ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > thsdg17#2(ตอนที่3)ความคืบหน้าและความท้าทายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม

thsdg17#2(ตอนที่3)ความคืบหน้าและความท้าทายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม

6 ตุลาคม 2017


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2560 ที่ผ่านมา  สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าและมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงาน Thailand SDGs Forum 2017#2 Thailand progress on SDGs implementation ที่โรงแรม คอนราด ถ.วิทยุ โดยมีวัตถุประสงค์หลักที่ไม่เพียงต้องการสะท้อนให้เห็นความคืบหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ในระดับนโยบายและฝั่งภาครัฐ ในอีกด้านหนึ่งเป็นความต้องการสะท้อนทิศทางการขับเคลื่อนในหลายเรื่องที่อาจจะยังต้อง “ทบทวน” และอีกหลายเรื่องหลากมิติที่จะต้อง “ก้าวต่อ”

ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)

ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาในหัวข้อ “ความคืบหน้าและความท้าทายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม” (SDGs 6 ,12 ,13 ,14 ,15) มีเนื้อหาดังนี้

“ผมจะโฟกัสลงไปที่เป้าหมาย 5 เป้าหมาย ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบดำเนินการ แต่จะมีหลายประเด็นที่ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจดำเนินการอยู่แล้ว ท่านสนับสนุน SDGs มาแล้วหลายปี แต่ปัจจุบันด้วยความเข้มข้นอาจจะมากขึ้น ทิศทางจะชัดเจนขึ้นซึ่งผมจะพูดการดูแลสิ่งแวดล้อมในเชิงนโยบาย และการดำเนินการจากนโยบายลงไปสู่เป้าหมาย SDGs เป้าหมาย 6,12,13,14,และ15 สุดท้ายก็คือบทบาทของภาคธุรกิจที่จะช่วยในการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะเป้าหมาย 12,13”

5 เป้าหมายความยั่งยืน

ในส่วนที่กระทรวงทรัพยากรฯดูแลคือคอลัมน์ตรงกลาง(ดูภาพประกอบ) มีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งโดยกฏหมายแล้วท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ในทางปฏิบัติได้มอบให้ท่านรองนายกฯ ซึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เรามีตัวนโยบาย 20 ปี คือ “นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี 2560-2579 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 แต่เริ่มดำเนินการฉบับที่ 1 มาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ในเป้าหมายนโยบาย 20 ปีนั้นก็ยังไม่บรรลุเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ทุกอย่างที่ดำเนินการจะสอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมาย SDGs ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ หรือเรื่องมลพิษของสิ่งแวดล้อมจากนโยบาย 20 ปี ก็เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราจะมีแผนที่เป็น Action 5 ปี  เรียกสั้นๆว่า “แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม” หรือแผนสิ่งแวดล้อม 5 ปี (2560-2564) ก็จะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีไปด้วยกัน

สาระสำคัญของการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จะถูกฝังไว้ในตัวยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะจับไปฝังไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ทุกอย่างจะสอดคล้องกันหมด เดินไปด้วยกัน นอกจากนั้นก็จะมีแผนรายสาขาที่กระทรวงทรัพยากรฯจัดทำอีก เช่น แผนลดขยะ ,ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำ ,โรดแมปการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ,แผนบูรณาการจัดการฯลฯ นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องการขับเคลื่อนที่ต้องตรวจวัดติดตามประมวลผล มีการจัดทำรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกปี

รายงานฉบับนี้จะเป็นสาระสำคัญของข้อมูลทางด้านทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เราจะทำอัพเดตทุกปีเพื่อนำข้อมูลที่เกิดขึ้น หรือที่เราได้เรียนรู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้างจากกิจกรรมการพัฒนาประเทศหรือนโยบายของประเทศ มาเป็นข้อมูลวิเคราะห์ไว้เพื่อจะใช้ขยายในการทำนโยบายในปีต่อๆไป หรือนโยบายในการปรับทิศทางการพัฒนาประเทศได้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีรายงานการดำเนินการติดตามวิเคาระห์แผนหรือนโยบาย 20 ปีทุกครึ่งแผนไปเรื่อยๆ

