ThaiPublica > เกาะกระแส > กางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อุตสาหกรรมอะไรที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ แล้วจะแข่งได้อย่างไร

กางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อุตสาหกรรมอะไรที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ แล้วจะแข่งได้อย่างไร

5 มกราคม 2018


นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ (กลาง) ประธาน และนายวิบูลย์ คูสกุล (2 จากซ้าย) กรรมการ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธาน คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แถลงข่าวความคืบหน้าของการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ว่า คณะกรรมการฯ ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2560 และได้เสนอไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา ต่อไปจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และนำไปรวมกับร่างยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการด้านอื่นๆ อีก 5 ด้าน ภายในวันที่ 24 มกราคม 2561 ก่อนที่จะจัดทำเป็นร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป หลังจากนั้นจะมีการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการที่จะลงรายละเอียดถึงกลไกวิธีการและลำดับความสำคัญของงานด้านต่างๆ ต่อไป

“แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวถือเป็นแผนระยะยาวที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ของโลก และยุทธศาสตร์เปรียบเสมือนการมีเป้าหมายของการพัฒนาที่ชัดเจน แต่วิธีบรรลุเป้าหมายอาจจะเปลี่ยนไปได้หากสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลง แต่เป้าหมายยังคงอยู่ ถามว่าปัจจัยที่ทำให้แผนดังกล่าวสำเร็จอยู่ที่ความมุ่งมั่นของระดับนโยบายที่จะจัดทำแผนแม่บทให้มีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่าต้องทำแผนแม่บท ซึ่งจะเป็นเหมือนพิมพ์เขียวของการทำงานและนำไปสู่แผนปฏิบัติการต่างๆ ในเชิงรูปธรรม ส่วนรายละเอียดของแผนแม่บท เช่น เป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ลำดับความสำคัญ ความสอดคล้องกับแผนพัฒนาของสภาพัฒน์ การจัดบทบาทภาครัฐ หรือแผนปฏิบัติการในระยะ 5 ปีแรก คงต้องรอให้รวบรวมแผนยุทธศาสตร์ของคณะต่างๆ ก่อน แต่ทางคณะกรรมการก็จะจัดทำบางส่วนล่วงหน้าไปพร้อมกันด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ค่อยกลับมาปรับแก้อีกครั้ง หลายเรื่องรัฐบาลได้ทำอยู่แล้วก็ดำเนินการต่อไป แต่การมีแผนยุทธศาสตร์จะช่วยเป็นกรอบที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งเป็นกลไกที่ทำแผนงานให้เกิดขึ้นจริงได้” นายสถิตย์กล่าว

นายวิบูลย์ คูสกุล กรรมการ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะยึดจากพื้นฐานที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทยและทิศทางที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ในด้านการเกษตรจะต้องเน้นความปลอดภัย การผลิตต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือด้านคมนาคมที่ต่อยอดจากเป็นศูนย์กลางของอาเซียน หรือภาคท่องเที่ยวที่มีจุดเด่นเป็นข้อได้เปรียบของประเทศอยู่แล้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันจะยึดยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมเป็นหลัก ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่

1) ด้านการเกษตร มีเป้าหมายเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้คนในภาคเกษตรกรที่มีกว่า 25 ล้านคน หรือ 38% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2558 มีรายได้สูงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยเป็นผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรในเวทีโลกด้วยพื้นฐานทางพืชเกษตรเขตร้อนและข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถพัฒนาต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูง และขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า และความหลากหลายของสินค้าเกษตรเพื่อรักษาฐานรายได้เดิมและสร้างฐานอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง

ทั้งเกษตรปลอดภัยที่ควบคุมป้องกันอันตรายจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร  เกษตรชีวภาพ ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในระดับโลก เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เกษตรอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาเป็นฟาร์มอัจฉริยะ ที่ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูง ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรพรีเมียมสู่ตลาดโลก

2) ด้านอุตสาหกรรมและบริการ มีเป้าหมายเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พร้อมรับมือและสร้างโอกาสจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  ที่เป็นผลของการหล่อหลอมเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีทางกายภาพเข้าด้วยกัน ไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพื้นฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ตามความต้องการของตลาด สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการที่เหมาะสมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอย่างยั่งยืน

จากอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อต่อยอดจากภาคเกษตรไทยและมุ่งสู่อุตสาหกรรมบนฐานชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและนำไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัลข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อยกระดับนวัตกรรมของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ สร้างแพลตฟอร์มใหม่สำหรับเศรษฐกิจในอนาคตและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน อุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยพัฒนาการขนส่งรูปแบบใหม่ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศรวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตของภูมิภาคและส่งออกสู่ตลาดโลก และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเข้มแข็งอยู่แล้วไปสู่การส่งออกเพื่อการพึ่งพาตัวเองในการรับมือกับภัยคุกคามและภัยพิบัติต่างๆ

3) ด้านการท่องเที่ยว มีเป้าหมายเป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก โดยรักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก มุ่งพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้นด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย และใช้ประโยชน์จากข้อมูลและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจและความหลากหลายของการท่องเที่ยวให้สอดรับกับทิศทางและแนวโน้มของตลาดยุคใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและเมืองรวมทั้งแรงงานในภาคท่องเที่ยวที่มีถึง 11% ของประชากรทั้งประเทศ

ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผ่านการสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการ ได้แก่ อาหารไทย (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ภาพถ่ายและการออกแบบตามสมัยนิยม (Fashion) เทศกาลประเพณีและความเชื่อ (Festival and Faith) ศิลปะการต่อสู้ของไทย (Fighting) การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ สู่การเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพความงามและแพทย์แผนไทย เพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร

การท่องเที่ยวสำคัญทางน้ำ สู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำราญทางทะเลและชายฝั่ง และเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมลุ่มน้ำที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับต่างประเทศ เพื่อกระจายโอกาสในการสร้างรายได้เพื่อสู่ชุมชนและเมือง และพัฒนาการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาค

4) ด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ มีเป้าหมายหลักคือ เชื่อมไทย เชื่อมโลก ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของภูมิภาคเอเชีย (Asia’s Super Corridor) ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อจากเอเชียตะวันออกถึงเอเชียใต้ โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ด้วยโครงข่ายคมนาคมทุกรูปแบบ เพิ่มพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจ พัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอย่างเช่นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) เชื่อมต่อเศรษฐกิจตะวันตก

สร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจและนวัตกรรมใหม่ในส่วนภูมิภาค คู่ขนานกับการเติบโตของกรุงเทพฯ และสร้างเมืองเศรษฐกิจเฉพาะด้าน เช่น เมืองศูนย์กลางยางพารา เมืองนวัตกรรมอาหาร เมืองสมุนไพร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างระเบียงทางด่วนดิจิทัล (Digital Super Corridor)  และเสริมสร้างความรู้และโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายบรอดแบนด์หลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของพื้นที่ และการนำวิทยาศาสตร์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ รายการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้เป็นศูนย์กลางมาใช้ในภาคการผลิตและบริการ ไปจนถึงการรักษาและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค เพื่อรองรับความผันผวนต่างจากปัจจัยภายในและภายนอก

และการสร้างพลวัตทางกฎหมายที่เป็นธรรมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน บุคลากร และเชื่อมโยงประเทศไทยกับประชาคมโลก

5) การสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ เน้นเป้าหมายสร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง เล็ก วิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งเกษตรกร ให้เป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขันที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน โดยมีนวัตกรรมและการสร้างโมเดลธุรกิจ นวัตกรรมในเชิงสินค้าและบริการ และนวัตกรรมในเชิงกระบวนการผลิตและบริการพร้อมทั้งเป็นนักการค้าที่เข้มแข็งที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการเป็นชาติการค้า  มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นผู้ประกอบการที่ “ผลิตเก่ง ขายเก่ง” หรือ “ซื้อเป็น ขายเป็น” บริการเป็นเลิศสามารถขยายการค้าและการลงทุนไปต่างประเทศและประกอบการอย่างมีธรรมาภิบาล

พร้อมไปกับการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ตลาด และข้อมูล รวมทั้งปรับบทบาทและกลไกภาครัฐเพื่อเสริมสร้างสังคมผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว