ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” วอนทุกฝ่ายอย่ากังวล รธน. ตีกรอบนายกฯ คนนอก – มติ ครม. อนุมัติมาตรการแก้จน เฟส 2 อัดฉีดเงิน 3.5 หมื่นล้าน

“บิ๊กตู่” วอนทุกฝ่ายอย่ากังวล รธน. ตีกรอบนายกฯ คนนอก – มติ ครม. อนุมัติมาตรการแก้จน เฟส 2 อัดฉีดเงิน 3.5 หมื่นล้าน

10 มกราคม 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธาน

นายกฯ วอนทุกฝ่ายอย่ากังวล – รธน. ตีกรอบนายกฯ คนนอก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ก่อนลงมาตอบคำถามสื่อมวลชน ตนขอใช้เวลาแต่งตัวสักหน่อย เนื่องจากพบสื่อต้องยิ้มแย้มแจ่มใส ต้องส่องกระจกดูตัวเองก่อนว่าหน้าตาเป็นอย่างไรก่อนออกมา ให้ดูผ่อนคลาย ไม่อย่างนั้นเครียดลงมาเจอสื่อบางทีก็หงุดหงิดเกินไป เป็นวิสัยทหาร เป็นผู้บังคับบัญชาทหารวันจันทร์ต้องทำหน้าหงุดหงิดไว้ก่อน เพราะจะได้เรียบร้อยทั้งสัปดาห์ ลูกน้องจะได้อยู่ในระเบียบ แต่ตอนนี้ตนเป็นคนของประชาชนแล้ว หรือไม่ว่าจะให้เป็นอะไรก็ตามตนเป็นได้หมด

“ตอนนี้เป็นคนของประชาชนแล้วใช่ไหม ก็ทำหน้าที่เพื่อประชาชน แล้วก็อยากจะบอกว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่มายืนอยู่ตรงนี้ จะมาด้วยวิธีไหนก็ตาม ขอให้ไปดูที่เจตนารมณ์ความมุ่งมั่นในการที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าใครที่มุ่งมั่นอย่างนั้นก็เหมาะสมที่จะเข้ามาบริหารในอนาคตต่อไป ที่ไม่ใช่ผม ผมพูดถึงการเมืองต่างๆ ในวันหน้า อย่าเอาผมไปเกี่ยวข้องอีกนะ เข้าใจหรือเปล่า ก็ดูทุกคนนั่นแหละที่เขามุ่งมั่นจะเข้ามาแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง ก็ดูแลสนับสนุนกันไป มีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนไม่ดีเราก็ต้องรู้ว่าไม่ดีอย่างไร จะดีกับบางกลุ่มไม่ดีกับบางกลุ่มอะไรทำนองนี้ ก็ไปเลือกเอาให้ดีนะ อันนี้เป็นหน้าที่ของท่าน ไม่ใช่ของผม ส่วนเรื่องนายกฯ คนนอกไม่ขอตอบ จะราบรื่นไม่ราบรื่นขอให้ไปรอดูวันหน้าแล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น วันนี้เราต้องมองว่าสิ่งที่เราทำอยู่วันนี้ควรจะต้องทำต่อไปหรือไม่ ขับเคลื่อนกันหรือไม่ แล้วใครจะทำก็ไปว่ากันมา เป็นคนอื่นก็ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีที่นักการเมืองจะจับมือกันเพื่อสกัดนายกคนนอก พล.อ. ประยุทธ์ ตอบว่า สกัดใครยังไม่รู้เลย มาป้ายความผิดให้ตนแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีคนอื่นเลยหรือ ขอให้ไปสืบดูคนอื่นบ้าง ในส่วนของตนเองนั้น ทุกอย่างก็เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย วันหน้าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับกฎหมายลูก

“เราอย่าไปกังวลว่ารัฐธรรมนูญออกมาแล้วต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราคิดกันไปเองหรือเปล่า ก็ฝากให้ช่วยคิดด้วย อย่าทำให้ทุกอย่างเสียเวลาเลย เพราะวันนี้เราก็กำลังทำงานอยู่ การเมืองก็เป็นเรื่องของการเมืองก็ว่ากันไป ผมคิดว่าก็ต้องมีคนดีหรือคนเก่งมากกว่าผมหรือเปล่าที่มาทำตรงนี้ เราต้องคาดหวังในวันข้างหน้า มันอยู่ที่กลไกหลายกลไก ด้วยกฎหมาย ฉะนั้นรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกรอบใหญ่ ให้ไปสร้างการเรียนรู้ในระดับโรงเรียนว่ามีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องกับประชาชนบ้างที่ประชาชนต้องรู้ ให้สรุปมาหมดแล้ว เป็นการสร้างความรับรู้เรื่องกฎหมาย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

“ดอน” เผยรัฐบาลรู้ “ยิ่งลักษณ์” อยู่อังกฤษตั้งแต่ ก.ย. 60

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการติดตามตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีผู้พบที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากกรณีการเดินทางไปต่างประเทศจะต้องมีการสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหากทางอังกฤษ ยังไม่ตอบมา หมายความว่ายังไม่ยืนยัน แม้จะมีการพบเห็นในคลิปต่างๆ โดยขอให้ประชาชนติดตามต่อไป ยืนยันว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลยใดๆ ทั้งสิ้น

“ผมถือว่าการทำงานของราชการเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมาย เพราะฉะนั้นก็ต้องให้เขายืนยันมา แล้วในส่วนของขั้นตอน คดีความผิดต่างๆ ก็เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อได้รับการยืนยันที่ชัดเจน ที่ผ่านมาเราก็ต้องดูว่าเราเคยได้รับการส่งตัวมาสักเท่าไร ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้รับ เป็นเรื่องของเขาเอง เขาก็มีการพิจารณาของเขา เราขอไปก็ได้แต่เขาให้หรือไม่นั้นไม่รู้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่าเมื่อช่วงเช้ามีการยืนยันจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เดี๋ยวตำรวจเขาก็ทำตามขั้นตอนของเขา เขาจะพิจารณาทำหลักฐานแจ้งความผิดอะไรไป ก็แล้วแต่เขาจะพิจารณา ที่ผ่านมาคนก่อนกลับมาหรือยัง เขาส่งมาไหม อย่าให้เรื่องนี้เป็นประเด็นในประเทศเลย หากได้ตัวกลับมาก็ดีทุกคนย่อมคาดหวังเช่นนั้น แต่เรื่องของต่างประเทศเราไปควบคุมเขาไม่ได้ กรณีของเราก็เช่นกัน มีผู้ขอให้เราส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาก็ไม่ใช่ว่าเราจะให้ทุกกรณี เพราะต้องเอากฎหมายไทยเป็นหลัก

“ผมไม่ได้สั่งอะไร ก็บอกว่าให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย ก็ให้เขาทำไปสิ หลายอย่างก็เข้ากระบวนการยุติธรรม หลายอย่างที่อยู่ในขั้นตอนการฟ้อง หลายอย่างอยู่ในขั้นตอนของตำรวจสากล มันมีขั้นตอนของมันอยู่แล้ว เดี๋ยวเขาก็ทำเองแหละ อย่าไปสร้างปัญหาเยอะเลย ผมตอบอย่างนี้ก็น่าจะเข้าใจแล้วนะ มันมีขั้นตอนอยู่ทั้งหมด เราไปบังคับใครไม่ได้หรอก อะไรให้ผมบังคับใช้กฎหมายของผม ไปเอาตัวกลับมา ไปใช้กับประเทศอื่นเขาได้ไหม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

อนึ่ง ก่อนการประชุม ครม. นายดอนให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีภาพนางสาวยิ่งลักษณ์ ปรากฏตัวที่ประเทศอังกฤษว่า ยังไม่มีข้อมูลว่า นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางเข้าประเทศอังกฤษด้วยสถานะอะไร อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวมีการรับรู้กันมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเล่าให้ฟังว่า นางสาวยิ่งลักษณ์อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ยันไม่แก้ประกาศ ป.ป.ช. เปิดทาง ขรก. รับของขวัญเกิน 3,000 บ.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่มีการเสนอแนวคิดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แก้ไขประกาศ ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มมูลค่าการให้หรือรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ จากเดิมที่กำหนดไว้ 3,000 บาท ว่า ตนได้สั่งการไปแล้วว่าไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็นที่จะเพิ่มวงเงิน 3,000 บาท

