ThaiPublica > เกาะกระแส > ชัยชนะของ “เด็กบ้านเรียน”: ย้อนรอยคำพิพากษาว่าด้วยบรรทัดฐาน “สิทธิของผู้เรียน”

ชัยชนะของ “เด็กบ้านเรียน”: ย้อนรอยคำพิพากษาว่าด้วยบรรทัดฐาน “สิทธิของผู้เรียน”

12 มกราคม 2018


แม้ว่าการจัดการศึกษาโดย “ศูนย์การเรียน” และ “ครอบครัว” (โฮมสคูล) หรือบ้านเรียน ซึ่งเป็นสถานศึกษาทางเลือกที่ถูกต้องกฎหมาย ตามมาตรา 18 (3) และกฎกระทรวงมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จะปรากฏเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งยังพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคมากมายในการจัดการศึกษารูปแบบนี้เช่นกัน

ที่ผ่านมา เครือข่ายบ้านเรียนไทยและศูนย์การเรียนไทย ได้พยายามสะท้อนปัญหาต่างๆ ให้สังคมรับรู้มาเป็นระยะว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของการจัดการศึกษาโดยครอบครัวและศูนย์การเรียนมาจากทัศนคติและความไม่พร้อมของหน่วยงานราชการไทย ที่ยังชินและให้ความสำคัญกับระบบโรงเรียนอยู่มาก จนทำให้การดำเนินงานของเครือข่ายไม่ราบรื่นนัก

โดยเฉพาะข้อติดขัดในการดำเนินงานกับสำนักงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ทั้งในเรื่องความไม่เข้าใจของบุคลากรทางการศึกษาต่อระบบการศึกษาทางเลือก และการปฏิบัติงานที่ล่าช้า จนถึงขั้นละเลยและละเมิดสิทธิของผู้เรียนในการจัดการศึกษาตามมาตรา 12

เช่น เด็กในศูนย์การเรียนไม่ได้รับเงินอุดหนุนตามสิทธิและกฎหมาย, การจดทะเบียนและการประเมินผลที่ล่าช้า, ศูนย์การเรียนยังไม่มีรหัสตามระบบสถานศึกษา, เด็กไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนสถานศึกษาปฐมวัยหรือโรงเรียน เช่น นมโรงเรียน อาหารกลางวัน หนังสือ แบบเรียน ฯลฯ

จากปัญหาที่มีอยู่หลายด้าน ทำให้บ้านเรียนและศูนย์การเรียนต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งพึ่งพาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายและสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.)  ให้เข้าไปช่วยพูดคุยและประสานงานกับหน่วยงานราชการในเขตพื้นที่เป็นรายกรณีไป

และในหลายครั้ง หลายกรณี ต้องงัดข้อกฎหมายร้องเรียนต่อศาล เพื่อคุ้มครองสิทธิการศึกษาทางเลือกให้กับเด็กๆ ซึ่งผลปรากฏว่าทุกกรณีที่ฟ้องร้องศาล ครอบครัวเด็กบ้านเรียนและเครือข่ายก็ชนะคดีทุกครั้งไป

ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 5 คดีที่  “ศูนย์การเรียน” และ “ครอบครัว” โฮมสคูล หรือบ้านเรียน ซึ่งเป็นสถานศึกษาทางเลือกที่ถูกต้องกฎหมายได้ใช้สิทธิตามมาตรา18 (3) และกฎกระทรวงมาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้ ฟ้องร้องต่อศาลในคดีต่างๆ ดังนี้

ย้อนรอยคำพิพากษาศาล บรรทัดฐานการปฏิบัติต่อเด็กบ้านเรียน

สำหรับคดีที่เครือข่ายบ้านเรียนและศูนย์การเรียนฟ้องศาลและชนะหน่วยงานรัฐ ได้แก่ 1. คดีหมายเลขดำที่ 206/2554, คดีหมายเลขแดงที่ 237/2557 ระหว่างนางสาวจิราพัชร จันทร์แก้ว (ผู้ฟ้องคดี) ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ด.ช.เดชานันท์ สอาดพงษ์ กับ สพฐ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และพวก รวม 3 คน

คดีนี้นางสาวจิราพัชร ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้ฟ้องคดี กรณี สพฐ. ออกประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนในโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้สมัครต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสมในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5 ไม่ต่ำกว่า 3.5 แต่เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ ด.ช.เดชานันท์ บุตรชายของนางสาวจิราพัชร ซึ่งเรียนโดยครอบครัว เสียสิทธิในการสมัครเข้าโครงการดังกล่าว