เป้าหมายทั้ง 5 เป้าหมายที่เราจะขับเคลื่อนภายใต้กระทรวงทรัพยากรฯ ก็คือเป้าหมายที่ 6 เรื่องการดูแลเรื่อง “น้ำ” ง่ายๆคือเป็นเรื่องของทรัพยากรน้ำ และเรื่องสุขาภิบาลน้ำ มีน้ำสะอาดใช้ รับผิดชอบโดยกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งตอนนี้กำลังมีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.น้ำ อยู่ เป้าหมาย 12 เป็นเรื่อง “การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” ดูแลโดย สผ. ที่สำคัญตอนนี้เรากำลังทำโรดแมป 20 ปี เรื่องการผลิตเพื่อการบริโภคที่ยั่งยืนเสร็จแล้ว ต่อไปต้องนำโรดแมปฉบับนี้มาขับเคลื่อน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจอย่างมาก

เป้าหมายที่ 13 ซึ่งสำคัญมาก เป็นอนุสัญญาว่าด้วยการ “เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก” ขับเคลื่อนดูแลงานมา 20 กว่าปีแล้ว อันนี้จะมีตัวแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดทำไว้แล้ว ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และโรดแมปเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะมี 2 ส่วน คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัว ประเทศไทยเองได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างมาก ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็มีส่วน แต่ยังไม่มากเท่ากับกลุ่มประเทศ OECD เพราะฉะนั้นเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ก็มีความสำคัญเหมือนกัน และกำลังขับเคลื่อนอยู่ในภาคธุรกิจด้วย ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคหลักๆที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เป้าหมายที่ 14 เป็นเรื่อง “อนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางทะเลชายฝั่งมหาสมุทร” เรื่องนี้ก็มีความสำคัญมาก เรามีพื้นที่ทะเลประมาณ 324,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ในนี้จะมีทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งแร่ ทั้งก๊าซธรรมชาติ หรือทรัพยากรอื่นที่มีมูลค่ามหาศาลที่เรายังไม่รู้ เรายังไม่ได้ไปสำรวจ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เช่นเดียวกันในเรื่องการดูแลมลพิษการปล่อยก๊าซน้ำมัน หรือการปล่อยขยะทะเล ซึ่งตอนนี้เป็นประเด็นสำคัญเหมือนกัน เป็นปัญหาระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับโลกด้วย

เป้าหมายที่ 15 เป็นเรื่อง “การดูแลระบบนิเวศทางบก” คือพื้นที่อนุรักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติ ดูแลเรื่องทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

แต่เป้าหมายนี้จะมีประเด็นเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพด้วย มีการทำแผนบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพระยะยาว 10 ปี และมีแผนปฏิบัติการออกมาเรียบร้อยแล้ว ครม.ให้ความเห็นชอบ และมีกิจกรรมโครงการอื่นๆ  รวมงบประมาณเป็นหมื่นล้านบาท

ก็จะมีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับไบโออีโคโนมี (Bio-Economy) ตามนโยบายรัฐบาลด้วย แต่เนื่องจากเราเป็นกระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลในเชิงอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรมากกว่าการพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีเพราะฉะนั้นเราจะเน้นการดูแลแหล่งถิ่นที่อยู่อาศัยของตัวทรัพยากรชีวภาพ ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงเทคโนโลยีอื่นๆ เขาจะพัฒนาในเรื่องของการใช้ทรัพยากรชีวภาพไปต่อยอดในเชิงเศรษฐกิจ แต่เราก็จะมีทำเหมือนกันโดยสํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ที่อยู่ในกระทรวงทรัพยากรฯ เช่นกัน

ผ่าโครงสร้างการเคลื่อนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ มีคณะกรรมการชุดใหญ่ที่เป็นตัวขับเคลื่อน SDGs มีท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรฯเป็นประธาน ภายใต้คณะกรรมการชุดใหญ่นี้ก็จะมีคณะทำงานชุดย่อยอีก 5 ชุด ตามเป้าหมายแต่ละเป้าหมาย และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงเป็นคณะทำงานด้วย