“ไม่ว่าอย่างไรในวันนี้สำหรับผมนั้นเมื่อเดินทางไปทำภารกิจที่ต่างประเทศ แล้วได้รับสิ่งของมาส่วนหนึ่ง หากเกินวงเงิน 3,000 บาทไปแล้วจะต้องมีการรายงาน ส่วนของผมนั้นส่งให้กับสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กลั่นกรอง ซึ่งก็ได้นำมาจัดแสดงไว้ในทำเนียบรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งนั้นก็อยู่ในบัญชี โดยกล่าวย้ำว่าในกรณีที่ของมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาทก็ไม่สามารถจะรับได้อยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โยนกรรมการ 3 ฝ่าย พิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคีตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานตนไม่สามารถไปล้วงลึกได้ ตนเพียงแต่ให้แนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ไม่สร้างผลกระทบกับการประกอบธุรกิจ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป จะต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมให้เขาหรือไม่ กระทรวงการคลังได้รับไปดำเนินการแล้ว สำหรับค่าแรงหากมีการขึ้นจะขึ้นเท่าไรนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอยู่

“แล้วสถานประกอบการขนาดเล็กจะทำอย่างไรกับเขา ที่มีลูกจ้างไม่กี่คน ร้านค้าเหล่านี้ก็ส่งคำถามมาให้ผม ผมก็ต้องมาแก้ปัญหาให้กับเขาว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม อันนี้ก็ขอให้รอฟังอีกที คงเร็วๆ นี้จะมีการขอนุมัติขึ้นมา ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนด้วยในการทำความเข้าใจ หากใครเดือดร้อน รัฐบาลก็จะหาวิธีที่จะแก้ปัญหาให้ โดยมาตรการทางการเงินการคลังซึ่งสามารถทำได้ ผมเข้าใจดีว่าธุรกิจต้องการผลกำไรมากขึ้น ลดค่าใช้จ่าย แต่ต้องไม่ลืมคนจนว่าเขาจะได้ประโยชน์จากตรงนี้อย่างไร ในการดูแล รัฐเข้าไปดูแลเรื่องของสวัสดิการสังคม การประกันตนต่างๆ เราจะร่วมมือกันได้ตรงไหน หากทุกคนเรียกร้องกันทั้งหมดแล้วไม่ยอมกันรัฐบาลจะไปสั่งอะไรใครได้ มีคณะกรรมการ 3 ฝ่ายอยู่แล้วไม่ใช่หรือ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แก้ปัญหา “รถหรู” แจ้งราคาต่ำ ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ประสบปัญหาจากคดีรถหรู ว่า เรื่องนี้ต้องมองในหลายประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก คือ ผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นตัวแทนบริษัทโดยตรง กับผู้แทนที่เป็นผู้นำเข้า ซึ่งต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับเขาเหล่านั้น เพราะต้นทุนต่างกัน ประเด็นที่สอง คือ ผู้บริโภค สำหรับผู้ที่ซื้อไปแล้ว หากเป็นผู้ที่ซื้อไปโดยรู้ว่าไม่ถูกกฎหมาย ก็อีกกรณีหนึ่ง ต้องทำให้ถูกกฎหมาย กรณีที่เป็นผู้ซื้อมือสองเป็นต้นไป ไม่ทราบว่ามือหนึ่งซื้อมาถูกต้องหรือไม่ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ฉะนั้นก็ต้องระมัดระวังในการซื้อของเหล่านี้ ทำให้ถูกต้องเสีย

“ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นวันนี้คือการปลดล็อกต่างๆ ให้ได้ตามกฎหมาย เพื่อให้ธุรกิจนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งหมด วันนี้ก็ทราบว่ามีรถจำนวนมากที่ติดในเรื่องนี้อยู่จะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภาษีต่างๆ จะทำอย่างไร แล้วรัฐบาลก็จะได้รับเงินจากตรงนี้มามากพอสมควร ผู้บริโภคเองก็จะสบายใจ ซึ่งจะต้องดำเนินการไปตามกฎหมายทั้งหมด ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกฯหารือฝ่ายกม. แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีข้อเสนอจากภาคเอกชนให้ใช้คำสั่ง ตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ว่า กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างหารือของฝ่ายกฎหมาย ซึ่งตนเห็นใจ และเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ชม และส่วนราชการต่างๆ มีความคิดเห็นที่ตรงกัน สามารถปลดล็อกปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไปได้ ซึ่งนี่ก็คือการปฏิรูป แก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด

“อย่าลืมว่าปัญหาผู้ประกอบการดิจิทัลเกิดมานานแล้ว วันนี้เราก็ต้องมาตามแก้กันตรงนี้ ตอนแรกทุกคน ก็คิดว่าจะมีรายได้ดี แต่ท้ายที่สุดขาดทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะสปอนเซอร์ยังคงมีเท่าเดิม จึงทำให้เกิดปัญหา ก็ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน และต้องเห็นใจรัฐบาลด้วย ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมตามกฎหมาย แต่รัฐก็จะพยายามแก้ไขปัญหาให้ ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะแย่ลง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

จีนตั้งกองทุน 300 ล้านเหรียญ ลุยปล่อยกู้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการไปร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 10 มกราคม 2561 นี้ว่า ในการประชุมวันพรุ่งนี้นั้น ก็มีสมาชิกที่จะไปร่วมพิจารณาในหลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการแม่น้ำร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งมีคณะกรรมการร่วมกันอยู่แล้ว 4 ประเทศ ก็ต้องไปดูว่าจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร เนื่องจากตลอดสายของแม่น้ำตั้งแต่ต้นน้ำลงมามีเขื่อนอยู่ตลอด ทำให้ประเทศที่อยู่ท้ายน้ำ เช่น ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ประสบปัญหา

“ก็ต้องไม่ลืมว่า เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ไม่ใช่แม่น้ำของใคร ฉะนั้นก็ต้องบริหารจัดการน้ำให้ยั่งยืนให้ได้ โดยที่จะไปประชุมนั้นเป็นแผนบริหารจัดการน้ำในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งประเทศจีนได้สนับสนุนกองทุนจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐให้ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกได้กู้เงินไปใช้สำหรับทำโครงการพัฒนาให้กับประชาชนตลอดลำน้ำโขง ซึ่งประเทศไทยได้มาจำนวน 5 โครงการ การลงทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และผู้บริโภค” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่าในการประชุมจะมีการพบปะหารือกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเล็กน้อย โดยจะเป็นเรื่องการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น การสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างกัน สายอรัญประเทศ-ปอยเปต ใกล้จะเสร็จแล้ว ยังเหลือส่วนเชื่อมต่อ ปอยเปต-พนมเปญ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ไทยเองก็ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของขบวนรถ การฝึกพลขับต่างๆ ไปแล้ว รวมไปถึงเรื่องของการขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสินค้าภายในประเทศ ต้องคำนึงถึงคนของเราเป็นหลัก ในการพูดคุยอะไรต่างๆ ผมยืนยันว่าผมไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์ให้กับใคร ผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน

จ่อใช้ ม.44 โยกขรก. ลงสำนักงานบริหารจัดการน้ำฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี คสช. จะออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับการจัดสรรภารกิจและบุคลากรของสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติว่า สำนักงานฯ ดังกล่าวต้องเกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.น้ำที่กำลังดำเนินการอยู่ เพราะวันนี้เราต้องเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ดังนั้น สำนักงานบริหารจัดการน้ำจะบูรณาการจัดสรรแผนงาน ติดตาม นำข้อมูลจากหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องมาบริหารจัดการ ทั้งน้ำในเขตชลประทาน นอกเขต 25 ลุ่มน้ำ โครงการพระราชดำริ แต่หน่วยงานเดิมยังมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณเพียงแต่จะต้องสอดคล้องกัน ทั้งนี้เพื่อช่วยกลั่นกรองไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน มีผลเป็นรูปธรรม ซึ่งในส่วนบุคลากรอำนาจหน้าที่ของสำนักงานฯ จะมีมาตรา 44 ออกมา

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 52/2560 ได้แต่งตั้ง นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่ในโครงสร้างหน่วยยังไม่มีบุคลากรในการทำงาน ซึ่งการแต่งตั้งคงไม่สามารถดำเนินการได้โดยกฎหมายปกติ เพราะการแต่งตั้งในหน่วยงานปกติจะต้องมี อ.ก.พ. ของหน่วยแต่เมื่อไม่มีกำลังพลในหน่วยแล้วจะมี อ.ก.พ. ได้อย่างไร ดังนั้น คงต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแต่งตั้ง

“นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำว่ามีกิ่งงานไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยเอางานเป็นตัวตั้ง กิ่งงานไหนเกี่ยวก็ให้ดึงคนมา อย่างไรก็ตาม หลักการดังกล่าวต้องหารายละเอียดเพิ่มเติม และจะสามารถทำออกมาเป็นคำสั่งได้อีกสักระยะ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ได้มีการแจ้งเตือนจากสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติว่า ปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นในเอเชีย และในประเทศไทย คือ มีฝนตกมากว่าปกติ หรือฝนนอกฤดูกาล จะทำให้มีน้ำลงมามากขึ้นในบางช่วง หากไม่เกิดก็แล้วไป ซึ่งตนได้สั่งการให้เตรียมมาตรการความพร้อมตรงนี้ไว้แล้ว ว่าเราจะพร่องน้ำได้อย่างไร ณ ตอนนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนรวมแล้วทั้งหมด 84% ซึ่งไม่เคยสูงเท่านี้มาก่อน หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ตอนโน้น เราก็จะไม่มีน้ำเหลือเท่าวันนี้ หากมีน้ำลงมาเติมนอกฤดู ฝนมาอีกจะทำอย่างไร ต้องเตรียมมาตรการรองรับไว้ในทุกลุ่มน้ำ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำในประเทศไทย โดยสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนี้จะเป็นผู้ดำเนินการ

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

คนจนเฮ! อนุมัติมาตรการแก้จนเฟส 2 อัดฉีดเงินกว่า 3.5 หมื่นล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแต่ละโครงการ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คนส.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.) มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด (คอจ.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมทั้งเห็นชอบในหลักการของการแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ (ทีม ปรจ.) หรือทีมหมอประชารัฐสุขใจ มีปลัดอำเภอเป็นประธาน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินมาตรการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวม 6 มาตรการ 18 โครงการและให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) โดยอนุมัติงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,679.09 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณสำหรับโครงการเพื่อรองรับมาตรการการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ วงเงินไม่เกิน 18,807.41 ล้านบาท เป็นงบประมาณสำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เป็นวงเงินไม่เกิน 13,872.51 ล้านบาท และงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวงเงินไม่เกิน 2,999.17 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เป็นการบูรณาการโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น โดยมีโครงการเพื่อรองรับจำแนกตามมิติต่างๆ ดังนี้

มิติที่ 1 การมีงานทำ เช่น การจัดหางานในประเทศและต่างประเทศโดยกระทรวงแรงงาน โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยกระทรวงพาณิชย์ โครงการตลาดประชารัฐโดยกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

มิติที่ 2 การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา เช่น โครงการฝึกอาชีพเร่งด่วนอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) โดยกระทรวงแรงงาน โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ โครงการมหาวิทยาลัยประชาชนโดยธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) โครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรลูกค้าผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น

มิติที่ 3 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดย ธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการสินเชื่อ Street Food โดย ธ.ออมสิน เป็นต้น

มิติที่ 4 การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น โครงการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์และกระทรวงการคลัง การออมเพื่อการเกษียณอายุสำหรับแรงงานนอกระบบโดยกองทุนการออมแห่งชาติ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวข้างต้นสามารถให้การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างน้อย 4,695,407 คน นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐต่างๆ สามารถเสนอโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เพิ่มเติมได้ และโครงการต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นในการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยความเห็นชอบของ คอต.

นายณัฐพรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงคลังจะต้องส่งข้อมูลผู้ที่มีบัตรสวัสดิการให้กับคณะกรรมการประจำจังหวัดภายในเดือนมกราคม 2561 จากนั้นผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ประสงค์จะมีการพัฒนาตัวเองจะต้องมาพบกับเจ้าหน้าที่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และหากไม่มาทางเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ไปพบเป็นรายบุคคลในเดือนเมษายน 2561 และติดตามเป็นระยะจนถึงเดือนกันยายน 2561 ก่อนจะเริ่มสรุปผลในเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2561 โดยจะมีมาตรการจูงใจสำหรับผู้ถือบัตรฯ ที่มาเข้าโครงการในระยะ 2 กรณีที่รายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 200 บาทต่อเดือน ส่วนในกรณีที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่ม 100 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบในหลักการของมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเมื่อ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว กรมสรรพากรจะเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้ง รวมทั้งประสานธนาคารกรุงไทยเพื่อดำเนินการการรับชำระค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อไป โดยให้นายจ้างที่เป็นนิติบุคคลจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือพิจารณาจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถหักรายจ่ายเป็นกรณีพิเศษจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่าย ดังนี้

    1) รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

    2) รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่ไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

“มาตรการระยะที่ 1 จะเน้นที่การช่วยเหลือค่าครองชีพ จะมีทั้งค่ารถค่าสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นการช่วงบรรเทาภาระของผู้มีรายได้น้อย แต่ระยะที่ 2 จะเป็นการเริ่มระยะที่เรียกว่าต้องการให้เขาพัฒนาตนเองด้วย อันนี้จะเป็นการสอนให้เขาตกปลาได้ ไม่ใช่แจกปลาอย่างเดียว โดยที่การที่จะได้รับความช่วยเหลือจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดเป็นรายบุคคล และนอกจากนี้วิธีการทำงานจะทำงานแบบเป็นระบบ มีโครงการคณะกรรมการตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด และอำเภอ” นายณัฐพรกล่าว

เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีทรัพย์อิงสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิอันเกิดจากการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน และห้องชุด โดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์สามารถตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ” มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปขาย โอน จำนอง เช่า ตลอดจนการตกทอดแก่ทายาทของผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ โดยมีระยะเวลาการใช้ประโยชน์ในทรัพย์อิงสิทธิไม่เกิน 30 ปี ทั้งนี้ ครม. ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วย

“อันนี้เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ยังไม่เคยมี เพิ่งบัญญัติขึ้นมา ตีความตามชื่อคือเป็นทรัพย์สิทที่อิงตามสิทธิในทรัพย์นั้น โดยปัจจุบันหากมีทรัพย์สินและนำไปให้เช่าจะทำได้ตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งฯ และตามพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 2542 แต่ว่ากฎหมาย 2 ฉบับยังไม่สามารถเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเต็มที่ เช่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ ผู้เช่าไม่สามารถต่อเติม หรือ ดัดแปลงได้ แต่กฎหมายใหม่นี่จะให้ทำได้ หรือการเช่าช่วงตามกฎหมายเดิมห้ามเช่าช่วง หากไม่กำหนดเป็นอย่างอื่น แต่กฎหมายใหม่สามารถทำได้ หรือการโอนสิทธิเช่นกัน กฎหมายนี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปการเช่าครั้งใหญ่ ทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้นแก่ผู้ที่มีทรัพย์สินให้เช่า ช่วยให้เกิดความคล่องตัวขึ้น ในขณะที่ผู้เช่าเองก็จะมีสิทธิมากขึ้นทั้งในการเช่าช่วง การขาย การต่อเติมดัดแปลงได้ ทั้งนี้กฎหมายนี้ก็เป็นทางเลือกอีกทางเลือก ยังสามารถใช้ของเดิมได้” นายณัฐพรกล่าว

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ มีดังนี้

    1. กำหนดให้ทรัพย์อิงสิทธิ หมายความว่า การที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่มีโฉนดและเจ้าของห้องชุด บุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ” ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ” มีสิทธิใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น และมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. นี้ โดยผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิตกลงจ่ายค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์นั้นให้แก่ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ

    2. กำหนดให้การให้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิ ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิและผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีกำหนดระยะเวลาการให้ทรัพย์อิงสิทธิไม่เกิน 30 ปี