ในที่สุดศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาว่า การออกประกาศของ สพฐ. และคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากผู้ถูกฟ้องคดีออกประกาศในทำนองนี้อีกในอนาคต ก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ หรือซันนี่

2. เมื่อปี 2555 กรณีนายอรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์ หรือ “ซันนี่” อดีตแชมป์สนุกเกอร์เยาวชนเอเชีย ซึ่งเรียนจากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ยื่นฟ้องเลขาธิการ สพฐ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1), ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (ผอ.สพป.กทม.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2), และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ต่อศาลปกครอง กรณีไม่พิจารณาแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว และไม่ประเมินผลการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้เสียสิทธิในการแข่งขันสนุกเกอร์และการสมัครเป็นนักศึกษาวิชาทหาร

คดีนี้ ศาลเจรจาไกล่เกลี่ยให้ครอบครัวส่งเสริมสวัสดิ์ทำเรื่องไปยังเขตพื้นที่การศึกษาฯ ใหม่ และทางเขตได้ดำเนินการให้วุฒิการศึกษาแก่นายอรรคนิธิ์

3. คดีหมายเลขดำที่ 2888/2555, คดีหมายเลขแดงที่ 483/2559 ระหว่างนางสาวเสริมศิริ มั่นตะพงษ์ (ผู้ฟ้องคดี) กับ สพป.กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ สพฐ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

มูลเหตุแห่งคดีนี้คือ สพป.กทม. ใช้เวลาพิจารณาอนุญาตให้ครอบครัว ด.ญ.ฮานูน อินทรธวัช จัดการศึกษา 143 วัน ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงถือว่าปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตล่าช้าเกินสมควร

นอกจากนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอนุมัติผลการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ให้แก่ ด.ญ.รุชดา อินทรธวัช เป็นเวลาทั้งสิ้น 202 วัน ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และอนุมัติผลการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ให้แก่ ด.ญ.รุชดา ล่าช้าเกินสมควร

ต่อมาศาลพิพากษาให้จ่ายเงินอุดหนุนการศึกษาที่จัดโดยครอบครัวให้แก่ผู้ฟ้องคดี จำนวน 41,433 บาท

4. คดีหมายเลขดำที่ 1203/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 723/2558 ระหว่าง ด.ญ.ฮานูน อินทรธวัช โดยนางสาวเสริมศิริ มั่นตะพงษ์ ผู้แทนโดยชอบธรรม (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการดำเนินการงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัว สพป.กทม. (ผู้ถูกฟ้องที่ 1) และผู้อำนวยการ สพป.กทม. (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มูลเหตุแห่งคดีนี้คือ กรรมการดำเนินงานการจัดการศึกษาโดยครอบครัว สพป.กทม. ประเมินผลการศึกษาและออกใบระเบียบแสดงผลการเรียนให้แก่ ด.ญ.ฮานูน  อินทรธวัช ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการได้รับผลประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้งได้พิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันกับผู้อำนวยการ สพป.กทม. แล้วยืนยันผลการประเมินดังกล่าว

เมื่อวินิจฉัยได้ว่า การประเมินผลตามใบระเบียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้งานอาชีพและเทคโนโลยีได้คำนวณคะแนนผิดพลาด การยืนยันผลการประเมินในส่วนดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

คดีนี้ ศาลจึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขผลการประเมินรายวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีให้ถูกต้อง

5. คดีหมายเลขดำที่ 2158/2556 คดีหมายเลขแดงที่… /25 คดีคดีหมายเลขดำที่ 1926/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 1635/2556 ระหว่างศูนย์การเรียนตัรบียะห์ตุ้ลอิสลาม โดยมูลนิธิตัรบียะห์ตุ้ลอิสลาม (ผู้ฟ้องคดี) กับ สพป.กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เลขาฯ สพฐ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

สำหรับคำขอของผู้ฟ้องคดีคือ ให้พิจาณาคำขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียนให้เสร็จโดยเร็ว และอนุญาตย้อนหลังไปวันที่เปิดทำการเรียนการสอน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนและเงินต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

ส่วนมูลเหตุแห่งการฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ในการพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียนและการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของหน่วยงานทางการปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

คดีนี้ปรากฏว่า ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาคำของอนุญาตจัดตั้งศูนย์การเรียนในระดับก่อนประถมศึกษาของผู้ฟ้องคดีทราบ และพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาให้แก่ผู้ฟ้องคดี

นายคมสรรค์ เมธีกุล ผู้ตรวจการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ปรึกษาเครือข่ายการศึกษาทางเลือก

นายคมสรรค์ เมธีกุล ผู้ตรวจการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ปรึกษาเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กล่าวกับไทยพับลิก้าว่า คดีที่ฟ้องศาลจะเป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่จะชนะทั้งผลแห่งการปฏิบัติ เช่น ฟ้องไปแล้วมีการรีบแก้ไข และชนะจากการที่ศาลพิพากษา ซึ่งแม้จะมีจำนวนคดีไม่เยอะ แต่ถือเป็นคดีที่เป็นบรรทัดฐาน

“ผมคิดว่าเรื่องนี้มีกฎระเบียบให้เดินอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็น ‘ปัญหาทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ’ เท่านั้นเอง และที่ผ่านมาทางเครือข่ายบ้านเรียนได้ใช้วิธีทั้งทางกฎหมายและการประสานงานควบคู่กันไป โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก”

“ถามว่าในทางปฏิบัติมันราบรื่น 100% หรือไม่ คำตอบก็คือยังมีอุปสรรคของมันอยู่ เพียงแต่สถานการณ์มันพัฒนาขึ้นมาโดยลำดับ จากบรรทัดฐานคำพิพากษา จากการยอมรับในหลักการหลายๆ เรื่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มันเกิดการนำไปสู่การยกระดับของการยอมรับในเรื่องนี้ และนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิที่เป็นรูปธรรมและเป็นจริงมากขึ้นโดยลำดับ”

“ฉะนั้นคนที่จัดการศึกษาทางเลือกต้องกล้าเดินหน้า อย่าท้อ โดยตระหนักว่าเรามีสิทธิ เป็นสิทธิที่มีกฎหมายและระเบียบรองรับ การใช้สิทธิของเราอาจเจอปัญหาจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบ้าง ก็ต้องว่าเป็นประเด็นไป แต่ต้องเดินหน้า”

สิทธิการจัดการศึกษาตามมาตรา 12

สำหรับสิทธิในการจัดการศึกษาทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับศูนย์การเรียนและบ้านเรียน มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 12 โดยระบุว่า “นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ  และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน”

โดยมีกฎกระทรวง 6 ฉบับรองรับ ประกอบด้วย

1. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ. 2547
2. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของสถานประกอบการในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2547
3. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2548
4. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554
5. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554
และ 6. กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555

ทั้งนี้ ผู้ประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษาตามาตรา 12 สามารถยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา (ดูเอกสารประกอบ)

ขณะที่มาตรา 18 ได้ระบุถึงการจัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้จัดในสถานศึกษา (1) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์ของสถาบันศาสนา ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการและเด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษ หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น

(2) โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนที่สังกัดสถาบันพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่น

(3) ศูนย์การเรียน ได้แก่ สถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด

นอกจากนี้ ในมาตรา 15  ยังได้กำหนดรูปแบบ สิทธิ และหน้าที่ของการจัดการศึกษา โดยระบุว่า การจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย

1. การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน

2. การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม

3. การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ

“สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบก็ได้ ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงาน”

ขณะเดียวกัน ในมาตรา 22 ได้กำหนดหลักการระบุว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

ส่วนในมาตรา 26 ได้ระบุเรื่องสถานศึกษาและการประเมินผลว่า ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ  การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา

ให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ และให้นำผลการ ประเมินผู้เรียนตามวรรคหนึ่งมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ หลังจากมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้มีครอบครัวจำนวนไม่น้อย ตัดสินใจเริ่มต้นจัดการศึกษาด้วยตนเอง แต่จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังพบว่ามีปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่ และมีปัญหาตามมาไม่รู้จบ

การต่อสู้ของเด็กบ้านเรียน จากอดีตถึงปัจจุบัน

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้เครือข่ายศูนย์การเรียนและบ้านเรียน ยืดหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิการศึกษาทางเลือกที่พึงมีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียน กสม., ร้องเรียนสื่อให้ช่วยตรวจสอบ, ทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาสิทธิการจัดการศึกษาตามกฎกระทรวง มาตรา 12, การลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหา, รวมถึงการฟ้องร้องคดีต่อศาล โดยคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกผ่านภาคีเครือข่ายฯ ที่เข้มแข็งขึ้น ทั้งในรูปแบบของการจัดประชุม การสัมมนา และการติดต่อสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

