครงการหรือมีนโยบายบางอย่างเพิ่มเข้ามา หรืออยากจะทำ แล้วก็คุมตรงนั้น ไม่ใช่เข้ามาแล้วก็เติมตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้”

“อย่างสิงคโปร์ ตั้งแต่ลี กวนยู เข้ามา 40 ปี เขาวางนโยบายยาว ปัก จุงฮี เกาหลีใต้ เขาก็วางนโยบายยาว ผมไปบรูไนมาเขาได้เอกราชปี 1984 ก็มีรัฐมนตรีศึกษา 4 คน นโยบายต่อเนื่องมาก บรูไนนี่ดูแล้วน่ากลัว นำเราแล้ว หรือเวียดนามเขาวางนโยบายยาวเลย ของเรานี่เปลี่ยนๆ พูดอย่างนี้ไม่ได้อยากอยู่ยาวๆ นะ คือคนเปลี่ยนได้ คือต้องออกจากวงจรการเมืองให้ได้ วงจรควรเปลี่ยน”

เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน

การบริหารจัดการภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เราสามารถคิดใหม่ได้ เช่น เรื่องอาชีวะ คือเด็กของเรา ในที่สุดแล้วต้องมีงานทำแล้วถ้าจัดการศึกษาแบบเดิมๆ ให้เขาเรียนในระบบ รัฐจัดให้ ก็เข้ามาง่ายๆ แต่เครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ที่โรงเรียนอาชีวะมีอยู่ มันระดับ 1.0, 2.0 ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมเขายกระดับไปไกลแล้ว ตอนนี้บริษัทใหญ่ๆ ที่นักเรียนต้องออกไปทำงานมัน 4.0 แล้ว เด็กที่อยู่ในระบบอาชีวะของรัฐหรือโรงเรียนอาชีวะที่มีอยู่ตอนนี้ออกไปก็ใช้งานไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เขาเรียนกับสิ่งที่อยู่ในโลกจริงมันไม่ค่อยตรงกัน

“เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ผมก็ให้ทางอาชีวะเปลี่ยนวิธีคิด ผมบอกว่าโรงเรียนปิดเทอมคุณไปหานักเรียนที่เพิ่งจบแล้วยังไม่มีงานทำ และคุณไปเชิญภาคเอกชนมาจัดคอร์ส นโยบายประชารัฐเรามี 18 บริษัท แต่เที่ยวนี้ผมขอทั้งประเทศ ไปเชิญบริษัทเอกชนมาทั้งหมด ปรากฏว่าได้มา 1,500 บริษัท มาจัด Education to Employment (E to E) ฝึกทักษะ 2 เดือนในช่วงปิดเทอม มุ่งทักษะที่เด็กเขาไม่ได้เรียนในโรงเรียน ให้เขาข้ามสายงานได้ ถ้าเขามีพื้นฐานเครื่องยนต์อยู่แล้ว เช่น มีคอร์สซ่อมบิ๊กไบก์ ผมเพิ่งรู้ว่าบิ๊กไบก์เรามี 100,000 คัน ที่ขายไปแล้ว อาชีวะที่ไหนจะซ่อมจักรยานยนต์บิ๊กไบก์ได้ คันละ 1,600,000 บาท พอมาเรียน 2 เดือน เขาได้งานการันตี นี่คือตัวอย่าง เพราะมันไม่มีช่าง”

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

“อันนี้เป็นการนำเอาโรงเรียนอาชีวะ 400 กว่าแห่งทั้งประเทศร่วมกับเอกชนผู้ประกอบการมาจัดหลักสูตร 2 เดือน ผมทำใหม่หมด ไม่ได้หวังว่าจะได้ ปวช. ปวส. แต่ว่าได้ใบรับรองที่เขาได้ทักษะแล้วไปทำงาน มีคอร์สแปลกๆ เช่น คอร์สซ่อมเครื่องยนต์สปีดโบท คนที่จัดคอร์สนี้อยู่ภาคใต้ ผมไปดู เขาบอกว่าทุกวันสปีดโบทเสียเยอะ นายจ้างเซ็ง จบจากอาชีวะทำไม่เป็น เพราะเขาไม่มีเครื่องมือในโรงเรียนเขา แต่เขาเรียนพื้นฐานเครื่องยนต์ เขามาเรียนต่อยอดซ่อมสปีดโบท 2 เดือน เพิ่มทักษะเขาขึ้นมา หรือช่างตรวจรอยร้าวอากาศยานโดยวิธีพิเศษ พวกนี้ก็ไม่มีสอนในโรงเรียนอาชีวะ เขาอาจจะเรียนอาชีวะเครื่องกล ไฟฟ้า มาบ้าง แต่เขามาต่อยอดเรียนอย่างนี้ได้ เขาได้งานทุกคน”

นักเรียนอาชีวะมันมีล้านคน เป็นนักเรียนพาณิชย์ประมาณ 60% จบมาทำงานออฟฟิศ แต่เราจัดคอร์สอบรมทำบัญชีสำหรับงานก่อสร้าง ผมก็ให้พวกก่อสร้างเน้นเฉพาะบัญชีสำหรับงานก่อสร้าง บัญชีสำหรับภาษี บัญชีควบคุมคลังสินค้า คือทำบัญชีเฉพาะทาง หรือหลักสูตรอาหารนานาชาติ ผมก็เอาบริษัทที่ทำอาหารนานาชาติมาจัด 2 เดือน นี่เป้าหมายคือให้เขาจบมาแล้วได้ฝึกงานกับโลกจริง เขาได้งาน แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำ

“ผู้ประกอบการบอกบอกผมว่า รัฐมนตรีทำทุก 3 เดือนได้ไหม ผมบอกได้ ผู้ประกอบการเขาบอกโครงการนี้น่าจะเกิดมานานแล้วเพราะถ้าคิดแบบราชการเดิมๆ อ๋อ…จะซ่อมสปีดโบทเหรอ เออ…เอามาใส่ในหลักสูตร ปวช. เอาหลักสูตรไปรับรองก่อนนะ ต้องโน่น นี่ นั่น กว่าจะผ่านรับรองนี่สปีดโบทมันกลายเป็นจรวดไปแล้ว มันไม่ทันการ อันนี้เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดอาชีวะที่เป็นประชารัฐจริงๆ”

สิ่งที่ผมทำก็คือให้อำนาจเอกชน ให้เอกชนเขานำ รัฐแค่คอยจัดเด็กนักเรียน ฉะนั้น รอบแรกที่ผมทำเมื่อวันที่ 1 มีนาคม มีนักเรียนสมัครทั้งหมด 82,000 คน 2,500 หลักสูตร ทำพร้อมกันทั้งประเทศ 2 เดือน ใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท

“การอบรมแบบนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ตามความต้องการของตลาด เด็กในพื้นที่ได้เรียน ผมก็ดีใจมากเลย อย่างมีหลักสูตรมัคคุเทศก์ พอดีได้คุยท่านรัฐมนตรีกอบกาญจน์ (รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) เล่าให้ฟังว่ามัคคุเทศก์ขาดเยอะ ผมเรียนท่านว่ามัคคุเทศก์ควรสอนในสมาคมมัคคุเทศก์ เอาคนเก่งๆ ที่เขาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาสอน คราวนี้เราก็ไปเชิญพวกสมาคมมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ เขามาจัดให้เราด้วย หรือหลักสูตรติดตั้ง CCTV ปรากฏว่าเด็กเขาไม่เคยเรียนในโรงเรียน เด็กบอกเลยว่า ออกไปทำเป็นอาชีพอิสระได้เลย”

“ตอนนี้ผมทำให้คนทำวิจัยว่าโครงการนี้มันเพิ่มผลผลิตยังไง ถ้าก่อนมีหลักสูตรเด็กได้งานไหม หลังจากนี้จะได้งานไหม แล้วผมก็ถามว่าถ้าได้งานนี่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม เขาจะได้เงินเดือนเพิ่มไหม อุตสาหกรรมมันก็เดินหน้าได้ อย่างสปีดโบท หากไม่มีคนซ่อมเครื่องยนต์ เขาต้องรอ แค่หนึ่งวัน เขาก็ขาดรายได้แล้ว”

ให้เอกชนนำ รัฐแค่กำกับดูแล

นพ.ธีระเกียรติเล่าเสริมว่า“วันที่ผมเป็นรัฐมนตรีวันแรก ทางอาชีวะก็มาพบ เขาบอกท่านครับเราขาดครูอาชีวะเป็นหมื่นเลย ผมบอกโห ไม่ขาดหรอก บอกทำไมไม่ขาด ก็ครูอยู่ตามโรงงานนะ เราเปลี่ยนโรงงานให้เป็นโรงเรียนสิ ให้แรงจูงใจภาคเอกชน เขาเทรนให้เรา เราลดภาษีให้เขา มันต้องเปลี่ยนวิธีคิด มีแรงจูงใจให้คนเขาอยากทำงาน คิดถึงนักเรียนเป็นหลัก ให้เขาเรียนอาชีวะ 2-3 ปีแล้วออกไปไม่มีงานทำ คุณทำร้ายเขานะ คิดถึงทักษะของโลกภายนอกว่าเด็กเขาต้องการอะไร”