    3. กำหนดให้เมื่อมีการจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ โดยทำเป็นคู่ฉบับ 3 ฉบับ ซึ่งการออกหนังสือรับรองนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

    4. กำหนดสิทธิของผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิไว้ ดังนี้
    – ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิสามารถนำทรัพย์อิงสิทธิออกให้เช่า ขาย โอน หรือตกทอดแก่ทายาทได้ และนำไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจำนอง
    – ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิสามารถดัดแปลง ต่อเติม ปลูกโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างได้ โดยมิต้องได้รับอนุญาตจากผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลงให้ทรัพย์ซึ่งผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิได้ทำการดัดแปลง ต่อเติม หรือปลูกสร้างไว้ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญา

    5. กำหนดหน้าที่ของผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิในกรณีต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่อสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือกรณีบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในอสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธิ หรือเรียกร้องสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่มีทรัพย์อิงสิทธินั้น ให้ผู้ใช้ทรัพย์อิงสิทธิเป็นผู้มีหน้าที่จัดการและให้แจ้งเหตุให้ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิทราบโดยพลัน

    6. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดินในหมวด 4 การออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และหมวด 6 การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

    7. กำหนดให้ รมว.มหาดไทย รักษาการตามกฎหมาย เนื่องจากการจดทะเบียนและการออกหนังสือรับรอง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

ตั้ง 3 กองทุน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-การศึกษา-ศก.ฐานราก

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติจัดตั้งทุนหมุนเวียนตามมติของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนสิ่งแวดล้อม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้เงินอุดหนุนหรือให้กู้ยืมในการจัดระบบบำบัดและกำจัดมลพิษหรือดำเนินการกรณีฉุกเฉินเกิดการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการเพิ่มแหล่งเงินของกองทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 23 (6) อาจไม่สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งระบุว่ารายได้ไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้แต่ต้องส่งกลับเข้ารัฐก่อนจัดสรรใหม่ โดย ครม. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับข้อสังเกตไปประกอบการพิจารณาพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

ส่วนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เสนอโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทางทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าแม้จะเห็นด้วยกับทุนประเดิมวงเงิน 1,000 ล้านบาท แต่เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะจัดสรรให้เป็นรายปี กองทุนควรเสนอขอรับการจัดสรรตามความจำเป็นและเป็นไปตามกำลังเงินของแผ่นดิน โดยให้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย หลักเกณฑ์ และวิธีการ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น กยศ.

ขณะที่กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญัติกองทุนประชารัฐ เศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมอย่างครบวงจรสำหรับผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ซึ่งมีข้อสังเกตว่าควรกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนให้เกิดประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน และกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลัง นำข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

จัดงบฯ 107 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ยผู้ค้าข้าว

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกปีการผลิต 2558/2559 และปีการผลิต 2559/2560 จำนวน 107.25 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560

ทั้งนี้ วงเงินแยกเป็นปีการผลิต 2558/2559 ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเข้าร่วมโครงการจำนวน 230 ราย ใน 40 จังหวัด วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 368.33 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินไปแล้วจำนวน 328.78 ล้านบาท ยังไม่เบิกจ่ายอีก 39.54 ล้านบาท และปีการผลิต 2559/2560 ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการชดเชยดอกเบี้ยจำนวน 350.10 ล้านบาท ได้ตรวจสอบและอนุมัติแล้วแต่ยังไม่เบิกจ่ายจำนวน 67.70 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 282.40 ล้านบาท โดยให้กระทรวงพาณิชย์ปรับแผนการใช้เงินงบประมาณจากงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศปีงบประมาณ 2560

คสช.ย้ำไม่เคยใช้ ม.44 นอกกรอบ-จบภารกิจเลิกทันที

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวชี้แจงภายหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช. ใช้อำนาจพิเศษในการลิดรอนสิทธิหรือก้าวก่ายในเรื่องนั้นเรื่องนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทวนความในที่ประชุม เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาออกคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ข้อ คือ