“กนกพร สบายใจ” ผู้ประสานงานสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายบ้านเรียนไทย หนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กบ้านเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เล่าว่า  การศึกษาโดยครอบครัวมีมาก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยทำการจดทะเบียนที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

สำหรับครอบครัวที่เป็นเครือข่ายในยุคแรกๆ มีหลายครอบครัว เช่น ครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง ชุตินธร ครอบครัวคุณรัชนี ธงไชย ซึ่งต่อมาโรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้เปิดโครงการโฮมสคูลขึ้นโดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

ต่อมา เครือข่ายได้เริ่มเข้าไปขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาทางเลือก ตั้งแต่มีประชาพิจารณ์พระราชบัญญัติการศึกษา จนสามารถผลักดันให้มีกฎกระทรวงเมื่อปี 2547 และในปี 2552 ตนเองก็เริ่มเข้าไปอยู่ในเครือข่าย เพราะส่วนตัวจัดการศึกษาโดยครอบครัวด้วยตั้งแต่ปี 2542

หลังจากมีกฎกระทรวงแล้ว เครือข่ายก็ได้ทำแนวปฏิบัติเพื่อเป็นคู่มือสำหรับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว โดยออกมาเมื่อปี 2549 โดยใช้กรณีที่ทำอยู่แล้วไปโต้แย้งกับทางกระทรวงศึกษาฯ ที่จะทำแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับเรา

ทว่า หลังจากออกแนวปฏิบัติมาเมื่อปี 2549 และมีประชุมทั่วประเทศครั้งแรก ก็เหมือนจะดูดีว่าทำได้ โดยมีแผนจะกำหนดให้เป็นทิศทางที่จะทำให้เห็นภาพของการจัดการศึกษาบ้านเรียนตรงตามเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลางเหมือนกัน

แต่หลังจากประชุมเสร็จแล้วไม่นาน ก็มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ เรื่องก็เงียบหายไป วิธีการก็กลายเป็นแต่ละที่ถูกกำหนดโดยเจ้าหน้าที่ ให้ทำเหมือนกับโรงเรียน เราก็ไปปะทะกันอยู่ที่เขตฯ ที่ไหนเจ้าหน้าที่เป็นคนเดิมที่มาประชุมตั้งแต่ครั้งแรก ก็จะโอเค แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเยอะมาก จดทะเบียนยากมาก

แล้วสมัยนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก การติดต่อเครือข่ายก็ค่อนข้างยาก เลยไม่รู้ว่าใครมีปัญหาบ้าง จึงยังไม่ค่อยเข้มแข็งเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็คุยกันว่าน่าจะทำงานเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมขึ้น จนเริ่มมีเฟซบุ๊ก มีเว็บไซต์ มีอินเทอร์เน็ต ก็เลยทำงานเครือข่าย ได้เซอร์เวย์ คุยกับครอบครัวที่เราเคยรู้จัก ปรากฏว่ามีปัญหาแทบทั้งนั้น รวบรวมได้ทั้งหมด 17 กรณี ซึ่งปัญหาใหญ่คือเรื่อง “การประเมินผล”

ยกตัวอย่างกรณีน้องซันนี่ (อรรคนิธิ์ ส่งเสริมสวัสดิ์) ก็มาปรึกษาและร้องเรียนกับ กสม. ซึ่งโชคดีที่คุณคมสรรค์สนใจเรื่องสิทธิทางการศึกษา เขาก็ฟังเรื่องราวของเราตั้งแต่ต้น และยินดีรับเรื่องร้องเรียน

หรือในขณะที่กำลังทำเรื่องน้องซันนี่ ก็ปรากฏว่ามีกรณีน้องธนัช (เปลวเทียนยิ่งทวี) ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ไม่อนุญาตแผนจัดการศึกษาโดยครอบครัว

และยิ่งพอเข้ามาทำงานเครือข่ายแล้วลิงก์กลับไป  ก็พบว่ามีปัญหาการประเมินผลเยอะมาก เครือข่ายจึงใช้การติดต่อทางอีเมลเพื่อที่จะบอกต่อๆ กันว่าใครมีปัญหาบ้าง ก็มีปัญหากันเยอะมาก มีกรณีหนึ่งต่อสู้ถึงขั้นถวายฎีกา