“ผมเรียกประชุมโรงเรียนอาชีวะเอกชน ซึ่งมีคำสั่ง ม.44 ยุบรวมกับภาครัฐ เอกชนกำลังทยอยตาย ไม่มีนักเรียน ผมเรียนเขาว่า ม.44 มันให้สปิริตว่าเราคืออาชีวะด้วยกัน เราต้องถือว่าเป็นพี่น้อง เกลี่ยนักเรียนกันได้ไหม ช่วยให้ทุกคนรอด วันนี้นักเรียนอาชีวะ 1 ล้านคนที่อยู่ในระบบ จบไปแล้วปีละ 2 แสนคน แต่สิ่งที่นายจ้างบ่นมากที่สุดก็คือว่า เด็กจบมาแล้วทักษะไม่พอ และทักษะอีกด้านหนึ่งคือภาษาอังกฤษ คือจริงๆ นายจ้างเขาไม่แคร์ใบประกาศ เขาแคร์ว่าคุณทำงานได้หรือเปล่า”

“ผมให้ทางอาชีวะเขาทำว่า 2 เดือนที่เด็กมาฝึกงาน คุณเปลี่ยนเป็นหน่วยกิตให้ผมได้ไหม เปลี่ยน 75 ชั่วโมงเป็นหน่วยกิตและคุณจัดบ่อยๆ แล้วรวมหน่วยกิตเอามารับรองเป็นใบอะไรสักใบจากสำนักอาชีวศึกษา เดี๋ยวนี้เราไม่มีกรมอาชีวะ ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอาชีวะครั้งใหญ่ คือผมนึกถึงท่านนายกชาติชาย (ชุณหะวัณ) ที่ท่านเคยมีมอตโต้ว่าเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ผมบอกพวกคุณคิดนะ เปลี่ยนโรงงานให้เป็นโรงเรียน ให้เอกชนเขานำ อย่าให้เรามีอำนาจเยอะ เราควรเป็นแค่คนกำกับดูแลว่าให้เขาไม่ใช้งานผิด เขาไม่ใช้แรงงานเด็ก เขาไม่ทำร้ายเด็ก แต่ใน Modern Technology ต้องให้เขานำ

ดังนั้น ครั้งนี้ที่ผมจัดมี 1,500 บริษัท ผมตื่นเต้นตกใจเลยนะ เพราะไม่เคยนึกว่าจะเยอะขนาดนี้ ผมมีลิสต์กองอย่างนี้เลย ตอนเราสั่งไป หลังจากวันที่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ผมบอกคุณต้องจัดอาชีวะใหม่ คุณไปทำแบบนี้ ผมจะเริ่มในช่วงปิดเทอมก่อน เพราะปิดเทอมคือโอกาสทองเด็กที่เพิ่งจบ คุณไปตามท้องที่ หาบริษัทเอกชน อย่าคิดแต่บริษัทใหญ่ ตอนนี้บ้านเราสร้างรถไฟฟ้า รถใต้ดิน แต่เสียโอกาสหมด มีนักเรียนไปเรียนบ้างไหม ทำไมคุณไม่ไปขอเขา ปรากฏว่ามี ช.การช่างมาช่วยทำคอร์สอบรมให้ เรื่องการอาณัติสัญญาณ การสับราง อาชีวะเรามีทุกจังหวัด เขาก็ไปติดต่อบริษัทในท้องที่ บางแห่งเป็นธุรกิจเกษตร ก็เทรนคนในท้องที่ งานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน งานนวดแผนไทย ช่างซ่อมบริการเครื่องยนต์เล็ก