เมื่อลงรายละเอียดเป้าหมายย่อยที่สำคัญ เช่น เป้าหมายที่ 6 ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงน้ำ ปลอดภัยได้ในเชิงของสุขาภิบาล มีน้ำประปาใช้ได้ตามมาตรฐาน เราเคยมีเรื่องกับเอ็นจีโออยู่ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว ที่เข้ามาแล้วกลับไปรายงานว่าชุมชนในชนบทของเราไม่มีน้ำประปาที่สะอาดใช้ ทำให้ท่านนายกฯและเราเองโกรธมาก จริงๆแล้วมาตราฐานของเราค่อนข้างดีมากจนเกิน 100%

เรื่องของส้วมก็สำคัญ เราตั้งเป้าหมายมีส้วมถูกสุขลักษณะ 99.9% ,เรื่องลดขยะ ลดการปล่อยสารเคมีออกสู่สิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จะรับผิดชอบดูแล เบื้องต้นทำได้ 54% ,เรื่องจำนวนผู้ใช้น้ำที่ขาดแคลนน้ำจะต้องน้อยมาก วิธีแก้ก็คือ เราก็ต้องพัฒนาแหล่งน้ำ ดูแลแหล่งน้ำเพิ่มเติม หรือควบคุมการใช้น้ำในภาคเกษตร ทำโซนนิ่งเกษตร ฯลฯ

สำหรับการบริหารจัดการภาพรวมของประเทศในเรื่องดูแลทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ก็จะมีการจัดทำร่างพ.ร.บ.น้ำฉบับใหม่ขึ้น จะมีสาระสำคัญให้ความสำคัญกับผู้ใช้น้ำที่เป็นประชาชน ชุมชน หรือองค์กรผู้ใช้น้ำที่รวมตัวจากชุมชนต่างๆ จะมีสิทธิ์มีเสียงในการพิจารณาอนุมัติ ดูแลทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำมากขึ้น

เพราะฉะนั้นในแง่บวกก็คือ สิทธิของผู้ดูแลทรัพยากรก็จะมีมากขึ้น ชัดเจนขึ้น แต่ในแง่ลบก็อาจจะเป็นปัญหาว่า ถ้าลุ่มน้ำหนึ่งซึ่งมีการพัฒนาน้อยแต่มีน้ำเยอะ กับลุ่มน้ำที่อยู่ติดกันมีการพัฒนาเศรษฐกิจเยอะแต่มีน้ำน้อย ต้องการใช้น้ำจากลุ่มน้ำที่มีทรัพยากรน้ำเยอะจะทำอย่างไร หรือถ้าลุ่มน้ำที่มีทรัพยากรน้ำเยอะดูแลทรัพยากรน้ำไว้ไม่ให้ลุ่มน้ำที่ต้องการทรัพยากรน้ำจะทำอย่างไร ก็น่าคิดเหมือนกัน

อีกประเด็นหนึ่งก็คือดูแลแหล่งน้ำในเชิงระบบนิเวศ เราดูแลแหล่งน้ำซึ่งเป็นท้ายน้ำ เราก็ต้องดูแลต้นน้ำในพื้นที่ที่เป็นป่าด้วย ในนโยบายสิ่งแวดล้อม 20 ปี ระยะยาวฉบับที่ 1 เราตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ปี 2540 ตั้งเป้าหมายพื้นที่ป่าไว้ 40% เราก็ยังทำไม่ได้ ฉบับที่ 2 ตั้งไว้ 40% เช่นกัน รวมแล้วเป็น 40 ปี ไปจบที่ปี 2579 ก็คงยังไม่ได้ แต่ก็คงดีขึ้น ก็หวังเอาไว้อย่างไรก็แล้วแต่ เหล่านี้เป็นโจทย์ที่เราต้องตอบใน SDGs

เป้าหมาย 12 เรื่อง Sustainable Consumption and Production ก็พยายามใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ใช้แล้วให้ทรัพยากรนั้นเสื่อมโทรมน้อยที่สุด ไม่ให้เป็นเหมือนกับที่ผ่านมาในช่วงหลายสิบปี ที่ใช้ทรัพยากรไปแล้วเสื่อมโทรม แล้วก็ปล่อยมลพิษออกมา ทรัพยากรก็ลดน้อยลง มลพิษก็เกิดมากขึ้น เพราะฉะนั้นการพัฒนาจะว่าล้มเหลวส่วนหนึ่ง ก็เป็นไปได้ คือไม่ยั่งยืนนั่นเอง เราก็ต้องมาดูตรงนี้

อีกประเด็นคือเรื่อง Food waste Food loss ทำอย่างไรจะลดอาหารที่เราผลิตหรือบริโภค เกินความต้องการ ในขณะที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไม่มีอาหารบริโภค ก็คงต้องช่วยกันจัดการ ส่วนการจัดการสารเคมีของเสียอันตราย ก็มีแผนแม่บทอยู่แล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษ

การจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในภาครัฐก็ทำไปแล้ว เพราะมีการรณรงค์ส่งเสริม มีแผนจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เช่น ซื้อกระดาษรีไซเคิล ซื้อกระดาษที่ไม่มีสารฟอกสี ถนอมสายตา แต่ในทางปฏิบัติเราก้พยายามสนับสนุนหรือซื้อสินค้าที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต เป็นการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว

การท่องเที่ยว ที่ผลิตขยะเยอะมาก และใช้ทรัพยากรอย่างมาก ก็ต้องดูแล ปล่อยให้เป็นเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ ต้องมีมาตรการควบคุมที่ดี หันไปส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากขึ้น จะเห็นว่าเรามีแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ระยะ 2560-2579 หรือยุทธศาสตร์อินทรีย์ กระทรวงเกษตรฯ ก็คือการลดใช้สารเคมีในภาคเกษตรฯ และผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษ

หรือในส่วนแผนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็มีการส่งเสริมในภาครัฐ แต่ยังเป็นกระบวนการทำที่ยังขึ้นๆลงๆ ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าการขับเคลื่อนนโยบายก็ทำตามภาครัฐ นโยบายให้มาก็ทำ พอดำเนินการไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำแต่ภาคเอกชนคิดว่าทำได้ ท่านเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ วัสดุคุรุภัณฑ์ให้กับภาครัฐเอาไปซื้อ เอาไปใช้ ท่านก็ช่วยได้ แล้วท่านเองก็เป็นผู้ใช้ด้วย ก็ช่วยได้ 2 เด้ง ก็อยากฝากไว้ด้วย ดังนั้นเป้าหมายที่ 12 จะมีบทบาทกับภาคธุรกิจอย่างมาก

เรื่องปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานฟอสซิล มันเป็นทางอ้อมด้วย จริงๆในออฟฟิศควรมีระบบเซ็นเซอร์ เวลาออกจากห้องน้ำก็ปิด เหมือนที่ต่างประเทศมี จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้แต่ในประเทศไทยก็ไม่ค่อยมี ในโรงแรมก็ยังไม่ค่อยมีระบบเซ็นเซอร์ หรือการดีไซน์สร้างตึกที่ทำให้แสงเข้ามาได้ โดยที่ไม่ต้องเปิดไฟ อะไรเหล่านี้ถ้าเริ่มคิด ต้นทุนจะแพง แต่ก็คุ้มค่า สำนักงานผมก็จะสร้างตึกใหม่ ของบฯไปเพื่อออกแบบตึกเป็น Green Building มีค่าออกแบบประมาณ 10-20 ล้านบาท แต่ได้มา 2 ล้านบาท ก็อยู่กันไปแบบภาครัฐปกติ แต่ก็อยากฝากไว้ว่าเราทำได้

อีกประเด็นหนึ่งคือ การใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันก็ลดลง เนื่องจากมีกฎหมายบังคับการนำเข้าสารเคมีที่เป็นอันตราย เราเจอสารผลิตในการผลิตด้านการเกษตรเยอะมาก ฝังอยู่ในอาหาร เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ก็ต้องช่วยกันทำตามแผนที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ผลมากขึ้นการสร้างสำนักงานสีเขียวอย่างที่บอกไป มันสามารถประหยัดพลังงาน ประหยัดการใช้น้ำ เวลาไปดูงานที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศเยอรมัน เราไปเห็นสิ่งเหล่านี้มาด้วยความประทับใจ แต่กลับมาแล้ว ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ เราไปดูแล้ว ก็ไม่ได้กลับมาทำอะไร ก็น่าเสียดายเหมือนกัน อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการใช้วัสดุพลาสติก พวกนี้มันจะเป็นขยะ ถ้าลดการใช้พลาสติก ขยะก็จะลดน้อยลง

สำหรับเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่านก็มีส่วนร่วมได้ในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานเยอะมันทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ ถ้าเราลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ หรือมีผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำฯลฯ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อเป้าหมายที่ 13 ได้ เรื่องประเด็นสร้างความคุ้มกันต้านทานความสามารถในการปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศ ก็สำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นประเภทก่ำกึ่ง กำลังจะหลุดจากการเป็นประเทศกับดักปานกลาง แต่จริงๆแล้วผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทำให้จังหวัดชายฝั่งถูกน้ำท่วม

อย่างแม่น้ำบางปะกง เมื่อก่อนเป็นแม่น้ำค่อนข้างสำคัญ แต่ก่อนน้ำทะเลเข้าไปไม่มากนัก ประมาณ 10-20 กิโลเมตร แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เข้าไปเป็นร้อยกิโลเมตร  คือระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น อีกประเด็นคือ น้ำจืดที่อยู่ต้นน้ำ เนื่องจากป่าเราถูกทำลาย เพราะฉะนั้นน้ำจืดที่จะมาไล่น้ำเค็มก็น้อยลง ก็เป็นปัญหา พอน้ำทะเลล้นเข้าไปในพื้นที่ต้นน้ำมากเป็น 100 กิโลเมตร ระบบเกษตรที่เคยทำอยู่เป็นน้ำกร่อยก็กลายเป็นน้ำเค็ม พื้นที่น้ำจืดกลายเป็นน้ำกร่อย เพราะฉะนั้นระบบการทำเกษตรก็ต้องเปลี่ยนไป ชาวบ้านชุมชนเดือดร้อนมาก

ซึ่งในการปรับตัว ปัจจุบันเรามีแผนป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยเรื่องภัยพิบัติ จากกระทรวงมหาดไทย มีแผนแม่บทเซ็นไดรองรับ เราก็ดำเนินการตามนั้นด้วย ต่อไปก็ต้องสร้างความพร้อมความร่วมมือ ความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงหรอผลกระทบที่เกิดขึ้น มีทั้งภาคเกษตร ภาคชายฝั่งทะเล

ประเด็นสุดท้ายคือ “การพัฒนาการศึกษา” ซึ่งพูดกันอยู่ทุกที่ว่า ต้องให้เด็กๆรู้ว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบอะไรบ้าง เขาจะช่วยเหลือหรือปรับตัวเองในการรับผลกระทบอย่างไรบ้าง ก็มีหลักสูตรเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ เป็นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่มากขึ้น ดีขึ้น คือวันนี้เป็นยุคของ “เศรษฐกิจสีเขียว”(Green Economy) และกำลังเปลี่ยนผ่านมาเป็น“Green Economy 2.0”

ซึ่งต่อไปเทคโนโลยีอาจจะใช้น้อยลง แต่ใช้ “นวัตกรรม” มากขึ้น เป็น “นวัตกรรมนำเทคโนโลยี” ซึ่งชาวบ้านก็สามารถคิดได้ การใช้นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาแทน ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และดูแลสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

เป้าหมายที่ 14 เรื่องทะเลและมหาสมุทร ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดไปแล้ว มีความสำคัญมาก อย่างเรื่องประมง เรื่องIUU สร้างปัญหาให้กับเรามานาน จนมาถึงจุดหนึ่งที่มีการบอกว่าต้องเป็นมาตรฐานโลกให้ได้ ก็ทำให้รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนัก และได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

เป้าหมายที่ 15 เรื่องพื้นอนุรักษ์ การฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ต้องดูแลไว้ และเรื่องของการดูแลพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งมีอนุสัญญาระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาว่าด้วย “การต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย” เราก็เป็นภาคีอยู่ เป็นการป้องกันการเสื่อมโทรมของที่ดิน

ซึ่งทั้งหมดนี้ ท่านสามารถร่วมด้วยช่วยกันทำได้ในการดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารการนำเสนอได้ที่นี่