หรือมีเด็กบ้านเรียนคนหนึ่งที่ จ.พังงา ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็เข้ารหัสไม่ได้ เพราะว่าไม่มีรหัสการศึกษา ปัจจุบันลงทะเบียนทางคอมพิวเตอร์ ก็เป็นกรณีที่ฟ้องศาล คือฟ้อง สพฐ. กับ สำนักงานเขตฯ สุดท้ายก็เป็นคดีที่ชนะ

“กนกพร สบายใจ” ผู้ประสานงานสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยและเครือข่ายบ้านเรียนไทย

“กนกพร” บอกว่า สิ่งที่เครือข่ายบ้านเรียนได้พยายามต่อสู้เรื่องสิทธิเด็กนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษา คือถ้าเป็นแนวทางการเรียนรู้ ก็คือสถานศึกษาต้องออกหลักสูตรสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ รองรับความรู้ ความสามารถ ความถนัด ที่แตกต่าง เรื่องนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ

ส่วนเรื่องสิทธิเด็ก จะต้องไม่เลือกปฏิบัติ หมายความว่าเด็กทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ ใน พ.ร.บ. ก็บอกว่าสามารถที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต

เช่น เรื่องสิทธิการประเมินผล ใน พ.ร.บ. ก็เขียนว่า ให้ประเมินผลตามศักยภาพผู้เรียน ตามแนวทางปรัชญาครอบครัว ซึ่งหลักการมีส่วนร่วมในการประเมินผลเป็นกฎหมายสากล แต่เจ้าหน้าที่รัฐทำงานโดยมีปัญหามาตลอดทุกกรณี ตั้งแต่ทำแผน แก้แผนไม่สอดคล้องกับบ้านเรียน มีช่วงหนึ่งพวกเราต่อสู้เรื่องแผนกันทุกแผน จนกระทั่งเขาก็ไม่ค่อยชอบเรา แต่สุดท้ายเขาก็ต้องทำ

ความเข้าใจที่ผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษา

“กนกพร” กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยได้พยายามนำเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง โดยบอกว่าต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สมาคมฯ ออกจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยส่วนหนึ่งเสนอให้กระทรวงศึกษาฯ จัดให้มีกลไกที่รับผิดชอบการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเลือก/การศึกษาที่หลากหลายของสถาบันทางสังคมโดยตรง ทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด โดยให้มีองค์ประกอบการมีส่วนร่วมจากตัวแทนองค์กรการศึกษาทางเลือก เครือข่ายศูนย์เรียนของสถาบันทางสังคมที่จัดการศึกษาและตัวแทนเด็ก/เยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

และให้กระทรวงฯ คัดเลือกบุคลากรข้าราชการที่รับผิดชอบกลไกส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเลือกโดยตรง ที่มีความเข้าใจระบบการศึกษาทางเลือก การศึกษาที่หลากหลายของสถาบันทางสังคมตามมาตรา 12 และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม

“เราก็เอาแถลงการณ์ไปยื่นให้รัฐมนตรีกับปลัด ซึ่งต่อมาปลัดก็เชิญเราเข้าไปประชุม ก็ตั้งพวกเราเป็นตัวแทน เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาทางเลือกในกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง ก็มีการเปลี่ยนตัวปลัดคนใหม่ เรื่องก็เงียบไปอีก ซึ่งจริงๆ เราพูดเรื่องนี้กันมาหลายทีแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีการดำเนินการอะไร ยกตัวอย่างหลังจาก 17 กรณี ก็มีปัญหารายต่อๆ มาที่มาร้องเรียน ซึ่งทาง กสม. ก็จะบอกให้เราสรุป แล้วเอาไปเพิ่มเติมเป็นกรณีปัญหาเพิ่มเติม”

จนกระทั่ง กสม. มีข้อเสนอกับกระทรวงศึกษาฯ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ทำอะไร นอกจากพิจารณา ประชุมแก้ไขคู่มือเป็นเล่มที่ 3 แต่ในคู่มือก็ไม่เชิญภาคีเครือข่ายที่มีองค์ความรู้ครอบคลุมไป ทั้งๆ ที่เป็นคู่มือที่ทำงานร่วมกันทุกฝ่าย หรือแม้แต่คู่มือเล่มที่ 2 ที่มีส่วนร่วมมากที่สุด แต่ปรากฏว่าเขตก็ยังทำงานไม่ได้

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีคู่มือเล่มใดๆ ออกมา เจ้าหน้าที่ก็ทำงานไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ก็ทำงานกำหนดกับระเบียบของโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งโรงเรียนอยู่ในสังกัด สพฐ.