    1. ต้องเป็นเรื่องสำคัญ คือ การปฏิรูปประเทศ ระบบหรือโครงสร้าง การรักษาความมั่นคง การรักษาความปลอดภัยสังคมและประชาชน และการแก้เรื่องเศรษฐกิจ

    2. การใช้มาตรา 44 มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากฎหมายจึงมีผลในทางบริหารและนิติบัญญัติ โดยไม่มีผลในทางตุลาการไปตัดสินคดี คสช. ไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้เลยและยืนยันไม่เคยใช้คำสั่ง คสช. เอาใครไปลงโทษ มีเพียงใช้เพื่อดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

    3. ใช้มาตรา 44 เมื่อจำเป็นหากออกกฎหมายปกติล่าช้าจะไม่ทันการจนเกิดความสับสน วุ่นวาย

    4. ใช้มาตรา 44 เพื่อปฐมพยาบาลและแก้ปัญหาเฉพาะกิจ เฉพาะหน้าก่อนประกาศใช้กฎหมายอื่นๆ ตามมา ไม่ได้จะใช้มาตรา 44 สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งนี้ เมื่อจบภารกิจของรัฐบาลตามโรดแมปแล้วจะยกเลิกคำสั่ง คสช.

นายกฯ แจงเหตุไม่เชิญ “มิชลิน” ปรุงอาหารเลี้ยงครม.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเตรียมนำร้านอาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ที่ได้รับรางวัลมิชลินมาปรุงให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และ ครม. ได้ลองรับประทาน ว่า นายกฯ มีความรู้สึกว่าควรพอเพียง เพื่อให้ไม่เกิดปัญหา และมิชลินกำลังบุกตลาดเพื่อให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมา แต่โดยส่วนตัวนายกรัฐมนตรีจะไม่พยายามทำให้รู้สึกว่า ผู้นำประเทศเป็นตัวอย่างของการรับประทานอาหารที่ราคาแพง แต่การพัฒนาโครงการมิชลินยังคงดำเนินต่อไปเพื่อพัฒนาอาหารฟิวชัน

“บิ๊กป้อม” รายงานผลตั้งด่านสกัดยาเสพติดทั่วปท.

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานจาก พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับพัฒนาการการลักลอบยาเสพติดขณะนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นสารตั้งต้นที่มีราคาถูกลง ทำให้มีการผลิตออกมามากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถสกัดจับกุมได้มากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความรัดกุมในการตรวจสอบ

“ที่ผ่านมามีการตั้งด่านตรวจไปที่ถนนสายหลัก ส่วนถนนสายรองไม่ค่อยได้ดำเนินการ ดั้งนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งด่านตรวจให้เพิ่มมากขึ้นทั้งถนนสายหลักและรอง รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการตั้งด่านที่จะเพิ่มมากขึ้นนั้นไม่ได้ต้องการทำอะไรนอกลู่นอกทางที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทุกด่านจะมีการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับทหาร มีผู้บังคับบัญชาระดับสัญญาบัตรคอยควบคุมดูแล จะไม่มีผู้ควบคุมที่ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจว่ารัฐบาลดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เนื่องจากปัญหายาเสพติดมีพัฒนาการไปมาก” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

คสช.ย้ำจุดพลู – โคมลอย ยังต้องขออนุญาต

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า จากที่ คสช. ได้นำเสนอคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวกับการจุดพลุ โคม ฯลฯ เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุม มีประเด็นน่าสนใจสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 คสช. เคยออกคำสั่งห้ามจุดพลุ ปล่อยบั้งไฟ ตะไล โคมไฟ โคมควัน ฯลฯ และคำสั่ง คสช. ที่ 54/2560 ต่อมาได้อนุญาตให้มีการจุดพลุในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2560 – เวลา 01.00 น. วันที่ 1 มกราคม 2561 ถือว่ามีผลบังคับใช้แค่นั้น ต่อจากนี้การจุดพลุ ตะไล โคมต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด อำเภอ และทุกเขตใน กทม. ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าคำสั่ง คสช. ที่ 54/2560 ใช้บังคับหรือคุ้มครองไปตลอด

อ่านมติ ครม. วันที่ 9 มกราคม 2561 ที่นี่