“ไทยแลนด์ 4.0 มันต้องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดลอยๆ ผมเรียนรัฐมนตรีคลัง ให้เขาคำนวณจำนวนนักเรียน ฝึกงานกี่ชั่วโมง ที่ภาคเอกชนเขามีค่าใช้จ่าย แล้วเอามาหักภาษีได้ 200% หากทำได้ภาคเอกชนทุกคนจะช่วยกัน เพราะว่าถ้ารัฐไปลงทุนเอง ยังไงก็ไม่ทันภาคอุตสาหกรรม ดูง่ายๆ ผมเป็นหมอนะ ที่ไหนมีโรงพยาบาล ที่นั่นมีแพทย์ มีนักเรียนแพทย์ มีแพทย์ฝึกหัด แต่เราไปดูที่เขาสร้างรถไฟฟ้า มีนักเรียนอาชีวะกี่คน ไม่มี ไปเรียนข้างนอกทำไม ของมันอยู่ตรงนั้น ผมแค่พยายามเปลี่ยนวิธีคิด เรียนแล้วให้มีอาชีพ”

โครงการนี้มีคนสนใจ 8 หมื่นกว่าคน ใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท แต่ผมบอกคุณไม่ต้องห่วง และคอร์สที่มันไปไม่รอดนี่ อย่างเช่น เรียนแล้วไม่มีงาน หลักสูตรก็ไปเอง ข้อดีของโครงการนี้คือคอร์สที่ดีแล้ว เอกชนเขาต้องการ เดี๋ยวเอกชนก็มาลงทุนให้ ถูกไหม เพราะเอกชนเขาอยากได้คน ให้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือของเขา มาเทรนให้เราฟรี ดังนั้นถ้าเราสร้างแรงจูงใจให้เอกชนให้ยิ่งถูกไปกว่านั้น ให้เอกชนหักภาษีได้ อีกหน่อยคอร์สพวกนี้เก็บเงิน เด็กเขายังเรียนเลย อย่างช่างแอร์ที่เขาลงเรียนกันในอาชีวะ ถามจริงมันมีแอร์ใหม่ๆ ไหม ขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนหมด ไม่มีให้เขาเรียน ใครจะลงทุน มันก็มีแต่เครื่องมือเครืองจักรเก่าๆ ดังนั้น ถ้าไม่ทำนโยบายแบบนี้นะ นักเรียนข้ามสายอาชีพไม่ได้ คุณจบ ปวช. ทั้งปีทั้งชาติก็เรียนเครื่องกล ไฟฟ้า พอผมทำแบบนี้ บางหลักสูตร เด็กจบไฟฟ้าก็เรียนได้ ช่างกลก็เรียนได้ มันข้ามสายงานได้ ฉะนั้นเป็น Cross Training ได้หมด เพราะถ้าอยากได้ใบประกาศนียบัตรก็ให้เก็บชั่วโมงการฝึกงานไว้ ถ้าเป็น ปวช. เก็บไว้เรื่อยๆ สุดท้ายเอาไปเป็น ปวส. ทั้งหมดมี 2,000 กว่าหลักสูตร

ดังนั้น จะเรียนเพื่อไปทำงาน 4.0 คุณก็ต้องเอาคน 4.0 หรือโรงงาน 4.0 มาสอน ไม่ใช่ใช้แล็บ 1.0 เพื่อทำให้มันเป็น 4.0 มันเป็นไปไม่ได้

“ท่านนายกรัฐมนตรีบอกตลอด เขียนกลยุทธ์สวยหรู ต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ ท่านนายกฯ ถามทุกที how to ยูบอกมาว่าทำยังไง ฉะนั้น สิ่งที่ผมพยายามทำ ทำมันเกิดในโลกจริง ท่านนายกฯ บอกว่า 4.0 คุณต้องไปถามว่าคนไทยอยู่ที่ 3.0 เท่าไหร่ เพราะคุณจะไป 4.0 มาต้องเริ่มจาก 3.0 ประเทศไทยอยู่ 2.0 กี่คน 1.0 กี่คน แล้ว 0.0 กี่คน มันไม่ใช่ทุกคนจะกระโดดไป 4.0 ได้ มันก็ต้องเตรียมนะ ทีนี้เราก็ต้องประเมินศักยภาพของภาครัฐ ในการจัดการศึกษา เพราะขณะนี้จริงๆ เราตอบโจทย์ได้แบบไหน ถ้าตอบไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด โครงการอาชีวะ นี่ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่ผมแฮปปี้ ถ้าพ้นจากตำแหน่งเมื่อไหร่ก็อันนี้เป็นนโยบายที่แฮปปี้ที่สุดอันนึง เด็กเป็นหมื่นๆ ได้งานทำ และเป็นแสนในอนาคต”