ครั้งหนึ่งลงพื้นที่ไปคุยกับสำนักงานเขตก็พบว่า คุยไปคุยมา ตอนแรกเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้หรอก แต่พอเราอธิบายเรื่องกฎหมาย อธิบายเรื่องวิธีการประเมิน เขาก็เริ่มเงียบๆ แล้วก็เริ่มรู้แล้วว่าเขาทำงานผิด แต่เขาก็บอกว่า ต้องทำงานให้ สพฐ. ก่อน ส่งผลให้งานล่าช้า พิจารณาก็ช้า  การประเมินก็ล่าช้า ปัญหาก็สะสมมา

“การเรียนแบบบ้านเรียนคือเรียนจากวิถีชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่เข้าใจว่ามันเรียนเลขผ่านการขายของได้ แต่จะต้องมานั่งตอบข้อสอบอย่างเดียว มันก็ประเมินไม่ได้ พอไม่ได้ ก็บังคับให้เด็กทำข้อสอบ พอเด็กทำข้อสอบไม่ได้ คุณก็บอกว่าครอบครัวประเมินตก ทั้งที่จริงๆ เด็กมีความสามารถมากกว่านั้น ถ้าประเมินตามสภาพจริง”

นอกจากนี้ มีระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการประเมินตามสภาพจริง การประเมินโดยข้อสอบ เป็นข้อท้ายๆ แล้วเป็นข้อเดียว ซึ่งระเบียบบอกเลยว่า ถ้าการประเมินผลการเรียนรู้รายบุคคล ควรประเมินแบบไม่เป็นทางการ แล้วควรประเมินตามสภาพจริง หรือ authentic assessment

นอกจากนี้ เราได้ใช้เทรนด์ของโลกยุคใหม่ คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ควรจะประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน ไม่ใช่ประเมินเพื่อเอาเด็กไปเทียบกับใคร เป็น formative assessment ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกใหม่ด้วย ฉะนั้น เราก็ใช้หลักการนี้เข้าไปยืนยันตลอด

“แต่ในระยะยาว ควรมีวิธีการใหม่แก้ไข ซึ่งล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก็หันมาสนใจเรา โดยในปีหน้าจะทำวิจัยเรื่องรูปแบบที่มันตอบโจทย์ ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเหมือนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. แต่ไม่ได้ตอบเลยว่า เด็กแต่ละคนไปถึงคุณภาพเรื่องใด แล้วเรื่องที่กำหนดใน พ.ร.บ. มันถูกปฏิบัติจริงยังไงบ้าง แต่เราจะตอบโจทย์ของกฎหมาย สิทธิเด็ก กับสิทธิมนุษยชน ทำในส่วนกฎหมาย ก็มาปรึกษากับ กสม. จะคลี่เรื่องนี้ให้หมด”

“กนกพร” ยังอธิบายว่า ทุกวันนี้ รูปแบบการศึกษาในประเทศไทย สพฐ. มีอำนาจในการดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าใครจะมาจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานใดๆ สพฐ. ก็ต้องดูแล แต่การดูแลของเขา เราบอกว่าไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่รองรับความหลากหลายตามนโยบายการศึกษา

ยกตัวอย่างที่เห็นในโครงสร้างของ พ.ร.บ.การศึกษาที่มีปัญหากับเรา มีข้อหนึ่งเขียนว่าให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกแบบหลักสูตรแกนกลางให้สอดคล้องกับความหลากหลาย ซึ่งกำหนดในข้อแรกๆ แต่เขาไม่เคยศึกษาว่ามันคืออะไร

ก่อนหน้านี้ในส่วนหลักสูตร สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกเคยทำงานวิจัยกับสภาการศึกษาแห่งชาติ ตอนที่เริ่มมีปัญหาเรื่องการประเมิน 17 กรณี

โดยเครือข่ายเขียนหลักการส่งสมาคมฯ ว่า คุณภาพของเด็กบ้านเรียนสามารถผ่านมาตรฐานหลักสูตรแกนกลางได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแบบโรงเรียน เพราะฉะนั้น ก็เลยคุยกันว่าเราจะทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้สำคัญมาก เพราะมันระบุตอบว่า หลักสูตรแกนกลางตอนนี้ผิดกฎหมาย เพราะตัวการประเมินผลเขียนว่าต้องประเมินทุกตัวชี้วัด เขียนครอบคลุมมาก แต่จริงๆ แล้วเราสามารถปรับใช้ตัวชี้วัดได้

เพราะฉะนั้น พอเรานำเสนอว่าตัวหลักสูตรไม่ได้ตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ คุณไปตอบโจทย์กลุ่มสาระทุกกลุ่มสาระ 8 สาขา ฉะนั้น เด็กซึ่งมีศักยภาพที่แตกต่างกันก็ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณภาพตามหลักสูตรแกนกลางได้ และมันผิดกฎหมาย

หลังจากนั้น กระทรวงก็รีบเชิญเครือข่ายไปประชุมทำคู่มือหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง แต่พอทำคู่มือมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี

ทั้งนี้ คู่มือนั้นระบุว่าเราสามารถจัดแผนการศึกษาเป็นรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ได้ ก็คือเรียนแบบฐานกิจกรรม เพราะฉะนั้นเราก็โต้แย้งเรื่องการให้เกรด เขาก็คายออกมาว่า จริงๆ วิธีการกำหนดเกณฑ์การประเมินมันเหมือนหลักสากล ในวิธีการประเมินของกระทรวงศึกษา มีครบเลย

“คุณจะให้เป็นตัวอักษร A B C D ก็ได้ ให้เป็นตัวเลข 1 2 3 4 แบบที่ใช้ปัจจุบันก็ได้ เป็นเปอร์เซ็นต์ก็ได้ เป็นคำสำคัญสะท้อนมาตรฐาน 2 ระดับ 4 ระดับ ได้หมดเลย การศึกษาสามารถกำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน แต่ว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ. เขาใช้แบบเดียว คือเกรด ก็เกรดกันไปทั้งประเทศ ก็เลยไม่มีความหลากหลาย เพราะฉะนั้น ตัวนี้เขาก็โยนกลับมาให้เรา ว่าเราสามารถเลือกได้ เมื่อสามารถเลือกได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเกรด เพราะเป็นเกรด ในวิธีการประเมินตามสถิติมันก็จะมีอิงเกณฑ์ อิงกลุ่ม แล้วเราเป็นรายบุคคล ไม่รู้จะเอากลุ่มเอาเกณฑ์จากไหนมา เพราะฉะนั้น เราก็ต้องตั้งเกณฑ์ที่จะผ่านมาตรฐานได้ด้วยตัวชี้วัดของเรา โดยที่เราต้องเคารพศักยภาพความถนัด ความสามารถของเด็กด้วย”

เพราะฉะนั้น ในจุดไหนที่เขาเรียนแบบผ่านพื้นฐาน เขาเรียนแบบแค่ผ่าน เราก็สามารถประเมินได้ว่าเขาผ่าน เขาแค่ได้เกรด 1 ก็โอเค แต่ว่าอันไหนที่เขายอดเยี่ยมมาก เขาก็มีสิทธิ์ที่จะให้น้ำหนักมากด้วย แล้วก็ให้คะแนนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ที่เป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็เริ่มมีคำอธิบายที่หลากหลายขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการประเมินผล เราก็จะบอกว่า การประเมินผลตามหลักสิทธิ ต้องประเมินตามการเรียนรู้ของผู้เรียน คุณไม่สามารถไปเอาข้อสอบจากกระบวนการเรียนรู้ของเด็กคนอื่นมาประเมินเด็กคนนี้ได้

เพราะฉะนั้น ในโรงเรียนเขาทำง่ายๆ เพราะว่าทุกคนผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วเขาก็ยังไม่ได้เคารพศักยภาพของการที่เขาจะใช้ความถนัดและความสนใจบนความแตกต่างกัน เพราะถูกบังคับด้วยการเรียนด้วยเนื้อหาเดียวกัน อันนี้คือผิดหมดเลย

แต่กระทรวงฯ เขาบอกว่าเขาไม่ผิด เพราะเขามีหลักเกณฑ์ให้เราทำ แต่มีหลักเกณฑ์ให้เราทำ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าต้องแจงมาด้วยเรื่อง 8 สาระ ต้องเขียนมาให้หมด เราก็ไม่เขียน ก็ยันสู้กันอีก

ด้าน “คมสรรค์” เสริมประเด็นว่า ขณะนี้กำลังมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง คือการแก้ปัญหารายกรณีก็ว่าไป เดินหน้าไป ถ้าเป็นสงครามก็เข้าตีในจุดยุทธศาสตร์แต่ละจุด

แต่ในแง่ภาพใหญ่ ต้องดูในเชิงโครงสร้างว่า 1. โครงสร้างเชิงบริหารจัดการเรื่องนี้ควรปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ เช่น ควรมีหน่วยงานโดยตรง หรือหน่วยงานใดที่มีอยู่แล้ว ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายให้ตอบสนองเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถ้าโครงสร้างมันถูกต้อง นโยบาย มาตรการ การปฏิบัติมันจะตามมา

2. ตัวโครงสร้างอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูอำนาจหน้าที่ด้วย หมายความว่า ตัวที่รองรับอำนาจหน้าที่ มันก็ต้องไปดูกฎหมาย ระเบียบ ประกาศต่างๆ ว่า มันมีจุดใดหรือไม่ที่เป็นจุดอ่อน ที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือสามารถตีความบังคับใช้กฎหมายคลาดเคลื่อนและผิดไปจากเจตนารมณ์ของสิทธิด้านนี้

กรณีนี้ กสม. จะพยายามช่วยดู ที่ผ่านมาก็เคยมีข้อเสนอแนะออกไป แต่อาจจะยังไม่พอ ต้องทำเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งทางเครือข่ายฯ ก็จะเดินหน้าทั้งในภาพใหญ่และภาพในส่วนที่เป็นจิ๊กซอว์ในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ด้วย  ดังนั้น สองเรื่องนี้ 1. คือ โครงสร้างขององค์กรรัฐ 2. อำนาจหน้าที่ที่จะมารองรับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรรัฐ 3. คิดว่าเป็นเรื่อง “ความเข้มแข็งของภาคประชาชน” หมายความว่า ถ้าเราปล่อยให้แต่ละกรณีไปสู้รบปรบมือ บางทีมันเหนื่อย แต่ถ้ามันมีเครือข่าย มีความร่วมมือ มีเวทีกลางที่จะเสริมพลังซึ่งกันและกัน ทำความเข้าใจร่วมกัน รวมพลังกัน ผมคิดว่ามันก็จะเป็นส่วนที่ไปช่วยผลักดันข้อ 1 และ 2 พัฒนาขึ้น ดังนั้น มันต้องเสริมความเข้มแข็งทั้ง 3 ภาคส่วน

เพราะสำหรับกฎหมาย มันเหมือนเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่เป็นกติกา ส่วนหน่วยงานรัฐเป็นตัวสร้างปัญหาโดยตัวมันเอง ซึ่งเครือข่ายที่ควรจะร่วมมือกัน จะต้องเสริมความเข้มแข็งของทุกส่วน

ส่วนชัยชนะทางคดี ผมไม่ได้มองว่าศาลนวัตกรรม ศาลเพียงแค่บอกเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานรัฐว่า คุณกำลังปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ ฉะนั้น ให้คุณแก้ไขให้การดำเนินการของคุณเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่

ศาลไม่ได้มองไปข้างหน้า หรือนวัตกรรมไปข้างหน้า ศาลเพียงแค่เอากฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ปัจจุบัน แล้วบอกว่าสิ่งที่คุณทำมันผิด

“คำพิพากษาศาลจึงเป็นภาพสะท้อนของความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ว่ากฎระเบียบมันมีชัดเจนเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาว่าคุณผิด แต่คุณไม่ทำ หรือทำในสิ่งที่ไม่ใช่ ซึ่งมันขัดต่อกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่”

ศาลไม่สามารถสั่งให้มันงอกออกไปจากกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ได้ ศาลสั่งในสิ่งที่กฎหมายและระเบียบในกรอบนี้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดว่ามันเป็นชัยชนะของเด็กบ้านเรียน มันคงไม่ใช่ เพราะศาลเพียงแค่บอกว่า คุณกำลังไม่ทำตามกฎหมายและระเบียบที่มีอยู่

ขณะที่ “กนกพร” ทิ้งท้ายว่า คำพิพากษาศาลยังเป็นการสะท้อนกลับไปที่การศึกษาทุกระบบด้วยว่า สิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ได้คุ้มครองสิทธิเด็กๆ จริงหรือเปล่า

“การที่เราลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิ จริงๆ แล้วไม่เคยคิดเรื่องแพ้ชนะ แต่คิดว่ามันทำให้สังคมเรียนรู้ร่วมกัน ว่าสิ่งที่มันควรจะต้องปฏิบัติต่อเด็กๆ มันมีแนวทางยังไงบ้าง คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐจะทำอะไร ควรจะต้องระมัดระวัง และไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิทธิเด็ก ในการที่เขาจะมีโอกาสในการศึกษา”